อำลา ‘อัสตรุด ชิลเบร์ตู’ เสียงแผ่วๆ เศร้าๆ ในบทเพลง ‘หญิงสาวจากอีปาเนมา’

คนมองหนัง

อำลา ‘อัสตรุด ชิลเบร์ตู’ เสียงแผ่วๆ เศร้าๆ ในบทเพลง ‘หญิงสาวจากอีปาเนมา’

“อัสตรุด ชิลเบร์ตู” (Astrud Gilberto) นักร้องหญิงชาวบราซิล เพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ขณะมีอายุ 83 ปี

เธอคือหนึ่งในผู้ที่ทำให้ “ดนตรีบอสซาโนวา” จากบราซิล อันไพเราะพลิ้วไหวและมีจังหวะจะโคนทรงเสน่ห์ กลายเป็นที่รู้จักของนักฟังเพลงทั่วโลก

ผ่านบทเพลง “The Girl from Ipanema” ซึ่งอัสตรุดขับร้องบันทึกเสียงเอาไว้ตั้งแต่ปี 1963 ในตอนที่เธอยังมิได้มีสถานะเป็น “นักร้องอาชีพ” เลยด้วยซ้ำ

“อัสตรุด ไวเนอร์ท” เกิดเมื่อปี 1940 ที่รัฐบาเยีย ประเทศบราซิล ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ชาวเยอรมัน และแม่เป็นครูสอนหนังสือชาวบราซิล

ในช่วงวัยรุ่น ครอบครัวของเธอได้ย้ายมาอาศัยที่รีโอเดจาเนโร ที่นั่น อัสตรุดได้คบหากับเพื่อนๆ ที่เป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ ซึ่งในอนาคตข้างหน้า จะกลายเป็นคนดนตรีที่มีชื่อเสียงของบราซิล

ปี 1959 อัสตรุดได้รู้จักกับนักดนตรีฝีมือดีอย่าง “ชูเอา ชิลเบร์ตู” (João Gilberto 1931-2019) แล้วตัดสินใจแต่งงานกับเขาในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ขณะที่ตัวเองมีอายุ 19 ปี

อันโตนิโอ คาร์ลอส โจบิม

“ดนตรีแนวบอสซาโนวา” เริ่มปรากฏขึ้นในรีโอเดจาเนโรตั้งแต่ปี 1958 เมื่อชูเอา ชิลเบร์ตู ทดลองใช้กีตาร์ของเขาประดิษฐ์จังหวะแบบใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดนตรีแซมบาดั้งเดิม

หากเทียบกับดนตรีแซมบา ดนตรีบอสซาโนวาจะมีจังหวะจะโคนที่ผ่อนคลายมากขึ้น และมุ่งเน้นความสำคัญไปยังท่วงทำนองกับการเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งชูเอาและเพื่อนนักประพันธ์เพลงของเขา คือ “อังโตนีอู การ์ลูช โชบิง” (อันโตนิโอ คาร์ลอส โจบิม – Antônio Carlos Jobim) ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีอเมริกันแจ๊ซ

กระทั่งในปี 1963 “สแตน เก็ตส์” นักเป่าแซ็กโซโฟนชาวสหรัฐ จึงได้เชิญชวนชูเอาและโชบิง ให้เดินทางไปร่วมบันทึกเสียงอัลบั้มแนว “แจ๊ซ-บอสซา” กับเขาที่นิวยอร์ก

ต้นทศวรรษ 1960 วัฒธรรมดนตรีแจ๊ซอเมริกันกำลังเสื่อมถอยมนต์ขลัง เมื่อดนตรีแนวอื่นๆ โดยเฉพาะร็อกแอนด์โรลกำลังดึงดูดหัวใจแฟนเพลงจำนวนมาก

