จากสงครามยูเครน สู่อินโด-แปซิฟิก : ภาพสะท้อนจากฮิโรชิมา และสิงคโปร์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ถ้าประเทศทั้งสอง [สหรัฐและจีน] ไม่ค้นพบยุทธศาสตร์ใหม่ในการทำความเข้าใจร่วมกันแล้ว ทั้งสองประเทศจะอยู่บนเส้นทางของการปะทะกันตลอดไป”

Henry Kissinger

 

ถ้าสงครามยูเครนเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของสงครามเย็นใหม่ที่เกิดขึ้นในบริบทของยุโรปแล้ว ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน การขยายบทบาทและการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ และการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ก็คือสัญญาณของการมาของสงครามเย็นใหม่ในเอเชีย

อีกทั้งการประชุมจี-7 (G-7) ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม และเวทีการประชุมด้านความมั่นคงที่สิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน เป็นภาพสะท้อนสำคัญของสงครามเย็นชุดนี้

 

สงครามการทหารที่ยูเครน

สงครามยูเครนที่เริ่มต้นด้วยการบุกทางทหารของกองทัพรัสเซียในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ส่งผลอย่างมากต่อการสร้าง “สถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงของยุโรป”

เพราะสงครามที่เกิดขึ้นไม่แต่เป็นสงครามใหญ่ที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น แต่สงครามครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นชัดถึง “เส้นแบ่งทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่” ที่ก่อตัวอีกครั้ง

แต่ไม่ใช่ในแบบของ “ยุโรปตะวันตก-ยุโรปตะวันออก” ของยุคสงครามเย็น แต่เป็นยุโรปที่แบ่งด้วยความเป็น “เสรีนิยม vs อำนาจนิยม”

เส้นแบ่งนี้อีกนัยหนึ่งคือ การเลือกที่จะอยู่กับระบอบเสรีนิยมของสหภาพยุโรป หรือจะอยู่กับการเมืองในระบอบอำนาจนิยมแบบปูติน (หรือ “ระบอบปูติน)

และด้วยความต้องการที่จะดำรงอิทธิพลของรัสเซียในรัฐเอกราชที่แยกตัวออกหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ทำให้เกิดการปะทะเข้ากับข้อเรียกร้องของคนในสังคมนั้น ที่ต้องการจะอยู่กับระบอบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจทุนนิยม ทั้งเชื่อว่าการพาสังคมไปสู่ทิศทางเช่นนี้จะเป็นการสร้างอนาคตของคนในประเทศ

ตัวอย่างของความต้องการในสังคมเช่นนี้ เห็นได้ทั้งในยูเครน มอลโดวา จอร์เจีย

ดังเช่นที่เห็นจาก “การปฏิวัติยูโรไมดาน” (The EuroMaidan Revolution) ในยูเครนในปี 2014 และมีความชัดเจนที่ต้องการยุติอิทธิพลของรัสเซีย หรือพวกเขาไม่ต้องการอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของรัสเซีย เช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคของสหภาพโซเวียต… ระบอบอำนาจนิยมแบบปูตินไม่ใช่เส้นทางสู่อนาคต

ดังเช่นในเบลารุส ซึ่งมีสถานะเป็น “รัฐบริวาร” ของรัสเซียปัจจุบัน และรัฐเหล่านี้ไม่ต้องการเป็น “เบลารุสสอง”

อย่างไรก็ตาม สงครามยูเครนจากการโจมตีของรัสเซียไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงแต่อย่างใด มีแต่การโจมตีทางอากาศที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากการใช้อาวุธปล่อย และโดรนโจมตี

ขณะเดียวกันการให้ความช่วยเหลือทางทหารของตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่ยูเครนอย่างไม่ขาดสาย จนอาจกล่าวได้ว่า สงครามยูเครนเป็นภาพแทนของสงครามเย็นใหม่ที่ก่อตัวอย่างชัดเจน

ถ้าสงครามเย็นใหม่ในยุโรปมีรัสเซียเป็นคู่ขัดแย้งของฝ่ายตะวันตก จีนก็เป็นคู่ขัดแย้งในเอเชีย (อินโด-แปซิฟิก) หรืออาจกล่าวในบริบทของการเมืองโลกได้ว่า จีนเป็นคู่ขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดของมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งภาวะเช่นนี้นำไปสู่ “การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจ” ในเวทีโลก

 

สงครามการทูตที่ฮิโรชิมา

การประชุมจี-7 ที่ฮิโรชิมาเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ตกต่ำระหว่างสหรัฐกับจีน แม้จะเกิดการประชุมในระดับทวิภาคีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงที่ผ่านมา แต่ความสัมพันธ์ก็อยู่ในภาวะเย็นชา จนกล่าวกันเล่นๆ ว่า “สงครามเย็นกำลังเย็นมากขึ้น” อย่างน่ากังวล

