‘ทอร์นาโด’ ระบาด

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Bags of recovered clothing rest on what remains of the floor in Mama D's Bar and Grill in Bassfield, Miss., Monday, April 13, 2020. The business was one of many in Mississippi destroyed by one of a number of tornadoes, Sunday afternoon and evening. (AP Photo/Rogelio V. Solis)

‘ทอร์นาโด’ ระบาด

 

สํานักข่าวซีทีวีนิวส์คัลการี ประเทศแคนาดา รายงานข่าวการเกิดพายุทอร์นาโด 10 ลูก บริเวณชนบทของเมืองคัลการีและเมืองเมดิซินแฮต รัฐอัลเบอร์ตา ในช่วงบ่ายของวันพุธที่ 14 มิถุนายน พร้อมกับเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า tornado outbreak หรือทอร์นาโดระบาด

แม้ว่าทอร์นาโดเกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างบ่าย 2 โมงครึ่งถึง 5 โมงครึ่ง จะมีกระแสลมไม่แรงนักเฉลี่ย 105-135 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเสียหายมีเพียงเล็กน้อยเพราะลมพายุหมุนอยู่กลางทุ่งนาไกลผู้คนและไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าศึกษา

นักสิ่งแวดล้อมตั้งสมมุติฐานว่าการเกิด “ทอร์นาโดระบาด” ติดๆ กันถึง 10 ลูกในวันเดียวกัน น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

 

พายุทอร์นาโดมีจุดเริ่มต้นจากการก่อตัวของพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นส่วนผสมลงตัวระหว่างอุณหภูมิพุ่งสูง ความชื้นเหนือพื้นผิวดินเพิ่มขึ้น ชั้นบรรยากาศมีกระแสลมร้อนและกระแสลมเย็นไหลปะทะกัน เกิดภาวะลมเฉือน (wind shear) ดันให้กระแสลมหมุนม้วนตัวในแนวตั้ง ดูจากไกลๆ เหมือนงวงช้าง

พายุทอร์นาโดในแคนาดามักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม แต่บางปีเริ่มตั้งแต่เมษายนไปถึงเดือนกันยายน เฉลี่ยปีละ 80 ลูก ส่วนใหญ่เป็นพายุขนาดเล็ก ไม่ค่อยจะรุนแรงมากนัก จะมีหนักสุดเกิดเมื่อ 35 ปีที่แล้ว พัดถล่มเมืองเอ็ดมอนตัน รัฐอัลเบอร์ตา มีผู้เสียชีวิต 27 คน บาดเจ็บกว่า 300 คน

พายุทอร์นาโดเกิดมากสุดในโลกคือที่สหรัฐ เฉลี่ยปีละ 800 ลูก เกิดขึ้นบริเวณตอนกลางของประเทศเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย พื้นที่ราบขนาดใหญ่ มีกระแสลมเย็นพัดจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดาและกระแสลมร้อนจากอ่าวเม็กซิโกปะทะกันในแถบรัฐเนบราสกา โฮกลาโฮมา แคนซัส ดาโกตา โคโลราโด และเทกซัส ซึ่งเป็นที่มาของ “ร่องทอร์นาโด” (turnado alley)

ส่วนบ้านเรา การเกิดพายุหมุนรุนแรงเหมือนในสหรัฐเป็นไปได้น้อยมากเพราะเทือกเขาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกขวางกระแสลมเอาไว้ เช่นเดียวกับในยุโรป ไม่มีพายุทอร์นาโดลูกใหญ่ๆ เพราะมีเทือกเขาสูงเป็นแนวยาว

นักอุตุนิยมวิทยาชื่อโทมัส กราซูลิส เดินทางไปเก็บข้อมูลการเกิดพายุทอร์นาโดทั่วสหรัฐ ย้อนหาหลักฐานที่มาที่ไปของ “ทอร์นาโด” กว่า 60,000 ลูก ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16

พบว่าช่วง ค.ศ.1920-1930 เกิดพายุทอร์นาโดลูกใหญ่รุนแรงมากในพื้นที่ตอนกลางใต้ของแม่น้ำมิสซิสซิปปี แต่หลังจากนั้นพายุทอร์นาโดลูกใหญ่ๆ รุนแรง ย้ายไปเกิดแถวๆ ที่ราบสูงแถวๆ ฝั่งตะวันตกของรัฐดาโกตา โคโลราโด เนบราสกา

ช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนการเกิดพายุทอร์นาโดมีมากขึ้น เฉลี่ยจำนวนวันที่เกิดพายุก็มากขึ้นด้วย ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การก่อตัวของทอร์นาโดเพิ่มระดับความรุนแรง

ระยะหลังมานี้แนวโน้มพายุหมุนก่อตัวในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯรุนแรงขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยน อุณหภูมิในพื้นที่ดังกล่าวสูงขึ้น อากาศร้อนขึ้น

 