พันธกิจของคนดนตรีแจ๊ซเช่นเก็ตส์ จึงได้แก่ การเสาะหาสำเนียงใหม่ๆ โดยในปี 1962 อัลบั้มชุด “Jazz Samba” ของเขาก็ได้รับความนิยมอย่างสูง จนกลายเป็นอัลบั้มแจ๊ซชุดเดียวที่เคยขึ้นอันดับหนึ่งในบิลบอร์ดป๊อปชาร์ตส์

จากนั้น เก็ตส์จึงขยับเขยื้อนแนวทางการทำงานมาสู่ดนตรีบอสซาโนวา พร้อมกับเชิญสองนักดนตรีต้นตำรับจากบราซิลมาร่วมงาน

ชูเอาไม่ได้เดินทางไปพบเก็ตส์ที่สตูดิโอบันทึกเสียงย่านแมนฮัตตันพร้อมโชบิงเท่านั้น แต่เขายังพาอัสตรุด ภรรยาวัย 22 ปี ไปสหรัฐด้วย

ชูเอา ชิลเบร์ตู

จากเรื่องเล่าในความทรงจำของเก็ตส์ เขาบอกว่าตนเองเป็นผู้ออกไอเดียให้อัสตรุดได้ขับร้องเพลง “The Girl From Ipanema” และ “Corcovado” (Quiet Nights of Quiet Stars) เนื่องจากอัสตรุดเป็นคนเดียวในคณะนักดนตรีชาวบราซิลที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้

แต่บางเรื่องเล่าก็ยกคุณงามความดีให้โปรดิวเซอร์ของผลงานชุดนั้น คือ “ครีด เทย์เลอร์” ที่ต้องการหานักร้องภาษาอังกฤษมานำพาเพลงแนวบอสซาโนวาข้ามพรมแดนไปสู่กลุ่มผู้บริโภคชาวสหรัฐ

ด้านอัสตรุดเองยกเครดิตได้ให้แก่ชูเอา สามีในเวลานั้นของเธอ

“ขณะที่กำลังฝึกซ้อมกับสแตน ชูเอามักจะเดินเข้ามาหาฉันเพื่อชวนให้ไปร่วมร้องท่อนคอรัสภาษาอังกฤษ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งร้องท่อนคอรัสภาษาโปรตุเกสไป

“สแตนตอบรับเรื่องนี้อย่างดี จริงๆ แล้ว เขามีความกระตือรือร้นมากๆ ฉันไม่เคยลืมเลยว่า ระหว่างที่พวกเราย้อนไปฟังเพลงที่เพิ่งบันทึกเสียงเสร็จในห้องควบคุมเสียงของสตูดิโอ สแตนบอกกันฉันด้วยอาการที่ตื่นเต้นมากๆ ว่า ‘เพลงนี้จะทำให้คุณโด่งดัง'”

อัสตรุด ชิลเบร์ตูก่อนมาขับร้องเพลง “The Girl From Ipanema” ในห้องบันทึกเสียงที่อเมริกา อัสตรุดเคยมีประสบการณ์ร้องเพลงที่คลับบางแห่งกับเหล่านักดนตรีเพื่อนสนิทในประเทศบ้านเกิดมาบ้าง

เธอจึงไม่ค่อยพอใจที่เก็ตส์และโปรดิวเซอร์อัลบั้มชุด “Getz/Gilberto” อย่างเทย์เลอร์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแบบเกินจริงว่า อัสตรุดเป็น “แม่บ้านที่พวกเขาค้นพบ” ราวกับว่าเธอไม่เคยมีประสบการณ์ด้านดนตรีมาก่อน

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เสียงร้องของอัสตรุดกลับมีความพอเหมาะลงตัวกับดนตรีบอสซาโนวาเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนยุคเฟื่องฟูของดนตรีบอสซาโนวา วัฒนธรรมดนตรีบราซิลถูกครอบงำด้วยวิธีการร้องเพลงที่ใช้พลังมหาศาลสไตล์โอเปร่า

สวนทางกับวิธีการร้องเพลงของอัสตรุดที่ใช้ลมเยอะๆ เสมือนเป็นการกระซิบอันแผ่วเบา ไม่เน้นพลัง ไม่เน้นความกว้างของเรนจ์เสียง

