พันธมิตรเครื่องบินเจ็ต เอฟ-16 กับสงครามยูเครน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

พันธมิตรเครื่องบินเจ็ต

เอฟ-16 กับสงครามยูเครน

 

“เวลานี้เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพันธมิตรเอฟ-16”

Yehor Cherniev (19 May 2023)

ผู้ช่วยคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคง รัฐสภายูเครน

 

หนึ่งในเสียงร้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากยูเครนคือ การขอความสนับสนุนด้านอากาศยาน

เนื่องจากกองทัพอากาศยูเครนมีขนาดเล็กกว่ากองทัพอากาศรัสเซียอย่างมาก กองทัพอากาศยูเครนมีกำลังพลเพียง 37,000 นาย และมีอากาศยานที่มีขีดความสามารถในการรบ 79 ลำ และเครื่องบินที่ทันสมัยที่สุดคือ มิก-29 ซึ่งมีจำนวน 20 ลำ และเครื่องซู-27 จำนวน 30 ลำ

ในขณะที่กองทัพอากาศรัสเซียมีกำลังมากถึง 165,000 นาย และมีเครื่องบินที่มีขีดความสามารถในการทำการรบ 1,153 ลำ (อ้างอิงตัวเลขจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์ The Military Balance 2023)

ดังนั้น หากเปรียบเทียบอำนาจกำลังรบทางอากาศแล้ว กองทัพอากาศยูเครนมีขนาดเล็กมาก และไม่อยู่ในวิสัยที่จะต่อสู้ในสงครามทางอากาศกับรัสเซียได้เลย และระบบป้องกันทางอากาศของยูเครน ซึ่งใช้ระบบอาวุธเก่าของรัสเซียเองก็ไม่มีความทันสมัยมากนัก

จนอาจกล่าวได้ว่า ยูเครนไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซียได้มากนัก

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อกองทัพรัสเซียไม่สามารถเปิดการรุกได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเปิดสงครามในช่วงต้น ประกอบกับยูเครนสามารถเปิดการรุกกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดการปรับของเส้นแนวรบนับตั้งแต่ปลายปี 2022 เป็นต้นมา และรัสเซียตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก แต่ไม่ใช่การโจมตีด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดในแบบสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเกาหลี หรือสงครามเวียดนาม หากเป็นการใช้อาวุธยิงระยะไกลด้วยการใช้อาวุธปล่อย

อาจจะคล้ายคลึงกับสงครามอ่าวเปอร์เซีย และยังรวมถึงการใช้โดรนโจมตี จนสงครามทางอากาศในยูเครนมีลักษณะเป็น สงครามอาวุธปล่อย และสงครามโดรน

แต่ถึงกระนั้น ก็มิได้หมายความว่าเครื่องบินรบจะหมดประโยชน์ไปเสียที่เดียว การป้องกันทางอากาศสำหรับยูเครนยังคงต้องการการใช้อากาศยานรบในการป้องกันตนเอง อันนำไปสู่การร้องขอการสนับสนุนเครื่องบินรบแบบเอฟ-16

ซึ่งก่อนหน้านี้ยูเครนเคยได้รับความช่วยเหลือด้านเครื่องบินรบแบบมิก-29 มาก่อนแล้ว อาจจะไม่เพียงพอในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

พันธมิตรเอฟ-16

ว่าที่จริงแล้วการขอเครื่องบินรบแบบเอฟ-16 เป็นประเด็นมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 เมื่อครั้งประเทศตะวันตกคือ เยอรมนีและสหรัฐ ประกาศให้ความสนับสนุนรถถังหลักมาแล้ว แต่ก็ติดปัญหาเดียวกันกับรถถังแบบ Leopard ของเยอรมนี เพราะประเทศที่ต้องการส่งรถถังให้แก่ยูเครน ต้องได้รับความยินยอมจากประเทศต้นทางที่เป็นผู้ผลิตรถถัง