ย้อนกลับไปที่แคนาดาอีกรอบ นอกจากเกิดพายุทอร์นาโดหลายลูกในช่วงเวลาใกล้เคียงกันแล้ว หลายพื้นที่ของแคนาดายังเกิดไฟป่าครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี

รัฐบาลแคนาดาระดมทั้งหน่วยดับเพลิงและกองกำลังทหารเข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุแต่รับมือไม่ไหวต้องเรียกหาทีมกู้ภัยทั่วโลกทั้งจากสหรัฐ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เข้าไปช่วยดับไฟ

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ไฟป่าเกิดทั่วแคนาดานับได้กว่า 400 จุด เป็นไฟป่าที่เผาไหม้รุนแรงมากรวมๆ พื้นที่ที่ไฟเผาไปแล้วราว 25 ล้านไร่

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก โพสต์ ของสหรัฐ ถึงกับพาดหัวข่าวว่า “Blame Canada” หรือเผาแคนาดา เพราะไฟเผาพื้นที่มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตถึง 16 เท่า

ทางการแคนาดาออกประกาศเตือนให้ระวังควันพิษซึ่งอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพและอพยพชาวบ้านนับหมื่นๆ คนออกจากจุดเสี่ยงภัย ควันไฟดำโขมงพวยพุ่งสู่ชั้นบรรยากาศ กระแสลมพัดข้ามฝั่งมายังสหรัฐอเมริกาเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน

มหานครนิวยอร์ก ซึ่งอยู่ห่างจากรัฐควิเบก จุดที่เกิดไฟป่ารุนแรงที่สุดราวๆ 500กิโลเมตร ยังเจอควันไฟลอยมาปกคลุมท้องฟ้าจนดำมืดแทบจะมองไม่เห็นยอดตึกสูง

รัฐบาลสหรัฐเห็นสถานการณ์ไฟป่าของเพื่อนบ้านหนักหนาสาหัส ส่งหน่วยดับเพลิงกว่า 800 นายเข้าช่วยเหลือ พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทคที่เรียกว่า “ไฟร์การ์ด ซิสเต็ม” ใช้โดรนและดาวเทียมตรวจสอบจุดไฟป่าชนิดเรียลไทม์

 

ไฟป่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่แคว้นโนวาสโกเซีย อยู่ทางชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม เกิดพร้อมๆกันหลายจุดในเวลาเดียวกัน พื้นที่ป่าที่ไฟเผาผลาญรวมแล้วกว่า 250ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดของแคว้นโนวาสโกเชีย

ไม่เฉพาะฝั่งตะวันออกของแคนาดาที่เกิดไฟป่า แต่ฝั่งในพื้นที่ตอนกลาง เช่น รัฐออนแทรีโอ รัฐควิเบก เกิดไฟป่ารุนแรงเช่นกัน

ปกติแล้วแคนาดามีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ ไฟจะช่วยเผากำจัดเศษซากบนพื้นดิน เปิดป่ารับแสงแดดฆ่าเชื้อโรคที่เป็นอันตรายกับต้นไม้ เพิ่มสารอาหารให้กับดิน บรรดาต้นไม้จะแตกยอดเติบโตได้เร็วขึ้นหลังไฟป่าสงบลง

แต่ไฟป่าที่เกิดขึ้นปีนี้มีความผิดปกติ จำนวนการเกิดไฟป่ามีมากถ้านับตั้งแต่ต้นปีนี้ไฟป่าในแคนาดาเกิดขึ้นถึง 2,000 ครั้ง การสันนิษฐานว่าสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เพราะก่อนเกิดไฟป่า แคนาดาเจอกับภาวะแห้งแล้ง อย่างพื้นที่ของรัฐโนวาสโกเชีย มีฝนตกน้อยมากต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของภาวะปกติ และอุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส

ภาวะแห้งแล้งบวกกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงจึงน่าเป็นชนวนเหตุสำคัญทำให้เกิดความแปรปรวนของภูมิอากาศ เกิดฟ้าแลบฟ้าผ่าในพื้นที่ป่า

ความรุนแรงของไฟป่าในแคนาดาปีนี้ ทำให้นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรี ต้องส่งทวิตเตอร์แจ้งประชาชนว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศนี่ไงที่ทำให้เกิดไฟป่าครั้งแล้วครั้งเล่า

รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศของแคนาดา ก็ให้สัมภาษณ์ว่า มลพิษที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและชาวแคนาเดียนต้องรับผลกรรม

สถานการณ์ไฟป่าในแคนาดายังไม่จบง่ายๆ เพราะควันไฟลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมีผลต่อระบบหมุนเวียนอากาศและความกดอากาศสูงจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ฮีตโดม (Heat Dome)

โดมความร้อนปกคลุมเหนือท้องฟ้าฝั่งตะวันออกของแคนาดาครั้งใหม่นี้ จุดชนวนให้เกิดไฟป่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างที่ “ทรูโด” ทวีตไว้หรือไม่ต้องตามดูกันต่อ •

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]