ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
การเปลี่ยนแปลงคำขวัญของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ตัดคำว่า “โปร่งใส” ออก และเพิ่มข้อความใหม่ “ชอบด้วยกฎหมาย” เป็นการย้ำจุดยืนที่มุ่งยึดกฎหมายเป็นหลัก
สิ่งใดกฎหมายให้ทำก็จะทำ สิ่งใดกฎหมายไม่ได้ระบุให้ทำก็จะไม่ทำ
ตอกย้ำความเป็นรัฐราชการมากกว่าการเป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริต โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของประชาชน
จึงไม่แปลกที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมที่มีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงอื้ออึงมากมาย ตามมาด้วยคำถาม “กกต.มีไว้ทำไม” และเกรี้ยวกราดรุนแรงจนถึง “กกต.ต้องติดคุก”
การยึดมั่นในกรอบของกฎหมายนั้นแม้เป็นสิ่งที่ดีในการป้องกันตัวเองจากการกระทำผิดจนกลายเป็นโทษ แต่การทำเพียงขั้นต่ำของกฎหมาย (minimum requirements) โดยไม่คิดจะทำให้ดีกว่าสิ่งที่กฎหมายกำหนดนั้นน่าเสียดาย
ทำไมจึงไม่ใช้พรรคเดียว
หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ
สิ่งที่สร้างภาระความยุ่งยากทั้งแก่ประชาชน พรรคการเมือง หรือแม้แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง คือ การไม่สามารถให้หมายเลขของผู้สมัครพรรคเดียวกันในแต่ละเขตเป็นหมายเลขเดียวกัน และยังเป็นคนละเบอร์กับหมายเลขบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองอีก
ต่างเขตก็ต่างเบอร์ บัตรสองใบก็คนละเบอร์ ยุ่งยากและสับสนต่อการจดจำเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องนี้ “ชอบด้วยกฎหมาย” เนื่องจากตอนแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสมมาเป็นบัตรสองใบนับคะแนนแบบคู่ขนานนั้นไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 90 ในข้อความที่ว่า “พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบเขตเลือกตั้งแล้ว จึงมีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และต้องปิดการรับสมัครบัญชีรายชื่อ ก่อนปิดรับสมัครเขต”
เราจึงเห็นความประหลาดที่ กกต.กำหนดการรับสมัคร ส.ส.เขตในวันที่หนึ่ง สมัครบัญชีรายชื่อในวันที่สอง และปิดรับสมัครบัญชีรายชื่อในเวลา 16.00 น. และปิดรับสมัครเขตในเวลา 16.30 น. ของวันสุดท้าย
การทำให้ดีกว่ากฎหมาย เพียงแค่พลิกแพลงให้การรับสมัครเขตในวันแรก ยังไม่ให้หมายเลข และให้การรับสมัครบัญชีรายชื่อในวันที่สองเมื่อได้หมายเลขให้นำไปใช้กับผู้สมัครเขต
แต่เมื่อ กกต.เห็นแก่การทำที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่คิดอะไรไปมากกว่านั้น
ทำไมบัตรเลือกตั้งเขต
จึงต้องพิมพ์เป็นบัตรโหล
มาตรา 13 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ยกเลิกข้อความในมาตรา 84 ของ พ.ร.ป.ฉบับเดิม แล้วกำหนดข้อความให้บัตรเลือกตั้งสองใบ คือแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
โดยระบุว่า “บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีช่องทำเครื่องหมายและหมายเลขไม่น้อยกว่าจำนวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น” และ “บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีช่องทำเครื่องหมายและหมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมืองพร้อมภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองครบทุกพรรคที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ”
ความเถรตรงของ กกต.คือ กฎหมายเขียนมาแค่ไหนก็ทำเท่านั้น เมื่อกฎหมายเขียนให้บัตรเลือกตั้งสองแบบต้องแตกต่างกัน เขียนให้บัตรเลือกตั้งเขตต้องมีช่องทำเครื่องหมายและหมายเลข ไม่มีการระบุให้ชื่อพรรค โลโก้พรรค กกต.จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มรายละเอียดดังกล่าว แม้ว่าจะช่วยป้องกันการสับสนของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ดีขึ้น
ลืมแม้กระทั่งเจตนารมณ์พื้นฐานของการเลือกตั้ง คือ การที่ต้องการให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ตรงกับเจตนาของตน ไม่ใช่กาไปด้วยความสับสน