ดังนั้น เมื่อเยอรมนียอมเปิด “ไฟเขียว” ให้ประเทศเหล่านั้น สามารถส่งรถถังให้ได้แล้ว รถถังของเยอรมนีจึงทยอยเข้าสู่สนามรบในยูเครน โดยมีการฝึกกำลังพลยูเครนให้สามารถใช้รถถังหลักเหล่านี้ได้จริง ซึ่งรวมถึงการใช้รถถังหลักของอังกฤษแบบ Challenger ด้วย

การจะส่งรถถังให้แก่กองทัพยูเครนนั้น ติดปัญหาว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการ “ยกระดับ” สงครามหรือไม่ เพราะการกระทำเช่นนั้นอาจถูกมองจากฝ่ายรัสเซียว่าเป็นการ “ยั่วยุ” อันจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของสงครามได้

แต่ในที่สุดผู้นำเยอรมันตัดสินใจที่จะส่งอาวุธหนักให้แก่ยูเครน หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เยอรมนีมีอาการ “รีรอ” ในการตัดสินใจในเรื่องนี้มากเกินไป

ปัญหาการส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครนก็อยู่ในบริบทแบบเดียวกัน คือเครื่องเอฟ-16 ว่าจะเป็นการยั่วยุรัสเซียหรือไม่ อันทำให้ท่าทีของผู้นำสหรัฐในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ตอบรับกับข้อเสนอนี้แต่อย่างใด

แต่ในวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งอยู่ในช่วงการประชุมจี-7 (The G7 Summit) ที่โตเกียวนั้น ท่าทีของผู้นำสหรัฐให้การตอบรับในเรื่องดังกล่าว โดยประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าสหรัฐจะสนับสนุนความพยายามร่วมกันของหลายประเทศในการฝึกนักบินยูเครนสำหรับเครื่องเอฟ-16 และอาจรวมถึงการฝึกกับเครื่องบินรบสมรรถนะสูงอื่นๆ อีกด้วย

ซึ่งท่าทีของสหรัฐเช่นนี้ย่อมต้องถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับการเตรียมการรุกกลับของกองทัพยูเครนโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ให้การสนับสนุนการส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนในตอนต้นคือฝรั่งเศส ซึ่งได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า การพูดถึงความสนับสนุนด้านอากาศยานแก่ยูเครนนั้น ไม่ใช่เรื่อง “ต้องห้าม” (taboo) แต่ประการใด ตราบเท่าที่การให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ จะไม่นำไปสู่การยกระดับสงคราม

เพราะเครื่องบินเหล่านี้จะใช้ในการทำสงครามทางอากาศในยูเครน และจะไม่นำมาใช้เพื่อการโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย

การเปิดประเด็นเช่นนี้ทำให้หลายประเทศมีความเห็นร่วมกันที่ต้องการสนับสนุนยูเครนด้วยเครื่องบินรบแบบเอฟ-16 หรือที่อาจเรียกว่า “พันธมิตรเอฟ-16 ของยูเครน” ซึ่งส่วนหนึ่งคือการสร้างอำนาจทางอากาศให้แก่ยูเครน และอีกส่วนอาจเป็นเพราะเป็นเครื่องบินใน “ยุคที่ 4” (4th Generation-Fighters Aircraft)

และหลายประเทศในยุโรปปัจจุบันได้ใช้เครื่องบินรบใน “ยุคที่ 5” กันแล้ว ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบินเหล่านี้มากนัก แต่ยังสามารถใช้ได้กับสงครามในยูเครน

 

ทำไมยูเครนต้องการเอฟ-16

ด้วยเงื่อนไขของพัฒนาการของอากาศยานแล้ว เครื่องเอฟ-16 ถูกออกแบบในช่วงทศวรรษที่ 1970 และเข้าประจำการครั้งแรกในปี 1979 ซึ่งเครื่องบินรบแบบนี้เป็นอากาศยานที่ถูกใช้อย่างมากในสงครามอิรัก และสงครามอัฟกานิสถาน

