หัวหิน และรถไฟ : การพักผ่อนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

หัวหิน และรถไฟ

: การพักผ่อนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

“เรื่องของการไปตากอากาศของคนไทยในยุคก่อนโน้นจะทำได้แต่เฉพาะคนที่มีอันจะกินเท่านั้น ครั้นมาภายหลัง โรคทนอากาศร้อนในกรุงไม่ได้นี้ ชักเริ่มแผ่กระจายมายังคนกระเป๋าแฟบๆ ได้อย่างแปลกประหลาด…”

(เหม เวชกร, 2556, 143)

คติการใช้ชีวิตในสมัยจารีต

 

ด้วยคติแบบพุทธศาสนาที่เน้นชีวิตในโลกหน้ามากกว่าชีวิตโลกนี้

ดังมองว่า ชีวิตนี้มิใช่ความสุขที่แท้จริง ดังนั้น ความสำนึกต่อชีวิตของผู้คนในสังคมจารีตจึงมองว่า ชีวิตในโลกนี้เป็นทุกข์ ต่างจึงบำเพ็ญเพื่อชีวิตในโลกหน้า ชีวิตในโลกจึงมิใช่ความเที่ยงแท้ เป็นเพียงการชดใช้กรรมแต่ชาติปางก่อน

ด้วยการปกครองสมัยจารีตเป็นราชาธิปไตย กิจกรรมสำคัญในสังคมจารีตจึงมีแต่พระราชพิธี การบูรณปฏิสังขรณ์วัด การทำสงคราม มิได้เน้นเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจให้กับชีวิต และด้วยการปกครองแบบจารีตทำให้ชีวิตของเหล่าไพร่พบเจอแต่การเกณฑ์แรงงาน ทำงานหนัก หรือไม่ก็ต้องไปสงครามที่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งในสนามรบ

ลาลูแบร์บันทึกว่า ชีวิตพวกไพร่เมื่อครั้งอยุธยาว่า เมื่อพวกเขาพ้นจากการเกณฑ์แรงงานก็กิน เล่นการพนัน แล้วก็นอน

ส่วนกิจวัตรประจำวันของชนชั้นปกครอง เริ่มจากการตื่นบรรทม เสวย ว่าราชการ บูชาพระ กิจการฝ่ายใน ฟังดนตรี เบิกเสภา บ้างฟังนิยาย บางพระองค์ก็สร้างสวนในวังประพาสเรือเล่นในวัง (วีรยุทธ์ ศรีสุวรรณกิจ, 2549, 15-21)

ไพร่ “แค่มีเวลาพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนบ้าน” ก็ดีใจแล้ว

พระปกเกล้าฯ เมื่อครั้งประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน

ในทรรศนะของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 เขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานหนักของเหล่าสามัญชนที่เขาพบเห็นว่า

“…พวกคนชั้นต่ำในกรุงสยามนั้นไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย และโชคดีที่จนเกินกว่าที่จะไปทดลองทำสิ่งที่พวกคนร่ำรวยทำกัน พวกคนรับใช้ก็ยุ่งอยู่กับการรับใช้เจ้านาย คนพายเรือก็จะทำงานกันตั้งแต่เช้าจดค่ำ และก็ดีใจมากแล้วที่ยังพอมีเวลาได้พูดคุยกับครอบครัวของตนเองและเพื่อนบ้านด้วย มีเวลาไปถอนขนไก่อะไรแบบนี้…” (silpa-mag.com/article65493)

เมื่อสังคมไทยเปิดรับอารยธรรมตะวันตก เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ เริ่มเกิดการทำงานแบบสำนักงาน กระทรวง วิถีชีวิตเริ่มเข้าสู่การทำงานตามเวลาที่แตกต่างไปจากวิถีการผลิตในสังคมการเกษตรที่การทำงานเป็นไปตามฤดูกาล

