33 ปี ชีวิตสีกากี (25) | “วิชาการพิมพ์ลายนิ้วมือ” วิชาก้นหีบ ที่ช่วยงานสืบสวน

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

นักเรียนชั้นปีที่ 2 จะต้องไปทำการฝึกการกระโดดร่ม หลังจากสอบเทอมแรก จึงต้องมีการเตรียมตัวฝึกตั้งแต่เริ่มต้นปีการศึกษาเพื่อความพร้อมทุกอย่าง

เริ่มมีการฝึกขั้นพื้นฐานในการกระโดดร่มตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน โดยมีการแบ่งสถานีการฝึกเป็นสถานี พื้นที่ที่ใช้ฝึก คือ บริเวณสระด้านข้างกองร้อยที่ 1 และกองร้อยที่ 2 ที่เวลาถูกทำโทษ ต้องวิ่งรอบสระนี้

มีสถานีฝึกการล้มตัว สถานีฝึกการบังคับร่มเมื่ออยู่กลางอากาศ สถานีฝึกท่าทางเมื่อโดดออกจากเครื่องบิน โดยใช้เครื่องบินจำลอง สถานีฝึกการไต่เชือกเพื่อให้กล้ามเนื้อแขนและข้อมือมีความแข็งแรง และมีกำลังพอที่จะดึงเชือกบังคับร่มได้ ชั้นปีที่ 2 จึงเป็นปีแห่งการท้าทายสิ่งใหม่ๆ ทั้งการเตรียมความพร้อมทางกายภาพ และลึกซึ้งในภาควิชาการที่จะต้องศึกษาจากคณาจารย์ในตอนเรียน

ชั้นปีที่ 2 จึงเป็นปีที่เริ่มเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ จะต้องตั้งใจเรียนหลังจากได้ผ่านการเรียนรู้ระเบียบความเป็นตำรวจนานถึง 1 ปีเต็มและผ่านพ้นไปแล้ว

เริ่มต้นของการเป็นนักเรียนรุ่นพี่ เพราะในเวลาเดียวกันก็มีนักเรียนใหม่ รุ่น 36 เข้ามา ในปีนั้นเพิ่มขึ้นถึง 300 นาย จากเดิมพวกผมคือผู้ที่อาวุโสต่ำสุด ขณะนี้ขยับสูงขึ้นมาอีก 1 ชั้น ทำให้ลดการถูกทำโทษจากรุ่นพี่ลงไปได้บ้าง

นักเรียนชั้นปีที่ 2 เริ่มมีเวลาได้ศึกษาเล่าเรียนในตอนเรียนมากขึ้น เพราะการฝึกน้อยกว่าเมื่อครั้งเป็นนักเรียนใหม่มาก

วิชาที่แปลกและน่าสนใจก็ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตร คือ วิชาการพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งใกล้เคียงกับหมอดูลายมือ

แต่นี่ไม่ใช่ เพราะตามประวัติการพิมพ์ลายนิ้วมือ สมัยก่อนใช้ระบบของเฮนรี่ ต่อมาใช้ระบบ F.B.I. คือ เดิมใช้ทำเครื่องหมายเพื่อการจดจำ ผู้ที่เคยต้องโทษซึ่งมีอายุ 20 ปีขึ้นไป เช่น รัสเซียใช้ตัดนิ้ว เยอรมนีใช้เหล็กเผาไฟนาบหน้า

ต่อมา แกรติบอง ชาวฝรั่งเศส มีการจัดส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อจดจำ เรียกแผนแกรติบอง โดยให้คนนั่งบนเก้าอี้ วัดความสูงจากพื้นถึงหู วัดขนาดกะโหลก

แต่ประเทศที่ใช้จดจำบุคคล โดยใช้ลายนิ้วมือประเทศแรก คือ จีน โดยเอาหัวแม่มือกดดิน เรียกตีโม

ในสมัย ค.ศ.1858 สมัยเซอร์วิลเลี่ยม เอ เชอริสัน พบการทุจริตในอินเดียมาก มีการเบิกบำเหน็จบำนาญไม่ถูก ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เลยให้คนที่รับเงินมาพิมพ์ลายนิ้วมือทุกคน

ต่อมา มร.เฮนรี่ คิดวิชาพิมพ์ลายนิ้วมือ มีการคิดสูตรคำนวณ ต่อมามีการปรับปรุงจนได้ผลดีในจักรภพอังกฤษ เรียก ระบบเฮนรี่

 

