ประวัติศาสตร์ของกฎ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ประวัติศาสตร์ของกฎ

 

ปฏิกิริยาของคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมและความคิดของ “หยก” คือเรื่องของกฎ วิธีการต่อต้านระเบียบของโรงเรียนที่น้องหยกใช้ก็คือแหกกฎ และการไม่เคารพกฎเกณฑ์นี่แหละที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งพากันประณามหรือตำหนิการกระทำของเธอ

น่าประหลาดนะครับที่ความเคารพต่อกฎอย่างเคร่งครัดเยี่ยงนี้ เกิดในประเทศที่ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งบ่อยครั้งที่สุดในโลก ซ้ำยังดำเนินการฉีกอย่างต่อเนื่องมากว่า 70 ปีแล้ว โดยไม่มีใครรู้ว่าจะหยุดฉีกกันเมื่อไรอีกด้วย

ลองมาคิดถึงเรื่อง “กฎ” กันดูให้ละเอียด โดยเฉพาะกฎในสังคมไทย

 

ทั่วทั้งโลก “กฎ” (กฎหมาย, ธรรมเนียม, ประเพณี, ศีล) ในสังคมโบราณ ล้วนมาจากพระเจ้าหรือเทวดาฟ้าดินทั้งนั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น คำตอบเห็นได้ง่ายๆ ก็เพราะต้องการให้กฎเหล่านั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทำโดยไม่มีใครเห็น พระเจ้าก็ยังเห็น

หลักว่ากฎต้องศักดิ์สิทธิ์นี้สะท้อนความจริงสองประการของสังคมโบราณให้เราเห็น

ประการแรก แน่นอนว่าผู้ที่จะสามารถรักษากฎให้เป็นกฎอยู่ได้ คือผู้มีอำนาจ และส่วนใหญ่เมื่อล่วงมาถึงสมัยที่มีการจัดตั้งรัฐแล้ว ก็คือพระเจ้าแผ่นดิน โดยไม่ต้องอธิบายก็เห็นได้ว่ากฎหมาย (อย่างน้อยก็ส่วนใหญ่ของมันแหละครับ) ไม่ได้มาจากพระเจ้า แต่เป็นคำสั่งหรือความปรารถนาของพระเจ้าแผ่นดิน หรือผู้มีอำนาจในชุมชนนั้นๆ

ประการที่สอง ในชุมชนหรือรัฐสมัยแรกเริ่ม อำนาจที่จะบังคับให้คนอื่นเชื่อฟังและไม่ฝ่าฝืนกฎ หรือขอเรียกว่าอำนาจจริง ย่อมไม่สู้จะมากนัก จึงต้องทำให้กฎศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวของมันเอง (ฐานของกฎหมายไทยโบราณล้วนอ้างว่าคือพระมนูธรรมศาสตร์ ซึ่งพระมนูต้องเหาะไปลอกมาจากกำแพงจักรวาล)

ในขณะเดียวกัน พระเจ้าแผ่นดินก็เพิ่มพูนอำนาจทางนามธรรมของตนด้วยการอ้างว่า ตนคือพระเจ้า หรือตนคือคนที่พระเจ้าเลือกให้มาเป็นกษัตริย์ หรืออย่างน้อยตนก็มีความสัมพันธ์หรือสถานะพิเศษบางอย่างกับพระเจ้า ดังนั้น กฎของตนจึงศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยไปกว่ากฎที่พระเจ้ามอบให้

แต่โบราณมา ราชสำนักอยุธยาเก็บคำว่า “โองการ” (ซึ่งแปลตามอักษรคือคำสั่งของพระเจ้าทั้งสาม – อะพระศิวะ, อุพระวิษณุ, มะพระพรหม) ไว้ใช้กับคำสั่งของกษัตริย์ที่เป็นกฎหมายเท่านั้น สั่งนางข้าหลวงให้เลื่อนกระโถนมาใกล้ๆ เป็นแค่ “รับสั่ง” ไม่ใช่ “โองการ”

 