ในอีกส่วนหนึ่งเครื่องบินนี้สร้างขึ้นด้วยความร่วมทุนระหว่างสหรัฐ เบลเยียม เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์

เอฟ-16 เป็นเครื่องบินที่ใช้กันอย่างมากของกองทัพอากาศทั่วโลก ประมาณการว่ามีเครื่องเอฟ-16 จำนวนมากกว่า 3,000 ลำประจำการอยู่กับกองทัพ 25 ประเทศในเวทีโลก และเป็นเครื่องบินรบที่ราคาไม่แพงมากนัก ใช้ง่าย และส่งออกง่ายอีกด้วย เนื่องจากสหรัฐอาจจะควบคุมการส่งออกเครื่องบินรบสมรรถนะสูง อันทำให้การขออนุญาตส่งออกกระทำได้ยาก

แต่ปัจจุบันสายการผลิตเอฟ-16 ต้องหยุดลง อันเนื่องมาจากความต้องการเครื่องบินรบแบบเอฟ-35 ที่มีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้นว่าในช่วงก่อนสงครามดังทำเนียบกำลังรบในปี 2019 นั้น กองทัพอากาศยูเครนมีเครื่องบินที่มีขีดความสามารถทำการรบเพียง 125 ลำ และรัสเซียมี 1,223 ลำ (The Military Balance 2019)

แต่ในปี 2023 ยูเครนเหลือเครื่องบินรบเพียง 79 ลำ ซึ่งเมื่อระยะเวลาของสงครามที่ยาวนานออกไป จึงมีความจำเป็นที่ยูเครนจะต้องยกระดับขีดความสามารถกำลังรบทางอากาศ และทดแทนต่อความสูญเสียทางอากาศที่เกิดขึ้น

ในอีกด้านหนึ่งของสงครามทางอากาศในยูเครน ต้องยอมรับถึงประสิทธิภาพของระบบป้องกันทางอากาศของรัสเซีย ซึ่งทำให้ปฏิบัติการทางอากาศของยูเครนมีข้อจำกัดอย่างมาก อันส่งผลให้การใช้กำลังทางอากาศของยูเครนมีข้อจำกัดในตัวเอง

ในอีกด้าน รัสเซียเองพยายามที่ลดความสูญเสียของกำลังทางอากาศ ทำให้นักบินรัสเซียใช้ยิงอาวุธปล่อยจากเครื่องบินรบที่อยู่ห่างจากแนวรบอย่างมาก หรือเกิดสภาวะของ “ปฏิบัติการทางอากาศอย่างจำกัด” จากทั้งสองฝ่าย

แต่ยูเครนก็หวังว่าเครื่องเอฟ-16 จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การฝ่าวงล้อมจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย และทำให้เกิดการรุกกลับทางอากาศ

 

สําหรับในทางการเมืองแล้ว การประกาศท่าทีที่ชัดเจนของสหรัฐในการสนับสนุนการฝึกนักบินสำหรับบินกับเครื่องเอฟ-16 นั้น ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนท่าทีของทำเนียบขาวอย่างมาก

ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงปลายเดือนมกราคม 2023 นั้น ทำเนียบขาวไม่ตอบรับกับข้อเสนอเช่นนี้แต่อย่างใด แต่ในวันที่ 19 พฤษภาคม กลับเห็นการเปลี่ยนท่าทีดังกล่าว และการตัดสินใจเช่นนี้ไม่ใช่เพียงการฝึกกับเครื่องเอฟ-16 เท่านั้น หากยังเปิดช่องสำหรับการฝึกกับเครื่องบินรบแบบอื่นด้วย และเครื่องบินรบเหล่านี้จะถูกส่งมอบให้กับยูเครน เมื่อการฝึกนักบินสิ้นสุดลง

