ชวนดู ‘เมฆแปลกตา’ ทั่วฟ้าเมืองไทย | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

เมื่อท้องฟ้ามีเมฆแปลกๆ บางครั้งอาจเกิดเป็นข่าวฮือฮา แชร์กันมากมายเป็นไวรัล ซึ่งมองในแง่ดีคือเป็นโอกาสที่จะมีคนให้คำอธิบายและข้อมูลที่ถูกต้องออกไป เพื่อให้คนไทยเข้าใจ และบางครั้งอาจคลายความกังวลที่มีมากเกินไป

ผมจึงขอนำภาพเมฆแปลกๆ ที่เกิดในบ้านเราและถ่ายโดยคนไทยทั้งหมดมาให้ชมกัน เผื่อคุณผู้อ่านนึกสนุกหมั่นมองท้องฟ้ามากขึ้นจะได้มีลุ้นได้เห็นกันบ้าง ภาพทั้งหมดนี้มาจากฝีมือของสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆใน facebook ครับ

เมฆเกือกม้า
3 มกราคม พ.ศ.2563 17.08 น.
ปากช่อง นครราชสีมา
ภาพ : นิดหน่อย

ภาพที่ 1 คือ เมฆเกือกม้า เป็นเมฆรูปทรงตัว U คว่ำ ฝรั่งเรียกว่า horseshoe vortex cloud (เมฆที่เกิดจากวอร์เท็กซ์เกือกม้า) บางครั้งก็เรียกสั้นๆ ว่า horseshoe cloud (เมฆเกือกม้า)

คุณนิดหน่อย เจ้าของภาพนี้เล่าเหตุการณ์ตอนเจอเมฆเกือกม้าว่า “ปกติเวลาไปบ้านลุงจะชอบเดินดูสวนกับเพื่อน 4 ขาทั้ง 3 ตัวค่ะ ช่วงเดินกลับจะเข้าบ้าน พอดีเงยหน้าเห็นพอดี เลยยืนถ่ายรูปก่อน เจ้า 3 ตัวคงจะงงว่าถ่ายอะไร?? แต่ก็ชอบยืนรอจนเข้าบ้าน มันเป็นบอดี้การ์ดค่ะ?? พอเห็นหยิบกล้องปั๊บ ลุกกันพร้อมเพรียงมาก”

ส่วนสภาพอากาศในขณะนั้นคือ “แดดเปรี้ยงค่ะ?? แต่ก็ตื่นเต้นกดชัตเตอร์จนหน้ามืดค่ะ กลัวสลายตัว ถ่ายมาได้แค่ 4 ใบค่ะ มันคงตัวอยู่สั้นๆ ไม่เกินราว 5 นาที” ช่วงระยะเวลาที่เมฆเกือกม้าคงตัวไม่นานมากนี้สอดคล้องกับระยะเวลาในการพบเห็นเมฆรูปแบบนี้ในต่างประเทศเช่นกัน

เมฆทรงกลม
จันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2564 17.47น.
ท่าเรือแกรนด์อันดามัน ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง
ภาพ : อรทัย ยมจันทร์ (แอน)

ภาพที่ 2 คือ เมฆทรงกลม ซึ่งดูละมุนน่ารักดี ถ่ายโดยคุณอรทัย ยมจันทร์ ที่จังหวัดระนอง โดยเรียกชื่อเล่นว่า “เจ้าเมฆกลมแห่งอันดามัน”

เจ้าของภาพเล่าว่า “ช่วงเวลาที่พบเป็นช่วงเย็น เงียบ สงบ มีลมเย็นๆ พัดเรื่อยๆ ผสมผสานกับเสียงคลื่นของทะเลกระทบโขดหิน (อยู่ในช่วงโควิดกำลังระบาด) ท่าเรือเงียบเชียบ แต่กลับกันท้องฟ้าและแสงอาทิตย์ยามเย็นช่วงนั้นสวยมาก”

ทั้งนี้ “จังหวะที่กำลังจะกลับบ้าน เดินเล่นบริเวณท่าเรือติดทะเลอันดามันเพื่อจะดูพระอาทิตย์ตกและตั้งใจจะเก็บภาพ ก็เป็นจังหวะที่ได้เห็นเมฆกลมน้อยๆ เหนือท้องทะเลอันดามัน ลอยเป็นก้อนกลมๆ น่ารักมากอยู่ 1 ก้อน จนสะดุดตา ต้องรีบถ่ายภาพเก็บไว้ทันที และรอดูจนกระทั่งแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เจ้าเมฆกลมแห่งอันดามันนี้ ก็ค่อยๆ สลายจางหายไป เหลือไว้เป็นภาพและความทรงจำที่ไม่รู้ลืมค่ะ”

คุณอรทัยบอกว่าชอบถ่ายรูปธรรมชาติ โดยเฉพาะเมฆ-ท้องฟ้า-ทะเล-ภูเขา โดยที่ “การถ่ายรูปเมฆ-ท้องฟ้าเป็นอะไรที่ไร้รูปแบบตายตัว ไม่มีใครสามารถ copy รูปที่เราถ่ายได้ เพราะแต่ละวันเมฆ-ท้องฟ้าไม่เหมือนกัน รวมถึงมุมมองของผู้ถ่ายและผู้ดูก็เช่นกัน มีความหลากหลาย ภาพเมฆ-ท้องฟ้า เป็นพลังเหนือคำบรรยาย มีความแปลก น่าตื่นเต้นและอัศจรรย์ใจ เหมือนมีคนวาดภาพ หรือเอาเมฆมาปั้นอยู่บนท้องฟ้า เมื่อได้เห็นทำให้เกิดรอยยิ้ม ความอบอุ่นและความสุขเสมอ บางครั้งแค่มอง ไม่ต้องอธิบายใดๆ ก็สุขใจมากจริงๆ ค่ะ”

