กลิ่นอายการปฏิวัติ 2475 และบางปูในบ้านทรายทอง กำเนิดบางปูสมัยประชาธิปไตย

ณัฐพล ใจจริง

ด้วยจอมพล ป.ตระหนักว่า ประชาชนคือหัวใจของชาติจึงมีข้อแนะนำให้คนไทยพักผ่อนเพื่อมีสุขภาพแข็งแรง

แต่สถานที่พักผ่อนยุคนั้นมีน้อย เขาจึงสั่งสร้างสถานตากอากาศทางทะเลขึ้นที่บางปู เป็นพื้นที่ติดชายทะเลและระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก ตั้งเป็นสถานตากอากาศของระบอบใหม่ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2482 เริ่มก่อสร้างสะพานสุขตาและเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในในฤดูร้อนของปี 2483

รัฐบาลแนะนำว่า การพักผ่อนยังสถานที่ตากอากาศทำให้จิตใจแช่มชื่น เพลินตาเพลินใจ ตัดความวิตกกังวลในเรื่องการงานต่างๆ ทำให้สมองได้พัก ปอดได้สูดอากาศที่สดชื่นบริสุทธิ์ การไปพักตากอากาศจึงเป็น “เครื่องบำรุงสุขภาพแห่งร่างกาย” (กรมสาธารณสุขฯ, 33-34)

การเดินทางไปตากอากาศที่ห่างไกลจากพระนครนั้นต้องใช้ทุนทรัพย์และ “เป็นธรรมดาอยู่เองที่ทุกคนจะไปไม่ได้เสมอไป เพราะไม่มีทุนทรัพย์หรือไม่มีโอกาสที่จะไปได้ เพราะโดยมากสถานที่ตากอากาศที่เหมาะนั้นมักจะตั้งอยู่ห่างไกลจากพระนคร ทั้งการอยู่กินในสถานที่ตากอากาศเล่าก็มักสิ้นเปลืองเงินกว่าปกติมาก

รัฐบาลเห็นว่า สมควรมี “สถานที่ตากอากาศอย่างดี ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากพระนคร อยู่ในย่านที่ประชาชนไปมาถึงได้สะดวก และพร้อมทั้งค่าอยู่กินในสถานที่เช่นนั้น ไม่แพงเกินควร…” (35)

เมื่อสร้างบางปูแล้ว ในช่วงสงครามโลก จอมพล ป.ยังได้ไปพักผ่อนที่บางปูด้วย (สังข์ พัธโนทัย, 2499, 214-215)

เงาสะท้อนการปฏิวัติ 2475 ในบ้านทรายทอง เครดิตภาพ : สารคดี

บางปูในยามศึก

เมื่อบางปูเปิดได้เพียงปีเดียว ในปีถัดมาญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบางปู จับพนักงานของสถานตากอากาศ และนํามารวมกันเต็มถนนริมทะเลใกล้สะพานสุขตา แต่พนักงานคนหนึ่ง สามารถเล็ดลอดมารายงานข่าวแก่ผู้จัดการสถานตากอากาศได้

วารินทร์ อมาตยกุล ผู้จัดการ พยายามจะโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตํารวจ เขาเห็นทหารญี่ปุ่นปีนเสาโทรศัพท์จึงใช้ปืนยิงทหารตกลงมาตายแต่สายโทรศัพท์ถูกตัดสายแล้ว จึงขอให้คนขับรถประจําทางสายบางปู-เฉลิมกรุงบอกตํารวจแทน ต่อมาวารินทร์ต้องหนีเข้ากรุงเทพฯ ไปหลังก่อเหตุ (แท้ ประกาศวุฒิสาร, 2544, 84-85; สมชาย ชัยประดิษฐรักษ์, anurak-sp.in.th)

ทหารญี่ปุ่นตั้งฐานบริเวณสามแยกหอนาฬิกา โดยทหารและยุวชนทหารสมุทรปราการชุมนุมที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ ชาวบ้านในพื้นที่ก็มารวมตัวกันที่ตลาดปากน้ำ ส่วนข้าราชการปกครองตั้งแนวป้องกันกรุงเทพฯ ที่สําโรงพร้อมอาวุธตั้งแต่เช้าจนบ่าย

แต่ในที่สุดก็มีรายงานผลทางวิทยุโดยรัฐบาลให้ญี่ปุ่นเดินทางผ่านไทยไปยังพม่าและอินเดียได้

