เกิดมาเป็นนายกฯ (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

เกิดมาเป็นนายกฯ (จบ)

 

ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในมิติความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างระบอบประชาธิปไตยรัฐสภากับสถาบันกษัตริย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ช่วยขยับขยายกรอบเกณฑ์มุมมองต่อการเมืองการปกครองไทยหลัง 2475 ให้กว้างขวางพิสดารออกไป

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรอบสิบกว่าปีหลังที่ผ่านมาประกอบ

กล่าวคือ การเมืองไทยหลัง 2475 ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความแตกต่างขัดแย้งสลับกันไปมาระหว่างระบอบประชาธิปไตย กับ ระบอบเผด็จการ เท่านั้น – มันเป็นอันนั้นด้วย แต่ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีเรื่องอื่น

เรื่องอื่นที่ว่ามีต้นตอบ่อเกิดจากการประนีประนอมครั้งประวัติศาสตร์ (historic compromise) ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่คณะราษฎรโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) เดิมลง แต่ยังคงเลือกธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ต่อไปในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) โดยไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ (republic)

ดังสะท้อนออกเชิงหลักการในมาตรา 2 (หรือมาตรา 3 ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแทบทุกฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 ว่า :

“มาตรา 3 อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” (เน้นโดยผู้เขียน https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php)

จะเห็นได้ว่าในมาตรา 3 ข้างต้น มีองค์ประธานสำคัญอยู่ 2 องค์คู่กันคือ “ปวงชนชาวไทย” และ “พระมหากษัตริย์”

จึงทำให้เกิดเป็นข้อสะท้อนย้อนคิดทางวิชาการรัฐศาสตร์และกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ว่าตกลงกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว อำนาจอธิปไตยสถิตอยู่ที่ไหน? “ปวงชนชาวไทย” หรือ “พระมหากษัตริย์” กันแน่?

ความคลุมเครือเชิงหลักการแต่ต้นที่ว่าได้นำไปสู่ความแตกต่างขัดแย้งกันทางการเมืองในรอบสิบกว่าปีหลังมานี้

ระหว่างกลุ่มพลังการเมืองฝ่ายหนึ่งที่เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยควรเป็นของสถาบันกษัตริย์ (royal sovereignty) อำนาจจึงพึงตกอยู่กับสถาบันอำมาตย์/ราชการและเครือข่ายผู้จงรักภักดี (non-majoritarian/ bureaucratic institutions & monarchical network) และดังนั้น การเมืองการปกครองก็จะมีลักษณะโน้มไปในทางที่อาจเรียกได้ว่าเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ (virtual absolutism)

กับกลุ่มพลังการเมืองอีกฝ่ายที่ยึดถือว่าอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน (popular sovereignty) อำนาจจึงควรอยู่กับสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนและเครือข่ายภาคประชาชน (elected majoritarian institutions & people sector network)

และดังนั้น การเมืองการปกครองก็จะมีลักษณะโน้มไปในทางที่ วอลเตอร์ แบเจต (Walter Bagehot, 1826-1877, นักเขียนนักหนังสือพิมพ์อังกฤษชื่อดังแห่งนิตยสาร The Economist) เรียกขานไว้ในงานคลาสสิคเกี่ยวกับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษเรื่อง The English Constitution (1867) ว่า disguised republic หรือ สาธารณรัฐจำแลง

(ดูแผนภูมิด้านบนประกอบและรายละเอียดข้อถกเถียงและหลักฐานอ้างอิงใน เกษียร เตชะพีระ, “สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ : สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย”, ฟ้าเดียวกัน, 19 : 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564), 9-31.

 

จากกรอบเกณฑ์การมอง 2 มิติที่ว่านี้ (ประชาธิปไตย <–> เผด็จการ + สาธารณรัฐจำแลง <–> เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์) ก็จะทำให้เห็นบุคลิกลักษณะของช่วงระเบียบการเมืองการปกครองต่างๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลัง 2475 ได้งอกเงยและหลายหลากแง่มุมไปกว่าเดิม อาทิ :

ระบอบทักษิณ (2544-2549 ซ้ายบนในแผนภูมิ) เป็นระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่เน้นอำนาจเป็นของประชาชนและพรรคการเมืองรวมทั้งผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง จนถูกมองว่าเป็นระบอบ “ประธานาธิบดี” (ตามคำวิเคราะห์วิจารณ์ของคุณจรัญ ภักดีธนากุล รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารของ คปค.ปี 2549 อ้างใน เกษียร, น.12-13)

ระบอบสฤษดิ์-ถนอม (2501-2516 ซ้ายล่างในแผนภูมิ) เป็นระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ที่ธำรงเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ไว้เป็นหลักความชอบธรรมเฉกเช่นรูปเทพารักษ์ ทว่า รวมศูนย์อำนาจจริงไว้ที่ตัวคณะผู้เผด็จการเอง (ตามบทวิเคราะห์วิจารณ์ตรงกันของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ และศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน อ้างใน เกษียร, น.24)

การเมืองไทยหลัง 14 ตุลาคม (2516-2517 ขวาบนในแผนภูมิ) หลังขบวนการนักศึกษาประชาชนลุกฮือโค่นเผด็จการทหารสำเร็จ เกิดสุญญากาศทางอำนาจ ภาวะบ้านเมืองระส่ำระสาย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงร่วมกับนายกรัฐมนตรีพระราชทาน สัญญา ธรรมศักดิ์ สถาปนาระเบียบอำนาจใหม่ขึ้นเพื่อปูทางสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ด้วยการแต่งตั้งและเรียกประชุมสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2516 จำนวน 2,347 คน และคัดเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 299 คนมาทำหน้าที่นิติบัญญัติและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะรัฐมนตรีจัดทำเสนอจนสำเร็จในปี 2517

(ดูข้อมูลข้อวิเคราะห์โดยพิสดารใน อิทธิพล โคตะมี, “‘สภาสนามม้า’ และข้อถกเถียงของผู้กุมอำนาจ หลังเหตุการณ์ ’14 ตุลา 2516?”, waymagazine, 14 ตุลาคม 2019, https://waymagazine.org/racecourse-council/)

ระบอบประยุทธ์ (2557-ปัจจุบัน ขวาล่างในแผนภูมิ) คือระบอบเผด็จการทหารที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารของ คสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี

ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการธำรงรักษาและเสริมสร้างพระบารมีและพระราชอำนาจด้านต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลให้เข้มแข็งมั่นคงเป็นอเนกประการ

(ดูตอนที่เกี่ยวข้องใน ปวงชน อุนจะนำ, ทุนนิยมเจ้า : ชนชั้น ความมั่งคั่ง และสถาบันกษัตริย์ ในประเทศไทย, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2565; Supalak Ganjanakhundee, A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X, 2022)

 

พร้อมกันนั้นก็ได้ชะลอเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับชาติและระดับท้องถิ่นออกไปจนถึงปี 2562 อีกทั้งจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งมีมาตรากลไกจำกัดอำนาจเสียงข้างมากของผู้แทนฯ จากการเลือกตั้งของประชาชน เช่น ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในบทเฉพาะกาล และกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกำกับควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินล่วงเลยไปในอนาคตของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เป็นต้น โดยผ่านประชามติที่รัฐบาลจัดขึ้นอย่างไม่เสรีและไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เห็นต่าง จนไม่สมนาม “ประชามติ”

(หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559”, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต การเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)