ประชาธิปไตยไทยปีที่ 91 การเมืองไทยจะไปทางไหน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ครบ 1 เดือนเต็มหลังการเลือกตั้งทั่วไป ผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม อย่างไม่เป็นทางการ (เขียนก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ) ออกมาแล้วว่า พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ส่วนพรรคเพื่อไทยที่เคยชนะเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ชนะเป็นอันดับ 2 คนที่ออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกครั้งนี้ประมาณ 40 ล้านคน มากที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีการเลือกตั้งมา

วันแรกหลังการเลือกตั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลประกาศ 8 พรรคการเมืองรวมกันมีที่นั่งในสภา 310 ที่นั่ง พิธายังหวังว่ามีสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 66 เสียงจะยอมรับเจตจำนงของผู้ออกเสียงเลือกตั้งและช่วยให้เขามี 376 เสียง

ผลเลือกตั้งครั้งนี้แสดงว่า พรรคฝ่ายค้าน คือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งที่แตกต่างอย่างสำคัญ เหนือพรรคอนุรักษนิยมและพรรคการเมืองที่ทหารให้การสนับสนุน

พรรคก้าวไกลทำให้หลายฝ่ายตกตะลึง ได้รับชัยชนะได้ที่นั่งมากที่สุด โดยที่โพลก่อนเลือกตั้งคาดการณ์ว่า พรรคเพื่อไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จะชนะอย่างแลนด์สไลด์

หากว่าทั้ง 2 พรรคฝ่ายค้านสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนพรรคก้าวไกลแม้ได้รับความนิยมทางการเมืองจากประชาชนแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้เป็นรัฐบาล

 

คำถามคือ
อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปสำหรับการเมืองไทย

ทั้งหมดนี้เป็นบทวิเคราะห์และความเห็นของ Karen Lee และ Gregory B. Poling นักวิจัยของ Think Tank ด้านยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาที่ทรงพลังและมีชื่อเสียงระดับโลกแห่งสหรัฐอเมริกา Center For Strategic and International Studies-CSIS ที่เขียนบทความเรื่อง 2023 Thailand Election Results : An Opposition Win but Unclear Path Ahead

หรือแปลเป็นไทยว่า ผลการเลือกตั้งประเทศไทย : ฝ่ายค้านชนะ แต่ก้าวไปข้างหน้าไม่ชัดเจน สมดั่งที่ทั้งสองนักวิจัยตั้งคำถามเกริ่นนำไว้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปสำหรับการเมืองไทย

นักวิจัยทั้งสองชี้ให้เห็นแนวทางที่จะเกิดขึ้นได้แก่

1. พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยอาจหาทางลดความแตกต่างของทั้งสองพรรคและร่วมกับพรรคการเมืองเล็กอีก 6 พรรคจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีฉากทัศน์อื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ด้วย

2. พรรคเพื่อไทยสามารถเปลี่ยนสถานะของตัวเองไปเลย แล้วทำตัวเป็นตัวแทนโดยทำดีลกับพรรคภูมิใจไทย พรรคการเมืองที่ทหารสนับสนุน แล้วยังมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งสนับสนุนก็ได้

3. หรือพรรคภูมิใจไทยที่ทหารสนับสนุนร่วมกับพรรคการเมืองที่ครองอำนาจอยู่คือ พรรครวมไทยสร้างชาติที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งสนับสนุน โดยละเลยและไม่สนใจผลการเลือกตั้งที่ชี้ว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่ง และพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับสองไปเลย1

หากเป็นฉากทัศน์ที่ 1 การเมืองไทยอาจก้าวสู่ความวุ่นวายทางการเมือง ด้วยสมาชิกวุฒิสภาสามารถงดออกเสียงและไม่สนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี นำไปสู่ความอับจนทางการเมือง

ในอีกทางหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญสามารถหาทางต่างๆ ไม่ให้ค่าแก่ชัยชนะของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย อันเป็นการทำหมันดุลอำนาจของพรรคการเมืองต่างๆ หรือสามารถตัดสิทธิทางการเมืองพรรคการเมืองต่างๆ เหมือนกับที่ทำกับพรรคอนาคตใหม่ในปี ค.ศ.2020

ผลที่ตามมาอาจเกิดความไม่พอใจจากประชาชนบางกลุ่ม นำไปสู่การประท้วงบนท้องถนน แล้วในไม่ช้า ทหารซึ่งถือไพ่เหนือกว่าสามารถทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งก็ได้

