รายงานพิเศษ : อ่านทัศนะ-ประสบการณ์ ความรุนแรงต่อผู้หญิง ปัญหาซ่อนเร้นในสังคมไทย

 อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ /รายงาน

วันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้หญิงทุกคนทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์เนื่องในวันสากลของการต่อต้านการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง

ในส่วนของไทยก็มีกิจกรรมที่เป็นการกระตุ้นเตือนสังคมถึงภัยต่อผู้หญิงหลายคนที่เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้นภายใต้กรอบวัฒนธรรมและประเพณี

ถึงกระนั้น สำหรับประเทศไทย แม้มีความพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นและมีผลในทางปฏิบัติ แต่เมื่อดูข่าวทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์หรือเว็บออนไลน์ ความรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงมีให้เห็นอยู่ มีหลายรูปแบบและไม่จำกัดสถานที่ การกระทำบางอย่างคนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

แต่สำหรับผู้หญิงที่ถูกปฏิบัติแบบนั้น…ไม่ได้คิดเหมือนเรา

 

หน้าตาของความรุนแรง

นายชานันท์ ยอดหงษ์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์และคอลัมนิสต์ด้านเพศ กล่าวว่า ก่อนจะกล่าวถึงความรุนแรงต่อผู้หญิง จะต้องเห็นภาพของความรุนแรงก่อนว่ามันคืออะไร ในหนังสือที่ชื่อ Peace and Violence ของ โจฮัน กัลตุง นักวิชการสันติศึกษา ที่ศึกษาเรื่องรุนแรง โจฮันกล่าวว่า ความรุนแรงแบ่งออกได้ 3 ประเภท ได้แก่

1. ความรุนแรงทางตรง คือการใช้ความรุนแรงทางกายภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เผื่อให้เกิดบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจ และการกระทำต่างๆ ในประเภทนี้มีอุดมการณ์หรือชุดความคิดรองรับเพื่อสร้างความชอบธรรม ยกตัวอย่างเช่น ธำรงวินัยก็เป็นการกระทำความรุนแรงโดยอาศัยค่านิยมที่ให้ความชอบธรรม หรือการรับน้อง

เรามักมองความรุนแรง เช่น การตบตี ชกต่อยกัน เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ยุ่งดีกว่า แต่ความเป็นส่วนตัวนี้ไม่สามารถให้ความชอบธรรมได้ ไม่เพียงทำให้เจ็บตัว แต่ยังสร้างผลทางจิตใจ เช่น พูดหยอกล้อ แทะโลม แม้จะดูเหมือนเป็นการสร้างสัมพันธภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างศัตรูหรืออาวุธที่ลดความน่าเชื่อถือ

ประเภทที่ 2 คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ระบบที่ทำให้มนุษย์ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ลดทอนสิ่งที่เป็นอยู่ ทำให้หมดค่าความเป็นมนุษย์ จากการกระจายอำนาจหรือทรัพยากร เกิดการเข้าถึงที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น ระบบสาธารณูปโภคหรือสาธารณสุขระหว่างคนเมืองกับคนชนบท หรือพื้นที่ใช้สอยที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น แม่บ้านในรั้วมหาวิทยาลัย บางส่วนใช้ห้องน้ำหรือห้องใต้บันไดเป็นที่เก็บของ อีกทั้งความรุนแรงประเภทนี้ อาศัยความชอบธรรมจากประวัติศาสตร์ คติชน หรือค่านิยมมากำหนดสถานะ อำนาจแต่ละบุคคล หรือรุ่นพี่ใช้อำนาจกับรุ่นน้องได้

แต่ความรุนแรงที่ยากที่สุด คือ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ที่เป็นต้นตอสำคัญ มันเป็นการผลิตซ้ำหรือตอกย้ำ ว่าความรุนแรงทั้งในเชิงโครงสร้างหรือระหว่างบุคคลจะคงดำรงอยู่

สิ่งที่น่ากลัวเมื่อพูดถึงความรุนแรงในชีวิตประจำวัน เราจะรู้สึกว่าความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่รู้ว่า การหยอกล้อให้เพื่อนอับอายกันปกติว่านั้นคือความรุนแรง รวมถึงความรุนแรงระหว่างแฟน ระหว่างครู-อาจารย์

 

