ช่วงเวลาธุรกิจอิทธิพล (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

อีกรายสำคัญ ขอกล่าวถึงอย่างเจาะจง ด้วยบางดัชนีชี้ว่า เป็นช่วงทศวรรษแห่งการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ในสังคมไทย

อ้างอิงข้อมูลพอให้ภาพข้างต้น (Forbes-www.forbes.com) เมื่อไม่นานมานี้ เปิดโฉมจัดอันดับผู้มั่งคั่งระดับโลกครั้งล่าสุด (BILLIONAIRES 2023-The Richest in 2023) โดยพิจารณาเฉพาะ 150 อันดับแรก ปรากฏว่ามีคนไทยติดโผถึง 3 คน เป็นที่แน่นอน คาดกันอยู่แล้ว และเป็นเช่นนั้นติดต่อกันมาหลายปี ผู้อยู่ในอันดับหนึ่งของไทย คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่ง เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี

เมื่อพิจารณาเป็น timeline พบว่า ความมั่งคั่ง (net worth) ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีมานี้

จากปี 2017 (พ.ศ.2560) ความมั่งคั่งอยู่ในระดับ 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 300,000 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ถัดมาอีก 5 ปี (2022 หรือ พ.ศ.2565) พุ่งขึ้นเกือบเท่าตัว สู่ระดับ 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 600,000 ล้านบาท แม้ปีล่าสุด (2023) ลดลงไปบ้าง คงระดับ 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวม (เท่าที่ Forbes มีข้อมูล ช่วงระหว่าง 2014-2023) ทิศทางดูเพิ่มขึ้น

อีกดัชนีซึ่งสัมพันธ์กัน มองผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซีพีให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นไทยมากขึ้นๆ ธุรกิจหลักสำคัญๆ ล้วนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้น

ปัจจุบันถือว่าเป็นกิจการที่มีอิทธิพล มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยพอสมควร

ทั้งนี้ ทั้ง 4 บริษัท (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) มีมูลค่าตามราคาตลาด หรือ Market Capitalization (มิถุนายน 2566) รวมกันราว 1.4 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนถึงประมาณ 7% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาในตลาดหุ้นไทย

ว่าด้วยรายได้ทั้ง 4 บริษัท (ตามงบการเงิน ณ สิ้นปี 2565) มียอดรวมกันถึงมากกว่า 2 ล้านล้านบาท เป็นอัตราการเติบโตค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

หากเทียบเคียงกับบริบทสังคมไทยอย่างกว้างๆ อาจถือได้ว่าเป็นอีกยุคหนึ่ง ซีพีมีความสัมพันธ์กับรัฐค่อนข้างมาก ผ่านกลไกและกติกาที่เกี่ยวข้องอย่างเจาะจง ความเป็นไปอยู่ในช่วงรัฐบาลชุดเดียวกัน ชุดที่มีความต่อเนื่องอีกยุคหนึ่ง อันเป็นผลพวงจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด (2557) เป็นอีกยุคซึ่งมีทหารเป็นผู้นำรัฐต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กว่า 8 ปีแล้ว

 

ว่าไปแล้ว ซีพีกับแผนการการปรับตัวครั้งใหญ่ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ให้ความสำคัญโฟกัสสังคมไทยเป็นพิเศษ ในฐานะฐานเครือข่ายธุรกิจใหญ่

ในช่วงเวลาเดียวกัน จีนแผ่นดินใหญ่กำลังพลิกโฉมทางเศรษฐกิจ ด้วยการปรากฏขึ้นธุรกิจใหม่ท้องถิ่นอย่างหลากหลาย ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว

ซีพีกับเครือข่ายธุรกิจรากฐานสำคัญอีกแห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ เผชิญแรงกดดันมากขึ้น ท่ามกลางภาวะการแข่งจันทางธุรกิจที่เข้มข้นขึ้น

ซีพีเปิดฉากครั้งใหม่ ด้วยธุรกิจครบวงจรรากฐานดั้งเดิม ให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เป็นบริษัทแกนในโมเดลใหม่ หลอมรวมธุรกิจ เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยแผนการให้ความสำคัญที่ปลายทางของวงจรธุรกิจ ขยายการผลิตอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ สร้างเครือข่ายการค้าปลีกอาหาร (Food Retail Chain) พัฒนาสินค้าอาหารบรรจุหีบห่อภายใต้ brand ของตนเอง

จากภาพธุรกิจการค้าครบวงจร ขยับขยายเป็นผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง เป็นกระบวนการขนานใหญ่

ตามมาด้วยแผนการใหญ่ มีหมุดหมายสำคัญในปี 2554 CPF ได้ซื้อหุ้นใหญ่ของ C.P.Pokphand หรือ CPP บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เพื่อผนวกธุรกิจหลักของ CPP อยู่ในประเทศจีน และเวียดนาม เข้ามาอยู่ในเครือข่าย CPF ประเทศไทย ขณะเดียวกันเป็นการเปิดโฉมธุรกิจอย่างเป็นจริงมากขึ้น แสดงฐานะสะท้อนความยิ่งใหญ่ธุรกิจพื้นฐานดั้งเดิมของซีพีให้สาธารณชนได้รับรู้

ด้วยเชื่อว่า CPF ธุรกิจอาหารระดับภูมิภาค-ระดับโลก ฐานอันแข็งแกร่งของซีพี มีรากเหง้ามั่นคงในสังคมไทย ให้ภาพดูดีมีค่าในยุคปัจจุบัน