การประชุมจี-7 ในครั้งนี้ ต้องถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในเชิงทิศทาง กล่าวคือ การประชุมในครั้งก่อนอาจจะมีการพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ แต่ก็มักไม่มีการกระทำ แต่ในครั้งนี้ เราเห็นถึงเอกภาพระหว่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่แสดงออกอย่างชัดเจนด้วยท่าทีในการต่อต้านจีน

ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากสงครามยูเครนที่ทำให้บรรดารัฐในยุโรปมีทัศนะด้านลบกับจีน เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างจีนกับรัสเซีย ตลอดรวมถึงท่าทีในการสนับสนุนทางการเมืองต่อรัสเซีย แม้จะมีข่าวถึงการส่งชิ้นส่วนอาวุธของจีนให้กับรัสเซีย (ไม่ใช่ตัวอาวุธโดยตรง)

แต่ก็เป็นข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน ซึ่งข่าวเหล่านี้ย่อมให้ยุโรปเกิดความหวาดระแวงจีน

ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ได้เชิญอินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย บราซิล ยูเครน และผู้นำของสหภาพแอฟริกา (African Union) และที่สำคัญคือ การปรากฏตัวของผู้นำยูเครน

สำหรับบรรดาชาติที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมนั้น อินเดียพยายามที่แสดงออกว่าเป็นประเทศเป็นกลาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลประโยชน์ของอินเดียอยู่กับตะวันตก มากกว่าอยู่กับจีน อีกทั้งอินเดียยังมีปัญหาพรมแดนกับจีนอีกด้วย เกาหลีใต้เองก็มีปัญหากับจีน

ส่วนยูเครนนั้น มีความขัดแย้งกับรัสเซีย และมีความรู้สึกว่าจีนสนับสนุนรัสเซีย

ดังนั้น ภาพลักษณ์ของจีนในความสัมพันธ์กับรัสเซียภายใต้คำขวัญ “มิตรภาพที่ไร้ขีดจำกัด” (friendship without limits) จึงเป็นลบอย่างมากสำหรับสมาชิกเหล่านี้

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของ “เศรษฐกิจนำ การทหารตาม” อันทำให้เกิดสภาวะ “การบังคับทางเศรษฐกิจ” (economic coercion) นั้น

เวทีการประชุมมองเห็น สิ่งนี้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของภัยคุกคามที่สำคัญจากจีน และมองว่าการใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือเช่นนี้ คือการสร้างการครอบงำต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ที่ประชุมยังแสดงถึงความห่วงใยต่อการขยายอิทธิพลและปฏิบัติการทางทหารของจีนในบริเวณทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก อีกทั้งยังส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายตะวันตกไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทางทหารของจีนต่อไต้หวัน

ท่าทีเช่นนี้จีนมองว่าเป็นความพยายามของสหรัฐและโลกตะวันตกในการ “ปิดล้อม และขีดวงล้อม” จีน (containment and encirclement) อีกทั้งการประชุมนี้มีท่าทีที่ชัดเจนในการ “ป้องปราม” การขยายอิทธิพลของจีน แต่หวังว่าการป้องปรามนี้จะไม่ “ยกระดับ” ความขัดแย้งกับจีน

ในทำนองเดียวกัน สหรัฐและตะวันตกได้แสดงออกอย่างชัดเจนในการ “จำกัดบทบาทและอิทธิพล” จีนในอินโด-แปซิฟิก

 

สงครามการทูตที่สิงคโปร์

การประชุมด้านความมั่นคงที่สิงคโปร์ หรือ “The Shangri-La Dialogue” เป็นภาพสะท้อนอีกชุดของสงครามการทูต

ดังจะเห็นจากคำกล่าวของรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกันว่า สหรัฐจะไม่อดทนต่อการ “กลั่นแกล้ง” ของจีนที่กระทำกับชาติพันธมิตร และเรียกร้องให้จีนยอมรับ “สถานะเดิม” (status quo) ของไต้หวัน แต่ก็ยืนยันว่า สหรัฐยังต้องการ “เวทีการพูดคุย” (dialogue) กับจีนต่อไป

พร้อมกันนี้ก็ยืนยันถึงว่าอินโด-แปซิฟิกจะต้อง “เปิดกว้าง เสรี และมั่นคง” (open, free, and secure Indo-Pacific) ซึ่งรวมถึงข้อเสนอเรื่องการเดินเรือเสรี และการเดินอากาศอย่างเสรี (freedoms of navigation and overflight) ในบริเวณช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้