น่ารู้ด้วยว่าเคยมีภาพไวรัลแสดงเมฆรูปร่างกลมถ่ายได้ที่ญี่ปุ่น ใครสนใจลองค้นคำว่า spherical cloud ในอินเตอร์เน็ตดูครับ

แอสเพริแทส
5 มิถุนายน 2556 06.38 น.
บางกะปิ กรุงเทพฯ
ภาพ : My name’s TaRay

ภาพที่ 3 คือ แอสเพริแทส ถ่ายโดยคุณ My name’s TaRay ที่กรุงเทพฯ

เมฆที่มีลักษณะแอสเพริแทส (asperitas) นี้ดูคล้ายผิวน้ำปั่นป่วน กินพื้นที่กว้างบนฟ้า คำว่า asperitas เป็นภาษาละตินแปลว่า “ขรุขระ”

น่ารู้ด้วยว่า International Cloud Altas ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้ให้การรับรองลักษณะแอสเพริแทสเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) โดยจัดให้เป็นลักษณะเสริม (supplementary feature) หรือ “ออปชั่นเสริม” ของเมฆ 2 สกุล ได้แก่ สเตรโตคิวมูลัสและแอลโตคิวมูลัส

ก่อนหน้าที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจะยอมรับลักษณะแบบแอสเพริแทสอย่างเป็นทางการนั้น นักดูเมฆก็รู้จักเมฆนี้ในนาม “แอสเพอเรตัส (asperatus)” อยู่ก่อนแล้วในชื่อ แอสเพเรตัส (asperatus) ซึ่งเป็นคำที่มาจากคำกริยาในภาษาละตินคือ aspero แปลว่า ทำให้ขรุขระ ทั้งนี้ คำว่า asperatus นี้เองที่กวีชาวโรมันใช้บรรยายผิวน้ำทะเลซึ่งปั่นป่วนเนื่องจากลมหนาวที่พัดมาจากทิศเหนือ

เมฆซูเปอร์ซิลเลียม
2 กรกฎาคม 2558 14.24 น.
เมืองพัทยา ชลบุรี
ภาพ : ทิพาพร เหมือนสมัย

ภาพสุดท้าย ภาพที่ 4 ขอเรียกว่า เมฆซูเปอร์ซิเลียม ไว้พลางๆ ก่อน

คุณทิพาพร เหมือนสมัย เจ้าของภาพเล่าว่า “วันที่เจอเป็นวันที่ฟ้าใสมากๆ ค่ะ มีเมฆลักษณะนี้ยาวเลย แต่ตัวที่ถ่ายใหญ่สุด แล้วก็ไล่ขนาดเป็นทาง แต่อยู่บนรถ มุมค่อนข้างบังคับ เลยถ่ายได้แค่นี้ค่ะ”

“เมฆคงตัวอยู่นานเลยค่ะ ตอนเจอติดไฟแดงสามารถนั่งดู จนขับรถเข้าบ้านออกมายืนดูต่อได้อีก ถ้านับเป็นระยะเวลาน่าจะสัก 10 นาทีได้ แล้วต้องไปทำอย่างอื่นต่อค่ะ”

ในปี ค.ศ.2023 นี้ เมฆรูปร่างแบบนี้ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการที่กำหนดโดย International Cloud Atlas

อย่างไรก็ดี นักดูเมฆฝรั่งมองว่ารูปร่างของเมฆคล้ายกับ “คิ้ว (eyebrow)” จึงสอบถามนักวิชาการภาษาละตินชื่อ Rick LaFleur แห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจียว่าคำว่าคิ้วในภาษาละตินคืออะไร และได้คำตอบมาว่า “supercilium” โดยที่คำคำนี้มาจากคำว่า super (เหนือ, ด้านบน) + cilium (เปลือกตา) [อ้างอิง : https://cloudappreciationsociety.org/march-2022/]

มีข้อสังเกตว่าเมฆรูปร่างคล้าย “คิ้ว” ที่พบก่อนหน้านี้มักจะอยู่ใกล้ๆ ยอดเขาสูงชันทางฝั่งปลายลม ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการไหลของอากาศปั่นป่วน และคงตัวอยู่ไม่นานนัก แต่เมฆของคุณทิพาพรถ่ายได้ที่เมืองพัทยา และคงตัวอยู่นานอย่างน้อย 10 นาที จึงขอบันทึกข้อสังเกตนี้เอาไว้ตรวจสอบในอนาคต

คุณผู้อ่านที่ชื่อชอบการชมเมฆและปรากฏการณ์ในบรรยากาศ (รุ้ง การทรงกลด แสงสีบนฟ้า ฯลฯ) สามารถขอเข้าร่วมกลุ่มชมรมคนรักมวลเมฆใน facebook ได้ สังเกตจำนวนสมาชิกซึ่งมีกว่า 392,000 คนครับ