“ประจาน-กลั่นแกล้ง”
ในฐานะความรุนแรง

ด้านนักศึกษารายหนึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ ได้เล่าประสบการณ์ของการถูกกระทำความรุนแรงจากการนำเรื่องส่วนตัวเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งว่า เคยมีประสบการณ์ทางเพศช่วงที่เป็นวัยรุ่นและเก็บเรื่องนี้ไว้จนกระทั่งเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

ต้องบอกว่าโครงสร้างวัฒนธรรมของเราไม่ค่อยยอมรับใครที่ผ่านประสบการณ์มีเพศสัมพันธ์ รู้เลยว่าสังคมไทยไม่ค่อยเปิดรับ จึงเลือกที่จะเงียบ พอสอบติดก็ รู้สึกเสรีมาก และตัวเองยอมรับว่าเป็นคนเปรี้ยวพอสมควร แต่เรารู้ตัวว่ามีลิมิตแค่ไหน ควรทำตัวยังไง วันหนึ่งพอมีเพื่อนสนิท ก็ได้เล่าเรื่องที่เก็บเงียบให้ฟัง แต่กลับกลายเป็นประสบการณ์แย่ๆ

มันเกิดขึ้น หลังผ่านช่วงรับน้องไปไม่นาน ได้เปิดเฟซบุ๊กแล้วพบว่า เพื่อนสนิทได้เอาเรื่องที่เล่าให้ฟังไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก มีแปะรูป ใส่รายละเอียดทั้งหมด ตอนที่เห็นตกใจมาก ถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น โอเคว่าอาจทำอะไรผิดใจกับเพื่อนไปบ้าง แต่ก็ไม่มีสิทธิ์มากลั่นแกล้งหรือประจานลงบนโซเชียล มันเป็นคดีอาญาแน่ ทั้งคนโพสต์และบุคคลที่ 3 และ 4 ที่คอมเมนต์ แต่ตอนนี้ไม่ได้ติดใจอะไรแล้ว

ตอนที่เกิดเรื่อง มันส่งผลต่อชีวิตมาก ตอนเปิดเทอมใหม่ๆ สายตาคนรอบข้างมองเราเหมือนไปฆ่าใครตาย และยังทำให้จากที่มีเพื่อนเยอะ กลายเป็นคนซึมเศร้า ไม่กล้าพบหน้าใคร เคยคิดจะดร็อปเทอมหนึ่ง จนได้เข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งได้ถามตนว่า จะมายอมแพ้กับเรื่องแค่นี้หรือ นั้นทำให้ตัดสินใจอยู่ต่อ และแฟนก็เข้ามาทำให้ได้กำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป

สำหรับคนที่เจอเรื่องแบบนี้ ขอแนะนำให้เริ่มจากสำรวจว่าครอบครัวตนเองเป็นแบบไหน ถ้าพวกเขาเปิดรับได้ก็บอกตามตรงไป แต่ของตนเองเป็นครอบครัวที่เข้มงวด อยู่ในระเบียบ จึงเลือกที่เงียบ และหันมาปรึกษากับอาจารย์หรือลองคุยกับสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งช่วยตนผ่านจุดนั้นมาได้

 

“ความรุนแรง” ที่มาจาก “คนใกล้ตัว”

คุณโชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ ซึ่งมีประสบการณ์ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ได้เล่าให้ฟังว่า เวลาพูดถึงเรื่อง “ผัวเมียตีกัน” ภาพในหัวมันเป็นยังไงผู้ถูกกระทำต้องเป็นผู้หญิงแบบไหน หน้าตาเป็นยังไง ดูอ่อนแอไหม ระดับการศึกษา ระดับรายได้ฐานะทางเศรษฐกิจต้องพึ่งสามี ไม่สามารถออกมาจากความรุนแรงนั้นรึเปล่า

แล้วผู้กระทำล่ะ? พวกเขาเป็นยังไง เป็นคนไกลตัวรึเปล่า เป็นคนร้ายหรือขี้เมา ขอเงินไม่ให้ก็ตบตี ภาพมันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ในภาพจำของเรา

ย้อนกลับไป 3 ปีก่อน ตอนนั้นเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ระดับการเรียนก็ดีในระดับหนึ่งถ้าวัดบนมาตรฐานตัวเลขของเกรด และแน่นอนก็ต้องมีความรัก วันหนึ่งได้อ่านบทความของคนหนึ่งที่มีความรู้ และรู้สึกชอบในตัวเขา ก็ทำความรู้จักผ่านเฟซบุ๊กจนตกหลุมรักกัน เขาเป็นคนที่อบอุ่นและมีความรู้ มีความสามารถหลายอย่าง ก็คบกันตามปกติ

