วิวัฒนาการของรองเท้ากีฬา

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

วิวัฒนาการของรองเท้ากีฬา

 

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหน เราจะเห็นผู้คนสวมรองเท้ากีฬายี่ห้อดังกันเต็มไปหมด ทั้งไนกี้ (Nike) อาดิดาส (Adidas) รีบอค (Reebok) คอนเวิร์ส (Converse) หรือ ยีซี่ (Yeezy)

รองเท้ากีฬาเหล่านี้กลายเป็นแฟชั่นพื้นฐานสำหรับคนตั้งแต่รุ่นเด็กไปจนถึงรุ่นผู้ใหญ่ สวมได้ (เกือบ) ทุกโอกาส

และรองเท้ากีฬาดีไซน์พิเศษ มีจำนวนจำกัด หายาก ก็เป็นสิ่งที่ “นักเล่นรองเท้าผ้าใบ” ถวิลหา พร้อมจ่ายในราคาคู่ละเป็นหมื่นจนถึงแสนบาท เพื่อมาไว้ในครอบครองและสวมโชว์ในโอกาสพิเศษ

คำถามคือ รองเท้าที่เคยผลิตมาเพื่อสวมเฉพาะตอนเล่นกีฬากลายมาเป็นรองเท้าแฟชั่นหลักของคนยุคปัจจุบันได้อย่างไร?

 

ธอมัส เทอร์เนอร์ (Thomas Turner) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Sports Shoe : A History from Field to Fashion” (ความเป็นมาของรองเท้ากีฬา จากในสนามสู่ลานแฟชั่น) ได้สืบค้นต้นตอที่ทำให้รองเท้ากีฬาวิวัฒนาการมาเป็นรองเท้าแฟชั่นในปัจจุบัน

ธอมัสบอกว่าต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 (ค.ศ.1801-1900) ในช่วงนั้น ทั้งสหราชอาณาจักร อเมริกา และยุโรป กำลังอยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดสังคมชนชั้นกลางซึ่งมีทั้งเวลาและเงินไว้จับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการเพื่อความบันเทิงยามว่าง

กลุ่มผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสที่จะทำเงินกับชนชั้นกลางเหล่านี้ จึงได้คิดค้นกิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายมาให้กลุ่มชนชั้นกลางโดยเฉพาะ

หนึ่งในนั้นคือลอว์นเทนนิส (Lawn tennis) หรือเกมเทนนิสบนสนามหญ้า เริ่มเล่นครั้งแรกช่วงปี 1859-1865 ในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ จากนั้นช่วงปี 1870 ลอว์นเทนนิสก็เริ่มเผยแพร่นอกอังกฤษ และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วทั้งในยุโรป อเมริกา และประเทศที่พัฒนาแล้ว

การกำเนิดกีฬาลอว์นเทนนิสประจวบเหมาะกับช่วงที่อุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักรและยุโรปกำลังเติบโตกว้างขวาง เกิดการค้นพบยางวัลคาไนซ์ (vulcanized rubber) ที่เป็นการผสมระหว่างกำมะถัน นำไปเผารวมกับยางดิบทำให้เกิดเป็นสารประกอบที่มีคุณสมบัติกันน้ำและหล่อเป็นรูปร่างได้ง่าย

และยางวัลคาไนซ์นี้เองก็นำไปสู่จุดกำเนิดของรองเท้ากีฬา

 

คนเล่นเทนนิสนอกจากต้องมีอุปกรณ์พิเศษทั้งแรคเก็ตและลูกเทนนิสแล้ว รองเท้าก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะคอร์ตเทนนิสเป็นพื้นหญ้าที่ทั้งลื่นและบอบบาง

นี่จึงเป็นโอกาสดีสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่จะคิดค้นผลิตรองเท้าพื้นยางวัลคาไนซ์ออกมาวางขายให้กับชนชั้นกลางที่เล่นเทนนิส

คนเล่นเทนนิสรู้สึกว่ารองเท้าที่ผลิตจากพื้นยางตอบโจทย์ได้ดีเยี่ยม เพราะช่วยให้พวกเขาสามารถเคลื่อนที่บนคอร์ตหญ้าได้โดยไม่ลื่นล้ม และยังช่วยปกป้องไม่ให้พื้นหญ้าเสียหายด้วย

ธอมัสบอกว่าเมื่อเวลาผ่านไปเทนนิสเริ่มกลายเป็นอะไรที่มากกว่าการออกกำลังกายและกิจกรรมยามว่าง เพราะเทนนิสสามารถเล่นได้ทั้งชายและหญิง หนุ่มสาวก็เลยเริ่มใช้การเล่นเทนนิสเชื่อมความสัมพันธ์ เริ่มหันมาสนใจแฟชั่นบนคอร์ตเทนนิส

และสาวๆ เริ่มรู้สึกว่ารองเท้าเทนนิสแบบพื้นเรียบไม่เหมาะกับพวกเธออีกต่อไปแล้ว เพราะช่วงนี้เทรนด์รองเท้าแบบส้นสูงกำลังเริ่มมา

ไม่นานจึงเกิดเป็น “เอล โดราโด” (El Dorado) รองเท้าเทนนิสส้นสูงที่ออกแบบมาเพื่อสาวๆ โดยเฉพาะ ซึ่งก็ได้รับคำวิจารณ์ที่หลากหลาย เพราะแม้หลายคนมองว่ารองเท้าส้นสูงดูตลกและไม่เหมาะจะมาสวมเล่นเทนนิสอย่างยิ่ง

