เหตุร้อนๆ กรณี ‘สนทนาอย่างไม่เป็นทางการ’ ที่กระทรวงบัวแก้ว (1) | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ผมเขียนซีรีส์เรื่องนโยบายต่างประเทศไทยของรัฐบาลปัจจุบันและความคาดหวังสำหรับรัฐบาลใหม่มาหลายสัปดาห์…ก็มีเรื่องประหลาดระเบิดขึ้นมากลางคัน

เรื่องที่ว่านี้มาจากคุณดอน ปรมัตถ์วินัย, รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ เกิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง

แวดวงการทูตในกรุงเทพฯ แชร์จดหมายสองสามฉบับกันวุ่น…ด้วยความแปลกใจว่ากระทรวงการต่างประเทศไทยทำอะไรหรือจึงทำให้อินโดนีเซียและสิงคโปร์ (และเพื่อนอาเซียนอีกบางชาติ) มีอันต้องร้อนผ่าวขึ้นมา

อาจถูกมองได้ว่าคุณดอน “ทิ้งทวน” หรือไม่ก็ “วางยา” ใส่รัฐบาลใหม่หรือเปล่า

เพราะหากตีความว่า “ไร้เดียงสา” ก็จะเป็นการด้อยค่าไปหน่อย

เพราะอยู่ดีๆ ขณะที่ประเทศไทยกำลังรอการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายหลายด้านที่ไปคนละทางกับรัฐบาลปัจจุบันรวมถึงนโยบายต่างประเทศด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศรักษาการก็มีความริเริ่มทางการทูตที่สร้างความเครียดให้กับเพื่อนในอาเซียนด้วยกันหลายคน

คุณดอนออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่าการขอเชิญ “สนทนาอย่างไม่เป็นทางการ” นี้ไม่ได้ทำในกรอบอาเซียน แต่เป็นการเปิดเวทีรับฟังพัฒนาการของเมียนมา

โดยยืนยันว่าที่ต้องจัดให้มีงานนี้ก็เพราะสถานการณ์ชายแดนไทยกับพม่านั้น “รั้งรอ” ไม่ได้

“ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเมียนมาถึง 2,400 กิโลเมตร ไทยต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมาอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีและยุติการใช้ความรุนแรง การสู้รบตามชายแดนมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ทั้งด้านการค้าชายแดนที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทความมั่นคงทางพลังงาน การลักลอบค้ายาเสพติด การลักลอบค้าอาวุธ แก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาประจำที่เกิดขึ้น โดยไทยไม่อาจรั้งรอในการแก้ปัญหาได้…”

ในการให้สัมภาษณ์ “มติชน” ต่อมาท่านบอกว่าได้เชิญผู้แทนระดับรัฐมนตรีของอาเซียนทั้งหมด แต่ “ถ้าใครไม่อยากมาก็ไม่เป็นไร บางคนไม่สะดวกก็ส่งผู้แทนมารับฟัง…ในขณะที่เมียนมาเปลี่ยนรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ เราควรต้องรับฟังเขา”

เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศบอกว่ามีตัวแทนมาร่วมการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ 7 ประเทศ จากลาว กัมพูชา เมียนมา อินเดีย จีน บรูไน เวียดนาม

คนที่แสดงอาการงุนงงและขุ่นเคืองออกมาชัดๆ เห็นจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย Retno Marsudi และรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ Vivian Balakrishnan ตามมาด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย Zambry Abdul Kadir

เพราะอยู่ดีๆ คุณดอนก็ออกจดหมายเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมดมาที่กรุงเทพฯ

เพื่อพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัฐบาลทหารพม่า

ทั้งๆ ที่มีมติของผู้นำอาเซียนว่าจะไม่ร่วม “สังฆกรรม” กับระดับนำของรัฐบาลทหารพม่าจนกว่าจะมีความคืบหน้าเรื่องการดำเนินการทำฉันทามติ 5 ข้อหรือ Five-Point Consensus ที่ผู้นำทหารพม่าคือพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ได้ตกลงกับผู้นำอาเซียนอื่นๆ หลังก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

จดหมายเชิญที่คุณดอนลงนามในฐานะ “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ” ของไทยนั้นลงวันที่ 14 มิถุนายนนี้เอง

และขอเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเชียนมาร่วมประชุมที่เมืองไทย 18-19 มิถุนายนที่ผ่านมา

หรือบอกล่วงหน้าแค่ 4 วัน

มีอะไรที่ต้องรีบร้อนเร่งด่วนขนาดนั้นหรือ?

 

ความประหลาดของจดหมายจากคุณดอนฉบับนี้มีหลายประการ

ข้อแรกคือ เป็นการนัดหมายอย่างกระชั้นชิดโดยไม่ให้เหตุผลอะไรนอกจากบอกว่า “เมื่อพิจารณาปัจจัยที่เร่งด่วนหลายข้อแล้ว จังหวะเวลาของการพูดจาควรจะให้เร็วดีกว่าช้า…”

ไม่ได้บอกว่า “ปัจจัยกดดันเร่งด่วนหลายข้อ” ที่ว่านี้คืออะไร

ความ “เพี้ยน” ของเนื้อหาจดหมายนี้คือเหตุผลที่ให้สำหรับการที่คุณดอนเชิญมา “ปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการ” (informal discussion)

โดยอ้างถึง “คำแถลงที่ชัดเจน” จาก “ประเทศสมาชิกอาเซียนชาติหนึ่ง” ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 42 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ที่เพิ่งผ่านมาที่เมืองลาบวน บาโจของอินโดนีเซีย