นักวิจัยฝรั่งทั้งสองคนตั้งคำถามถึงความชอบธรรมทางการเมือง ผลจากการเลือกตั้ง ไม่มีค่าอะไรเลยหรือในประเทศไทย

 

ประชาธิปไตยไทยปีที่ 91

งานเขียนวิเคราะห์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ค.ศ.2023 สั้นๆ ชิ้นนี้ อาจดูเหมือนไม่มีอะไรลึกซึ้ง แตกต่าง ด้วยงานเขียนขึ้นหลังการเลือกตั้งเพียงแค่ 2 วัน งานเขียนนี้เผยแพร่เมื่อ16 พฤษภาคม อีกทั้งอาจถูกโต้แย้งว่า ฝรั่ง 2 คนนี้ไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองไทย ด้วยอยู่ห่างไกลถึงสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งทั้งสองคนตั้งคำถามพื้นฐานเรื่อง ความชอบธรรมทางการเมือง พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะครองเสียงข้างมาก แต่มีการฝืนเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ด้วยปาฏิหาริย์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดช่องให้พรรคอนุรักษนิยมของฝ่ายครองอำนาจกลับมาเป็นรัฐบาล แม้ไม่ใช่พรรคเสียงข้างมาก อันเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย (Extralegal)

แล้วการเมืองไทยก็ยังวนเวียนอยู่กับรัฐประหาร แม้ฝรั่งที่อยู่ไกลโพ้นยังมองออกเลยว่า มาอีกแล้ว

นับเป็นตลกร้าย แม้แต่ฝรั่งที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองไทยยังมองออก แล้วตั้งคำถามพื้นฐานที่ไม่มีคนไทยคนไหนตอบได้

ครั้นเมื่อกวาดตาดูข่าวและการวิเคราะห์จากสื่อต่างประเทศ ไม่มีใครทำได้ดีเท่า บทวิคราะห์ของคุณสุทธิชัย หยุ่น2 ซึ่งอ่านและสำรวจสื่อต่างประเทศแทบทุกค่าย สื่อตะวันตกแต่มีสำนักงานอยู่ในไทยและเอเชีย สื่อญี่ปุ่น สื่อจีน สื่อต่างชาติล้วนให้ความสำคัญต่อการเมืองไทยมากขึ้น

 

ฝรั่งงง คนไทยเบื่อหน่าย

สื่อต่างชาติแทบทุกสำนักต่างสรุปว่า การเมืองไทย แปลก แล้วมึนงงมาก ที่พรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

การเมืองไทยตอนนี้ ชัดเจนว่าไม่ชัดเจน การเมืองไทยแบบไม่ปกติยังอยู่คือ ยังมีบทเฉพาะกาล 8 ปีที่ยังคงทำงานอยู่

สื่อต่างชาติถามว่า นี่ประชาชนได้เลือกรัฐบาลไปแล้ว คำถามคือ แล้วประชาชนไปเลือกตั้งทำไม

เขายังถามว่า ทำไมประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทำไมต้องให้สมาชิกวุฒิสภายินยอมจึงแก้รัฐธรรมนูญได้3

 

การเมืองไทยจะไปทางไหน

สื่อต่างชาติแทบทุกสำนักให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาและการเมืองไทยอย่างมาก สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนจับตาดูผลการเลือกตั้งของไทยในประเด็นเหล่านี้

ทุกประเทศกำลังตั้งข้อสงสัยรูปแบบการปกครองว่า ไทยจะมีรูปแบบเหมือนอินโดนีเซีย หรือกัมพูชา หรือสิงคโปร์

หากไปใน ทิศทางอินโดนีเซีย เท่ากับว่าการเมืองไทยก้าวเข้าสู่การปฏิรูปการเมือง เป็นการเมืองเปิด (Open Politics) มากขึ้น

หลายประเทศเห็นว่า อินโดนีเซียคือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกองทัพ ก้าวสู่การจรรโลงกระบวนการประชาธิปไตย (Democratization) ปรับเปลี่ยนจากประเทศเผด็จการทหารที่เข้มข้น ไปสู่ประชาธิปไตยที่ค่อนข้างสมบูรณ์

มีการปฏิรูปกองทัพอันเกิดจากแรงขับเคลื่อนภายในกองทัพและแรงสนับสนุนของนักการเมือง ด้วยเหตุว่า ผู้นำกองทัพยอมรับว่า ทหารไม่มีความรู้และความชำนาญในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การล่มสลายทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 เป็นสิ่งยืนยัน แล้วทหารก็ปล่อยให้นักการเมืองบริหารประเทศ