ซึ่งการฝึกเช่นนี้จะทำให้สหรัฐและพันธมิตรอื่นๆ สามารถให้ความสนับสนุนเครื่องบินรบแก่ยูเครนเพื่อนำไปสู่การใช้จริง ได้อย่างไม่มีช่องว่าง

การฝึกที่มีนัยมากกว่าการฝึกนักบินเอฟ-16 นั้น ทำให้เกิดการตีความได้ว่าอาจรวมถึงการฝึกสำหรับเครื่องแบบไต้ฝุ่น (Eurofighter Typhoon) ของอังกฤษ และเครื่องมิราจ-2000 (Mirage 2000) ของฝรั่งเศส เพราะเป็นเครื่องบินรบแบบ “เจน 4” เช่นเดียวกับเอฟ-16 ซึ่งชาติพันธมิตรยุโรปสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนได้เลย โดยไม่ต้องรอการได้รับอนุญาตจากประเทศผู้ผลิตคือ สหรัฐ เช่นในกรณีเอฟ-16

อย่างไรก็ตาม การฝึกนักบินอาจมีความซับซ้อนมากกว่าการฝึกพลประจำรถถังอย่างมาก โดยในช่วงต้นมีการคัดเลือกนักบินเป็นจำนวน 50 นาย โดยจะใช้สถานที่ฝึกบินที่ใดที่หนึ่งในยุโรป การฝึกนี้อาจจะใช้เวลา 4-6 เดือนเพื่อให้นักบินยูเครนมีความคุ้นเคยกับตัวอากาศยานและกับระบบอาวุธ และการฝึกเช่นนี้ยังรวมถึงกำลังพลภาคพื้นดินที่จะทำหน้าที่สนับสนุน และงานวิศวกรรมการบิน การฝึกเช่นนี้นำไปสู่คำถามประการสำคัญว่า ยูเครนจะได้รับความสนับสนุนเอฟ-16 เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งยูเครนได้แสดงความต้องการเอฟ-16 เป็นจำนวน 200 เครื่อง ซึ่งนำไปสู่คำถามในอีกด้านหนึ่งว่า ประเทศตะวันตกจะสามารถให้ได้จริงในจำนวนเท่าใด

ว่าที่จริงแล้ว การสนับสนุนเช่นนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการให้ความช่วยเหลือด้านรถถัง โดยเฉพาะเครื่องกระสุนที่มีความต้องการเป็นจำนวนมาก อันอาจกล่าวได้ว่าฝ่ายตะวันตกได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนเป็นจำนวนมหาศาล

 

ความคาดหวังในอนาคต

การนำเอาเครื่องบินเอฟ-16 เข้าสู่สนามรบในยูเครนจึงเป็นความคาดหวังสำหรับการเปิดการรุกกลับทางอากาศ เพราะเครื่องบินเหล่านี้จะช่วยในการโจมตีต่อเป้าหมายทางทหารของรัสเซียที่อยู่ใกล้แนวรบหรืออยู่ในแนวรบ โดยจะเป็นการโจมตีที่มีระยะห่างออกไป ซึ่งจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยแก่นักบิน (กระทำการในแบบเดียวกับนักบินรัสเซีย) หรือใช้ในการโจมตีคลังอาวุธที่รัสเซีย ในแบบเดียวกับที่ยูเครนใช้การโจมตีด้วยจรวดหลายลำกล้องแบบ HIMARS

ในทางการเมืองแล้ว การตัดสินใจส่งเครื่องบินรบ หรือที่ต้องเรียกว่า “พันธมิตรเครื่องบินเจ็ต” (a jet coalition) ที่มีการประกาศการเข้าร่วมของอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเดนมาร์กนั้น สะท้อนชัดเจนถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า พันธมิตรนี้จะสนับสนุนให้ยูเครน “มีขีดความสามารถของการรบทางอากาศอย่างที่ต้องการ”