ทฤษฎีสมคบคิด : บุคลิกลักษณะและมนต์สะกด | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ศัพท์คำว่าทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theories) ปรากฏในการรับรู้ของสาธารณชนไทยครั้งแรกเมื่อสามปีก่อนจากข้อวิเคราะห์วิจารณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของนิสิตนักศึกษาอันสืบเนื่องจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ตอนต้นปีแล้วฟื้นตัวขึ้นใหม่หลังชะงักไปเพราะวิกฤตโควิด-19 ระบาดและมีการพูดและเขียนถึงสถาบันกษัตริย์ในที่ชุมนุม (บีบีซีไทย, 24 กรกฎาคม 2563)

ล่าสุดก็ปรากฏการสาธิตตัวอย่างทฤษฎีทำนองนี้เป็นรูปธรรมอีกครั้งในรายการ sondhitalk

เมื่อสื่อเจ้าเก่าเล่ายี่ห้อ สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวอ้างสาธยายเชื่อมโยงถึงพรรคก้าวไกลที่เพิ่งได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า “อเมริกาเชิดก้าวไกล ใช้ไทยแทรกเพื่อนบ้าน” (sondhitalk, ep.#192, 2 มิถุนายน 2566)

ในแง่การเมืองวัฒนธรรม ข้อที่น่าสนใจย่อมไม่ใช่พยานหลักฐานรองรับข้อกล่าวอ้างสมคบคิดดังกล่าว (ซึ่งเหลือวิสัยจะพิสูจน์ให้ประจักษ์เห็นจริงจนสิ้นความสงสัยที่มีเหตุผลในกระบวนการยุติธรรมหรือวิชาการ)

หากอยู่ตรงผู้คนไม่น้อย (เมื่อดูจากคอมเมนต์ใต้คลิป) ใฝ่ใจอยากเชื่อและด่วนปักใจเชื่อมันโดยมิพักต้องพิสูจน์ทราบมากกว่า

ภาพจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53524704 & https://twitter.com/sondhitalk/status/1665875063646695425

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ผมคิดว่าจะเข้าใจได้ต้องทำความรู้จักบุคลิกลักษณะและมนต์สะกดของทฤษฎีสมคบคิดโดยทั่วไปเสียก่อน

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งประสบกระแสคลื่นทฤษฎีสมคบคิดโหมซัดด้วยเนื้อหาอันตรายและชวนหลงผิดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ระบาดช่วงกว่าสามปีที่ผ่านมา ได้ออกเอกสารวิเคราะห์แจกแจงปัญหาดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจโดยสังเขปดังนี้ (https://commission.europa.eu/strategy-and-policy/coronavirus-response/fighting-disinformation/identifying-conspiracy-theories_en) :

อะไรคือทฤษฎีสมคบคิด?

– มันคือความเชื่อว่ามีกลุ่มพลังผู้ทรงอำนาจ (เช่น อเมริกา) คอยแอบฉวยใช้ชักเชิดเหตุการณ์ต่างๆ (ให้พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง) อยู่หลังฉากอย่างลับๆ ด้วยเจตนาร้าย (เพื่อใช้ไทยต้านจีน)

อะไรคือบุคลิกลักษณะร่วมของบรรดาทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลายแหล่?

– ทฤษฎีสมคบคิดมีลักษณะร่วมอยู่ด้วยกัน 7 ประการ (CONSPIR) ได้แก่ :

1. Contradictory/ขัดแย้งกันในตัวเอง : ทฤษฏีสมคบคิดสามารถเชื่อถือความคิดที่ขัดแย้งกันเอง ได้ในเวลาเดียวกัน (ตัวอย่างเช่น อเมริกาเชิดก้าวไกล & ก้าวไกลเป็นคอมมิวนิสต์เพราะใช้สัญลักษณ์ค้อนเคียว)

ทั้งนี้ก็เพราะเหล่านักทฤษฎีสมคบคิดปักใจหัวชนฝาไม่ยอมเชื่อถือเรื่องปกติที่ขัดกับทฤษฎีของตนอย่างเด็ดขาดสัมบูรณ์เสียจนกระทั่งต่อให้ระบบความเชื่อของตนไม่ผนึกเป็นปึกแผ่นเดียวกันอย่างคงเส้นคงวาก็ไม่เห็นจะเป็นไรเลย