คำแถลงที่คุณดอนอ้างถึงนั้นมีใจความว่า

“ถึงเวลาที่จะให้อาเซียนจะกลับไปมีปฏิสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบในระดับผู้นำประเทศ…”

คุณดอนอ้างต่อว่า “สมาชิกหลายท่านสนับสนุนข้อเสนอนั้นและบางประเทศพร้อมจะพิจารณา”

คุณดอนอ้างอีกว่า “ไม่มีเสียงคัดค้านที่ชัดเจนแต่อย่างใด”

ตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็นที่คุณดอนถูกตอกกลับ

 

ในจดหมายฉบับนี้ คุณดอนบอกว่าการประชุมครั้งนี้มีจุดประสงค์ให้เป็นการพูดจากันอย่างไม่เป็นทางการซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของก้าวแรกๆ ของกระบวนการสันติภาพเมียนมาตามแนวทางที่มีการเสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียนดังกล่าว

“หากว่าการพบปะอย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีนี้นำไปสู่ความคืบหน้าทางสร้างสรรค์อย่างมีสาระ เราก็ขอเสนอให้ฉวยจังหวะนั้นจัดให้มีการประชุมระดับผู้นำต่อเนื่องไปเลยทันที…”

ที่ย้อนแย้งกันในจดหมายเชิญของคุณดอนกับที่กล่าวในแถลงการณ์ของกระทรวงในวันต่อมาอยู่ตรงที่ว่าในจดหมายอ้างถึงการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซียเมื่อเดือนที่แล้ว

แต่ในคำชี้แจงของกระทรวงอ้างว่า

“ไทยได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ของอาเซียนที่กรุงพนมเปญเมื่อปี 2565 ว่า ไทยจะดำเนินการให้มีการพูดคุยเพื่อหาวิธีซึ่งจะได้มาเพื่อการแก้ปัญหาในเมียนมาอย่างสันติในทุกกรอบ รวมทั้งในกรอบ 1.5 ซึ่งครอบคลุมการประชุมทั้งภาคราชการและวิชาการ ซึ่งสมาชิกอาเซียนรับทราบและไม่มีผู้คัดค้าน…”

รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์โต้กลับในจดหมายว่าในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่อินโดฯ เมื่อเดือนที่แล้วนั้น มีผู้ไม่เห็นด้วยหลายคน “รวมถึงนายกรัฐมนตรีของผมด้วย”

คุณดอนอ้างถึงคนละงาน, คนละบริบท

ข้อประหลาดที่สำคัญกว่านั้นก็คือ

คุณดอนเป็น “รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศรักษาการ”

ไม่ควรจะมีการทำอะไรที่เป็นระดับนโยบายสำคัญที่ควรจะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลใหม่เลย

 

ข้อผิดเพี้ยนประการสำคัญอีกข้อหนึ่งคืออินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนปีนี้

หากจะมีความริเริ่มใดๆ ที่เกี่ยวกับอาเซียนในกรณีนี้ก็ควรจะให้อินโดนีเซียเป็นผู้นำ…ไม่ใช่ประเทศไทย

ที่ผมแปลกใจมากๆ ก็คือคุณดอนไม่ได้ปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ Marsudi ก่อนจะออกจดหมายเชิญฉบับนี้หรือ?

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ Marsudi ร่อนจดหมายโต้คุณดอนแบบ “ตีแสกหน้า”

เธอชี้ให้คุณดอนเห็นว่าผู้นำอาเซียนเพิ่งจะมีการประชุมสุดยอดที่ถกถึงประเด็นเรื่องเมียนมาอย่างกว้างขวางเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง (ประชุมสุดยอดครั้งที่ 42 ที่คุณดอนอ้างถึงนั่นแหละ)

เธอบอกว่าผู้นำอาเซียนไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ที่จะกลับไปมีปฏิสัมพันธ์หรือมีท่าทีใหม่ในกรณีพม่าแต่อย่างไร

ในจดหมายฉบับนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดฯ ยังเตือนคุณดอนว่าสำนักงานทูตพิเศษของอาเซียน (ว่าด้วยกิจการพม่า) ก็กำลังติดต่อกับฝ่ายต่างๆ ในพม่าเพื่อแสวงหาหนทางที่จะให้มีการพูดจาที่ครอบคลุมทุกฝ่ายเพื่อหาทางยุติวิกฤตทางการเมืองของประเทศนั้น

แล้วเธอก็ย้ำว่า

“ตัวดิฉันเองก็กำลังทำหน้าที่ของตนเองในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ”

ตีความได้ว่าเธอรู้สึกว่าการที่คุณดอนจัดงานพูดคุยที่ประเทศไทยครั้งนี้เท่ากับข้ามหน้าข้ามตาหรือด้อยค่าบทบาทของเธอในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของประธานอาเซียนปีหน้า

เธอเตือนด้วยว่าต้องไม่ลืมว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมีนัดพบและปรึกษาหารือกันที่จาการ์ตาในอีกไม่ถึง 4 สัปดาห์จากนี้ไปอยู่แล้ว

เธอจบลงด้วยการกระแทกหน้าคุณดอนอีกประโยคหนึ่งว่า

“ในสถานการณ์เช่นนี้ ในฐานะเป็นประธานที่ได้อาณัติภายใต้ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนและสอดคล้องกับมติของผู้นำอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว ดิฉันหวังในการสนับสนุนจากท่านและเพื่อนร่วมงานทั้งหลายในอันที่จะเดินหน้าไปตามเส้นทางของอาเซียนที่วางเอาไว้…”

อย่างนี้ไทยหน้าแตกยับเยินครับ

(สัปดาห์หน้า : ช่องโหว่กับข้ออ้างที่ย้อนแย้ง)