‘ดร.อภิชาต’ มองผลเลือกตั้ง ในมุม ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ประเทศนี้ ‘อยู่แบบเดิม’ ไม่ได้แล้ว

หมายเหตุ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งปี 2566 ผ่านรายการ “เอ็กซ์อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ในช่องยูทูบมติชนทีวี

 

 

: ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ทำลายภูมิทัศน์ “สองนคราประชาธิปไตย” ลงเลยหรือไม่?

ไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งนี้มันทำลายสองนครา มันเป็นตัวชี้วัด เป็นผลลัพธ์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเปลี่ยนมานานแล้ว แต่เราไม่เห็นตัวชี้วัดว่ามันเปลี่ยน ผลการเลือกตั้งนี้คือตัวชี้วัดที่ฟันธง ตอกตะปูปิดฝาโลงทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ไปสู่สุคติ

นี่คือตัวชี้ว่าสองนคราประชาธิปไตย ซึ่งสำหรับผมมันค่อยๆ เปลี่ยนมาตั้งแต่ปลายยุคเปรม แล้วผมก็เห็นหลักฐานอันนี้ ที่ผมตีความในงานของผมและพวก (รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร และ ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์) เรื่อง “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” เพราะมันเปลี่ยนมานาน เราถึงต้องทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทยเมื่อสิบปีที่แล้ว

แต่ (เลือกตั้ง) ครั้งนี้มันตอกย้ำว่าสิบปีที่แล้ว (เราตีความ) ถูก

สองนครามันคือเส้นแบ่งระหว่างเมือง-ชนบท เมืองเลือกนโยบาย เลือกชื่อพรรค ต่างจังหวัดเลือกตัวบุคคล บ้านใหญ่สำคัญ ระบบอุปถัมภ์สำคัญ อันนี้คือข้อเสนอของสองนครา ดังนั้น สังคมไทยการเมืองไทยมันจึงมีเส้นแบ่งที่เมืองและชนบท

ควบคู่กันไประหว่างเมืองและชนบท คือ ชนชั้น เมืองคือชนชั้นกลางถึงชนชั้นกลางบน ชนชั้นนำ ชนบทคือชนชั้นล่าง ชาวนา เกษตรกร

ข้อเสนอของพวกผม ก็คือว่า สังคมนี้มันเปลี่ยนไปนานแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายยุคเปรม ยุคเศรษฐกิจบูม ยุคชาติชาย แล้วเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มันก็ต่ำลงมานิดหนึ่ง จนถึง 2550 เมื่อถูกรัฐประหารปี 2549 ภายในช่วงเวลาประมาณ 30 ปี ทุนนิยมมันขยายตัวออกจากเขตเมืองไปสู่ชนบทอย่างทั่วถึงและรอบด้าน

ชีวิตคนในชนบทไม่ใช่ชาวนาตาสีตาสาที่ไม่สนใจการเมืองอีกต่อไป เขากลายเป็น “ชาวนามืออาชีพ” ปลูกข้าวทีปีละ 100 กว่าไร่ ไม่ได้มือเปื้อนดิน ทุกขั้นตอนใช้เครื่องจักรหมด เขาเป็นผู้ประกอบการ

สวนทุเรียนราคาเท่าไหร่ในปัจจุบัน สวนผลไม้ส่งออกราคาเท่าไหร่ต่อหน่วยในปัจจุบัน แม้กระทั่งในอีสานที่ผลผลิตมูลค่าต่ำ รายได้ส่วนใหญ่ของคนชนบทอีสาน 80 เปอร์เซ็นต์มาจากนอกภาคการเกษตร แปลว่าเขาทำเกษตร 20 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าชีวิตเขา แม้กระทั่งในชนบทอีสาน พึ่งพาระบบทุนนิยมเต็มที่เหมือนเรา

เพราะฉะนั้น ถ้านโยบายของรัฐมีผลต่อชีวิตคนเมือง เราจึงเลือกชื่อพรรค เลือกนโยบาย มันก็มีผลเช่นเดียวกับเขา (คนชนบท) อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ (นโยบาย) 30 บาท (รักษาทุกโรค) จึงชนะในการเลือกตั้งครั้งแรก

ในความหมายนี้ (เลือกตั้ง) ครั้งนี้จึงพิสูจน์ว่าการแบ่งแยกเมืองและชนบทมันไม่เหลืออยู่แล้ว มันไม่มีนครา ทั้งประเทศเป็นเหมือนกัน ครั้งนี้คุณสังเกตได้ ปาร์ตี้ลิสต์มันชัดเจนมากเลยว่าทั้งเมืองและชนบทในหลายเขต ก้าวไกลมา แม้กระทั่งในเขตที่มีบ้านใหญ่

(ผลเลือกตั้งในระบบปาร์ตี้ลิสต์) มันไม่ได้แบ่งเมือง-ชนบท มันแบ่งภูมิภาค เหนือ อีสาน กรุงเทพฯ และใต้ ซึ่งเป็นอนุรักษนิยมที่สุด

