เมื่อทางหลวงกลายเป็นถนน

ปริญญา ตรีน้อยใส

เมื่อทางหลวงกลายเป็นถนน

 

พาไปมองทั่วประเทศ พาไปมองทางหลวงหรือถนนสายต่างๆ ในหลายจังหวัด แต่ก็ยังเหลืออีกหลายสาย ที่คนกรุงเทพฯ คุ้นเคยกันดี เพียงแต่ว่า เมื่อเจ็ดสิบปีก่อนนั้น พื้นที่ในปริมณฑลของกรุงเทพฯ ยังเป็นเพียงหัวเมืองรอบๆ พระนคร

ขอเริ่มจากทางหลวงแผ่นดินสายดาวคะนอง-ป้อมพระจุล ชื่อ ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ร้อยโทหม่อมเจ้าธัญญลักษณ์ สุขสวัสดิ์ อดีตนายช่างหัวหน้าการก่อสร้าง กรมทางหลวง

นามถนนสุวินทวงศ์ ที่ไปมีนบุรี และต่อมายาวไกลถึงปราจีนบุรีนั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่นายเกษม สุวินทวงศ์ ซึ่งขณะเริ่มงานก่อสร้าง ยังดำรงตำแหน่งนายช่างกำกับการเขตการทางปราจีนบุรี

ถนนแจ้งวัฒนะ จากอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไปหลักสี่ จนถึงปากเกร็ด เพื่อเป็นเกียรติแก่นายชะลอ แจ้งวัฒนะ อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางกรุงเทพฯ ที่ 2

ถนนติวานนท์ ไปนนทบุรี ผ่านปากเกร็ด ถึงปทุมธานี เพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนเชิดชาญตรวจ (เชี่ยวชาญ ช.ติวานนท์) อดีตนายช่างกำกับการเขตการทางกรุงเทพ

ถนนงามวงษ์วาน จากบางเขนไปนนทบุรี เพื่อเป็นเกียรติแก่นายดำรง งามวงษ์วาน อดีตช่างกำกับหมวดการทางนนทบุรี ปัจจุบัน สะกดใหม่กลายเป็นถนนงามวงศ์วาน

ถนนชูศักดิ์ ทางหลวงแผ่นดินสายบางแพ-ดำเนินสะดวก-สมุทรสงคราม เพื่อเป็นเกียรติแก่นายชูศักดิ์ คชเสนี อดีตนายช่างกรมทางหลวง

ถนนมาลัยแมน จากนครปฐมไปสุพรรณบุรี เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปุย มาลัยแมน อดีตหัวหน้ากองคลัง กรมทางหลวง

ถนนศุขประยูร จากฉะเชิงเทรา ผ่านพนัสนิคม ไปจนถึงชลบุรี เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสัมฤทธิ วิศวกรรม (โกศล ศุขประยูร) อดีตนายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้าง

ถนนแสงชูโต จากธนบุรีไปกาญจนบุรี เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงอุปกรณ์รัฐวิถี (สระ แสงชูโต) อดีตนายช่างใหญ่กรมทาง

ถนนโรจนะ จากวังน้อยไปอยุธยา เพื่อเป็นเกียรติแก่นายวิธี โรจนะ อดีตนายช่างกำกับแขวงการทาง

และ ถนนศรีรับสุข ทางหลวงจากหลักสี่ไปดอนเมือง เพื่อเป็นเกียรติแก่ร้อยตรีวงศ์ ศรีรับสุข อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางกรุงเทพฯ

ปัจจุบันถนนสายนี้ผนวกรวมกับถนนวิภาวดีรังสิต

เลยกลายเป็นว่า ถนนสายต่างๆ ที่คนกรุงเทพฯ ใช้สัญจรเช้าเย็นนั้น เดิมเป็น ทางหลวง ที่ใช้เดินทางติดต่อระหว่างเมือง ไม่ใช่ ถนน ที่ออกแบบวางแผนให้เป็น

ทางสัญจรในเมือง

ซึ่งตามหลักการวิศวกรรม ทางหลวงจะต่างไปจากถนนในเมือง ที่มุ่งหวังให้การสัญจรระหว่างเมืองสะดวกรวดเร็ว จึงควบคุมทางเข้าออกและการเชื่อมทาง แต่บ้านเรานั้นขาดการควบคุม อีกทั้งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของกรม ทางหลวงจึงกลายสภาพเป็นถนนที่อยู่ในเขตเมืองหรือเทศบาล การจัดการดูแลยังขึ้นกับกรมทางหลวงแผ่นดินเลยยุ่งยากวุ่นวาย

ยิ่งกรุงเทพมหานคร และเทศบาลต่างๆ ไม่ได้งบประมาณตัดถนนมากเท่ากรมทางหลวง เลยเกิดสภาพอลวนเช่นที่เป็นอยู่ จนนักเรียนนอกงุนงง และนักวิชาการมีข้อสรุปเสนอแนะเชยๆ เป็นประจำ

ถนนหรือที่จริงทางหลวงทุกสายที่พาไปมองครั้งนี้ แม้จะมีการขยายผิวจราจร ทำสะพานลอย และทางยกระดับข้ามเพิ่ม แต่ยังคงชื่อเสียง ว่าการจราจรติดขัดอย่างยิ่ง ด้วยพื้นที่สองข้างทางหลวง ที่เคยเป็นท้องทุ่ง ปัจจุบันกลายเป็นอาคารสิ่งก่อสร้างเรียงรายสองข้างทาง

ส่วนพื้นที่ภายใน กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร สถานที่ราชการ โรงงาน และอะไรอีกมากมาย จนกลายเป็นปัญหาเมือง ที่ยากจะแก้ไข •

 

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส