วิกฤต ‘ครูไม่ทน’ โบกมือลาอาชีพ…โจทย์ใหญ่…ที่รอรัฐบาลใหม่?

เป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวง “นักรบชุดขาว” เมื่อมีหมอ Intern ทยอย “ลาออก” จากราชการ ทำให้ซ้ำเติมปัญหา “ขาดแคลน” หมอ โดยระบุว่าเป็นเพราะงานในระบบที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ บางครั้งต้องดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก จนไม่ได้หลับไม่ได้นอน ทำให้เสียทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ทั้งยังถูกรุ่นพี่เอารัดเอาเปรียบ นอกจากนี้ เงินเดือนยังได้รับล่าช้า

จนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องออกโรงชี้แจงกันยกใหญ่

ขณะที่อาจารย์หมอ และบรรดาหมอรุ่นพี่ ก็ยอมรับว่าสิ่งที่หมอ Intern สะท้อนออกมา เป็นเรื่องจริง แต่ก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของหลายๆ ปัญหาเท่านั้น

เพราะอีกด้านหนึ่ง ตัวหมอรุ่นใหม่เองก็มี “ไลฟ์สไตล์” ที่แตกต่างจากหมอในอดีต ทำให้ถูกมองว่าไม่สู้งาน มีความอดทนน้อย

ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และแก้ทั้งระบบ

 

ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เฉพาะอาชีพหมอเท่านั้น ที่เมื่อมีปัญหาก็ลาออก หรือทิ้งอาชีพ เพราะจากที่ได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นครู หรือแม้แต่ในแวดวงสื่อสารมวลชนเอง ก็พบปัญหาแบบเดียวกัน…

เพราะด้วยความที่คนรุ่นใหม่ จะมีความเป็นตัวเองค่อนข้างสูง มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน คือต้องมีตารางการทำงานที่เป๊ะ ทำงานเป็นเวลา เลิกงานต้องชัดเจน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ ห้ามโทร. ห้ามตามมาทำงาน ต้องมีเวลาส่วนตัว

ถ้ารู้สึกว่าตัวเองทำงานหนัก ไม่มีเวลาส่วนตัว รายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ เงินเดือนไม่ขึ้น ก็พร้อมจะโบกลาทันที

คติประจำใจของคนเจนนี้คือ “ไม่ทน”

ต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ที่พร้อมทำงาน 24 ชั่วโมง อดตาหลับ ขับตานอน มีน้ำอดน้ำทน เอาภาระงานเป็นตัวตั้ง เวลาส่วนตัวมีบ้าง ไม่มีก็ไม่เป็นไร ส่วนรายได้ ถือเป็นปัจจัยรองๆ ลงไป แค่มีกินมีใช้เดือนชนเดือน ก็พอถูๆ ไถๆ ทำไป บ่นไป แต่ก็ยังทำ

คือเป็นรุ่นที่ทั้ง “อยู่ทน” และ “ทนอยู่”!!

 

ปรากฏการณ์ “ครูไม่ทน” ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นครูรุ่นใหม่ ที่อายุราชการยังไม่มาก ทยอยลาออกจากระบบราชการ ไม่น้อยหน้านักรบชุดขาว และเป็นปัญหาที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พยายามแก้ไขมาโดยตลอด รวมถึงการรับสมัครสอบครูผู้ช่วย เพื่อทดแทนครูที่ขาดแคลน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ครูรุ่นใหม่ไม่ทนต่อระบบราชการ เป็นเพราะอะไรนั้น ล่าสุดมีครู 2 รายที่ตัดสินใจลาออก ทั้งๆ อายุราชการยังน้อย ได้โพสต์เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ต้องโบกมือลา

โดยอดีตครูสาวรายแรก โพสต์เล่าหลังลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ถึงสาเหตุของการลาออกจากงานที่มั่นคงว่า

1. หมดเเรง หมดเวลาในแต่ละวัน ไม่มีเวลาได้ใช้ชีวิต เสาร์ อาทิตย์ มาโรงเรียน วนลูปแบบนี้ กับเอกสารที่มากมายก่ายกอง

2. ไม่สามารถสอนในเนื้อหาที่เด็กไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง แต่ใช้เพื่อสอบได้อีกต่อไป

และ 3. ที่สำคัญที่สุดคือ ลูก

นอกจากนี้ ยังเล่าถึงสิ่งที่ “ตกผลึก” ในช่วงที่เป็นครู อาทิ สิ่งที่เคยมีความสุขตอนนั้น ถ้าตอนนี้ไม่ใช่ก็ต้องหยุด หยุดได้ไว เริ่มต้นใหม่ได้ไว, ความมั่นคงสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเรา ไม่เกี่ยวกับอาชีพ ฉะนั้น การบริหารการเงินสำคัญมาก, การบริหารจัดการเวลาสำคัญมาก… ในวันที่เหนื่อย ท้อ งานเยอะ ไม่มีเวลา แต่มีใจ เชื่อเถอะยังไงก็รอด (นอนไม่เกิน 5 ช.ม.ติดต่อกัน 3 ปี เพราะต้องการมีชีวิตในวันนี้), มี mindset ที่ว่า “เงินเดือน” ที่มาจากงานประจำ คือเงินชั่วคราว เมื่อเจองานที่ชอบ ให้ผลตอบแทนที่ใช่ และมีรายได้มากกว่างานประจำเมื่อไหร่ ลาออกทันที, ความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ คือการไม่เริ่มต้น… ฯลฯ

