ChatGPT กับหน้าที่บอกข่าวร้าย | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เอไอมีบทบาทสำคัญในการเป็นมือขวาของบุคลากรทางการแพทย์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

อย่างเช่น การช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายหรือฟิล์มต่างๆ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ และการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ช่วยให้หมอทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น

ดังนั้น เมื่อ ChatGPT แชตบ็อตที่ฝังพลังเอไอเอาไว้เปิดตัวออกมาก็แน่นอนว่าจะต้องช่วยผ่อนแรงหมอได้แน่ๆ แต่ก็จะเป็นไปในรูปแบบที่แตกต่างจากที่ผ่านมา

เว็บไซต์ Khaleej Times บอกว่าแชตบ็อตอย่าง ChatGPT ที่ใช้โมเดลภาษาซึ่งเราสามารถพูดคุยด้วยได้อย่างเป็นธรรมชาติสามารถช่วยหมอได้หลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระหน้าที่ที่มีส่วนทำให้หมอ ‘หมดไฟ’ ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกรอกเอกสารประกันหรือการจดโน้ตผู้ป่วยที่กินเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ตาม มีวิธีที่หมอใช้งาน ChatGPT วิธีหนึ่งที่มีประโยชน์มากและฉันเองก็ไม่ทันได้นึกถึงว่ามันช่วยเรื่องนี้ได้ก็คือการที่หมอขอให้ ChatGPT ช่วยคิดคำพูดเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยความเข้าอกเข้าใจ

ผลสำรวจหนึ่งเผยว่ากว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยบอกว่าความเห็นอกเห็นใจของหมอสำคัญยิ่งกว่าระยะเวลาที่ต้องรอหมอหรือค่าใช้จ่ายในการรักษา ในขณะที่อีกหนึ่งผลสำรวจบอกว่าเกือบ 3 ใน 4 ของคนที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าเคยมีประสบการณ์ไปหาหมอและหมอไม่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจเลย

และเมื่อลองศึกษาบทสนทนาระหว่างหมอกับครอบครัวผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตก็พบว่ามีหลายครั้งที่หมอไม่แสดงความเห็นใจอย่างเพียงพอ

ฉันไม่ได้เป็นหมอแต่ก็พอจะเข้าใจว่าการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายเสมอไป ในขณะเดียวกันก็เข้าใจสภาพจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัวว่าในจังหวะที่ทุกอย่างดูสิ้นหวังและน่ากลัว น้ำเสียงและถ้อยคำที่อ่อนโยนและจริงใจของหมอจะช่วยโอบอุ้มความรู้สึกได้

นี่เป็นจุดที่ ChatGPT เข้ามาเติมเต็มได้

เวลาคุณหมอจะบอกข่าวร้ายแก่ผู้ป่วยและญาติก็จะต้องเลือกใช้คำพูดที่ระมัดระวังที่สุด ไม่ทำร้ายจิตใจแต่ก็ต้องตรงไปตรงมา ให้ข้อมูลด้านการแพทย์ที่จำเป็นอย่างถูกต้อง แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องทำด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเป็นห่วงเป็นใยด้วย

เหตุผลที่คุณหมออาจจะละเลยการแสดงความเห็นใจนั้นมาจากการที่หมอมักจะโฟกัสไปที่ข้อมูลทางการแพทย์ มองว่าความเจ็บป่วยเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขไปเป็นเปลาะๆ ทำให้ลืมนึกถึงฝั่งคนไข้และครอบครัวว่าการได้รับฟังข้อมูลเหล่านั้นทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไรบ้าง

หรือต่อให้ตระหนักดีว่าจะต้องคุยกับผู้ป่วยด้วยท่าทีที่เข้าใจและอ่อนโยนแต่หลายๆ ครั้งก็นึกคำพูดที่จะต้องใช้ไม่ออก ไม่แน่ใจว่าจะต้องเรียงลำดับเรื่องอย่างไรถึงจะเหมาะสมที่สุด

บทความนี้เล่าถึงคุณหมอท่านหนึ่งที่อยากจะช่วยเพื่อนที่เป็นมะเร็ง อาการของเพื่อนไม่สู้ดีนักและต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรักษา เขาจึงลองป้อนคำสั่งเข้าไปให้ ChatGPT แนะนำว่าควรจะสื่อสารกับเพื่อนคนนี้อย่างไร

