เรือนดั้งเดิม ชุมชนเริ่มแรก

เรือนดั้งเดิม ชุมชนเริ่มแรก

 

ชุมชนเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้วประกอบด้วยกลุ่มเรือนหลายหลังคา ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่ เรือนยาว (Long House) และเรือนเดี่ยว โดยมีลานพิธีกรรม, มีทุ่งนา, มีแหล่งน้ำ เป็นต้น

คำเรียกบ้านเรือนสมัยเริ่มแรกมีความหมายต่างจากปัจจุบัน ดังนี้

บ้าน หมายถึง ชุมชน ตรงกับ community, village ปัจจุบันเรียก “หมู่บ้าน”

เรือน หมายถึง ที่อยู่อาศัยเป็นหลังๆ ตรงกับ house, home ปัจจุบันเรียก “บ้าน”

เรือนเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้วในอุษาคเนย์มีใต้ถุน ซึ่งปัจจุบันเรียกทั่วไปว่า “เรือนเสาสูง” พบทั้งบนเนินเขาและทุ่งราบเหมือนกันหมดตั้งแต่เขตโซเมียถึงหมู่เกาะ

เสาสูง หมายถึง เรือนมีต้นเสา และมีหลังคาตั้งบนต้นเสา แล้วยกพื้นสูงอยู่ใต้หลังคาคลุม ส่วนใต้พื้นเรือนถึงพื้นดินเรียกใต้ถุน (ถุน เป็นคำดั้งเดิม แปลว่า ข้างใต้, ข้างล่าง)

ใต้ถุน หมายถึง บริเวณใต้พื้นเรือนถึงพื้นดิน เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน(เช่น หุงหาอาหาร, ตีหม้อ, ทอผ้า, เลี้ยงเด็กที่เป็นลูกหลาน, เป็นคอกวัวคอกควายเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ) ของคนในชุมชนตลอดวันตั้งแต่เช้าถึงค่ำก่อนขึ้นไปนอนบนเรือนเพื่อหนีสัตว์ร้าย

บ้านจำลอง สร้างตามหลักฐานการพบร่องรอยหลุมเสาบ้าน ที่หนองแช่เสา และจากจินตนาการของนักโบราณคดี (คำอธิบายและภาพจากหนังสือราชบุรี 2534)
เรือนที่นักโบราณคดีจินตนาการจากหลุมเสา 6 หลุม ขุดพบที่บ้านหนองแช่เสา ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี (ภาพจากลักษณะไทย เล่ม 1 : ภาค 2 ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทย โดย พิสิฐ เจริญวงศ์ อ้างถึง Sorensen, P. Archaeology in Thailand : Prehistory through the Neolithic Age. Sawaddi, July-August, Bangkok, 1972: 21.)

ใต้ถุนไม่ได้มีไว้หนีน้ำท่วม (ตามที่บอกกันต่อๆ มา) แต่มีไว้ทำกิจกรรมชีวิตประจำวัน แล้วบังเอิญมีน้ำท่วมก็หยุดกิจกรรมชั่วคราว ส่วนบริเวณที่ราบลุ่ม ย่อมมีน้ำท่วมถึงใต้ถุน แล้วคนหนีน้ำท่วมขึ้นไปอยู่บนเรือนโดยไม่ได้มีเจตนาทำใต้ถุนสูงไว้หนีน้ำตั้งแต่แรก เพราะเรือนของคนบนที่สูงในหุบเขาซึ่งน้ำไม่เคยท่วมก็ล้วนใต้ถุนสูง

ฝังศพใต้ถุนเรือน เป็นคำอธิบายของนักโบราณคดีว่าชุมชนเริ่มแรกฝังศพ (ไม่ใส่โลง) ไว้ใต้ถุนเรือน และมีชุมชนบางแห่งฝังศพทับซ้อนกันใต้ถุนเรือน เพราะอยู่สืบเนื่องนานหลายชั่วคน

เรือนเก่าสุดหลังแรกตามหลักฐานของกรมศิลปากร จากการขุดพบหลุมเสาบริเวณแหล่งฝังศพ (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) ที่บ้านหนองแช่เสา (ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี) อายุราว 3,000-2,500 ปีมาแล้ว ต่อมาร่างรูปสันนิษฐานโดยนักโบราณคดี มีคำอธิบายและ “บ้านจำลอง” ดังนี้

“ในปี พ.ศ.2509 คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก ขุดค้นพบหลุมฝังศพและหลุมเสาบ้านรวม 6 หลุม มีผังเป็นรูปไข่ ด้านยาวประมาณ 10 เมตร แต่ละหลุมมีขนาดเท่ากระบอกไม้ไผ่ นับเป็นซากบ้านที่พบแห่งแรกในประเทศไทย (ชิน อยู่ดี : 2518) ที่แหล่งโบราณคดีหนองแช่เสา ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยสังคมเกษตรกรรม” [จากหนังสือ ราชบุรี กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2534 หน้า 68]

