อุษาวิถี (31) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (31)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

แต่ถึงที่สุดแล้ว ราชวงศ์ชิงภายใต้อำนาจของฉือสี่ไท่โฮ่วก็ยังคงดื้อรั้นที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ลัทธิขงจื่อยังคงเป็นข้ออ้างที่ดีและมีมนต์ขลังต่อการคงอยู่ของอำนาจและการฉ้อฉลโดยไม่ไยดีกับความอ่อนแอ

กว่าที่ราชสำนักและชนชั้นผู้ดีจะยอมยกเลิกวิธีสอบไล่ที่ยึดอยู่กับลัทธิขงจื่อ ที่มีมานานหลายศตวรรษ เวลาก็ลุล่วงเข้าสู่ ค.ศ.1905 ไปแล้ว ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงนี้หาได้เป็นไปด้วยความเต็มใจของชนชั้นนำเหล่านี้ไม่

เหตุฉะนั้น จึงไม่แปลกที่การเปลี่ยนแปลงที่ว่า (รวมทั้งในสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงอื่นๆ) จึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ถึงเวลานั้นพลังทางการเมืองใหม่ที่เกิดและเติบโตขึ้นมา พร้อมกับความเสื่อมถอยของราชวงศ์ชิงก็ตระหนักชัดแจ้งแล้วว่า

เวลาของราชวงศ์สุดท้ายของประวัติศาสตร์จีนเหลือน้อยเต็มทีแล้ว

 

ในที่สุด ขบวนการปฏิวัติภายใต้การนำของ ดร.ซุนยัตเซน (ค.ศ.1866-1925) ก็สามารถโค่นล้มราชวงศ์ชิงของพวกแมนจูได้เป็นผลสำเร็จในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1911 อันเป็นการปิดฉากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ดำรงมานานไม่ต่ำกว่าสองพันปีลงอย่างสนิท

จะมีก็แต่เพียงลัทธิขงจื่อเท่านั้น ที่ยังมั่นคงอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลงที่จะมีตามหลังจากการปฏิวัติ

อันที่จริงแล้ว ลัทธิขงจื่อถูกวิพากษ์อย่างหนักตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติสาธารณรัฐของ ดร.ซุนยัตเซนเสียอีก

ผู้วิพากษ์ส่วนใหญ่หากมิใช่เพราะยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็จะยอมรับเป็นเพราะเห็นว่าลัทธิขงจื่อถูกใช้อย่างบิดเบือนมาเป็นเวลาช้านาน

ผู้วิพากษ์สองกลุ่มนี้ หากไม่นับกลุ่มที่คิดอย่างสุดโต่งจนปฏิเสธลัทธิขงจื่ออย่างสิ้นเชิงแล้วก็อาจกล่าวได้ว่า โดยมากยังเห็นว่าลัทธิขงจื่อมีข้อดีโดยตัวของลัทธิเอง จะมีก็แต่เพียงบางประเด็นที่อาจจะล้าสมัยหรือต้องทำความเข้าใจกันใหม่

และแน่นอนว่า ผู้ที่คิดเช่นนี้จนสามารถวิพากษ์ลัทธิขงจื่อได้ย่อมต้องเป็นปัญญาชนร่วมสมัยในขณะนั้น

 

ดร.ซุนยัตเซน จัดเป็นปัญญาชนคนหนึ่งที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก และยอมรับว่า มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่ก้าวหน้ากว่าจีน และจีนเองก็ควรปรับตัวตามเพื่อไม่ให้ตกเป็นเบี้ยล่าง

ในแง่นี้ ดร.ซุนยัตเซนจึงไม่ได้ปฏิเสธโลกทัศน์เดิมของจีนอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ได้ยอมรับโลกทัศน์ใหม่ของตะวันตกโดยไม่วินิจฉัยแยกแยะด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ แนวทางที่มุ่งสร้างสังคมจีนตามอุดมการณ์ “ลัทธิไตรประชา” ของ ดร.ซุนยัตเซนจึงมีทัศนะของลัทธิขงจื่อแฝงเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบทบาทของพรรคประชารัฐ หรือกั๋วหมินต่าง (ก๊กมินตั๋ง) ที่เขาให้ความสำคัญอย่างมาก