ประยูร อุลุชาฎะ ยุวชนทหารครั้งนั้นเล่าว่า “…ข้าพเจ้ารู้ข่าวญี่ปุ่นบุกเมืองไทยตอนเช้ามืด เสียงคนโจษกัน แม่มาปลุกบอกว่าญี่ปุ่นขึ้นที่บางปูแล้ว จึงรีบแต่งตัวยุวชนทหาร ตอนนั้นเรียนอยู่ที่ชั้น ม.3 ตัวยังเล็กอยู่ สวมถุงเท้ารองเท้าบู๊ตหุ้มข้อ ออกวิ่งจากบ้านไปโรงเรียน แม่และพี่ป้าน้าอาห้ามไม่ฟัง ด้วยได้รับคำสั่งว่า เมื่อได้ข่าวศัตรูรุกรานให้ไปรวมพลที่โรงเรียนชาย วัดกลางฯ อากาศกำลังหนาวเยือกเย็นมีหมอกลงด้วย…”

“…ข้าพเจ้าวิ่งไปตามถนนสองข้างมีต้นมะขามครึ้ม เห็นทหารบกแต่ตัวสีเขียวยืนอยู่สองข้างทางตรงโคนต้นมะขามทุกต้น ตอนนั้นนึกว่าทหารไทย แต่เอะใจว่าทหารไทยทำไมใส่หมวกเหล็ก มีร่างแหคลุมหน้ารุงรัง ทำท่ายืนถือปืนก็แปลกตา ย่านรังปืนกลหนักตรงสามแยก เลี้ยวไปบางปู เห็นทหารชุดสีเขียวเต็มไปหมด วิ่งเหนื่อยก็เลยหยุดยืนหอบ เพราะเป็นเด็กตัวเปี๊ยก ยืนจ้องหน้าทหารเห็นหน้าสีแดงๆ มีเคราเต็มเขายิ้มให้แต่ไม่พูดจาเลย ทุกคนเงียบ ข้าพเจ้าใจหายวาบ ด้วยกำลังวิ่งผ่านเข้าไปในกองทัพญี่ปุ่นตลอดทาง…”

(สมชาย, anurak-sp.in.th)

บางปูเมื่อแรกตั้ง 2484

อ่านบ้านทรายทอง
ในฐานะวรรณกรรมการเมือง

ไม่นานหลังจากเปิดบางปู กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่บริเวณบางปู ปลายปี 2484 เพื่อใช้เป็นเส้นทางผ่านไปสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาบางปูหยุดดําเนินการในช่วงปลายสงครามโลก

ต่อมา 2491 บางปูเปิดให้บริการอีกครั้งหลังสงครามโลก มีการโอนให้กรมพลาธิการ ต่อมาบางปูเป็นสถานที่เต้นลีลาศอันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง (silpa-mag.com/history/article_98987)

ดังท้องเรื่องบ้านทรายทองของ ก.สุรางคนางค์ (กัณหา เคียงศิริ) (2493) มีว่า พจมาน สว่างวงศ์ สาวน้อยจากบ้านนอกเดินทางเข้ามาพระนคร อาศัยอยู่กับหม่อมพรรณรายซึ่งเป็นญาติทางพ่อของเธอ ผู้เป็นนักกฎหมาย

โดยบ้านสว่างวงศ์เป็นชนชั้นสูงเลือดสีน้ำเงิน คุณหญิงใหญ่ (ม.ร.ว.ภาระดีสว่างวัฒน์) ผู้เมตตารับให้เข้ามาอยู่ในบ้าน แต่เมื่อหม่อมพรรณารายเดินทางกลับจากบ้านตากอากาศที่ศรีราชา พร้อมคุณหญิงเล็ก (ม.ร.ว.ภาวิณีจรัสเรือง) หม่อมโมโหโกรธามากที่รับพจมานเข้ามาพักในบ้านหลังนี้

ทั้งนี้ การมีบ้านพักตากอากาศที่ศรีราชานั้นถือเป็นตระกูลที่เก่าแก่มาก เนื่องจากศรีราชาเป็นสถานตากอากาศเก่าแก่ก่อนความนิยมจะย้ายมายังชะอำ หรือหัวหินในภายหลัง คุณหญิงเล็กมีนิสัยหรูหราฟุ่มเฟือย พจมานอาศัยในบ้านดุจบ่าวไพร่ บ้านที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ การกดขี่ต่างๆ นานา

