‘บิ๊กเอลนีโญ’ ร้อนขึ้น ร้อนนาน ร้อนยืดเยื้อ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

หลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะแล้ง ฝนทิ้งช่วงทั้งที่ย่างเข้าสู่ฤดูฝนมาเกือบจะหนึ่งเดือนแล้ว

นี่เป็นสัญญาณชัดเจนว่าปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ทำงานแล้วจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น อากาศร้อนจัด เกิดภาวะแห้งแล้งยืดเยื้อกินเวลานานกว่าปกติ

คุณชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เคยแถลงไว้ว่า ฤดูฝนปีนี้มาช้ากว่าปกติเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร หรือปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” และความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้

“ฝนปีนี้จะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติราวร้อยละ 5 ช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง อาจทำให้หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ส่วนเดือนสิงหาคมและกันยายน ฝนจะตกชุกหนาแน่นที่สุด”

คุณชมภารีคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม

 

เมื่อไม่กี่วันก่อน มีข่าวยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐว่า “เอลนีโญ” เกิดแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเป็น “บิ๊กเอลนีโญ” (Big El Nino) มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศอย่างมาก อาจทำให้ปีหน้าอุณหภูมิผิวโลกร้อนสุดๆ ทะลุเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ย้อนไปดูสถิติเมื่อปี 2559 เกิด “เอลนีโญ” ครั้งใหญ่มีพลังแรงมากเพราะทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงรุนแรง อุณหภูมิพุ่งสูง ทำให้ปีนั้นอากาศร้อนที่สุดทำลายสถิติโลก

มาปีนี้ สัญญาณบ่งบอกว่า “เอลนีโญ” มาแรงถึงขั้นสู่ระดับ “บิ๊ก” นั่นคือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเมื่อต้นเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 0.8 องศาเซลเซียส

ปกติแล้ว ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันตลอดช่วงเวลา 3 เดือน แนวโน้มเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ค่อนข้างชัด และหากอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า “เอลนีโญ” รุนแรงกว่าคราวก่อนๆ

หากเกิด “บิ๊กเอลนีโญ” จริง พื้นที่ในภูมิภาคออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกาและเอเชียซึ่งรวมประเทศไทยด้วย จะมีภาวะแล้งจัดร้อนจัด ส่วนพื้นที่ทางใต้ของสหรัฐอเมริกาจะมีฝนตกหนักในฤดูหนาว

 

ทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” จะส่งผลกระทบต่อชาวโลกไม่เพียงแค่อากาศร้อนแล้งเท่านั้น แต่ยังมีผลกับเศรษฐกิจโลก อาหารขาดแคลน ผลผลิตตกต่ำ เกิดภาวะอดอยากและโรคระบาด

องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ ประมวลผลการเกิดเอลนีโญเมื่อปี 2559 ทำให้เกิดภาวะอดหยากในทวีปแอฟริกา ผู้คนกว่า 60 ล้านคนขาดแคลนน้ำและอาหาร เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเวสต์ไนน์ที่มียุงเป็นพาหะในสหรัฐอเมริกา บริเวณรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐแอริโซนา รัฐโคโลราโด ยูทาห์และเท็กซัสเพิ่มขึ้น 2.5-2.8 เปอร์เซ็นต์

เมื่อย้อนกลับไปดูปรากฏการณ์เอลนีโญพ่นพิษเมื่อปี 2540 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัว ประเมินมูลค่าความเสียหายทั่วโลกกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีผู้เสียชีวิตราว 23,000 คนจากเหตุพายุและน้ำท่วม

พายุไต้ฝุ่นระดับซูเปอร์เกิดขึ้นในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกช่วงปี 2540 มีมากถึง 11 ลูก ส่วนในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เกิดพายุไซโคลน 16 ลูก

 

สํานักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลายประเทศเตรียมแผนรับมือ “เอลนีโญ” ปีนี้เพราะคาดว่าจะมีความรุนแรงกว่าในอดีต

เศรษฐกิจโลกจะมีผลกระทบอย่างแน่นอนประเมินเบื้องต้นว่า อาจจะหดตัวลงเกิดความสูญเสียราว 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

รัฐบาลเปรูเพิ่งจัดงบประมาณ 1,060 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากเอลนีโญ โดยเฉพาะพายุฝนและน้ำท่วมเพราะเห็นสัญญาณร้ายจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า “เอลนีโญ” มีจุดเริ่มต้นจากกระแสน้ำอุ่นที่ไหลเลียบชายฝั่งประเทศเปรูลงทางใต้ทุกๆ 2-3 ปี การที่ตั้งชื่อว่า “เอลนีโญ” บุตรพระคริสต์เนื่องจากน้ำอุ่นปรากฏในแนวชายฝั่งเปรูเป็นฤดูๆ เริ่มประมาณช่วงเทศกาลคริสต์มาส

เมื่อน้ำอุ่นไหลเข้าแทนที่น้ำเย็นราวๆ 2-3 เดือน ขณะเดียวกันลมสินค้าตะวันออกซึ่งพัดปกคลุมเป็นประจำ พัดพาผิวน้ำทะเลอุ่นจากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกไปสะสมทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้สภาพภูมิอากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีความชื้นเนื่องจากเกิดการระเหยของน้ำทะเลและก่อตัวของเมฆฝนบริเวณภูมิภาคเอเซียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้

อุณหภูมิของน้ำทะเลในชายฝั่งเปรูเพิ่มขึ้นผิดปกติมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมแล้ว และคาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุร้ายครั้งใหญ่ในช่วงปีนี้

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในน้ำทะเลมีผลต่อการประมงของเปรูอย่างมากเพราะฝูงปลาจะว่ายหนีกระแสน้ำอุ่นไปอยู่ในฝั่งทะเลที่อุณหภูมิเย็นกว่า

เมื่อครั้งเกิดเอลนีโญในปี 2559-2560 เศรษฐกิจเปรูเสียหายกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มีผู้เสียชีวิต 162 คน

 

นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐประเมินว่า เอลนีโญคราวนี้จะส่งผลให้ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเกิดพายุเฮอร์ริเคนไม่มากนัก แต่ในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกจะมีพายุไซโคลนหนักหน่วงเนื่องจากกระแสลมที่เปลี่ยน

พื้นที่ในทวีปอเมริกาใต้จะมีฝนตกหนัก แต่ในบางพื้นที่เช่นป่าแอมะซอนจะแห้งแล้ง

ถ้าเกิดเอลนีโญในพื้นที่ทวีปออสเตรเลีย อากาศร้อนจัดและเกิดไฟป่า

เมื่อไม่กี่วันก่อน กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าของออสเตรเลีย ประเมินสถานการณ์ “เอลนีโญ” จะรุนแรงกระทบต่อภาคพลังงาน โดยเฉพาะกระแสไฟฟ้าจะมีความต้องการสูงขึ้นเนื่องจากอากาศร้อนจัด

ในบ้านเรา ได้ข่าวว่ารัฐบาลรักษาการชุดนี้ เตรียมแผนรับมือ “เอลนีโญ” ไว้แล้วเช่นกัน แต่ดูเหมือนเป็นข่าวเล็กๆ แทรกอยู่ในสื่อหลักไม่กี่ฉบับ •