ในรัฐสมัยใหม่เริ่มมีการแยกพื้นที่การทำงานออกจากพื้นที่ส่วนตัว แยกที่ทำงานออกจากบ้าน นับแต่มีการจัดตั้งกระทรวงและกรม ข้าราชการต้องทำงานที่กระทรวง เสนาบดีส่วนใหญ่ต้องไปทำงานที่กระทรวงแทนที่ว่าราชการที่บ้านพักแบบเดิม รวมทั้งคติการตากอากาศเริ่มเข้ามาสู่สังคมไทยในสมัยพระจอมเกล้าฯ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรง (วีรยุทธ์, 55)

สถานที่พักตากอากาศสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์

พระรามราชนิเวศน์

คติการตากอากาศในความหมายการพักผ่อน พักฟื้นจากความเจ็บป่วยหรือป้องกันความเจ็บป่วยเป็นคติใหม่ในสังคมไทยที่มาพร้อมกับชาวตะวันตกและการแพทย์สมัยใหม่ สถานที่ตากอากาศสมัยนั้นมีจำกัดและเป็นสถานที่สำหรับชนชั้นสูง เช่น ศรีราชา เกาะสีชัง เขาวัง ต่อมา เกิดชะอำ และหัวหินขึ้น ตามลำดับ ((ปิ่นเพชร จำปา, 2545, 77-89)

พาหนะของการไปตากอากาศของชนชั้นนำในสมัยใหม่ครั้งนั้น เช่น เรือกลไฟ รถยนต์ ต่อมามีการสร้างทางรถไฟสายใต้ ส่งผลให้สถานที่ตากอากาศเริ่มเปลี่ยนไปยังชายทะเลทางใต้มากขึ้น

ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราชประสงค์สร้างพระราชวังนอกพระนครเพื่อประทับค้างแรมในยามหน้าฝนจึงทรงดำริให้สร้างพระรามราชนิเวศน์ หรือวังบ้านปืน เป็นที่ประทับแปรพระราชฐาน ริมแม่น้ำเพชรบุรี ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อ 2453 แต่การก่อสร้างดำเนินได้ไม่นานก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างสร้างต่อจนเสร็จใน 2459

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

การตากอากาศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นที่นิยมมากขึ้น และแพร่หลายออกจากพระบรมวงศานุวงศ์ไปยังขุนนาง

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงดำริสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันที่ชะอำ เพื่อเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในฤดูร้อนแทน แต่เดิมเสด็จฯ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ เนื่องจากขาดแคลนน้ำจืดและแมลงวันชุกชุม (ปิ่นเพชร, 112) ความนิยมในการตากอากาศ การมีบ้านตากอากาศขยายไปยังชะอำและหัวหินในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม การตากอากาศครั้งระบอบเก่านั้นแพร่หลายในหมู่ชั้นสูงและเหล่าขุนนาง ข้าราชการเป็นสำคัญ เนื่องจากพวกเขาทำงานแบบสำนักงาน มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พักและการกินอยู่ รวมทั้งโอกาสลาหยุดราชการได้ด้วย ในขณะที่อาณาประชาราษฎร์ทำไม่ได้ ทั้งนี้ ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (2445-2474) เป็นต้นมา เริ่มมีใบลาที่ระบุเพื่อการลาพักผ่อนหรือลาตากอากาศเกิดขึ้น (ปิ่นเพชร จำปา, 2545, 72)

ดังนั้น การตากอากาศ หรือการพักผ่อนในระบอบเก่า เริ่มจากชนชั้นปกครองเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ มาสู่ความสนุกสนานในการใช้เวลาว่าง เป็นการแสดงความเป็นอารยะ และแสดงความมั่งคั่งให้ประจักษ์ ต่อมาความนิยมได้แพร่หลายไปยังคหบดี ผู้มีฐานะในสังคม (วีรยุทธ์ ศรีสุวรรณกิจ, 2549)