นี่นำมาสู่การปฏิวัติที่ “เงียบและน้อย” ของดนตรีบอสซาโนวา เมื่อบุคลิกลักษณะของนักร้องจะถูกลดทอนบทบาทลง เพื่อหลีกทางให้ดนตรีและท่วงทำนองได้เคลื่อนเข้ามาเป็นจุดศูนย์กลางของบทเพลง

ทั้งเพลง “The Girl From Ipanema” และ “Quiet Nights of Quiet Stars” จึงล้วนได้รับการผลักดันขับเคลื่อนด้วยพลังของท่วงนำนองที่ลื่นไหล จังหวะจะโคนแพรวพราว และการเรียบเรียงเสียงประสานอันเหมาะเจาะคล้องจอง คู่ขนานไปกับเสียงร้องกึ่งกระซิบกระซาบของอัสตรุด หรือแม้แต่ท่อนโซโล่แซ็กโซโฟนแค่บางเบาของเก็ตส์

แผ่นเสียงอัลบั้ม That Girl From Ipanemaซิงเกิลเพลง “The Girl From Ipanema” ที่เผยแพร่ในปี 1964 (โดยตัดท่อนร้องภาษาโปรตุเกสของชูเอา ชิลเบร์ตู ออกไป) กลายเป็นเพลงฮิตและประสบความสำเร็จล้นหลามอย่างน่าเหลือเชื่อ

พิสูจน์ด้วยยอดขายซิงเกิลมากกว่า 1 ล้านแผ่น และการได้รับรางวัลแกรมมีสาขาเพลงในการบันทึกเสียงแห่งปี เมื่อ ค.ศ.1965

เพลงเพลงนี้ยังติดอันดับท็อปห้าในยูเอสชาร์ตและท็อปสามสิบของยูเคชาร์ต

จนถึงปัจจุบัน “The Girl From Ipanema” มีสถานะเป็นเพลงป๊อปที่ถูกนำมาบันทึกเสียง (คัฟเวอร์) บ่อยครั้งที่สุดมากเป็นอันดับสอง รองจาก “Yesterday” ของ “เดอะ บีตเทิลส์” และถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์มากกว่า 50 เรื่อง

ส่วนอัลบั้มชุด “Getz/Gilberto” ที่มีเพลงนี้บรรจุอยู่ ก็กลายเป็นผลงานยอดนิยมระดับโลก ทั้งยังกวาดรางวัลแกรมมีไปถึง 3 สาขา รวมทั้งสาขาใหญ่อย่างอัลบั้มแห่งปี ซึ่งถือเป็นอัลบั้มแจ๊ซชุดแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเกียรติยศดังกล่าว

กระนั้นก็ตาม ดูเหมือน “อัสตรุด ชิลเบร์ตู” จะกลายเป็นคนเดียวที่ได้รับดอกผลจากผลงานอันโด่งดังเพลง/ชุดนั้นน้อยที่สุด

มีข้อมูลเปิดเผยว่า ชูเอา ชิลเบร์ตู ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวน 23,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับการร่วมทำงานในอัลบั้ม “Getz/Gilberto”

ส่วนสแตน เก็ตส์ ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากยอดจำหน่ายผลงานเป็นเงินเกือบๆ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผิดกับอัสตรุดที่ได้รับค่าจ้างร้องเพลงเพียง 120 เหรียญ และไม่ปรากฏชื่อเธอบนเครดิตอัลบั้ม

ยิ่งกว่านั้น เมื่อ “The Girl From Ipanema” กอบโกยความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เก็ตส์ยังเข้าไปเรียกร้องกับต้นสังกัดอย่าง “เวิร์ฟ เร็กคอร์ดส์” ให้จัดทำสัญญาที่มีเนื้อหาชัดเจนว่า อัสตรุดจะไม่ได้รับส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์ใดๆ ของบทเพลงเพลงนี้

