อุษาวิถี (34) บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (34)

บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

 

การใช้หลักคำสอนทั้งสองนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้กลายเป็นรากฐานที่ฝังลึกอยู่ในสังคมทั้งสองอย่างยากที่จะถอนคืนได้อีกต่อไป จนกระทั่งทุกวันนี้

ที่สำคัญ จะด้วยทั้งสองสังคมเป็นอู่อารยธรรมอันเก่าแก่และมีความเจริญรุ่งเรืองก็ดี หรือเพราะได้เกิดกลียุค และผ่านพ้นมาด้วยหลักคำสอนหรือ “สัจธรรม” ของศาสดาและนักปราชญ์ก็ดี อิทธิพลของสังคมทั้งสองก็ได้แผ่ปกคลุมไปยังสังคมใกล้เคียงของตนไปด้วย

ไม่ว่าจะในสังคมในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต่างล้วนรับเอาอารยธรรม แนวทาง และหลักคำสอนของสังคมทั้งสองมาใช้เป็นเวลาที่ยาวนาน และสิ่งที่รับมาก็ได้ฝังรากลึกลงไปในสังคมของตนด้วยเช่นกัน จนปัจจุบันได้กลายเป็นรากฐานหนึ่งที่ใช้อ้างอิงในการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองภายในของตน ไม่ต่างกับสังคมหรือรัฐทั้งสองที่เป็นแม่บท

จนรู้จักผ่านคำว่า “อุษาวิถี”

แต่การกล่าวถึงหรือวิเคราะห์อุษาวิถีที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่ย้อนกลับไปพิจารณาถึงอดีตกาล ณ ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะเป็นอุษาวิถีในปัจจุบัน และนั่นก็คือเหตุผลที่ว่า ทำไมการศึกษาในที่นี้จึงให้ความสำคัญกับอดีตที่ว่าจากอรรถาธิบายที่ผ่านมา

โดยการย้อนกลับไปพิจารณาอดีตในที่นี้จะกระทำผ่านประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประสบการณ์ของอินเดียและจีนในเชิงเปรียบเทียบ ก่อนที่จะขมวดเข้าประเด็นอุษาวิถีเป็นการเฉพาะในตอนท้าย ประเด็นต่างๆ ที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับดังนี้

 

ก.สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ของอุษาวิถี

เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ในที่นี้โดยหลักแล้วก็คือ เหตุการณ์ต่างๆ ที่รายล้อมสังคมอินเดียและจีนในช่วงกลียุค และได้นำไปสู่การเกิดหลักคำสอนหรือสัจธรรมในเวลาต่อมา

หากพิจารณาตามนัยดังกล่าวแล้วช่วงที่ว่านี้ก็คือ ช่วงก่อนประวัติศาสตร์หรือยุคต้นประวัติศาสตร์ โดยสภาพแวดล้อมตามนัยที่กล่าวมาสามารถแยกอธิบายได้ ดังนี้

ก.1 สภาพแวดล้อมทางการเมือง

ก่อนกลียุค, อินเดียกับจีนมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายๆ กันอยู่ 2-3 ด้านด้วยกัน

ด้านแรก ทั้งสองต่างได้ก่อรูปอารยธรรมเป็นของตนเองมาช้านาน ด้านต่อมา ทั้งสองต่างมีระบบการเมืองที่เป็นของตนเองอย่างค่อนข้างชัดเจน ด้านที่สาม ทั้งสองต่างเป็นสังคมที่มีชนชั้น แต่ละชนชั้นถูกกำหนดภาระหน้าที่ที่พึงรับผิดชอบ และมีวิถีชีวิตที่แยกกันอย่างชัดเจนในแต่ละชนชั้น

แม้จะมีความคล้ายกันในสามด้านก็ตาม แต่เมื่อได้เกิดกลียุคขึ้นมา ผลสะเทือนที่ตามมากลับแสดงผลในสังคมทั้งสองที่มีทั้งที่คล้ายกันและไม่เหมือนกัน

ในกรณีที่คล้ายกันก็คือว่า ทั้งอินเดียและจีนต่างมีหลักคิดเกี่ยวกับสถานะของรัฐแตกเป็น 2 ความคิด ความคิดหนึ่งเชื่อว่า การแยกกันอยู่เป็นรัฐใหญ่ไม่กี่รัฐ โดยแต่ละรัฐจะไม่ข้องแวะหรือแทรกแซงกันและกัน

แล้วปล่อยให้เรื่องภายในรัฐจัดการโดยชนชั้นปกครองของรัฐนั้นๆ จะนำมาซึ่งความสงบได้

อีกความคิดหนึ่งเชื่อว่า การที่แต่ละรัฐแยกกันอย่างอิสระจะนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจและความหวาดระแวงระหว่างกัน โดยเฉพาะเมื่อรัฐอิสระที่ว่านี้มีทั้งรัฐเล็กกว่าและใหญ่กว่า