เรือนผี (ขวัญ) เรียก “เฮือนแฮ้ว” คร่อมหลุมฝังศพ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว [ลายเส้นบนหน้ากลองทอง(มโหระทึก) พบที่เวียดนาม]
เฮือนแฮ้ว ปลูกคร่อมหลุมฝังศพ เป็นเรือนเสาสูงมีสี่เสา ขนาดย่อส่วนเรือนจริง มีเสาประดับเครื่องรางหรือเครื่องเซ่นคล้าย “เสาชูโคมฟ้า” ในตำนานตามประเพณีศพของผู้ไทหรือไทดําในเวียดนาม (ภาพจากหนังสือ ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท ของ ภัททิยา ยิมเรวัต พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2544 หน้า 253)

คิดต่างทางโบราณคดี

เรื่องแรก ไม่มีฝังศพใต้ถุนเรือน แต่ฝังศพลานกลางบ้าน แล้วสร้างเรือนผีคร่อมหลุมศพ เรื่องหลัง ยังไม่เคยพบหลุมเสาเรือนเก่าสุดหลังแรก

ชุมชน (แท้ๆ) หลายพันปีมาแล้วในไทย (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) มีการขุดพบที่ไหน? ไม่เคยพบรายงานของนักโบราณคดีไทยและต่างประเทศ ส่วนรายงานที่มีสม่ำเสมอและมีมากล้วนมาจากการขุดค้นแหล่งฝังศพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่ไม่ใช่ชุมชนแท้จริง หากเป็นชุมชนคนตายแล้ว (คือผีหรือผีขวัญ)

แหล่งฝังศพหลายพันปีมาแล้วมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

(1.) ลานกลางบ้าน อยู่กลางชุมชนหมู่บ้าน (อาจไม่อยู่กลางชุมชนเป๊ะก็ได้) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้ประกอบพิธีกรรมตลอดปี เช่น เลี้ยงผีขอฝน, เลี้ยงผีฟ้า รักษาโรค เป็นต้น และเป็นที่ฝังศพชนชั้นนำ

(2.) ที่ฝังศพรวมของชนชั้นนำคือหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom) และเครือญาติทับซ้อนหลายสมัย (ไม่เป็นที่ฝังศพคนทั่วไป) อยู่ลานกลางบ้าน

(3.) เรือนผี หรือ “เฮือนแฮ้ว” ปลูกคร่อมหลุมฝังศพ มีลักษณะเป็นเรือนปกติ แต่ย่อส่วน มีสี่เสา มีใต้ถุน เพื่อเป็นที่อยู่ผีขวัญ ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี ว่าคนตายขวัญไม่ตาย กลายเป็นผีมีวิถีปกติเหมือนไม่ตาย แต่จับต้องไม่ได้ และมองไม่เห็น (เรือนผีนั้นต่อไปจะพัฒนาเป็นปราสาท ได้แก่ ปราสาทนครวัด ที่เก็บบรมอัฐิของสุริยวรมันที่ 2)

พิธีกรรมหลังความตายของหัวหน้าเผ่าระแดว์ (พูดภาษามลายู) เฮือนแฮ้ว หรือหอผี

ที่ฝังศพล้อมรั้วด้วยไม้ไผ่และตกแต่งด้วยงาช้าง [ภาพจากหนังสือ Indo-China and its Primitive People. By Henry Baudesson, 1932]
ฝังศพใต้ถุน “เฮือนแฮ้ว”

คําอธิบายเก่ามีว่าชุมชนดึกดำบรรพ์ฝังศพใต้ถุนเรือน มาจากการตีความเมื่อนักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกพร้อมหลุมเสาที่เข้าใจว่าเป็นเสาเรือน แต่หลักฐานจากพิธีศพของผู้ไท (ในเวียดนาม) เป็นพยานชวนให้เชื่อว่าใต้ถุนเรือนที่นักโบราณคดีอ้างถึงนั้น แท้จริงเป็นใต้ถุน “เฮือนแฮ้ว” มีต้นเสาปลูกคร่อมหลุมฝังศพ ไม่ใช่เรือนจริงเป็นที่อยู่อาศัยของคนทั่วไป

บริเวณที่ฝังศพพบเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลายอาจแยกได้ 2 ประเภท ดังนี้ (1.) สิ่งของที่ใช้ฝังรวมกับศพซึ่งเป็นปกติที่รับรู้กันทั่วไป และ (2.) สิ่งของในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปสมัยนั้นซึ่งมีลักษณะต่างจากที่พบในหลุมศพ ตรงนี้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก ลานกลางบ้านเป็นแหล่งฝังศพบรรพชนซึ่งเคยเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูล จึงมีพิธีเลี้ยงผีสู่ขวัญกับส่งขวัญสม่ำเสมอตรงนี้ตรงนั้นตรงโน้น

ประเด็นหลัง ลานกลางบ้านเป็นแหล่งรวมศูนย์พิธีกรรมของเผ่าพันธุ์ซึ่งคนหลายชุมชนที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันเข้าร่วมจำนวนมาก มีกิจกรรมทั้งปี และมีครั้งละนานๆ หลายวัน เช่น 10 วัน, 15 วัน, 20 วัน เป็นต้น ล้วนเป็นพิธีกรรมเพื่อขอความมั่นคงและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร (มีตัวอย่างสมัยหลังๆ ในกฎมณเฑียรบาลของรัฐอยุธยาตอนต้นๆ) •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