ความเข้าใจในเจตนารมณ์ดังกล่าว บางประเทศที่จัดการเลือกตั้ง ถึงขนาดใส่ชื่อ ใส่นามสกุล ใส่ภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้งลงไปในบัตรเลือกตั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาดในเจตนาของการใช้สิทธิ
แต่ กกต.ไทยคิดได้เพียงว่า กฎหมายเขียนไว้เท่านี้
ทำไมจึงยกเลิกการเลือกตั้งทางไปรษณีย์
ในหลายประเทศ
คนไทยนอกราชอาณาจักร มีจำนวนประมาณ 1.38 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2566) แต่จำนวนคนที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรกลับอยู่ที่ประมาณ 115,000 คน หรือไม่ถึงร้อยละ 10 ของคนไทยนอกราชอาณาจักร
ปัญหาอุปสรรคสำคัญของการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร คือ การกำหนดให้มาใช้สิทธิที่สถานทูต สถานกงสุล หรือจุดที่เป็นที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ (Mobile unit) เป็นวิธีการหลักซึ่งสร้างภาระให้แก่ผู้มาใช้สิทธิในด้านค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง
ทั้งๆ ที่วิธีการจัดการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ (Postal vote) เป็นวิธีการที่สะดวกต่อประชาชนมากที่สุด
ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เพราะมาตรา 110 ของ พ.ร.ป.ส.ส. เขียนไว้ว่าจะใช้วิธีการใด “ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของประเทศนั้น” เท่ากับแล้วแต่วิจารณญาณของสถานทูต
การทำตามกฎหมายดังกล่าว เราจึงเห็นการกำหนดให้ประชาชนต้องเดินทางมาใช้สิทธิที่สถานทูตเป็นหลัก ไม่ว่าประเทศนั้นจะกว้างใหญ่ไพศาล มีภูมิประเทศเป็นเกาะ หรือการคมนาคมจะต้องใช้เวลาหรือมีต้นทุนสูงเพียงไร เพราะนี่ไม่ผิดกฎหมายที่เขียนไว้
ทำไมไม่สามารถทยอยประกาศผลการเลือกตั้ง
โจทย์ที่ถกเถียงกันว่า ทำไมหลังการเลือกตั้งเป็นเดือน กกต.จึงไม่ทยอยประกาศผลการเลือกตั้ง ทั้งๆ กกต.ชุดก่อนหน้า จะมีการทยอยประกาศ โดยเริ่มจากเขตเลือกตั้งที่ไม่มีการร้องเรียนในเรื่องทุจริตเลือกตั้งหรือเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมก่อน
แต่คราวนี้ดูเหมือนว่า จะต้องรอให้ครบหรือเกินร้อยละ 95 จึงจะประกาศในคราเดียว
ปัญหาอยู่ที่กฎหมายเช่นเคย เนื่องจากมาตรา 127 ของ พ.ร.ป.ส.ส. ที่กำหนดให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด” โดยต้องประกาศโดยเร็ว ไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
คำว่า “และ” คำเดียวที่อยู่ในมาตรานี้ ทำให้ไม่สามารถทยอยประกาศได้เหมือนในอดีต
สาเหตุคือ มาตรานี้ออกแบบมาสำหรับระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม ต้องเอาคะแนนในบัตรใบเดียวที่เป็นการเลือก ส.ส.เขตนี้ไปคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ จึงจำเป็นต้องรับรองเขตให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 มิเช่นนั้นหากทยอยประกาศเขต จะต้องคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อกันหลายรอบ
มาตรานี้เป็นอีกมาตราหนึ่ง ที่อาจหลงลืมแก้ไขเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวในช่วงปี พ.ศ.2565-2566
กกต.เลยถือคติ เมื่อไม่แก้กฎหมาย กฎหมายเขียนอย่างไรก็ปฏิบัติตามนั้นอย่างเคร่งครัดโดยไม่สนใจว่า ประชาชนเขาร้อนใจเพียงใด เพราะทุกอย่างยังเป็นไปตามกฎหมายและอยู่ในกรอบ 60 วันหลังวันเลือกตั้ง
ความ “ชอบด้วยกฎหมาย” นั้นเป็นสิ่งที่ดี ถึงขนาดมาแทนที่ “ความโปร่งใส” ในคำขวัญของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่การยึดมั่น ตีความในตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดจนไม่สามารถขยับไปทำอะไรเพิ่มเติมในสิ่งที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพกว่า สร้างความเชื่อมั่นและความพอใจให้แก่ประชาชนมากกว่าเดิมนั้น
ไม่ต้องเฟ้นหาคนที่มีคุณสมบัติขั้นเทพมาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งหรอกครับ เพราะใครๆ ก็เป็นได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022