ลายนิ้วมือ มีลักษณะตายตัว ไม่มีการซ้ำกัน แต่ข้อแตกต่างกัน จะมีอยู่เพียงไม่มากนักเป็นเพียงจุดเล็กๆ

พ.ศ.2433 วิชานี้เข้ามาในไทย กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม มีการบัญญัติการเพิ่มโทษ ผู้กระทำผิดตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป จึงคิดหาวิธีที่จะใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัวนักโทษ มีผู้เสนอว่า ให้ใช้การถ่ายรูป กรมหลวงราชบุรีฯ เห็นว่าการถ่ายรูปไม่แน่นอน คนรูปร่างเปลี่ยนแปลงได้ อ้วนได้ ผอมได้ จึงได้ประชุมแก้กฎหมายลักษณะอาญา ให้ใช้ลายนิ้วมือ เป็นเครื่องยืนยันตัวบุคคล เพราะ

1. ถ้ายังไม่เน่าเปื่อย ลายนิ้วมือจะคงเดิม

2. ไม่สามารถใช้วิทยาการใดเปลี่ยนลายนิ้วมือได้

พ.ศ.2444 ตั้งแผนกพิมพ์ลายนิ้วมือ อยู่ที่กองลหุโทษ พิมพ์ลายนิ้วมือนักโทษ โดยใช้อักษรไทย เลขไทย

พ.ศ.2446 กรมตำรวจนครบาล ตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่ให้พิมพ์เฉพาะผู้ขออนุญาตขับขี่ยานพาหนะสาธารณะ กับผู้สมัครรับราชการตำรวจ

พ.ศ.2447 ได้เลื่อนแผนกพิมพ์ลายนิ้วมือ ขึ้นเป็นกองพิมพ์ลายนิ้วมือ อยู่ในกรมลหุโทษ

พ.ศ.2449 พระสหายของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นชาวอังกฤษ ชื่อ Aston มาเยี่ยม พอเห็นแบบพิมพ์ลายนิ้วมือ บอกว่าควรเปลี่ยนเป็นกระดาษแข็ง เพราะแต่ก่อนใช้กระดาษธรรมดาพับสี่ และที่เคยใช้ภาษาไทย เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษให้หมด รวมทั้งตัวเลขด้วย

เดิม ก. = 1 -> Whorl -> W = 1 ก้นหอย

ม. = 2 -> Loops -> L = 2 มัดหวาย

ค. = 3 -> Arch -> A = 3 โค้ง

พ.ศ.2450 เปลี่ยนแปลงแก้อักษรเป็นภาษาอังกฤษ

พ.ศ.2482 พ.ต.ท.หลวงวิจิตรพิทยาการ คิดขยายกองพิมพ์ลายนิ้วมือไปต่างจังหวัด เพราะต้องส่งมาส่วนกลางก่อน จึงขยายไปอยู่เป็นเขต 4 เขต เขตเหนือ ตั้งที่ พิษณุโลก เขตใต้ ตั้งที่สงขลา เขตตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งที่อุดรธานี เขตตะวันออก ตั้งที่นครราชสีมา

พ.ศ.2495 ขยายงานเขต เป็นกองวิทยาการเขต เป็น 9 เขต แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าของเดิม

พ.ศ.2499 กองทัพบก ตั้งกองวิทยาการ ที่กรมสารวัตร จึงส่งทหารมาเรียน

พ.ศ.2500 ยูซ่อม ให้การช่วยเหลือ เปลี่ยนระบบการพิมพ์ลายนิ้วมือจาก Scotland yard เป็น Henry คือ ระบบแบบอังกฤษ เป็น F.B.I. มีการสอนใหม่ โดยใช้ล่ามแปล แต่ไม่เข้าใจกัน จึงเปลี่ยนอาจารย์ใหม่ ภายหลังเดินทางไปดูงานต่างจังหวัด ได้ขอให้ยูซ่อมสร้างวิทยาการเขตเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ใน พ.ศ.2509 คือ ที่จังหวัดยะลา, เชียงใหม่ และอุบลราชธานี

พ.ศ.2510 ขอยูซ่อม สร้างวิทยาการเขตอีก 20 แห่งใน 15 จังหวัดภาคอีสาน ยกเว้นมหาสารคาม

พ.ศ.2511 ขอวิทยาการเขตอีก 10 แห่ง

พ.ศ.2519 กรมตำรวจ แบ่งเขตกองบัญชาการตำรวจภูธร ออกเป็น 4 กองบัญชาการ และมีกองบังคับการ 12 แห่ง