ส่วนกองทัพกลับไปทำหน้าที่หลักเฉพาะด้านความมั่นคง ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่มีการคุกคามด้านอาวุธจากภายนอก มีภัยก่อการร้าย อาชญากรข้ามชาติ โรคระบาดใหม่ การเผาป่า และหมอกควันข้ามชาติทุกปี

หากการเมืองไทยรับเอา รูปแบบกัมพูชา การเมืองไทยก็จะปกครองด้วยพรรคการเมืองเดียว กัมพูชาปกครองโดยครอบครัวเดียว คือตระกูลฮุน มีการสืบทอดด้วยทายาทการเมืองและบริหารโดยเครือข่ายอำนาจ อนาคตการเมืองขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนของบุคคลไม่กี่คน

เศรษฐกิจผูกขาดโดยครอบครัวเดียวที่ต้องประสานประโยชน์กับต่างชาติโดยเฉพาะจีนที่ขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติของกัมพูชา แล้วเลี้ยงเศรษฐกิจกัมพูชาด้วยการพึ่งพาทางการค้าและการลงทุน ด้วยความช่วยเหลือและหนี้สินมากเมื่อเทียบกับจีดีพีกัมพูชา

แลกกับประโยชน์ทางการเมืองของกัมพูชาในอาเซียนโดยเฉพาะ เสียงกัมพูชาหนุนจีนต่อประเด็นทะเลจีนใต้

โชคร้ายของคนกัมพูชา กลุ่มทุนจีนสีเทากัดแทะเศรษฐกิจ เปิดบ่อนกาสิโน บ่อนออนไลน์ ฟอกเงิน ค้ามนุษย์ ธุรกิจอุ้มบุญ ค้ายาเสพติด องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

หากไทยทะเยอทะยานก้าวสู่ สิงคโปร์โมเดล ซึ่งปกครองด้วยพรรคเดียวนับตั้งแต่สิงคโปร์เป็นเอกราช แต่จีนแคะประกอบสร้างสิงคโปร์อย่างซับซ้อน เปลี่ยน City State เป็นฮับผู้ค้าน้ำมัน ศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางบริษัทเทคโนโลยี แหล่งพักเงินร้อนของผู้ร้าย เผด็จการจากหลายประเทศ ประชาธิปไตยจำแลงที่แบ่งแยกเชื้อชาติช่วยให้ชาติตะวันตกพอรับได้เมื่อเศรษฐกิจสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง เสือแห่งเอเชีย (Asian Tiger) และเป็นพันธมิตรทางการเมืองและการทหารกับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก

การเมืองไทยลอกเลียนแบบสิงคโปร์โมเดล ได้ยาก แล้วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมากด้วยพลังโลกาภิวัตน์ ดิจิทัลไลเซชั่น ที่ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียและสิงคโปร์ต่างก็ปรับเปลี่ยนตามกระแสนี้ มีการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ลงทุนเทคโนโลยีอย่างมหาศาล สลายทุนนิยมพวกพ้อง (Cronyism Capitalism) ขจัดคอร์รัปชั่น สลายการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปกองทัพ เปิดกว้างความคิด ยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ

น่าเศร้านัก สัญญาณการเลือกตั้งในไทยย้ำให้เห็น กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ดิจิทัลไลเซชั่น คนรุ่นใหม่ สื่อโซเชียล แต่ปีที่ 91 ของประชาธิปไตยไทย เสียงเรียกรัฐประหารดังก้องกว่าเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง นิติสงคราม ขบวนการคลั่งชาติ หล่อเลี้ยงพลังอนุรักษนิยมแต่กัดกร่อนประชาธิปไตยไทยให้กลับไปสู่อำนาจนิยมและทหารนิยม

ความตื้นเขินของสื่อต่างประเทศฉายภาพอัปลักษณ์ของประชาธิปไตยไทยปีที่ 91 ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อนเลย

 


1Karen Lee and Gregory B. Poling, “2023 Thailand Election Result : An Opposition Win but Unclear Path Ahead” Southeast Asia 2023, Center For Strategic and International Studies, 2023.

2“ต่างชาติมองการเมืองไทยช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างไร?” Suthichai Live 11-12-66

3เพิ่งอ้าง