แต่การอ้างพระเจ้าเช่นนี้ ก็ใช่ว่าจะทำให้อำนาจกษัตริย์เป็นไปอย่างราบรื่นไม่ ประการแรกคือ กลุ่มคนที่เคยอ้างความสัมพันธ์พิเศษกับพระเจ้ามาก่อน ได้แก่ นักบวชในลัทธิความเชื่อต่างๆ ย่อมไม่พอใจที่กษัตริย์จะมาอ้างตนเป็นพระเจ้าหรือมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าเป็นพิเศษเช่นเดียวกับตน ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับนักบวชจึงมีทางเป็นไปในสังคมต่างๆ ทั่วโลกอยู่สองแนวทาง หนึ่งคือเป็นไปอย่างตึงเครียด เช่น ระหว่างพราหมณ์และผู้ปกครองฆราวาสในอินเดียโบราณ, พระคาทอลิกและสันตะปาปากับกษัตริย์และเจ้าครองแคว้นในยุโรป

แนวทางที่สองคือ กษัตริย์กลายเป็นหัวหน้านักบวช ทำพิธีกรรมสำคัญที่นักบวชอื่นทำไม่ได้ เช่น ฟาโรต์ของอียิปต์โบราณ หรือจักรพรรดิของจีนโบราณ แนวทางที่สองนี้ควรรวมกรณีแบบไทย, กัมพูชา, ลาว, พม่า ฯลฯ ด้วย ถึงกษัตริย์ไม่ได้เป็นหัวหน้านักบวช แต่ก็ทำให้องค์กรนักบวช – อย่างน้อยในเขตเมือง – ยอมอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของกษัตริย์โดยสิ้นเชิง แม้แต่บังคับสึกได้

อุปสรรคประการที่สองก็คือ เมื่อพระราชอำนาจขยายข้ามเขตแดนของชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมหนึ่งๆ ไปแล้ว (ศาสนาสากล คือความเชื่อที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ข้ามท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมอันหนึ่งอันใดเป็นไปได้โดยไร้ขีดจำกัด จึงมีส่วนอย่างมากในการขยายอำนาจ) ก็ยากที่จะทำให้ข้ออ้างว่าเป็นพระเจ้าของกษัตริย์จะเป็นที่เชื่อถือไปหมดทุกส่วนของราชอาณาจักร (ถ้าข้าราษฎรเป็นคนต่างศาสนา พระเจ้าก็คนละชื่อและคนละองค์กัน) คำสั่งของกษัตริย์จึง “ศักดิ์สิทธิ์” ไม่เท่ากันในหมู่ประชาชน

ถึงตอนนี้แหละครับที่จำเป็นต้องหาเหตุผลในทาง “โลกย์ๆ” (secular) มาสนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของคำสั่งกษัตริย์ต่อไป และเหตุผลที่มักพบได้ทั่วไปในทุกสังคมก็คือ กฎระเบียบมีไว้เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม หรือทำให้ความต้องการอันหลากหลายของผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้

 

ผมควรกล่าวไว้ก่อนว่า เหตุผลดังกล่าวนี้ “ฟังขึ้น” อยู่เหมือนกัน เพราะในระบบกฎหมายของทุกรัฐ มักรวมเอากฎระเบียบท้องถิ่นที่เคยตกลงกันในรูปใดรูปหนึ่งจนกลายเป็นประเพณีเอาไว้ด้วย ในกรณีไทยเราพบข้อกำหนดที่มีมาแต่เดิม เช่น เกวียนหนักเกวียนเบา, เรือหนักเรือเบา เวลาสวนกันใครต้องหยุดให้อีกฝ่าย พืชผลที่งอกงามข้ามที่ดินของผู้ปลูกจนไปมีผลในที่ดินของคนอื่น กรรมสิทธิ์เหนือผลนั้นให้ดูที่ลำต้นหรือที่ผล หรือกฎจราจรจะเดินซ้ายหรือขวา และอื่นๆ อีกหลายเรื่องซึ่งมีเหมือนกันทั้งในกฎหมายตราสามดวงและมังรายศาสตร์

