สลิ่ม again | คำ ผกา

คำ ผกา

นับว่าการเมืองไทยเริ่มขยับได้บ้างแล้วหลังจาก กกต.ตัดสินใจรับรอง ส.ส. 500 คนเสียที และทำให้สภาจะเปิดได้ในวันที่ 3 กรกฎาคม นั่นแปลว่าจะมีการโหวตเลือกตำแหน่งประธานสภา เพื่อนำไปสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป

แต่ในกระบวนการเลือกประธานสภา ก็มีประเด็นเรื่องตำแหน่งประธานสภา จะเป็นของพรรคก้าวไกลหรือของพรรคเพื่อไทย

และเมื่ออ่านข้อถกเถียงของ “ชาวเน็ต” ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้ว ฉันเห็นว่า การอยู่ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเกือบ 9 ปีอย่างต่อเนื่อง มันได้ทำลายสุขภาวะของหลักการประชาธิปไตยในสังคมไทยไปอย่างมหาศาล

และแม้แต่คนที่บอกว่าตัวเองสมาทานแนวคิดประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นก็ไม่สมารถสลัดหลุดออกจากกรอบวิธีคิดที่ถูกหล่อหลอม (ทางอ้อม) อันเนื่องมาจากการที่เราอยู่กับรัฐบาลเผด็จการมานานเกินไป

 

ขอฉายหนังซ้ำสั้นๆ ว่า การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นแปลกประหลาดอย่างที่เรารู้กันดีนั่นคือ ส.ว. อันเป็นมรดกของ คสช. 250 คนมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ และนั่นทำให้พรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2562 จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ

เพราะพรรคอันดับสองคือพลังประชารัฐสามารถไปเจรจากับพรรคการเมืองอื่นๆ ให้มารวมกับตนเองจนได้เสียงข้างมากไปครอง และเหตุที่พรรคอื่นๆ เช่น ภูมิใจไทยหันไปรวมกับพรรคลำดับสองอย่างพลังประชารัฐก็เพราะพลังประชารัฐจะเสนอชื่อประยุทธ์เป็นนายกฯ อันเป็นที่รู้กันว่า ส.ว. 250 คนจะยกมือให้ประยุทธ์แน่ๆ และนั่นคือที่มาของรัฐบาลประยุทธ์ 2 กับโควตอมตะ “รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาให้เรา”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประยุทธ์ประคองรัฐบาลมาได้ถึง 4 ปีก็จริง แต่เป็น 4 ปีแห่งความเอือมระอาของประชาชน

เอือมชนิดที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐยังต้องแตกเป็นเป็นเสี่ยงๆ ทั้งแยกไปตั้งเป็นรวมไทยสร้างชาติ ไหลออกไปภูมิใจไทย ย้ายกลับมาเพื่อไทย ไหลไปประชาธิปัตย์

มองอย่างผิวเผินแบบไร้เดียงสาทางการเมือง ก็คงนั่งก่นด่านักการเมืองว่า เห็นไหม พวกนี้มันชั่ว ไม่มีกระดูกสันหลัง ตรงไหนมีประโยชน์ก็ไปอยู่ตรงนั้น ช่างน่ารังเกียจเหลือเกิน เด็กๆ ดูเอาไว้นะ นี่ไม่ใช่นักการเมืองที่ดี นักการเมืองที่ดีต้องซื่อสัตย์ ครองตัวตนซื่อตรงต่ออุดมการณ์

 

แต่คนชั่วอย่างฉันมองว่า ว้าว มันดีจริงๆ เลย เพราะมันพิสูจน์ว่า หากเรายืนหยัดให้มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะในเงื่อนไขไหน สุดท้าย อำนาจของประชาชนจะปรากฏตัวออกมาอยู่ดี

พรรคพลังประชารัฐแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เพราะยิ่งใกล้เลือกตั้ง นักการเมืองยิ่งตระหนักว่าขืนอยู่กับประยุทธ์ต่อ โอกาสที่จะชนะเลือกตั้งน่าจะน้อยลงมาก จนในที่สุดกลายเป็นแรงกดดันต่อประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าจะเลือกรักษา “พลังประชารัฐ” หรือจะเลือกรักษา “ประยุทธ์”?