แต่ก็ตอบโจทย์สาวๆ ที่ต้องการสร้างลุคผู้หญิงสวยนำแฟชั่นเวลาอยู่ในคอร์ตเทนนิส

 

ปลายศตวรรษที่ 19 หนุ่มๆ เริ่มหันมาแต่งแฟชั่นสไตล์กีฬา (sporty look) โดยหยิบรองเท้าเทนนิสที่เคยสวมเฉพาะในคอร์ตออกมาสวมเดินในชีวิตประจำวันเพื่อให้ดูเป็นผู้ชายสายกีฬา เพราะช่วงนั้นคนที่เล่นกีฬาดูเท่ในสายตาทุกๆ คน

และเทรนด์ดังกล่าวก็ฮิตมาเรื่อยๆ จนเริ่มขยายการตลาดไปยังกีฬาประเภทอื่นๆ อย่างบาสเกตบอล และวิ่ง

หลายคนสวมรองเท้ากีฬาไปปั่นจักรยาน บางคนก็สวมเดินในชีวิตประจำวัน

ตลาดรองเท้ากีฬาเติบโตอย่างมั่นคงเมื่อมีคนมากมายเริ่มต่อแถวซื้อรองเท้าที่ผ่านการโฆษณา โปรโมตโดยนักกีฬาคนโปรดของพวกเขา

อย่างเช่น รองเท้า Converse All-Stars ที่ได้รับการโปรโมตในช่วงปี 1920 โดย ชัค เทย์เลอร์ (Chuck Taylor) นักบาสเกตบอลและเซลส์แมนชาวอเมริกันผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้รองเท้า Converse All-Stars เป็นที่รู้จักในฐานะรองเท้าเล่นบาสเกตบอล และภายหลังก็เป็นรองเท้าที่นิยมสวมกันในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันจะสังเกตได้ว่ารองเท้าแฟชั่นมีลวดลายและสีสันที่สนุกสนาน สดใส ซึ่งธอมัสบอกว่า การคงดีไซน์แบบวัยรุ่นไว้ช่วยให้รองเท้าแบรนด์ดังๆ ยังได้รับความนิยมมาเรื่อยๆ ซึ่งรองเท้าเหล่านี้ช่วยให้คนสวมรู้สึกมีชีวิตชีวา ดูเป็นวัยรุ่น

 

นอกเหนือจากความสวยงามด้านแฟชั่นและความเป็นวัยรุ่นแล้ว ความเชื่อมโยงกับกีฬาก็ช่วยให้รองเท้าของผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอาดิดาส ไนกี้ พูม่า และอื่นๆ ยังได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นตลอดมา

เพราะนับตั้งแต่ต้นกำเนิดรองเท้าเทนนิสในช่วงปี 1800 บริษัทใหญ่ต่างๆ ก็เริ่มพัฒนาดัดแปลง เสริมใส่เทคโนโลยีแปลกใหม่ให้กับรองเท้ากีฬารุ่นต่างๆ ของตน

รองเท้ากีฬาที่ใช้วัสดุชั้นดี ผลิตด้วยเทคนิคแปลกๆ ก็ยิ่งมีราคาแพงในสายตาของผู้บริโภคก็เลยรู้สึกว่ารองเท้ากีฬามีอะไรมากกว่ารองเท้าทั่วไปที่ทำมาเพื่อแค่ให้สวมใส่สบาย

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนมากจะมองรองเท้ากีฬาว่าเท่และน่าดึงดูดจนกลายเป็นรองเท้าแฟชั่นยอดนิยมในปัจจุบัน

 

ธอมัส เทอร์เนอร์ บอกว่ารองเท้าหนึ่งคู่สามารถสร้างอิทธิพลในการดำเนินชีวิตของเราได้

เขาเล่าว่าช่วงปี 1990 ตอนอายุ 11-12 ปี เขาเห็นเพื่อนที่โรงเรียนบางคนสวมรองเท้ากีฬา Nike Air Max หรือ Nike Air Jordan กัน ซึ่งตอนนั้นรองเท้ากีฬาเหล่านี้ราคาแพงมากและมีคนเป็นเจ้าของกันอยู่ไม่กี่คน

ธอมัสเห็นแล้วก็รู้สึกอยากมีไว้เป็นของตัวเองบ้างสักคู่ แต่ก็ไม่มีเงินซื้อ

ตลอดช่วงวัยรุ่นเขาฝันถึงการได้เป็นเจ้าของรองเท้ากีฬาเหล่านี้ จนพอถึงวัยที่เขามีเงินมีกำลังพอซื้อรองเท้ากีฬาเอง รองเท้ากีฬาแบบที่เขาต้องการกลับเลิกผลิตและกลายเป็นของหายากไปซะแล้ว

ธอมัสคิดว่านักสะสมรองเท้ากีฬาในปัจจุบันหลายคนน่าจะมีประสบการณ์เรื่องราวคล้ายๆ กับเขาเหมือนกัน นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงชอบสะสมรองเท้ากีฬาไว้เต็มบ้าน ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลของตัวเอง บางคนอาจสะสมไว้เลือกสวมในโอกาสที่แตกต่างกัน บางคนอาจสะสมไว้ขายทำกำไรเมื่อบริษัทเลิกผลิตดีไซน์นั้นๆ

และหลายคน สะสมเพื่อสนองความปรารถนาในวัยเด็กที่อยากมีรองเท้ากีฬาเท่ๆ ไว้ครอบครอง…เหมือนอย่างตัวเขาเอง