เพราะฉะนั้น ข้อเสนอเรื่องชนชั้น เส้นแบ่งระหว่างชนชั้นบน-ล่าง และเมือง-ชนบท จึงถูกสลายขั้ว เพราะรูปแบบผลการเลือกตั้งของปาร์ตี้ลิสต์มันชัดเจนว่าแบ่งตามภูมิภาค

แม้กระทั่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่บ้านใหญ่ชนะ (ส.ส.เขต) แต่ไปดูปาร์ตี้สิสต์สิ เขา (ประชาชน) เลือกบ้านใหญ่ในบุรีรัมย์เพื่อใช้คนท้องถิ่นทำงานบางอย่างที่ไม่ใช่งานในรัฐสภา ดึงทรัพยากรมา ได้วัคซีนก่อน แต่ว่าพอปาร์ตี้ลิสต์ ซื้อนโยบาย ก็ไปเลือกอีกพรรคหนึ่ง

คำ “โง่ จน เจ็บ” ที่ใช้เรียกคนชนบทว่าตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ขาดการศึกษา ไม่ตื่นตัวทางการเมือง จึงเลือกตั้งตามหัวคะแนน ระบบอุปถัมภ์ บ้านใหญ่ มันไม่จริงในกรณีบุรีรัมย์ เขาก็เป็นคนฉลาดเท่าๆ เรา

 

: แม้คนต้องการความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แต่หลังก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง เราเริ่มเห็นอาการหวาดระแวงนโยบายบางข้อจากหลายภาคส่วนทางเศรษฐกิจ อาจารย์คิดว่าตรงนี้จะเป็นอุปสรรคของรัฐบาลใหม่หรือไม่?

เอาเรื่องทุนผูกขาดก่อน สังคมไหนยิ่งเหลื่อมล้ำมาก การเปลี่ยนแปลงกว่าจะเกิดมันช้า แต่ถ้ามันเกิดแล้วจะเร็วและแรง เพราะความตึงเครียดมันสูง และผมเชื่อว่าไทยน่าจะติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก

เพราะฉะนั้น เมื่อระดับความเหลื่อมล้ำสูงขนาดนี้ แน่นอนว่าการเสนอนโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงทุนผูกขาดก่อให้เกิดความขัดแย้ง แรงตึงเครียดทางสังคม

ถามว่ายากไหม? ต้องยอมรับว่ายาก ถ้าง่ายมันทำไปนานแล้ว เพราะยิ่งเหลื่อมล้ำสูง แล้วคุณทลายทุนผูกขาด ผลประโยชน์ที่เขาสูญเสียจะยิ่งสูง เขาจะยิ่งต่อต้านแรง เมื่อเทียบกับระดับความเหลื่อมล้ำ ณ จุดเริ่มต้นที่ต่ำกว่านี้ เขาจะเสียประโยชน์น้อยกว่านี้ เขาก็จะต่อต้านน้อยกว่านี้

ในแง่นี้ เราอาจตีความได้ด้วยซ้ำว่า รัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา คือ รัฐประหารเพื่อทุนผูกขาด ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

อุปสรรคเยอะแน่ๆ ยากแน่ๆ มีอย่างเดียวที่ก้าวไกลและรัฐบาลใหม่ถ้าตั้งสำเร็จมี คืออำนาจต่อรองที่มาจากแรงหนุนหลังของมวลชน บอกนายทุนไปว่า คุณจะยอมเปลี่ยนดีๆ ตอนนี้ หรือจะเจอการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงมากขึ้นในอนาคต เพราะ “status quo is not an option” (การดำรงสถานะแบบเดิมไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม) มันอยู่ไม่ได้

คุณควรเป็นนายทุนผูกขาดที่ตื่นรู้ เช่น “คุณต๊อด (ปิติ) ภิรมย์ภักดี” ที่ออกมาเห็นด้วยกับสุราก้าวหน้า คุณจะเสียผลประโยชน์ในระยะสั้น คุณจะมีสัดส่วนลดลงในพาย ถ้านโยบายนี้สำเร็จ แต่ในระยะยาว คุณต๊อดอาจจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับคราฟต์เบียร์ ที่ช่วยกันนำไปสู่การส่งออก เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมสุรา ออกไปทั่วโลก พายมันก็จะใหญ่ขึ้น

สุดท้ายแล้ว สัดส่วนที่คุณได้น้อยลงในพายที่ใหญ่ขึ้น คุณอาจจะได้ผลประโยชน์มากขึ้น คุ้มกว่าผลประโยชน์ที่คุณสูญเสียในระยะเฉพาะหน้า

สรุปสำหรับผม ก็คือว่าดูตัวอย่างนี้ ถ้าคุณไม่สายตาสั้นจนเกินไป และคุณมองระยะยาวขึ้น ผลประโยชน์ที่คุณเสียในวันนี้มันอาจจะถูกชดเชยมากจนเกินคุ้มในวันหน้า