และในที่สุดก็ทำให้ทุกฝ่ายถูกบีบให้เดินไปสู่เกมของการเลือกตั้ง ประวิตรเป็นทั้งหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ต้องสวมเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติไปหาเสียง บิ๊กเนมอย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สุชาติ ตันเจริญ ตระกูลคุณปลื้ม ที่หวนคืนพรรคเพื่อไทย ก็ต้องยอมแลกกับการถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ด่าทอ

และสำหรับฉัน พลวัตทั้งหมดเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการ “เปลี่ยนผ่าน” ไปสู่การเป็นประชาธิปไตย

นักการเมืองถ้าอยากย้ายพรรค ยิ่งย้ายแบบ “พลิกขั้ว” ก็ต้องยอมแลกกับการโดนด่า โดนตั้งคำถาม โดนระแวง สงสัย แถมยังไม่สามารถฟ้องร้องประชาชนได้ เพราะขืนฟ้อง ก็ยิ่งเป็นหนทางไปสู่การแพ้เลือกตั้ง

 

สําหรับฉันการอยู่กับรัฐบาลประยุทธ์ นานเกือบ 9 ปี ทำให้สังคมไทย คนไทยและยิ่งเป็นกลุ่มคนที่เพื่ง “ตื่นรู้” ทางการเมือง คุ้นชินกับการมองโลกการเมืองแบบคู่ตรงกันข้าม

ประชาธิปไตย vs เผด็จการ

ซึ่งมันไม่ผิดในยุคที่เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วโดนรัฐประหาร มันไม่ผิด เมื่อพรรคการเมืองแบบออกไปเป็นกลุ่ม คือกลุ่มที่ยอมไปเป็นนั่งร้านให้เผด็จการสืบทอดอำนาจ กับพรรคที่ยอมเป็นฝ่ายค้านดีกว่าไปเป็นรัฐบาลภายใต้คนที่ปล้นอำนาจประชาชนจากการรัฐประหาร

มันไม่ผิด ที่จะมองการเมืองแบบนั้น เพราะการรัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ทำให้เกิด กปปส. กับกองเชียร์รัฐบาลเพื่อไทย และแม้แต่ในหมู่คนที่ต้านรัฐประหารก็ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มต้านรัฐประหารที่เชียร์ทักษิณ ชินวัตร กับกลุ่มต้านรัฐประหารที่เกลียดทักษิณ

พลวัตของการแบ่งสองขั้วทางการเมืองในสังคมไทยที่เป็นภาวะ polarization หรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองเป็นเขาเป็นเรา ยังพัฒนามาเป็น กลุ่มรักเจ้ากับกลุ่มล้มเจ้า มาจนถึงกลุ่มเชียร์ม็อบกับกลุ่มแช่งม็อบ

เป็นเพราะว่าเราอยู่กับโลกแบ่งขั้วแบ่งข้างกันค่อนข้างชัดมานานเกือบทศวรรษ ทำให้เราติดนิสัยการมองโลกแบบ พวกเขา vs พวกเรา

ถ้าเป็นพวกเขา ทำอะไรก็ผิด

ถ้าเป็นพวกเราทำอะไรก็ถูก

ซึ่งมันโอเคในห้วงเวลาที่ประยุทธ์เรืองอำนาจ

(ประยุทธ์ในฐานะตัวแทนอำนาจอนุรักษนิยมอำนาจนิยมของกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจของประชาชน)

แม้แต่ฉันเองในเวลานั้นก็วิจารณ์ทุกอย่างจากจุดยืนของสองขั้วอำนาจที่อยู่ตรงกันข้ามกัน และใดๆ ที่ฝ่ายประชาธิปไตยสู้ย่อมไม่ผิด เหตุเพราะจุดอ้างอิงทางอำนาจมันต่างกันมหาศาล

ประชาชนไปประท้วง ต่อให้ทำตัวงี่เง่าแค่ไหน รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิเอารถน้ำ เอาแก็สน้ำตามาฉีดทำร้ายประชาชน

เพราะในภาวะนั้น รัฐบาลมีอำนาจเหนือประชาชนในทุกมิติ

เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจในนามของประชาชนเลย

 

แต่การเมืองหลังการเลือกตั้ง และการเมืองที่เรามุ่งหวังว่าการเลือกตั้งคือเครื่องมือเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย จะไม่สามารถใช้โลกทัศน์ สองขั้ว สองข้างมามองโลกได้อีกต่อไป

เพราะเมื่อสังคมเคลื่อนเข้าสู่การเลือกตั้งในกติกาที่ไม่ได้แย่นัก หนักไปกว่านั้น คนอย่างประยุทธ์ ประวิตร อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้นำเหล่าทัพ ได้สูญเสียความนิยม บารมี เรียกได้ว่าหาสง่าราศีไม่ได้อีกแล้ว อินฟลูฯ ฝ่ายขวาจัดกลายเป็นตัวตลกไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหมอเหรียญทอง หมอวรงค์ และยิ่งมองกระแสพิธาฟีเวอร์อย่างหนักหน่วง เราสามารถพูดได้ว่าไม่มีครั้งไหนที่ฝ่ายขวาไทยตกอับขนาดนี้

ในบริบทเช่นนี้ สังคมไทย และคนไทยต้อง “จูน” แว่นในการวิเคราะห์ การเมืองกันใหม่นั่นคือ ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นฝ่าย “ผู้ถูกกระทำไร้อำนาจ” อีกต่อไป