กฎระเบียบเหล่านี้ “ศักดิ์สิทธิ์” ในตัวของมันเอง เพราะมีเหตุผลชัดแจ้งที่ใครๆ ก็น่าจะเห็นพ้อง (เกวียนหนักเกวียนเบา) หรือเลือกอย่างไหนก็ไม่ต่างกัน แต่ต้องพร้อมใจกันเลือกอย่างเดียวเพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาท (เช่น กฎจราจรหรือกรรมสิทธิ์เหนือผลของพืช) กฎประเภทนี้สืบทอดกันมาเป็นประเพณี ล้วนถูกผนวกเข้าไปในกฎหมายของทุกสังคมทั้งสิ้น

แต่พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ออกกฎหมายเพียงเท่านี้ ยังมีคำสั่งอื่นๆ อีกมากที่จำเป็นสำหรับรักษาหรือเพิ่มพูนอำนาจของตนเอง เช่น เก็บส่วย, เก็บส่วนลด, เรียกเกณฑ์แรงงาน ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ กฎหมายที่มุ่งรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม เช่น ห้ามขโมย, ห้ามฆ่า, ห้ามทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินระหว่างกัน ฯลฯ ก็ยังนิยามการกระทำและกำหนดโทษที่ประชาชนอาจไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพราะพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจที่จะบังคับใช้คำสั่งของตน จะเห็นพ้องหรือไม่ก็ต้องปฏิบัติตาม

กฎระเบียบทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข จึงเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ นับตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์, คณาธิปไตย, จนถึงเผด็จการทหาร ทั้งประเภทกระจอกและไม่กระจอก

ปฏิบัติตามกฎหมายเสียอย่างเดียว อำนาจอันไม่ชอบธรรมของเผด็จการก็มั่นคงอย่างไม่มีวันสั่นคลอน ก็เผด็จการเป็นผู้ออกกฎหมายเองนี่ครับ

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องจริงเสมอไปว่า กฎหมายทั้งระบบย่อมนำความสงบสุขมาสู่สังคม ไม่นับเรื่องกฎหมายที่ตกลงกันเองมาตั้งแต่โบราณ เช่น กฎจราจร หรือกรรมสิทธิ์เหนือพืชผลการเกษตร ฯลฯ แล้ว กฎระเบียบอีกมากถูกตราขึ้นเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีอำนาจ อาจเป็นภัยหรือสร้างความเสียเปรียบแก่คนส่วนใหญ่ก็ได้

 

แนวคิดเช่นนี้ซึ่งมาเกิดขึ้นในสมัยหลัง ทำให้มุ่งไปหารากฐานความชอบธรรมของคำสั่งผู้ปกครองจากสองอย่างด้วยกัน ในระยะแรกคือความมีเหตุมีผล ที่สั่งอย่างนั้นอย่างนี้ก็เพราะมีเหตุผลซึ่งอธิบายได้ให้ต้องสั่ง และคาดหวังผลได้ว่าจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ แก่ส่วนรวมเพราะสั่งอย่างนั้น

แนวคิดอย่างนี้ช่วยเพิ่มอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน (ยุโรปตะวันตก) เพราะทำให้คำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินข้ามกฎหมายของเจ้าครองแคว้น, กฎหมายประเพณีในแต่ละแคว้น หรือแม้แต่กฎทางศาสนาออกไป จึงทำให้พระเจ้าแผ่นดินสามารถรวมศูนย์อำนาจและสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นได้ (แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะสำนึกว่าการใช้เหตุผลเป็นคุณลักษณะสำคัญที่สุดของมนุษย์)

ในระยะต่อมา หลักการได้พัฒนาต่อจากเหตุผลมาสู่การยอมรับหรือความเห็นชอบ (consent) ของประชาชน ความ “ศักดิ์สิทธิ์” ของกฎหมายเกิดจากความเห็นชอบของประชาชน ยิ่งถ้าเรียกเก็บทรัพย์สินจากประชาชน (หรือที่เรียกว่าภาษี) ยิ่งต้องการความเห็นชอบจากประชาชนอย่างชัดแจ้งขึ้นไปใหญ่ ประชาชนในอาณานิคมอเมริกาลุกขึ้นต่อต้านพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเพราะ taxation without representation หรือเก็บภาษีโดยไม่มีตัวแทนของประชาชนให้การอนุมัติ