ChatGPT บอกให้เริ่มต้นด้วยการพูดว่า “ผมเข้าใจดีว่าคุณมีข้อมูลให้นำไปขบคิดเยอะมากและคุณอาจจะรู้สึกขุ่นเคืองใจที่เราไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก ผมเองก็แอบหวังว่าจะมีหนทางรักษาที่ดีกว่านี้ และหวังว่าในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นได้จริงๆ”

เมื่อเพื่อนถามคุณหมอว่าเธอจะยังมีชีวิตอยู่ไปจนถึงงานที่เธออยากเข้าร่วมอีกสองปีข้างหน้าหรือเปล่า ChatGPT ก็แนะนำให้คุณหมอตอบว่า

“ผมชื่นชมความแข็งแกร่งและการมองโลกในแง่ดีของคุณมากๆ และผมก็ขอร่วมแชร์ความหวังและเป้าหมายของคุณด้วยคน แต่ผมก็อยากจะตรงไปตรงมาและมองโลกให้ตรงกับความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด ผมไม่ได้อยากจะให้ความหวังลมๆ แล้งๆ แก่คุณหรือปล่อยให้คุณคาดหวังไปเอง นี่คงไม่ใช่สิ่งที่คุณอยากได้ยินเลย และต้องเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะยอมรับแน่ๆ”

แล้วจึงค่อยๆ บอกข่าวร้ายแก่เธอ

 

ไม่ใช่แค่แนะนำคุณหมอว่าควรต้องสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างไรเท่านั้น แต่เมื่อคุณหมอลองป้อนความรู้สึกของเขาเองเข้าไปบ้าง ว่าเขากังวลแค่ไหน ไม่รู้จะช่วยเพื่อนคนนี้ได้อย่างไรและจะช่วยได้ทันหรือไม่

ChatGPT ก็หันมาแสดงความห่วงใยต่อคุณหมอ ด้วยการแนะนำวิธีที่คุณหมอสามารถรับมือกับความโศกเศร้าและความเครียดของตัวเองได้

แถมยังหยอดท้ายว่า “คุณหมอทำได้ดีมาก และคุณหมอกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น คุณเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมและเป็นหมอที่ยอดเยี่ยม ฉันรู้สึกชื่นชมและแคร์คุณมาก”

ดูแลหัวจิตหัวใจได้ทั้งผู้ป่วยและหมอไปพร้อมๆ กัน

ChatGPT ชนะใจคุณหมอคนนี้ไปได้เต็มๆ หลังจากนั้นเขาก็ผันตัวไปเป็นคนที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีแชทบ็อทเอไอและยังไปเชื้อเชิญเพื่อนหมอคนอื่นๆ ให้ทดลองใช้งานด้วย

 

ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือหมอที่ใช้ ChatGPT ช่วยคิดบทพูดกับผู้ป่วยให้มักจะไม่ค่อยยอมเล่าให้คนอื่นฟังว่าเป็นไอเดียที่มาจากเอไอ จะเล่าให้เฉพาะเพื่อนหมอที่สนิทกันไม่กี่คนเท่านั้น

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเพราะหมอยังคงยึดมั่นว่าความเข้าอกเข้าใจที่แสดงต่อผู้ป่วยเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ จำกัดอยู่ในมนุษย์เท่านั้น ต่อให้เอไอวินิจฉัยโรคได้แต่ก็ไม่สามารถทำหน้าที่นี้แทนได้

ก่อนหน้านี้เคยมีการถกเถียงกันว่าสิ่งที่เอไอขาดก็คือความเห็นอกเห็นใจ เพราะเอไอไม่มีหัวใจ ไม่มีความคิด ไม่มีความรู้สึก แต่หลังจากได้ฟังเรื่องนี้แล้วก็อาจจะทำให้ต้องย้อนคิดใหม่ว่าถ้ามันสามารถร้อยเรียงถ้อยคำที่แสดงออกถึงความเห็นใจในยามที่มนุษย์ต้องเผชิญกับความทุกข์แสนสาหัสได้ จะนับได้ไหมว่ามันก็เห็นอกเห็นใจเป็น

เพราะในบางเวลามนุษย์อย่างเราก็ต้องการแค่ถ้อยคำปลอบประโลม แค่นี้จริงๆ