แม้เราจะยังไม่ได้กุมอำนาจรัฐแต่พูดในว่าในสนามรบทางวัฒนธรรมนั้นฝ่ายประชาธิปไตยชนะแล้วอย่างหมดจด และตัวชี้วัดที่ดีที่สุดคือ “สื่อกระแสหลัก” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่ออย่างสรยุทธ สุทัศนะจินดา เราจะเห็นว่ามีความ “โปร” ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด

 

แต่ดูเหมือนเรายังไม่ชินกับการเป็นผู้ครองอำนาจนำทางวัฒนธรรม (อย่างน้อยในช่วงนี้) แต่กลับคุ้นชินและ “สะดวก” ในการจัดวางตำแหน่งของตัวเองให้เป็นผู้พิชิตเผด็จการและสุ่มเสี่ยงที่เผด็จการจะหวนคืนมาทำร้ายเราอยู่นั่นแหละ

เมื่อเราคุ้นชินกับการมีศัตรูจาก “ความเป็นอื่น” ไม่รู้จบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พรรคก้าวไกลถูกจัดวางให้เป็น “นักสู้เพื่อประชาธิปไตยและผู้แน่วแน่ในการพิชิตเผด็จการโครงสร้างอำนาจนิยมทุนสมานย์ผูกขาด”

ส่วนพรรคเพื่อไทยถูกจัดวางในฐานะ “นักสู้ไปกราบไปพร้อมดีลกับอำนาจเก่า”

สองขั้วสองข้างในฝ่ายประชาธิปไตยถูกสถาปนาขึ้นบนชิ้นส่วนข้อเท็จจริง (วาทกรรม) ที่กระจัดกระจาย (เช่น การเลือกแคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยรักษาชาติ, การขอนุญาตกลับบ้านของทักษิณ, การย้ายพรรคของกลุ่มสามมิตร เป็นต้น) แล้วถูกหยิบมาจัดวางให้เข้าล็อก “เรื่องเล่า” ว่าด้วยพรรคแห่งการเป้นประชาธิปไตยแท้ vs พรรคประชาธิปไตยปลอม

ในทางกลับกัน กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็โต้กลับอย่างรุนแรงจนกลายเป็นขบวนนางแบก เพราะเห็นว่าการจัดวางพรรคเพื่อไทยให้เป็นพรรคที่ไม่ซื่อตรงต่อขบวนการประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นธรรม และวาทกรรมที่ใช้ลดทอนคุณค่าพรรคเพื่อไทยเป็นวาทกรรมเดียวกับสลิ่ม

จนนำมาสู่สำนวน “สลิ่มเฟสสอง”

 

และนี่ยิ่งทำให้การ “จูน” สายตาเพื่อมองการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งให้หลุดจากการมองโลกสองขั้วสองข้างยิ่งยากขึ้น

ยากขึ้นอีกหลายเท่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเป็นพรรคก้าวไกลได้ที่นั่งมากกว่าพรรคเพื่อไทยเพียง 10 นั่ง

และสองพรรคนี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องจับมือกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

เพราะมีเงื่อนไขของการไม่สังฆกรรมกับพรรคที่เป็นมรดกของการรัฐประหาร

แต่ก็นึกไม่ออกว่าจะไปหาเสียงจากไหนมาให้ครบ 376 เสียงเพื่อโหวตให้พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้เป็นนายกฯ

เพราะพรรคก้าวไกลได้สร้างแบรนด์ของตัวเองให้เป็นพรรคที่ยอมหักไม่ยอมงอเสียแล้วจึงต้องแบกความคาดหวังของผู้สนับสนุนของตัวเองไปให้สุดทาง

ซึ่งพวกเขาตั้งความหวังเอาไว้ว่า ยอมหักไม่ยอมงอครั้งนี้ อาจทำให้พรรคชนะแลนด์สไลด์ในอีก 4 ปีข้างหน้า

ส่วนพรรคที่ตกที่นั่งลำบากสุดๆ คือ พรรคเพื่อไทย เพราะตอนนี้ถูกกำกับด้วยเงื่อนไขว่า ถ้าทิ้งก้าวไกลก็กลายเป็นหมา ทอดทิ้งภารกิจการทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันภายใต้วาทกรรมพรรคสู้ไปกราบไป เพื่อไทยเป็นพรรคที่ถูกโจมตีจากเฟกนิวส์เรื่องจะพลิกขั้วบ้าง ดีลลับบ้าง จะเอาประวิตรเป็นนายกฯ บ้าง (ที่ฉันก็งงมากว่าทำไมมีคนชื่อนิทานหลอกเด็กเหล่านี้)

