หมอรุ่นใหม่ไม่ทน…เมื่อสภาพการทำงานอันเป็นพิษ แห่ ‘ลาออก’ จากระบบ

อันที่จริงปัญหาแพทย์ใช้ทุน ‘ลาออก’ จากราชการนั้น แทบจะเป็นปัญหาโลกแตกที่อยู่คู่กับระบบสาธารณสุขไทยมาโดยตลอด และหากวัดจากอัตราในระดับนี้ แพทย์ใช้ทุนจะลาออกมากขึ้นเรื่อยๆ หากยังคงไม่มีมาตรการแก้ไขจากรัฐบาล และไร้มาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนด ‘ภาระงาน’ ของแพทย์

สถิติที่ผ่านมา มีแพทย์ใช้ทุนทุกชั้นปีลาออกอย่างต่อเนื่อง จากแพทย์ที่ผลิตป้อนเข้าสู่ระบบปีละ 2,000 – 3,000 คน มีแพทย์ที่ใช้ทุนปีแรกลาออกเฉลี่ยปีละ 23 คน แพทย์ใช้ทุนชั้นปีที่ 2 ลาออกเฉลี่ยปีละ 188 คน แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออกเฉลี่ยปีละ 86 คน และแพทย์ลาออกหลังพ้นภาระใช้ทุน เฉลี่ยปีละ 158 คน

อันที่จริงระบบใช้ทุนถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนในชนบท แก้ปัญหา ‘สมองไหล’ ไม่ให้แพทย์หลุดไปยังโรงพยาบาลเอกชน หรือออกไปทำงานต่างประเทศ เป็นวิธีคิดในแบบคนรุ่นเก่าที่คิดว่าวิธีแก้ปัญหาการลาออกคือเซ็ตเพดานทุนไว้แพงๆ ให้แพทย์รุ่นใหม่ทำงานในชนบทเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ แล้วเพิ่มอัตราการใช้ทุนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้แพทย์ลาออกก่อนกำหนด

แต่วิธีคิด ณ เวลานั้น ย่อมใช้ไม่ได้ในเวลานี้ เวลาที่แพทย์รุ่นใหม่มีทางเลือกอีกมาก ไม่ว่าจะให้พ่อแม่จ่ายไปก่อน แล้วทำงานใช้หนี้ ไม่ว่าจะให้พ่อแม่ช่วยจ่ายให้ แล้วไปทำงานในภาคเอกชน หรือเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น เพื่อแก้ปัญหาการทำงานหนักและเกินเวลา

คำถามสำคัญก็คือแล้วทำไมแพทย์ใช้ทุนถึงมีแนวโน้มออกจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ?

หากฟังจาก นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เหตุผลที่แถลงอย่างเป็นทางการคือเป็น ‘ปัญหาสะสม’ โดยเฉพาะกรณีแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน ต้องดูแลประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าราว 45 ล้านคน หรือประมาณ 70% ของจำนวนประชากร ซึ่งทำให้จำนวนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ห่างจากมาตรฐานโลกที่กำหนดไว้ที่ 3 ต่อ 1,000 คน อยู่เยอะมาก อีกทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังทำให้แพทย์มีภาระงานล้นขึ้นเรื่อยๆ

น่าเสียดายที่ตรงจุดนี้ กระทรวงสาธารณสุขมองว่าเป็นปัญหาจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่ได้โทษระบบสาธารณสุขภาพใหญ่ และการบริหารจัดการในภาพรวมที่ ‘เป็นพิษ’ มายาวนาน

ระบบ ‘อำนาจนิยม’ ในวงการแพทย์

ระบบอาวุโสแบบ ‘อำนาจนิยม’ ในวงการแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังกันอย่างยาวนาน หากอาชีพอื่นๆ เจ้าหน้าที่อาวุโสมีภาระงานน้อยกว่า สบายกว่า และคนมาทีหลังทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อ ‘แบก’ ระบบไว้

สิ่งที่ปลูกฝังกันมาตลอดสำหรับแพทย์ใช้ทุนก็คือเป็นการทำงานเพื่อมวลชน เพื่อประชาชน เป็นการเสียสละออกช่วยผู้คนในชนบท มากกว่าจะเป็นอาชีพซึ่งควรจะมีสมดุลในเวลาพัก และเวลาทำงาน และเป็นอาชีพหนึ่งที่ควรมีภาระงานกำหนดชัดเจน มีระบบงานขีดไว้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้งานงอกมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนคนไข้

เสียงจากแพทย์ใช้ทุนในชีวิตจริงก็คือ สัปดาห์หนึ่งอาจต้องทำงานมากกว่า 100 – 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรืออาจเกินกว่าวันละ 15 – 17 ชั่วโมง จนหลายครั้งไม่มีเวลาพักผ่อน และทำให้การรักษาไม่ได้เป็นไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

อีกส่วนหนึ่งก็คือคนรุ่นใหม่นั้นไม่ใช่คนที่ ‘สยบยอม’ กับอะไรง่ายๆ ในอดีต แพทย์ใช้ทุนอาจยินยอมกับคำพูดที่ดูหมิ่น ดูถูก ให้ทำงานหนักๆ เข้าไว้ วันหน้าจะได้ดี แต่คนรุ่นใหม่เลือกจะไม่ทนกับสภาพแวดล้อมอันเป็นพิษ