โรงแรมรถไฟ หัวหิน ที่พักหรูหราสำหรับชนชั้นสูงเมื่อครั้งระบอบเก่า

เมื่อเกิดรถไฟสายใต้และสถานีชะอำ หัวหิน (2454) ทำให้เกิดสถานที่ตากอากาศแห่งใหม่ คือ หัวหิน โดยการท่องเที่ยวครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เน้นฟื้นฟูสุขภาพ พักผ่อน ความรู้ โดยรัฐบาลดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวผ่านกรมรถไฟหลวง (อรวรรณ ศรีอุดม, 2543) ต่อมากรมรถไฟเปิดโรงแรมรถไฟขึ้นเมื่อ 2466

กรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม พยายามชวนคนไปเที่ยวเพชรบุรี ดังวารสารข่าวช่าง ระบุว่า รถไฟมีบริการรถด่วน ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ก็ถึงเพชรบุรีแล้ว “ถ้าท่านประสงค์จะไปเที่ยวเมืองเพชรบุรีตอนเช้า และกลับกรุงเทพฯ ตอนบ่ายก็ได้โดยสะดวก” นอกจากนี้ ยังมีบ้านพักให้บริการพร้อมอาหารด้วย

ดังมีผู้บันทึกว่า โฮเต็ลหัวหินให้บริการโรงแรมด้วยมาตรฐานยุโรป แม้แต่อาหาร มีเจ้านายที่เสด็จโฮเต็ลเพื่อเสวยพระกระยาหาร หรือพระสุธารส มีเหล่าขุนนางและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักเรียนนอกมาตากอากาศที่โฮเต็ลเต็มไปหมด (วีรยุทธ์, 143)

ต่อมามีการสร้างวังไกลกังวลขึ้นตามรับสั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขึ้นเมื่อ 2469 เพื่อในการแปรพระราชฐานมาพักที่หัวหิน

ดังกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนิพนธ์เรื่องการตากอากาศชายทะเลไว้ในนิราศชะอำ (2472) ว่า “พึ่งลพากาศโอ้ โอโซนเจ้าเอย ประสานป ระสาส สามารถโซน ชีพข้า นิรามัย ชื่นหทัยโพลน เพลินวิเวก วนานา …ทะเลเล่ห์ เทวะฤทธิ์ฟื้น ชีพฟื้นฟูสมอง” (ปิ่นเพชร, 91)

วารสารข่าวช่าง (2472) บรรยากาศภายในโบกี้รถไฟไทย ช่วง 2470 เครดิตภาพ : ปัญชลิต โชติกเสถียร

นอกจากนี้ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์บันทึกการตากอากาศที่หัวหินไว้ว่า “เวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ที่หัวหินในตอนเย็น เมื่อแดดร่มแล้วก็มีการเล่นเทนนิส…หลังจากเล่นเทนนิสก็มีการอาบน้ำทะเล ซึ่งเป็นของสนุกสนานที่สุดสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อขึ้นจากน้ำทะเลก็มีการกินของว่าง เรามักจะหิวมากเวลานั้น จึงกินกันอย่างอร่อยโอชารสที่สุด จะเป็นข้าวผัด ขนมจีน หรือก๋วยเตี๋ยว หรืออะไรก็ตาม” (วีรยุทธ์, 94)

กล่าวโดยสรุป การตากอากาศเป็นคติใหม่ที่แพร่หลายอยู่ในหมู่ชนชั้นสูง ขุนนาง ด้วยเป็นผู้มีเวลาว่าง มีทุนทรัพย์เพียงพอในการสร้างบ้านพักตากอากาศริมชายทะเลที่อยู่ห่างไกลจากพระนครได้

ต่อมา เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 แล้ว รัฐบาลสมัยประชาธิปไตยพยายามส่งเสริมพลเมืองให้มีสุขภาพพลานามัยให้สมบูรณ์ทั้งการกิน ออกกำลังกายและพักผ่อนเพื่อสร้างชาติด้วยการสร้างหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและการสร้างสถานที่ตากอากาศสำหรับพลเมืองขึ้นใหม่เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงการพักผ่อนได้อย่างเสมอภาค

ความรื่นเริงในงานปาร์ตี้ที่ไกลกังวล ช่วงต้นทศวรรษ 2470