ภาวะ ‘สามต่ำ’ ที่ทำให้โครงสร้างแรงงานไทยล้าหลัง

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อพิจารณาลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา นโยบายหลายอย่างที่ถูกใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือนโยบายที่กระตุ้นไปที่ฝั่งทุน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษ กลไกสัมปทาน นโยบายลดหย่อนภาษี ล้วนมีส่วนให้กลุ่มทุนไทยเติบโตทั้งในแง่ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง

แต่การเติบโตของกลุ่มทุนไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ พวกเขาได้วางเงื่อนไข “สามต่ำ” ในสังคมเศรษฐกิจไทย

อันส่งผลกระทบสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานไทย โดยสามารถพิจารณาผ่านปรากฏการณ์ 3 ต่ำ อันได้แก่ ค่าจ้างต่ำ อำนาจต่อรองต่ำ และ การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพต่ำ

3 ปรากฏการณ์นี้เมื่อทำงานร่วมกัน ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่กีดขวางความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

1.ค่าจ้างต่ำ ปัญหาค่าจ้างต่ำในสังคมไทย ไม่ใช่เพราะแรงงานไทยไร้ทักษะ เกียจคร้าน หรือไม่พัฒนาตนเอง

เพราะเราต่างทราบกันว่างานประเภทเดียวกันเพียงแค่อยู่ต่างประเทศ ก็ได้รับค่าจ้างที่สูง สภาพการทำงานดีกว่า คุณภาพชีวิตดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับงานประเภทเดียวกันในไทยในปัจจุบัน

ปัญหาค่าจ้างต่ำไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับแรงงานไร้ทักษะเท่านั้น แต่เรายังพบว่าแรงงานจำนวนมากที่ทำงานมาทั้งชีวิต มีทักษะ มีความสามารถ แต่ยังอยู่กับค่าจ้างที่ต่ำไม่ต่างจากวันแรกที่เริ่มทำงาน

ลักษณะเช่นนี้ ไม่เป็นผลดีต่อการใช้ศักยภาพของผู้ใช้แรงงาน

ขณะเดียวกันก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญให้กลุ่มทุนไม่แสวงหาเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่

 

2.เทคโนโลยีการผลิตต่ำ เมื่อเผชิญกับปัญหาค่าจ้างต่ำ ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มทุนมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย รวมถึงการตรึงอัตราค่าจ้างไม่ให้กระทบกับกำไรของผู้ประกอบการ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ทำให้เกิดเทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพต่ำ

กลุ่มทุนสามารถที่จะแสวงหากำไรได้จากการกดค่าจ้าง ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาหรือสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อแข่งขันในการผลิตระดับโลก

แรงจูงใจทั่วไปของกลุ่มทุนคือ การขยายสาขา ขยายกิจการใช้แรงงานราคาถูกผลิตสินค้าปริมาณมาก สินค้ามีรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน อยู่ในลักษณะที่คุ้นชิน หรือไม่ก็เป็นผู้ที่ทำการรับจ้างผลิตให้แก่กลุ่มทุนต่างประเทศอีกทีหนึ่ง

การที่ประเทศอยู่ภายใต้เงื่อนไขเทคโนโลยีการผลิตต่ำ ยังส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก เพราะสินค้าและบริการมีความซับซ้อนที่ต่ำ มีมูลค่าที่ต่ำ และเมื่อไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็ย่อมทำให้ความสร้างสรรค์ของสังคมลดลง

โอกาสการเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สามารถสะสมทุน หรือส่งต่อนวัตกรรมต่างๆ ก็ลดน้อยถอยลงด้วยเช่นเดียวกัน

 

3.อำนาจต่อรองต่ำ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ค่าจ้างและสวัสดิการต่ำ ขณะเดียวกันกลุ่มทุนก็อาศัยเทคโนโลยีต่ำในการผลิตสินค้าและบริการ โครงสร้างแบบนี้สามารถคงอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะความสามารถในการแข่งขันในการผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อกลไกตลาดเท่านั้น

มันยังเกิดขึ้นผ่านกลไกอำนาจเผด็จการของกลุ่มทุนที่มีอำนาจเหนือผู้ใช้แรงงาน

ประเทศไทยมีสมาชิกสหภาพแรงงานน้อยกว่า 1% ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากระบุว่า ตนเองไม่สามารถที่จะต่อรองกับนายจ้างได้เลย เมื่อมีปัญหาในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ถูกรับรองโดยกฎหมาย หรือความไม่พอใจในระดับบุคคล การที่ผู้ใช้แรงงานมีอำนาจในการต่อรองต่ำนี้ ทำให้สภาพการจ้างย่ำแย่มากขึ้น

ผู้ใช้แรงงานไม่สามารถที่จะเปลี่ยนงาน ไม่สามารถที่จะพัฒนาทักษะ หรืออย่างน้อยที่สุดไม่สามารถต่อรองให้มีเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น มีชีวิตที่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เราจึงจะเห็นการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน การเหมาค่าแรง ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศในที่ทำงาน การทำงานหามรุ่งหามค่ำจนเสียชีวิต เพื่อแลกค่าแรงเพียงเล็กน้อย สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ

ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้โดยง่าย เพียงเพราะคนส่วนมากไม่สามารถที่จะรวมตัวส่งเสียงกันได้

ไม่สามารถที่จะบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ควรเป็นในสังคมนี้ และกลุ่มทุนก็ขยันที่จะแสวงหาแรงงานที่มีอำนาจต่อรองต่ำตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานอพยพตามฤดูกาล หรือแรงงานข้ามชาติ

 

สาเหตุสำคัญที่ยังทำให้สังคมไทยอยู่ในสภาพ 3 ต่ำนี้ได้ นั่นคือกลุ่มทุนและภาครัฐทำงานร่วมกันในการแสวงหาแรงงานราคาถูก ในอำนาจต่อคอนโทรลเลอร์ เพื่อมาจุนเจือกลไกการผลิตแบบเทคโนโลยีต่ำ และค่าแรงต่ำไปพร้อมกัน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาปัญหาระบบเศรษฐกิจแบบ 3 ต่ำที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจตามลำพัง แต่จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปพร้อมกัน

ดังที่เราจะเห็นได้ว่า การที่ประเทศไทยก้าวพ้นจากการเป็นประเทศที่ผลิตแบบแรงงานเข้มข้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2554 อันเป็นนโยบายสำคัญของพรรคการเมือง

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ภาวะสามต่ำที่ยาวนานจำเป็นต้องแก้ไขโดยเงื่อนไขทางการเมืองเช่นเดียวกัน

ในบทความหน้าผู้เขียนจะพาพิจารณาถึงตัวแบบ Rehn-Meidner ตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยึดแรงงานเป็นศูนย์กลางที่สามารถพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้ไม่แพ้การพัฒนาเศรษฐกิจแบบเอื้อกลุ่มทุนแบบที่เราคุ้นเคย