เพราะฉะนั้น ยอมรับการเปลี่ยนแปลงดีกว่า เพราะถ้ารบกัน ในความหมายไหนก็ไม่รู้ สูญเสียทั้งคู่ และไม่รู้ว่าใครจะสูญเสียมากกว่ากัน คิดแบบรักษากระเป๋าตัวเองนะ ผมอยากจะพูดแบบนี้สำหรับทุนผูกขาด

แล้วอีกอย่างหนึ่ง ถ้าคุณลดความเหลื่อมล้ำได้ เศรษฐกิจมันโตเร็วขึ้น พายมันจะใหญ่ขึ้น ตลาดภายในประเทศจะใหญ่ขึ้น คุณก็ขายของได้มากขึ้น

 

: เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ก็มีทั้งเสียงชื่นชมและความเป็นห่วง อาจารย์มีมุมมองต่อนโยบายนี้อย่างไร?

มีสองแง่ หนึ่ง ในแง่ความเป็นธรรม สอง ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจ

ในแง่ความเป็นธรรม มันสมควรขึ้นมานานกว่านี้แล้ว สิบปีที่ผ่านมา มันเกือบจะไม่ขึ้นเลย ในขณะที่ผลิตภาพแรงงานมันโตเร็วกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ผลิตภาพแรงงานแปลว่าอะไร? มูลค่าที่คนงานผลิตได้มันเติบโตเร็วขึ้นกว่าค่าจ้างที่เขาได้ แปลว่าความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น

“อาจารย์ธนสักก์ เจนมานะ” ในคณะผม ทำตัวเลขออกมาชัดเจน ในจีดีพี สัดส่วนของผลตอบแทนต่อทุนมันสูงขึ้น สัดส่วนของผลตอบแทนต่อแรงงานมันลดลง

นอกจากค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นช้ากว่าผลิตภาพแรงงานแล้ว มันยังขึ้นช้ากว่าเงินเฟ้อด้วย ก็แสดงว่าอำนาจซื้อที่แท้จริงของคนงานลดลง ฉะนั้น มันสมควรขึ้นมาตั้งนานแล้ว ในแง่ความเป็นธรรม

ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมเราติดในกับดักรายได้ปานกลาง คือ แก่ก่อนรวย แรงงานเราขาดแคลน มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจของเรากับเวียดนาม ด้วยการลดค่าแรงสู้

โครงสร้างแรงงานของเวียดนามมีแต่คนหนุ่มสาว เราไม่มีทางไปสู้เขาได้ มีทางเดียวที่เราจะสู้กับเวียดนามได้ คือ เราต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่การกดค่าแรง อันนี้เป็นความจำเป็นพื้นฐานที่สุดที่ต้องยอมรับกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ

เพราะฉะนั้น เอาอย่างสิงคโปร์ในอดีต สิงคโปร์เป็นประเทศที่แรงงานน้อย เป็นเกาะเล็กๆ เมื่อหลายปีก่อน รัฐบาลวางแผนไว้เลยว่าจะขึ้นค่าแรงเป็นระยะๆ เพื่อให้นายทุนรู้ล่วงหน้า นายทุนปรับตัวอย่างไร? เปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อประหยัดแรงงาน

อีกทางหนึ่ง รัฐบาลทำอย่างไร? ค่าแรงแพงก็ต้องเสริมศักยภาพคนงาน มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ มีเทรนนิ่ง มีอัพสกิล มีรีสกิล ซึ่งสองด้านนี้ของไทยก็แย่มาก เรื่องคุณภาพการศึกษาก็แย่ลง รีสกิลก็แย่

แล้วเราจะไปทางไหน? เราไม่มีทางเลือก เราจะถอยกลับไปสู้กับลาว เขมร เวียดนาม ไม่ได้ มันต้องไปข้างหน้า มันมีทางเดียว

อันนี้เหมือนกัน ต้องบอกนายทุน คุณต้องเจ็บปวดในระยะสั้น แต่คุณต้องมองไปในระยะยาว ในระยะสั้นที่คุณเจ็บปวด รัฐบาลก็ควรจะช่วยเหลือ ซึ่งเขาก็มีมาตรการตามสมควร พอ-ไม่พอก็ไปเถียงกัน

สรุป เรื่องค่าแรงขั้นต่ำในทรรศนะผม ไม่ว่ามองจากแง่มุมของความเป็นธรรมและแง่มุมของการพัฒนาเศรษฐกิจ ผมคิดว่าสมควรขึ้น

มันไม่มีทางเลือก ผมว่าคำภาษาอังกฤษนี่จำง่าย “status quo is not an option” สถานะที่มันคงที่อยู่ ณ ปัจจุบัน มันอยู่ไม่ได้ มันไม่ยั่งยืน มันต้านทานความเปลี่ยนแปลงไม่ได้