ทั้งยังเรียกร้องให้จีนเคารพต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องนี้

แน่นอนว่าการเปิดประเด็นในการต่อต้านจีนอย่างชัดเจนของสหรัฐ ย่อมทำให้ความสัมพันธ์ที่มีปัญหาอยู่แล้ว ตกต่ำลง

ดังจะเห็นได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีนปฏิเสธที่จะขึ้นเวทีร่วมกับรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกัน ทั้งสองเพียงแต่จับมือกัน และไม่ยอมที่จะมีการพบปะกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี

ความสัมพันธ์ที่ตกลงเช่นนี้ ทำให้โอกาสในการเจรจาในเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้นำของประเทศทั้งสอง มีข้อจำกัดมากขึ้น เช่น การเจรจาในเรื่องการจัดการวิกฤตทางทหาร (military crisis management) และการเปิดระบบติดต่อสื่อสารระหว่างผู้นำทางทหารของประเทศทั้งสอง

ซึ่งผู้นำสหรัฐพยายามเสนอขายความคิดว่า การพูดคุยจะเป็นหนทางสำคัญในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่การประชุมอย่างเป็นทางการน่าจะเกิดได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับนอกจากจีนจะขยายบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างมากแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐก็ขยายบทบาทมากขึ้นไม่ต่างกัน จนอาจกล่าวได้ว่าภูมิภาคนี้จะเป็นสนามการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในอนาคต

นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐยังยืนยันถึงการทำงานร่วมกับมิตรประเทศในเรื่องของความมั่นคงใหม่ เช่น เรื่องของการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนในการต่อสู้กับโควิด-19 การต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ การประมงที่ผิดกฎหมาย

ในส่วนของความมั่นคงแบบดั้งเดิมนั้น สหรัฐยืนยันถึงการป้องปรามภัยคุกคามด้านอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ป้องปรามการใช้กำลังของจีนในปัญหาไต้หวัน และยกระดับความร่วมมือและการฝึกทางทหารกับพันธมิตรและมิตรประเทศในภูมิภาค

อีกทั้งยืนยันว่าอำนาจ “การป้องปราม” ของสหรัฐมีความเข้มแข็ง ซึ่งเท่ากับเป็นการย้ำว่า สหรัฐดำรงขีดความสามารถทางทหารอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาค

การแสดงท่าทีเช่นนี้ทำให้จีนต้องตอบโต้ถึงการมีอธิปไตยเหนือพื้นที่หมู่เกาะทะเลจีนใต้ และไต้หวัน ซึ่งเห็นได้ชัดถึงมุมมองที่แตกต่างกับชาติตะวันตก ซึ่งภาพสะท้อนเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงโลกที่แบ่งเป็น 2 ค่าย

ดังนั้น การสร้างแนวทางของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง จึงประเด็นสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของภูมิภาคนี้ แต่แนวโน้มของการแข่งขันก็รุนแรงมากขึ้น และมีสถานการณ์ล่อแหลมที่อาจเกิดการปะทะทางทหารได้ เช่น เครื่องบินจีนบินตัดหน้าเครื่องบินลาดตระเวนของอเมริกา หรือเรือรบจีนแล่นตัดหน้าเรือรบสหรัฐและแคนาดาในช่องแคบไต้หวัน

 

ความกังวลในอนาคต

ความท้าทายอย่างมากในการออกแบบสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงของอินโด-แปซิฟิกก็คือ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน

คำถามสำคัญก็คือ ภาวะนี้จะนำไปสู่สงครามดังเช่นที่เกิดขึ้นในยูเครนหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าสงครามในอินโด-แปซิฟิกจะเป็น “หายนะใหญ่” สำหรับประเทศในภูมิภาค หรือในทำนองเดียวกัน สงครามยูเครนเป็นคำเตือนอย่างชัดเจนถึงผลที่จะเกิดกับสงครามในช่องแคบไต้หวัน

ในอีกด้านหนึ่งสำหรับประเทศในภูมิภาคนั้น สงครามคือความกังวลใหญ่ และเมื่อเกิดสงครามยูเครนแล้ว ความกังวลนี้ดูจะมีมากขึ้น และประเทศแถบนี้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่หวังว่า การแข่งขันนี้จะไม่นำไปสู่สงคราม และประเทศเหล่านี้จะไม่ถูกลากเข้าไปสู่ “เวทีสงคราม” หรือกลายเป็น “แนวรบใหม่” ของมหาอำนาจคู่ขัดแย้ง!