นอกจากนี้ การแยกเป็นอิสระดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรทรัพยากรในระหว่างกันอีกด้วย

จากเหตุผลดังกล่าว ความคิดหลังนี้จึงเชื่อว่า การรวบรวมรัฐอิสระต่างๆ เป็นจักรวรรดิเดียวกันบนความคิดที่คล้ายกันเช่นนี้ สงครามระหว่างรัฐจึงเกิดขึ้นทั้งในอินเดียและจีน เป็นสงครามเพื่อปกป้องความเป็นอิสระของรัฐในความคิดแรก

แต่ก็เป็นสงครามเพื่อสร้างจักรวรรดิขึ้นมาของอีกความคิดหนึ่ง

 

เมื่อสงครามหรือกลียุคเกิดขึ้น ผลที่ตามมาจะต่างกันระหว่างอินเดียกับจีน กล่าวคือ ในกรณีอินเดียเห็นว่า ความแตกแยกที่เกิดขึ้นมีที่มาจากความล้มเหลวและเสื่อมถอยของศาสนาพราหมณ์ ที่มีตัวของพราหมณ์เองเป็นสาเหตุหลัก เพราะพราหมณ์ไม่ได้ทำหน้าที่เยี่ยงนักบวชหรือผู้ทรงปัญญาพึงกระทำ

พราหมณ์เห็นแก่อามิสสินจ้างและความสุขส่วนตนเป็นที่ตั้ง จนทำให้หน้าที่ที่ปรึกษาในทางการเมืองเกิดความบิดเบือนเบี่ยงเบน และการทำพิธีบูชายัญก็เป็นไปอย่างฟุ่มเฟือยและเลือกปฏิบัติ

โดยรวมแล้วพราหมณ์ไม่อาจเป็นที่พึ่งให้กับระบบการเมืองใดได้อย่างที่เคยคาดหวังได้อีกต่อไป จนเมื่อสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าสำเร็จ “สัจธรรม” ที่เป็นทางออกจึงเป็นแนวทางที่ต่อต้านการแบ่งวรรณะและพิธีบูชายัญของพราหมณ์

พร้อมกันนั้นก็เสนอแนวทางที่มุ่งสู่นิพพาน แนวทางนิพพานนับว่ามีส่วนไม่น้อย ในการทำให้ศาสนาพุทธไม่ได้เข้าไปข้องแวะกับโครงสร้างทางการเมือง อันเป็นเรื่องในทางโลกย์

แนวทางที่พุทธโคดมเสนอนับว่าส่งผลสะเทือนต่อศาสนาพราหมณ์ไม่น้อย แม้จะยังไม่อาจถอนรากถอนโคนศาสนานี้ไปได้ก็ตาม

 

ส่วนในกรณีของจีนนั้นเห็นว่า ชนชั้นปกครองไม่ยึดถือหลักปฏิบัติอย่างที่บูรพกษัตริย์ได้เคยยึดถือ และทำให้จีนรุ่งเรืองมาช้านาน เมื่อไม่ยึดถือกลียุคจึงเกิดขึ้น

ขงจื่อในฐานะนักปราชญ์ที่โดดเด่นของยุคสมัยนั้นได้เสนอ “สัจธรรม” เป็นแนวทางให้ชนแต่ละชั้นในสังคมจีนพึงเคร่งครัดต่อหน้าที่ตาม “นาม” ของตน (เจิ้งหมิง) พร้อมกันนั้นยังเสนอให้สังคมให้ความสำคัญต่อรีต (หลี่) ในฐานะสิ่งสะท้อนสำนึกทางจริยธรรมอีกด้วย

แนวทางของขงจื่อจึงมีแนวโน้มในการให้ความสำคัญต่อการคงอยู่ของแต่ละชนชั้น ทั้งนี้ โดยมีรีตเป็นตัวกำกับสำนึกทางจริยธรรมอีกชั้นหนึ่ง

เห็นได้ชัดว่า แนวทางของขงจื่อมุ่งสนองตอบโครงสร้างทางการเมืองอย่างชัดเจน และยังสอดคล้องกับวิถีปฏิบัติของขงจื่อเองอีกด้วย ว่าตลอดครึ่งชีวิตของเขาได้อุทิศตนให้กับการให้คำปรึกษาทางการเมืองแก่ชนชั้นปกครองในรัฐต่างๆ

ที่สำคัญ แม้ขงจื่อจะได้รับการยอมรับทางการเมืองจากชนชั้นปกครองในขณะนั้น แต่ก็เป็นการยอมรับอย่าง “ไม่ถึงที่สุด”

จนเป็นเหตุให้แนวทางของขงจื่อล้มเหลวตลอดเวลาที่เขามีชีวิตอยู่