แตกต่างไปจากธุรกิจครบวงจรประสานในแนวตั้ง (vertical integration) ที่น่าเกรงกลัวอย่างในอดีต

 

จากนั้น ซีพีได้สร้างธุรกิจหลักใหม่ๆ อย่างจริงจัง เริ่มจากแผนการผนวก ควบคุมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง เป็นไปอย่างโลดโผน เป็นภาพต่อเนื่อง จนเป็นผู้นำค้าปลีกในไทยอย่างแท้จริง

จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL กิจการหลักธุรกิจค้าปลีก โมเดลหนึ่ง ซึ่งค่อยๆ ก่อร่างสร้างกิจการมาราวหนึ่งทศวรรษ ภายใต้ระบบแฟรนไชส์ ใช้จังหวะช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกโมเดลร้านสะดวกซื้ออย่างเบ็ดเสร็จ

ก้าวสำคัญมีขึ้นช่วงปี 2556 เมื่อเข้าซื้อกิจการเครือข่ายค้าส่ง Makro ในประเทศไทย เป็นภาพใหม่ธุรกิจหลอมรวมค้าปลีกกับค้าส่ง ซีพีมีบทบาทเป็นผู้นำทรงพลังยิ่งขึ้น เมื่อปี 2563 ได้ซื้อกิจการเครือข่าย Tesco ในประเทศไทย แม้แผนการผนึกพลังค้าปลีกครั้งใหญ่ จะเผชิญกระแสต้านพอสมควร แต่ในที่สุดซีพีสามารถผ่านด่านสำคัญ (หน่วยงานกำกับของรัฐ) นั้นไปได้

“ภาพใหญ่เครือข่ายค้าปลีกในสังคมไทย เป็นธุรกิจใหญ่ มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น เป็นธุรกิจเดียวก็ว่าได้ อยู่ในกำมือของธุรกิจไทยอย่างเบ็ดเสร็จ อยู่ภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหญ่ไทยไม่กี่ราย เมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจอิทธิพลอื่นๆ ไม่ว่าธุรกิจการเงิน ธนาคาร หรือแม้กระทั่งธุรกิจสื่อสาร โดยเฉพาะเครือข่ายซีพีที่มีลักษณะเฉพาะ ดูมีพลังเป็นพิเศษ” อย่างที่ผมเคยว่าไว้ ให้ภาพผู้นำธุรกิจค้าปลีกอย่างครอบคลุม ด้วยเครือข่ายจำนวนมาก ลงลึกถึงระดับชุมชน ทั้งร้านสะดวกชื้อ (มากกว่า 12,000 สาขา) ซูเปอร์มาร์เก็ต (เกือบ 200 แห่ง) และร้านค้าส่งหลายรูปแบบ (ราว 350 แห่ง)

 

ซีพีเดินหน้าไปอีก โดยไม่หยุดยั้ง ไปยังธุรกิจหลักที่สาม ตามแผนการควบรวมกิจการสื่อสารไทยครั้งสำคัญ

เป็นไปตามจังหวะ เริ่มต้นอย่างครึกโครมในปี 2564 ด้วยเปิดแผนการควบรวมกิจการธุรกิจสื่อสารไร้สายครั้งใหญ่ครั้งแรกๆ ในสังคมไทย ระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

ใช้เวลาอีกพอสมควร เพื่อฝ่าข้ามแรงกดดันจากสาธารณชน โดยเฉพาะเครือข่ายผู้บริโภค ผ่านขั้นตอนสำคัญ (2565) ให้หน่วยงานรัฐซึ่งกำกับและเกี่ยวข้องเปิดไฟเขียวให้

ในที่สุด TRUE หนึ่งในธุรกิจหลักของซีพี ซึ่งผ่านอุปสรรคมากมายในช่วง 3 ทศวรรษสามารถก้าวตามรอย CPF และ CPALL ในฐานะผู้นำธุรกิจสื่อสารอย่างแท้จริงในสังคมไทย

กิจการใหม่คงอยู่ในนาม TRUE ในฐานะผู้นำใหม่เครือข่ายสื่อสารไร้สาย และผู้ครอบครองเครือข่ายดิจิทัลมากที่สุดในประเทศ “…ดูแลผู้ใช้งานมือถือทั้งสองแบรนด์ในวันนี้ คือ True Move H 33.8 ล้าน และ DTAC 21.2 ล้านเลขหมาย พร้อมผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ True Vision 3.2 ล้าน” ถ้อยแถลงทางการ (มีนาคม 2566) ให้ภาพการขยับฐานะผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายจากเคยอยู่ในอันดับ 2 ให้ก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่ง (พิจารณาจากจำนวนผู้ใช้) อย่างทันใจ

นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ คาบเกี่ยวกับ ซีพีก้าวข้ามศตวรรษ และกำลังเปลี่ยนผ่านผู้นำแห่งยุคสมัย (ธนินท์ เจียรวนนท์) เครือข่ายธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพล ขยับตัวสร้างแรงกระเพื่อมโครงสร้างธุรกิจไทย เพื่อสถาปนาเครือข่ายธุรกิจหลักใหม่ของตนเป็นจริงเป็นจัง

เชื่อว่า นอกจากมีปัจจัยอ้างอิงบริบททางสังคมแล้ว ยังเชื่อมโยงกับประสบการณ์และความสามารถในการปรับตัวทางธุรกิจ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com