หลักการเรื่องกฎต้องมาจากความเห็นชอบหรือการอนุมัติของประชาชน กลายเป็นแกนหลักของระบอบปกครองต่างๆ แม้แต่เผด็จการก็อ้างว่าความคิดเห็นของตนเป็นตัวแทนความคิดเห็นของประชาชน สมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงอ้างว่ากษัตริย์ทรงถืออำนาจอธิปไตยร่วมกับประชาชนอยู่ครึ่งหนึ่ง ดังนั้น จึงใช้อำนาจแทนประชาชนได้ในยามจำเป็น เช่น ยกเลิกรัฐธรรมนูญและแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารให้ใช้อำนาจได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม โดยปราศจากการเลือกตั้งที่ยุติธรรมตามวาระ ไม่มีข้ออ้างตัวแทนประชาชนใดเป็นที่น่าเชื่อถือสักระบอบเดียว

 

ในประเทศไทย กฎหมาย, ระเบียบ หรือแม้แต่กฎที่น่าจะตกลงร่วมกันได้ เช่น กฎจราจร (เพราะไม่เกี่ยวกับอำนาจของใคร) ล้วนสั่งลงมาจากผู้มีอำนาจหรือกลไกรัฐภายใต้อำนาจที่ไม่ถูกตรวจสอบทั้งสิ้น ฐานของประมวลกฎหมายอาญาทำมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากนั้น ตั้งแต่ 2490 ประเทศถูกปกครองด้วยเผด็จการทหารในรูปแบบต่างๆ อย่างสืบเนื่องเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น กฎระเบียบต่างๆ ของไทย จึงล้วนเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจกลุ่มต่างๆ โดยประชาชนไม่เคยให้ความเห็นชอบเลย แม้แต่ประเพณีพิธีกรรมก็มีแบบแผนที่รัฐหนุนหลังเป็นแบบแผนหลัก ใครที่ทำผิดจากนี้ก็ถูกเหยียดว่าเป็นคนชั้นต่ำ หรือไม่รู้แบบธรรมเนียมที่ศิวิไลซ์

ที่นับว่าน่าประหลาดใจก็คือ เมื่อผู้มีอำนาจถูกกดดันหรือเมื่อกลุ่มอำนาจวิวาทกันเอง ก็มักจะหันไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ช่วงระยะเวลาอันไม่สืบเนื่องเป็นเวลานานของประชาธิปไตยไทย กลับไม่ทำให้รัฐบาลที่รัฐสภาแต่งตั้งขึ้น ยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่คณะทหารรัฐประหารชุดต่างๆ ได้ประกาศใช้ไปแล้ว หลายฉบับในนั้นเป็นการลดทอนเสรีภาพของประชาชน หรือทำให้ประชาชนถูกควบคุมจนกระทั่งการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่การทำผิดกฎหมายของคณะทหารก็ได้

ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ได้ชี้ให้เห็นความลักลั่นของประชาธิปไตยไทยในข้อนี้มานานกว่า 20 ปี และเรียกร้องให้ (อย่างน้อย) รัฐบาลพลเรือนก็ควรนำกฎหมายเหล่านี้กลับไปขอความเห็นชอบในสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบก็ควรยกเลิกไป แต่ก็ไม่มีรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งชุดใดที่ทำเช่นนั้นเลยมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ในทุกวันนี้ “ประกาศ” หรือ “คำสั่ง” ของคณะทหารที่ยึดอำนาจหลายชุดก็ยังถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายในบ้านเราอยู่

 

กฎหมายต่างๆ นั้นดำรงอยู่ได้เป็นเวลานาน ไม่ใช่เพราะกระดาษที่จารึกกฎหมายเหล่านั้นยังไม่เปื่อยยุ่ยไป แต่เป็นเพราะมีกลุ่มบุคคลต่างๆ นานาชนิด ที่เข้ามานิยามความหมายของกฎหมายเหล่านั้น (articulated) ทั้งหมดหรือบางส่วน และแทรกเข้าไปสถาปนาอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนขึ้นบนกฎระเบียบเหล่านั้น ไม่ใช่เฉพาะผู้ทรงอำนาจนะครับ แต่คนทั่วไปที่โดยเหตุใดเหตุหนึ่งสามารถฝังตัวไปในกฎระเบียบเหล่านั้นได้สำเร็จ และเรียกเอาผลประโยชน์ (ทั้งรูปธรรม-นามธรรม) จากกฎหมายนั้นๆ ได้