แต่พบคบกันมาได้ 7-8 เดือน เราทะเลาะกัน เริ่มจากผ่านโทรศัพท์ ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเรื่องอะไร แต่พอเขากลับมาที่บ้านพัก เขากระชากไปที่เตียง จับหัวกดและกระแทกไปที่เตียงซ้ำๆ แต่ยังไม่เจ็บมากเพราะมันเป็นเตียง ตะโกนเรื่องที่เขาไม่ชอบ เขาบอกให้หยุดพูด แต่ก็ไม่หยุดจนเขาเอามือบีบที่ปากเพื่อไม่ให้พูดแต่ยังมีเสียงเล็ดลอด พอไม่หยุด เขาได้เอามือบีบคอและบีบหนักขึ้น

ตอนนั้นยังไม่กล้าตะโกนบอกใคร ซึ่งตอนนั้นมีญาติของเขาอยู่ แต่ไม่กล้าเพราะไม่อยากให้ญาติเดือดร้อน เขาบีบคอหนักจนหายใจไม่ออก ได้ขอร้องให้หยุด เพราะหายใจไม่ออก เขาพูดกลับมาว่า “จะตายก็เรื่องของมึง” รู้สึกไม่ไหว ต้องตะโกนเรียกญาติของเขามาช่วย แต่พอญาติมาถึงประตู มันสื่อถึงอะไรหลายอย่างคือ ญาติเขามองว่า เป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัว ตอนแรก ญาติไม่กล้าก้าวข้ามเข้ามา จนสุดท้ายญาติเขาได้พูดอะไรบางอย่างจนเขาปล่อยมือ

ถ้าใครคิดว่าครั้งแรก ครั้งสุดท้าย และครั้งเดียว อยากจะบอกว่า คุณคิดผิด

 

การแก้ไข “ความรุนแรง” ไปถึงไหนแล้ว?

คุณมณี ขุนภักดี จากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา การจัดการปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ก็มีปัญหาตั้งแต่ในชั้นสืบสวน ผู้หญิงที่ถูกกระทำ เวลาจะไปแจ้งความ ไม่ใช่แจ้งได้เลย แต่ต้องใช้เวลาปรับสภาพจิตใจ ต้องมีแรงสนับสนุนให้เขาออกจากความกลัว จริงๆ พวกเขาไม่อยากเล่าให้ใครฟังว่า ฉันถูกข่มขืน

แม้ว่าจะมีการสืบสวน แต่พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้มีความเข้าใจผู้หญิง มีหลายคนถูกสอบสวนด้วยเจ้าหน้าที่หลายคนรุมถามคำถาม มันยิ่งรู้สึกแย่ ถ้าเป็นต่างประเทศจะทำครั้งเดียว อัดวิดีโอไว้ แล้วหน่วยงานที่รับช่วงต่อจะใช้วิดีโอเป็นข้อมูล แต่ของไทยชั้นสืบสวนก็เล่ารอบหนึ่ง พบอัยการก็เล่าอีก พบทนายก็เล่าอีก เล่าวนซ้ำกันจนถึงชั้นศาล เห็นว่ามันมีปัญหาตั้งแต่ชั้นต้น

ส่วนอีกอุปสรรคอย่างวัฒนธรรมที่ยอมรับความรุนแรงกันจนเป็นเรื่องปกติ ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหามาก เพราะการยอมรับให้เป็นเรื่องปกติ ท้ายที่สุดแล้ว มันจะทำให้เกิดวัฒนธรรมอื่นตามมา เช่น วัฒนธรรมของการเพิกเฉย พอเกิดปัญหากลไกสังคมหรือสถาบันทางสังคม จะทำเป็นไม่สนใจหรือปล่อยให้เรื่องเงียบ รวมถึงวัฒนธรรมปกป้องกันเอง มันตีกลับใช้ความรุนแรงกลับไปยังผู้กระทำอีก

หากรื้อปัญหาเหล่านี้ มันสั่นคลอนแน่นอน เพราะมันเกี่ยวข้องกับอำนาจ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ถ้าทำได้มันจะดี แต่ต้องใช้เวลาแก้ไขนาน