2. Overriding suspicion/ระแวงสงสัยเหนือกว่าอะไรอื่น : วิธีคิดแบบทฤษฎีสมคบคิดระแวงสงสัยอย่างล้นเหลือเฟือฟายเสียจนกระทั่งมันไปทำลายล้างน้ำหนักของข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอื่นจนหมดสิ้น

ระดับความหวาดระแวงสงสัยสุดโต่งนี้ทำให้ไม่ยอมเชื่ออะไรก็ตามแต่ที่ไม่สอดรับกับทฤษฎีสมคบคิดของตน (เช่น ไม่ยอมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบายธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ ไว้อยู่เหนือการเมืองและภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้คิดล้มเจ้า)

3. Nefarious intent/มีเจตนาร้าย : สันนิษฐานไว้แต่ต้นเลยว่าแรงจูงใจเบื้องหลังแผนการสมคบคิดใดๆ ที่ทึกทักกันว่ามีนั้นย่อมเป็นไปในทางร้าย บรรดาทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลายไม่เคยเสนอว่า พวกที่ถูกถือว่าเป็นผู้สมคบคิดนั้นจะมีแรงจูงใจไปในทางที่ดีงามได้ (ดังนั้น ปฏิรูป = ล้มล้างการปกครอง)

4. Something must be wrong/มันต้องมีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากลอยู่แน่ๆ : แม้ว่าเหล่านักทฤษฎีสมคบคิดจะยอมยกเลิกความคิดเฉพาะเจาะจงบางอย่างเป็นครั้งคราวเมื่อเหลือวิสัยจะปกป้องมันไว้ได้อีกต่อไป แต่การปรับแก้ที่ว่านี้หาได้เปลี่ยนข้อสรุปโดยรวมของพวกเขาที่ว่า “มันต้องมีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากลอยู่แน่ๆ” ไปไม่ และเรื่องปกติที่แย้งข้อสรุปของทฤษฎีตน นั้นล้วนโกหกหลอกลวง (เช่น เชื่อว่าสัญลักษณ์ของพรรคเชื่อมโยงกับองค์กรลับอิลลูมินาติ)

5. Persecuted victim/มองตัวเองว่าเป็นเหยื่อถูกเล่นงานรังควาน : เหล่านักทฤษฎีสมคบคิดมองเห็นและนำเสนอตัวเองว่าตกเป็นเหยื่อของการเล่นงานรังควานอย่างเป็นระบบ ทว่า ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เห็นตัวเองเป็นนักร้องผู้วีระอาจหาญที่กล้าเผชิญหน้ากับพวกวายร้ายนักสมคบคิดด้วย

วิธีคิดแบบทฤษฎีสมคบคิดจึงเกี่ยวพันกับการมองและเข้าใจตัวเองว่าเป็นทั้งเหยื่อและวีรชนในเวลาเดียวกัน (ดูคำสัมภาษณ์ของสนธิ ลิ้มทองกุล ในไทยโพสต์แทบลอยด์, 11 ตุลาคม 2552 & ศรีสุวรรณ จรรยา ใน https://www.thairath.co.th/news/politic/2700687)

6. Immune to evidence/คงกระพันชาตรีต่อหลักฐานแย้ง : ทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลายมีลักษณะปิดผนึกหูตาตัวเองโดยเนื้อใน กล่าวคือ บรรดาหลักฐานที่สวนทวนท้าทายทฤษฎีจะถูกตีความเสียใหม่ว่าล้วนแต่ถือกำเนิดเผยแพร่มาออกมาจากแผนการร้ายสมคบคิดนั่นเอง