เช่น ธรรมเนียมให้ศิษย์เคารพครูบาอาจารย์นั้น จุดมุ่งหมายเดิมอาจเป็นเรื่องของการจัดลำดับขั้นทางสังคมซึ่งในสมัยนั้นค่อนข้างตายตัว ไม่พลิกผันง่ายเหมือนปัจจุบัน แต่ธรรมเนียมนี้เอื้อประโยชน์แก่คนในอาชีพครูอาจารย์มาก นับตั้งแต่เอื้อให้กระบวนการสอนเป็นไปได้โดยครูไม่ต้องคิดหรือเตรียมตัวมากนัก ไปจนถึงเกิดความเชื่อมั่นในตนเองท่ามกลางชีวิตจริงที่รู้สึกว่าถูกกดขี่ข่มเหงตลอดเวลา (ครู = คนมีความรู้หรือความชำนาญ ซึ่งในสังคมย่อมมีไม่มากนัก)

พิธีกรรมไหว้ครูซึ่งปฏิบัติทุกปีนั้น ยิ่งตอกย้ำธรรมเนียมนี้ และนิยาม “ความเคารพ” ของศิษย์ให้ดำเนินไปทางกายภาพ จนสุดลิ่มทิ่มประตู ในขณะที่ครู-อาจารย์และไขมันของท่านสถิตอยู่สูงบนเก้าอี้ โน้มตัวลงมารับดอกไม้ธูปเทียนของศิษย์ที่หมอบอยู่กับพื้น

กฎระเบียบใดยิ่งนาน “ประโยชน์ปลูกฝัง” ของผู้คนต่อกฎระเบียบนั้นก็ยิ่งมีมากหลากหลายกลุ่ม และติดแน่นจนยากจะถอนตัว

ในท่ามกลางคำสั่งที่ไม่เคยขอความเห็นชอบของประชาชนเลยเช่นนี้ ท่านคิดว่าเราจะยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่เป็นที่พอใจได้อย่างไร

ยื่นคำร้องได้ที่ไหนหรือครับ ตั้งแต่มีเรื่องผมยังไม่เคยได้ยินว่าผู้บริหารโรงเรียนฟังคำของหยก ก็แค่นั่งลง ฟังก่อนให้เข้าใจ แล้วจะแสดงความเห็นคัดค้านของตนอย่างไรก็ได้ ด้วยกิริยาเคารพกันและกัน ไม่อนุมัติเพราะอะไร และอนุมัติเพราะอะไร เรื่องมันคงไม่จบหรอกครับ แต่อย่างน้อยก็ไม่มีการพิพาทกันระหว่างนักเรียนและครู มีแต่ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเท่านั้น

ช่องทางของการร้องคัดค้านโดยสงบไม่มีหรือมีน้อยมากในเมืองไทย วิธีที่เป็นไปได้ที่สุดคือ “แหก” กฎ คือไม่ปฏิบัติตามพร้อมทั้งอาศัยสาธารณะเพื่อป้องกันตนเอง และเพื่อเป็นเวทีสำหรับการชี้แจงเหตุผล

นี่เป็นยุทธวิธีเท่านั้น ไม่ใช่บุคลิกภาพ

ตราบเท่าที่กฎระเบียบในประเทศไทยเป็นแต่เพียงคำสั่งของผู้มีอำนาจ ไม่ต้องแสวงหาความเห็นชอบจากผู้ถูกบังคับใช้ ซ้ำยังปิดช่องทางต่างๆ ที่ประชาชนซึ่งต้องแบกรับคำสั่งนั้นจะถกเถียงต่อรอง หรือให้ความเห็นชอบ ตราบนั้นการ “แหก” กฎจะเป็นยุทธวิธีเดียวที่ผู้คนเลือก เพราะอาจได้ผลดีที่สุด