ยิ่งเจอเฟกนิวส์แบบนี้ ก็ยิ่งบีบรัดให้เพื่อไทยไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเป็นที่สุดของพระเอก เป็นที่สุดของพ่อพระ ยิ่งต้องถอย ยิ่งต้องยอม

ยิ่งต้องประกาศห้าร้อยครั้งพันครั้งว่าจะเป้นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ก้าวไกล

และวิบากกรรมของเพื่อไทยไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นเพราะเมื่อทำตัวเป็นพ่อพระหนักๆ เข้า 10.9 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทยก็เริ่มทนไม่ได้ และกดดันพรรคว่าเราไม่ได้เลือกเพื่อไทยไปให้ใครๆ หยุมหัวเล่น

หรือแม้แต่ ส.ส.ในพรรคก็เริ่มส่งเสียงว่า เราเป็นพรรคที่มั่นคงต่อหลักการประชาธิปไตยไม่เคยวอกแวก

ขณะเดียวกัน 141 ที่นั่งที่ตัวแทนของคนเกือยบ 11 ล้านคนก็ไม่ควรถูกมองว่าเป็น “ของตาย” จนต่อรองอะไรไม่ได้เลย

 

ฉันไม่รู้ว่า ผลสรุปของการเจรจาเรื่องตำแหน่งประธานสภาจะลงเอยอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ สังคมไทยต้อง “จูน” สายตาในการมองการเมืองใหม่แล้วว่า มันคือยุค post-coup แทนการแบ่งเขาแบ่งเรา สองขั้วสองข้าง เราต้องเตรียมตัวที่จะเข้าใจว่าการทำงานในระบบรัฐสภา สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เขาและเรา แต่ทุกพรรคการเมืองล้วนเป็นตัวแทนของประชาชนที่เลือกเขาเข้ามา

การเจรจา ต่อรอง การรวมกันในบางเรื่อง การทะเลาะกันในเรื่องของทุกพรรค ทุกกลุ่ม เป็นเรื่องธรรมดาที่สุด

สิ่งแรกๆ ที่เราต้องปรับการมองใหม่ทั้งหมดคือต้องมองพรรคการเมืองทุกพรรคในฐานะกลไกของกระบวนการประชาธิปไตย มากกว่าจะแปะป้าย “ผู้ร้าย-พระเอก”

ที่ตลกกว่านั้น ยังมีคนจำนวนมากไม่เข้าใจว่า การเป็นพรรคที่ได้เสียงมากอันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้เท่ากับ “ผู้ชนะ” แต่หมายถึงการมีความชอบธรรมสูงสุดในการไปประสานรวมเสียงพรรคอื่นๆ เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้น ยิ่งเป็นพรรคอันดับหนึ่งยิ่งหมายถึงการเป็นพรรคที่รับภาระหนักที่สุดในการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลผสม ไม่ใช่การ “ลำพองใจ” ในฐานะผู้ชนะ

เพราะหากเอาเสถียรภาพของรัฐบาลผสมเป็นที่ตั้ง พรรคอันดับหนึ่งที่มีเสียงมากกว่าพรรคอันดับสองแค่ 10 ที่นั่งนั้นยิ่งต้องมีศิลปะในการประสานงานแม้แต่กับพรรคที่มีแค่สองที่นั่งในพรรคร่วมรัฐบาล

ใครจะเป็นประธานสภา ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าสังคมไทย “จูน” โลกทัศน์ของตัวเองให้ออกจากการมองการเมืองแบบพระเอก ละ ผู้ร้าย แบบ เขากับเรา หรือแม้แต่การมองว่า ฉันเป็นประชาธิปไคยสุจริต ทันสมัยกว่าใคร ดังนั้น ฉันคือจุดอ้างอิงของความถูกต้องชอบธรรมทุกประการ

เพราะการเมืองหลังจากนี้จะเป็นการเมืองในระบบรัฐสภาที่ไม่มีประยุทธ์แล้ว

เราต้องเลิกวิเคราะห์การเมืองแบบคับแคบ ไร้เดียงสา คนดี คนชั่ว นักการเมืองดี นักการเมืองชั่ว ปราบคนพาล อภิบาลคนดี เพราะฉันจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะฉันเกลียดการคอร์รัปชั่นสุดๆ ฉันจึงสูงส่งกว่าใครทุกทุกคน

เพราะมิเช่นนั้น เราจะไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่วุฒิภาวะของสังคมประชาธิปไตย ที่เต็มไปด้วยความลุ่มๆ ดอนๆ และการต่อรองของกกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ผ่านการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ

แต่เป็นได้แค่เด็กที่คิดว่าประชาธิปไตยคือภาวะการเมืองไร้มลทิน

เพราะนั่นคือหนทางไปสู่การเป็นสลิ่ม again and again