ในเวลานั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังเป็นกรมตำรวจ เวลาเรียนจึงใช้คำนี้ ซึ่งได้ระบุไว้ว่า กรมตำรวจใช้ประโยชน์อย่างไรเกี่ยวกับลายนิ้วมือ คือ

1. ใช้สำหรับตรวจสอบประวัติต้องโทษและความประพฤติของบุคคล

2. ใช้ตรวจกับศพ คนตายไม่ทราบชื่อ เพื่อให้ทราบว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีเครือญาติเป็นอย่างไร

3. ใช้พิมพ์ลงในต้นขั้วตั๋วจำนำเพื่อตรวจสอบ ในเมื่อปรากฏว่า สิ่งของที่ถูกนำเอาไปจำนำไว้ เป็นสิ่งของที่คนร้ายลักเอาไป ซึ่งอาจจะเป็นทางสืบสวนต่อไปได้ว่า ใครเป็นผู้นำเอาไปจำนำไว้

4. ใช้ตรวจกับลายนิ้วมือที่ได้ในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อให้ทราบว่าเป็นของผู้ใด

5. ใช้ตรวจสอบเพื่อให้ทราบถึงบุคคลที่ถูกอายัดตัวไว้ หรือหลบหนีคดีอาญาต่างๆ มาจากที่ใด หรือนักโทษที่หลบหนีที่ควบคุมมา

 

นี่เป็นวิชาการพิมพ์ลายนิ้วมือในช่วงแรกที่นักเรียนนายร้อยตำรวจจะต้องเข้าใจว่าเหตุใดวิชานี้จึงสำคัญเพราะต้องการพิสูจน์การกระทำผิดของผู้ต้องหา

อาจารย์ที่สอนยังได้ย้ำในตอนเรียนว่า เจ้าพนักงานตำรวจ ตลอดจนผู้ที่มีหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนค้นคว้าหาข้อเท็จจริง ต้องจำไว้เสมอว่า ลายนิ้วมือของมนุษย์ จะก่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นการป้องกันมิให้เกิดการบกพร่องต่อหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ต้องยึดถือหลักการในการปฏิบัติก่อนกระทำอื่นใดทั้งสิ้น คือ

1. เมื่อจับตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาได้ ต้องจัดการพิมพ์ลายนิ้วมือและกรอกข้อความต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในแผ่นพิมพ์ให้ครบถ้วนไว้ทันที ก่อนที่จะส่งตัวเข้าทำการควบคุมไว้ในที่ควบคุม โดยไม่ต้องคำนึงว่า การถูกกล่าวหากระทำความผิดนั้น คดีจะมีมูลหรือไม่เพียงไร

2. รีบส่งไปขอให้ทำการตรวจสอบ เพื่อขอทราบประวัติบุคคลนั้นโดยทันที หรืออย่างช้าในวันรุ่งขึ้น

ความสำคัญของลายนิ้วมือนั้น เนื่องจากมีการค้นคว้าโดยนักปราชญ์กว่า 2,000 ปีมาแล้วว่า

1. มีความคงทน ไม่เปลี่ยนแปลง

2. ไม่อาจทำการเปลี่ยนแปลงลายนิ้วมือได้

3. ยังหาลายนิ้วมือบุคคล 2 คนซ้ำกันไม่ได้ มีแต่คล้ายกัน ไม่เหมือนกันทีเดียว การพิสูจน์ตัวบุคคล ว่าเป็นบุคคลเดียวกัน จึงมีวิธีการตามระบบพิมพ์นิ้วมือขึ้น

วิชานี้นักเรียนชั้นปีที่ 2 จะเรียนกันอย่างจริงจังและเป็นประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนค้นคว้าหาความจริง มันจึงเป็นวิชาที่แปลกสำหรับคนวงนอก

แต่ในความคิดของผม วิชาอย่างนี้นี่แหละ ที่ช่วยงานสืบสวนสอบสวนจับตัวคนร้ายได้ง่ายขึ้น

เมื่อจบการศึกษาออกไปทำงาน จำเป็นต้องงัดวิชาก้นหีบของอาจารย์ออกมาใช้

ดังนั้น เมื่อบันทึกเรื่องราวในอดีต จึงขอรื้อฟื้นพื้นความรู้เดิมออกมาเล่าให้ฟังว่า มีสิ่งใดที่สามพรานมอบให้นักเรียนนายร้อยตำรวจในยุคนั้น