สุดท้ายนี้ อย่าใช้ชีวิตด้วยความกลัว แต่จงใช้ชีวิตด้วยความหวัง ความฝัน แรงบันดาลใจ และชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน…

 

ขณะที่ครูสาวอีกรายใน จ.จันทบุรี ได้ยื่นหนังสือลาออกหลังรับราชการครู 10 ปี ระบุว่า ชีวิตการเป็นครูในปัจจุบัน เหนื่อย และหนักหนามาก, เดิมจันทร์-ศุกร์ กลางวัน และกลางคืน ทำงานโรงเรียน เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดอื่นๆ ทำงานสวน แต่ปัจจุบันงานโรงเรียนได้กลืนกินชีวิตไปเรียบร้อยแล้ว แทบไม่มีเวลาให้กับสวน หรือพักผ่อนเลย เสาร์-อาทิตย์ กลางวัน-กลางคืน ยังนั่งพิมพ์งานแง็กๆ อยู่หน้าคอมพ์ งานโรงเรียนหลอกหลอนทั้งวันทั้งคืน…,

คำว่าพักผ่อนไม่มี เป็นครูก็หนัก ทำสวนก็หนัก ร่างกายและจิตใจเริ่มพังเรื่อยๆ…, ความคิดว่าจะลาออกไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น อยู่ๆ เป้าหมายของชีวิตก็คือการลาออกเฉย เบื่อระบบหลายๆ… เบื่อวิถีของครูที่บ้าการแข่งขัน เพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน เพื่อให้มีผลงาน… หมดงบประมาณกันไปเท่าไหร่ ส่วนตัวมองว่า เรากำลังหลงทางกันรึป่าว สิ่งที่เราควรโฟกัส คือการสอนในห้องต้องมาลำดับ 1 ไม่ใช่งานพิเศษ ไม่ใช่งานอื่น…

สุดท้ายก็ตกตะกอนว่า… การรับราชการครูดีนะ เงินเดือนดีกว่าราชการอื่นๆ มีสวัสดิการ ให้นั่นนี่ แต่สิ่งที่ต้องแลกคือ สุขภาพกาย ใจ เวลา ชีวิต ที่ต้องทุ่ม ณ ตอนนี้เริ่มมองว่ามันไม่คุ้ม… ในอดีตเป้าหมายของชีวิตคือ การเติบโตในชีวิตราชการ

แต่ปัจจุบันความคิดเปลี่ยนไป เป้าหมายของชีวิตคือ การได้ใช้ชีวิต มีสุขภาพกายใจที่ดี และมีเวลากับครอบครัว!!

 

ปัญหาครูทยอยทิ้งอาชีพ เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถาบันการศึกษาทั่วโลก รวมถึงไทย ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนจากออนไซต์ เป็นออนไลน์ ทำให้ครูต้องปรับตัว และแบกภาระงานสอนหนักมากขึ้น

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา กำลังเกิดปัญหาครูที่ตั้งใจทำงาน ทยอยลาออกจากระบบจำนวนมาก สาเหตุสำคัญเกิดจากระบบการทำงาน ที่ไม่คำนึงถึงเป้าหมายของครู ที่ต้องการเน้นเรื่องงานสอน โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เด็กได้รับความรู้ไม่เต็มที่ เกิดปัญหาการเรียนรู้ถดถอย ทำให้ครูหลายคนคาดหวังว่าเมื่อกลับมาเรียนออนไซต์แล้ว จะเร่งเติมเต็มความรู้เพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ระบบราชการกลับดึงครูออกจากงานสอน

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาของ ศธ.โดยเฉพาะหน่วยงานต้นสังกัดอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผศ.อรรถพลเห็นว่า ไม่ควรมองเรื่องการลาออกของครู เป็นเรื่องส่วนบุคคล เหมือนที่ผ่านมา และต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาที่ “ระบบการบริหารจัดการ” ของ สพฐ.ที่โยนโครงการต่างๆ ลงไปที่โรงเรียน เท่ากับผลักให้ครูเหล่านี้ให้ลาออก เพราะ “หมดแพสชั่น” ไม่มีความอยาก หรือกระตือรือร้นที่จะเป็นครูต่อไป

บวกกับครูเจเนอเรชั่นนี้ ตั้งใจสอบเข้ามาเพื่อเป็นครูอย่างแท้จริง แต่ “ระบบ” กลับเป็น “ตัวผลัก” ให้พวกเขาออกจากโรงเรียน จึงตัดสินใจลาออก เพราะไม่จำเป็นต้องทนกับสภาพดังกล่าว เนื่องจากยิ่งอยู่ จะยิ่งหมดความเคารพในตัวเอง…

 

ขณะที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยอมรับว่า ครูทำงานค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เจอความท้าทายหลายเรื่อง นอกจากงานสอน ซึ่ง ศธ.พยายามแก้ปัญหาโดย “คืนครู” กลับสู่ห้องเรียน เพิ่มอัตราธุรการ ภารโรง เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานของครู รวมถึงเร่งสอบครูผู้ช่วย

แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา พร้อมทั้งส่งไม้ต่อให้ “รัฐบาลใหม่” เข้ามาบริหารจัดการ และแก้ปัญหา…

ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่รัฐบาลใหม่ และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ จะต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่สารพัดปัญหาจะมะรุมมะตุ้ม จนกดดันให้ “ครู” ต้องทยอย “ทิ้ง” นักเรียน และอาชีพ!! •