บุคลิกข้อนี้สะท้อนความเชื่อของนักทฤษฎีเหล่านี้ที่ว่า “ยิ่งปรากฏหลักฐานโต้แย้งแผนการสมคบคิดหนักแน่นขึ้นแค่ไหน นั่นย่อมแสดงว่าพวกนักสมคบคิดวางแผนร้ายยิ่งต้องการให้คนหลงเชื่อเรื่องราวที่พวกมันปั้นแต่งขึ้นแทนที่จะเชื่อทฤษฎีของเราแค่นั้นนั่นแหละ” (สนธิท้าดีเบตกับพิธา วิโรจน์ ชูวิทย์ ไอติม ฟูอาดี้, คุยทุกเรื่องกับสนธิ, 31 พฤษภาคม 2566)

7. Re-interpreting randomness/ตีความเรื่องบังเอิญเสียใหม่ : ความระแวงสงสัยอย่างล้นเหลือเฟือฟายในวิธีคิดแบบทฤษฎีสมคบคิดบ่อยครั้งนำไปสู่ความเชื่อว่าไม่มีอะไรหรอกที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ ประดาเหตุบังเอิญปลีกย่อยจิปาถะ (เช่น สัญลักษณ์ของพรรครูปสามเหลี่ยมกลับหัว หรือสัญลักษณ์ค้อนเคียวในโลโก้การ์ตูนของพรรค) ถูกตีความใหม่ว่าเกิดจากแผนการสมคบคิด (องค์การลับอิลลูมินาติหรือลัทธิการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับการปกครองฯ)

แล้วเอาไปถักทอปะติดปะต่อกันเข้าเป็นแบบแผนเรื่องเล่าที่เตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่โต

ทำไมทฤษฎีสมคบคิดถึงแพร่หลายนัก?

– เพราะมันนำเสนอคำอธิบายง่ายๆ ให้แก่เหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเข้าใจได้ยาก (เช่น ทำไมแก้ปัญหาความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เสียที? หรือ ทำไมพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งวะ?) มันช่วยให้ผู้เชื่อหลงรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจ-ควบคุม-และกระทำการต่อเหตุการณ์และสถานการณ์เหล่านั้นได้ (อ๋อ เพราะอเมริกาแทรกแซงนี่เอง)

ความอยากจะ “รู้สึก” ดังกล่าวนั้นขึ้นสูงในยามที่สภาพการณ์ไม่แน่นอนเช่นช่วงเกิดโรคโควิด-19 ระบาด (พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งเตรียมตั้งรัฐบาลแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นหว่า?)

ทฤษฎีสมคบคิดหยั่งยึดความคิดจิตใจเราได้อย่างไร?

– ทฤษฎีสมคบคิดมักเริ่มต้นด้วยอาการระแวงสงสัย ตั้งคำถามว่าใครได้ประโยชน์จากเหตุการณ์หรือสถานการณ์หนึ่งๆ แล้วชี้ตัวพวกสมคบคิดวางแผนออกมา จากนั้นก็ตัดแต่ง “หลักฐาน” ใดๆ ที่หาได้ให้สอดรับกับทฤษฎี

พอมันหยั่งรากแล้ว ทฤษฎีสมคบคิดก็แผ่ขยายลุกลามได้รวดเร็ว ยากที่จะปฏิเสธล้มล้างทฤษฎีสมคบคิดได้ เพราะใครก็ตามที่พยายามทำเช่นนั้นก็จะถูกมองว่าเป็นหนึ่งในพวกสมคบคิดวางแผนนั่นเอง (เช่น คอลัมน์นี้เป็นต้น แหะๆ)

ทำไมผู้คนจึงพากันป่าวร้องโพนทะนาทฤษฎีสมคบคิดจนมันกระจายกว้างออกไป?

– ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน กล่าวคือ ส่วนมากนักเล่าทฤษฎีสมคบคิดต่อ (ปากต่อปาก ปากสอง ปากสาม…) เชื่อว่ามันจริง แต่ก็มีบ้างที่จงใจยั่วยุปลุกปั่นหรือมุ่งใส่ร้ายเล่นงานบางคนบางกลุ่มบางพรรคด้วยเหตุผลทางการเงินหรือการเมือง

สิ่งพึงตระหนักระวังคือทฤษฎีสมคบคิดแพร่มาได้จากหลายแหล่งไม่ว่ากลุ่มไลน์ ครอบครัว ญาติมิตร รายการทอล์กโชว์ทางยูทูบ ฯลฯ