คำบอกเล่าจากแพทย์ก็คือโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งมีวิธีคิดแบบเดิมว่าอยู่ ‘ชุมชน’ ต้องทำเป็นทุกอย่าง ขณะที่ในระดับโรงพยาบาลศูนย์หรือทั่วไป ระบบอำนาจนิยมที่แพทย์สต๊าฟทำกับแพทย์อินเทิร์นก็หนักหนาสาหัสเช่นกัน อีกทั้งเกณฑ์ในการรักษาคนไข้ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกับที่ความคาดหวังจากคนไข้ต่อแพทย์อินเทิร์นก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

จากเดิมที่หวังว่าแพทย์จะช่วยดูแลโรคง่ายๆ ได้ตามสภาพ เป็นความคาดหวังบริการที่ซับซ้อนขึ้น คนไข้จำนวนไม่น้อยล้วนต้องการให้หมอมีเวลาในการตรวจวินิจฉัยโรคนานๆ มีเวลาในการซักประวัตินานๆ ขณะที่ภาระของหมอคือการเร่ง ‘ทำรอบ’ ให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาคนไข้ล้นทะลักที่มารอเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการถอดรองเท้าจองตั้งแต่เช้า

ถึงจุดนี้ คนไข้ที่รอรับบริการย่อมตองการการบริการที่ดีกว่า และ ‘ไม่ทน’ เช่นกัน หากต้องรอเข้ารับบริการอย่างยาวนาน และมีเวลาเจอแพทย์แค่ไม่กี่นาที คนไข้ไม่รู้สึกว่าต้องมี ‘บุญคุณ’ อะไรต่อกัน ซึ่งก็ไม่ควรจะรู้สึกว่ามี เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการให้ประชาชนสมทบผ่านระบบภาษีจนได้รับสิทธิ์การรักษาฟรี หาใช่การรักษาฟรีแบบล้วนๆ

แล้วระบบสาธารณสุขไทยจะเป็นอย่างไรต่อ?

– สิ่งที่ต้องยอมรับมีหลายระดับ อย่างแรก วิธีการแก้ปัญหาไม่ได้มีเพียงแค่การผลิตแพทย์เพิ่มอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลคาดหวังเพียงอย่างเดียว เพราะหากระบบยังเป็นเช่นนี้ ผลิตเท่าไรก็จะมีคนไหลออกมากขึ้น

เรื่องที่สอง การเพิ่ม ‘ค่าปรับ’ ก็ไม่ได้แก้เช่นกัน เพราะสุดท้ายจะเป็นการปะผุ การเพิ่มค่าปรับอาจลดจำนวนเลือดไหลได้ระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายบุคลากรที่ลาออกก็ไม่ได้อยู่ด้วยใจ ยังอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยม และปัญหาทั้งหมดก็ยังเรื้อรังต่อไป

ทางแก้ง่ายๆ อาจเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ ‘ภาระงาน’ ของแพทย์ทั้งหมดอย่างจริงจัง ขีดเส้นการทำงานให้อยู่ในอัตราที่มนุษย์หนึ่งคนจะรับได้ และสร้างระบบสวัสดิการ ระบบค่าตอบแทน ที่สมน้ำสมเนื้อมากขึ้น หากต้องควงกะ

ทางแก้ที่ตามมาคือการพาระบบการรักษาในปัจจุบันไปเป็น ‘เทเลเมดิซีน’ ที่มีคุณภาพ เปลี่ยนกรอบการ ‘พบแพทย์’ เป็นการพบด้วยวิธีอื่น อันที่จริง ระบบสาธารณสุขไทยโชคดีที่มี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จำนวนมาก ทว่า ที่ผ่านมาอาจไม่ได้ถูกปรับใช้เป็นสถานที่ในการคัดกรองโรคก่อนพบแพทย์ได้ดีพอ ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องพบแพทย์ทันที เพิ่มภาระงานให้แพทย์โดยไม่จำเป็น

ในระยะยาว อาจต้องพาโรงพยาบาลชุมชนไปสู่การ ‘กระจายอำนาจ’ ให้เร็วยิ่งขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานะของระบบสาธารณสุขที่ชะงักงันอยู่ขณะนี้ คือการที่ทุกโรงพยาบาลต้องอยู่ภายใต้ระบบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดทั้งในด้านงบประมาณ และอัตราการบรรจุบุคลากร กลายเป็นหนึ่งในทางตันใหม่ ที่ทำให้ปัญหาหลายอย่างสะสมพอกหางหมูต่อไปเรื่อยๆ

และที่สำคัญ ต้องอย่าลืมมองบุคลากรทางการแพทย์ในสายวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะ ‘ลูกจ้าง’ โรงพยาบาล และ ‘พยาบาล’ รวมไปถึง ‘เภสัชกร’ ที่ก็ประสบปัญหาคล้ายกัน ไม่ว่าจะในเชิงภาระงาน สวัสดิการ หรือค่าตอบแทน

แต่ทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขต้องเลิกมองตัวเองในฐานะ ‘เจ้าของ’ โรงพยาบาล และกล้าผ่าตัดใหญ่ อย่าคิดว่าการที่หมอลาออกคือปัญหาเล็ก ปัญหาเดียว และตัดขาดจากปัญหาอื่นๆ

ทั้งหมด คือความหวังภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ที่จะกล้าฝันมองกระทรวงสาธารณสุขให้ต่างจากเดิม ‘ผ่า’ กระทรวงสาธารณสุขออกให้เด็ดขาด แล้วจัดการทุกอย่างโดยมองจากกรอบเดิม