ต่อมาพจมานพบคุณชายกลาง (ม.ร.ว.ภราดาพัฒน์ระพี) ผู้สุขุม มีความเด็ดขาด ได้ให้การช่วยเหลือและยกฐานะของเธอให้มีสถานะเทียบเท่าพี่น้องคนอื่นๆ ต่อมาคุณชายกลางต้องเดินทางไปดูงานที่ไซ่ง่อน ในขณะที่หม่อมพรรณรายและคุณหญิงเล็กจงเกลียดจงชังพจมานมากขึ้นทุกวัน

พล็อตเรื่องบ้านทรายทองตีความได้ว่า พจมานเปรียบเหมือนประชาชนเจ้าของประเทศตัวจริง ที่อาศัยในประเทศดุจอาศัยในบ้านทรายทองที่มีกลุ่มชนชั้นปกครองทั้งเก่าและใหม่ควบคุม บางกลุ่มกดขี่เธอ

แม้ประชาชนคือเจ้าของประเทศที่แท้จริงแต่ถูกชนชั้นปกครองอ้างสิทธิเหนือและกดขี่ประชาชนมาอย่างยาวนานอันทำให้เจ้าของประเทศเป็นเพียงผู้อาศัยดุจเหมือนไพร่ ชนชั้นปกครองเดิมไม่เคยเห็นความดีของประชาชน ตั้งหน้าแต่จะคิดเอาเปรียบ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนตลอดเวลา

สุดท้าย ชนชั้นปกครองต้องผจญกับชะตากรรม (การปฏิวัติ 2475) แต่ได้รับความอภัยจากพจมาน (ประชาชน) ผู้ที่ชนชั้นปกครองเกลียดชังมาตลอด สุดท้ายชนชั้นปกครองเดิมต้องพ่ายแพ้ต่อความดีของพจมาน (ประชาชน) ผู้เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง

ในประเด็นเรื่องบุคลิกของชายกลางมีความเด็ดขาด เป็นผู้ดูแลและตัดสินใจทุกอย่าง และมักเก็บซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงไว้ภายในนั้น มีการตีความว่า เป็นไปได้ที่ ก.สุรางคนางค์อาจมีความชื่นชอบในตัวผู้นำอย่างจอมพล ป. เธอจึงเนรมิตให้จอมพล ป.เป็นชายกลาง อีกทั้งตอนหนึ่งบรรยายถึงชายกลางต้องเดินทางไปราชการที่ไซ่ง่อน

สอดคล้องกับบทบาทของจอมพล ป. ในกรณีพิพาทอินโดระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในช่วงปี 2483-2484 ด้วย (sarakadeelite.com/lite/bangpoo-baansaithong/)

บรรยากาศรำวง ในเวทีลีลาศที่บางปู ในช่วงต้นทศวรรษ 2490

บางปูในบ้านทรายทอง

นับแต่ต้นทศวรรษ 2490 บางปูกลายเป็นสถานลีลาศที่มีชื่อเสียง และกลายเป็นฉากหนึ่งในนวนิยายบ้านทรายทองที่กล่าวถึงพจมาน สาวสามัญชน นางเอกของเรื่องที่มักมาตากอากาศบางปูเป็นประจำ แบบเดินทางไปกลับโดยไม่ค้างคืน

ในขณะที่เรื่องปริศนา ของ ว.ณ ประมวญมารค เลือกใช้หัวหินเป็นฉากสถานตากอากาศให้กับนางเอกผู้เป็นผู้ดีในนวนิยาย (sarakadeelite.com/lite/bangpoo-baansaithong/)

หากวิเคราะห์ภูมิหลังของ ก.สุรางคนางค์แล้ว เธอเป็นภริยาของ ป.บูรณปกรณ์ นักเขียนฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 และทำงานกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติของพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร-เจ้านายผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เป็นไปได้ที่เธอย่อมได้รับอิทธิพลทางความคิดในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมเก่าและสนับสนุนสังคมใหม่จากสามีเธอไปด้วย

ดังนั้น หากตีความและถอดรหัสความหมายของบ้านทรายทองที่เป็นนวนิยายภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้วจะพบว่า พล็อตเรื่องนั้นสะท้อนประวัติศาสตร์การปกครองของไทยในอดีตและคติอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย พร้อมการก้าวขึ้นมาของบางปู อันเป็นสถานตากอากาศที่ได้รับความนิยมของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในสมัยประชาธิปไตยด้วย

-จารุณี สุขสวัสดิ์ และพอเจตน์ แก่นเพชร กับจอมพล ป.
การรำวงที่ศาลาสุขใจในช่วงทศวรรษ 2490