อัสตรุด ชิลเบร์ตู

ที่น่าเจ็บปวดไม่แพ้กันก็คือ สำหรับสังคมบราซิล “อัสตรุด ชิลเบร์ตู” มักถูกมองเป็นแค่ “ผู้หญิงโชคดี” ที่โด่งดังในชั่วข้ามคืน เพราะดันไปอยู่ถูกที่ ถูกเวลา ร่วมกับบรรดาผู้ชายถูกคน

คนบราซิลจำนวนไม่น้อย แม้กระทั่งนักวิจารณ์เพลง ยังมองอัสตรุดเป็นแค่ภรรยาของ “ชูเอา ชิลเบร์ตู” และหญิงสาวดวงดีที่มีเพลงฮิตเพียงเพลงเดียว

อัสตรุดหย่าร้างกับชูเอาในปี 1964 ซึ่งเป็นช่วงที่เพลง “The Girl from Ipanema” กำลังได้รับความนิยมพอดี โดยสื่อบราซิลต่างประณามหยามเหยียดเธอว่าเป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวของชีวิตครอบครัว ท่ามกลางข่าวลือว่าอัสตรุดมีสัมพันธ์ลับๆ กับสแตน เก็ตส์ ในห้วงที่เธอออกตระเวนทัวร์แสดงดนตรีทั่วสหรัฐกับเก็ตส์และวงดนตรีของเขา

เรื่องที่ไม่น่าเชื่อพอๆ กันคือ แม้จะมีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา แต่อัสตรุดกลับเคยจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่ประเทศบ้านเกิดเพียงแค่ครั้งเดียวในปี 1966 แถมยังโดนคนดูโห่ใส่อีกด้วย

“มาร์เซลู” บุตรชายของอัสตรุดเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ประเทศบราซิลหันหลังให้กับแม่ของเขา” พร้อมตัดพ้อว่า ขณะที่มารดาของตนประสบความสำเร็จในต่างแดน แต่เธอกลับโดนทรยศหักหลังโดยสื่อบ้านเกิด

อย่างไรก็ดี เพลง “The Girl from Ipanema” นั้นทรงคุณค่ากับสังคมบราซิลมากพอ จนถูกนำไปใช้ในพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่รีโอเดจาเนโรเป็นเจ้าภาพ

แม้จะโดนดูถูกดูแคลนและกดขี่ขูดรีดเพียงใด แต่ “อัสตรุด ชิลเบร์ตู” ซึ่งอพยพไปใช้ชีวิตที่อเมริกาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 ก็ถือเป็นนักร้องหญิงผู้ประสบความสำเร็จในทางวิชาชีพคนหนึ่ง

หลังบันทึกเสียงในเพลง “The Girl From Ipanema” เธอก็มีผลงานดนตรีตามมารวมทั้งสิ้น 17 อัลบั้ม จากปี 1964 ถึง 2002 และได้ร่วมงานกับศิลปินฝีมือดีมากมาย

ก่อนจะได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จบนเวทีลาติน แกรมมีส์ ในปี 2008

เธอเคยแสดงทรรศนะไว้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เพลง “The Girl from Ipanema” โด่งดังเป็นพลุแตกในปี 1964 หลังเหตุลอบสังหารประธานาธิบดี “จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ปลายปี 1963” ก็เป็นเพราะ “ผู้คนต้องการเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ เรื่องราวชวนฝัน ที่ทำให้พวกเขาหลีกหนีจากความเป็นจริง” •

ข้อมูลจาก

https://theconversation.com/astrud-gilberto-spread-bossa-nova-to-a-welcoming-world-but-got-little-love-back-in-brazil-207271

https://www.theguardian.com/music/2023/jun/06/astrud-gilberto-bossa-nova-singer-of-the-girl-from-ipanema-dies-aged-83

https://www.nytimes.com/2023/06/06/arts/music/astrud-gilberto-dead.html

| คนมองหนัง