ในฐานะพรรคการเมืองที่จะมีบทบาทในการสร้างรัฐตามอุดมการณ์ของเขาขึ้นมา

เพราะภายในพรรคจะเป็นที่รวมของบรรดาปัญญาชนซึ่งมีเขารวมอยู่ด้วย การที่มีพรรคนำในทางการเมืองเช่นนี้ อาจดูไม่ต่างกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนหน้านี้ หรือระบอบเผด็จการที่กำลังแตกหน่ออ่อนในขณะนั้นก็จริง

แต่ในความคิดของ ดร.ซุนยัตเซนแล้ว สาระหลักกลับไม่ได้อยู่ตรงการมุ่งเผด็จอำนาจเยี่ยงเผด็จการ หากแต่เป็นความคิดที่มีพื้นฐานมาจากกระแสการวิพากษ์ และความสลดใจที่เห็นความอ่อนแอทางการเมืองในภาคประชาชนในขณะนั้น

เหตุฉะนั้น บทบาทของพรรคในทัศนะของ ดร.ซุนยัตเซน จึงเป็นทัศนะที่มองลัทธิขงจื่อในแง่ดี โดยเฉพาะบทบาทที่มองการศึกษาเป็นเรื่องสากล ที่ไม่ว่าใครก็ตามต่างก็สามารถเรียนรู้ได้ และพรรคก็จะทำหน้าที่นั้น

แต่กระนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ดร.ซุนยัตเซนไม่อาจที่จะผลักดันความใฝ่ฝันของเขาให้บรรลุผลได้ เพราะมรณกรรมได้คร่าชีวิตของเขาไปก่อนใน ค.ศ.1925

 

ความจริงก็คือว่า ภายหลังการปฏิวัติสาธารณรัฐผ่านไปไม่นาน การแก่งแย่งอำนาจของกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็เริ่มขึ้นอีกนานนับสิบปี จนแม้หลังมรณกรรมของ ดร.ซุนยัตเซนผ่านไปแล้วความยุ่งยากดังกล่าวก็หาได้สงบลงไม่

ตราบจน ค.ศ.1927) เจี่ยงเจี้ยสือ (เจียงไคเช็ก) ทายาททางการเมืองที่ก้าวขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อจากเขาก็สามารถกำราบบรรดาขุนศึกต่างๆ ลงได้สำเร็จ

เวลานั้น แม้เจียงไคเช็กจะยังคงตั้งหน้าตั้งตาปราบพรรคคอมมิวนิสต์จีน และต่อมาก็ร่วมมือกับพรรคนี้ต่อสู้กับญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ.1937-1945) ก็ตาม แต่ก็ยังคงกล่าวได้ว่า การเมืองจีนได้อยู่ในมือของเขาอย่างเป็นด้านหลัก

และเป็นการเมืองที่ไม่ปฏิเสธลัทธิขงจื่ออย่างเห็นได้ชัด

แต่ไม่ว่าจะด้วยการเมืองแบบเผด็จการของเขาหรือไม่ก็ตาม การณ์กลับปรากฏว่า จีนยังคงเป็นสังคมที่ปัญญาชนและชนชั้นผู้ดีในแบบลัทธิขงจื่อยังคงอิทธิพลอยู่สูง คนเหล่านี้มีให้เห็นโดยทั่วไป

ไม่ว่าจะในคณะรัฐบาล นายทุนในเมืองและชนบท เจ้าที่ดิน ที่ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรือตำแหน่งใด สิ่งที่เชื่อมร้อยความมั่งคั่งของคนเหล่านี้ก็คือ การเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่

สิ่งที่ชี้ชัดถึงปรากฏการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นภายหลังที่สงครามจีน-ญี่ปุ่นสิ้นสุดลง พร้อมกับความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากนั้นต่อมาก็คือ สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับก๊กมินตั๋งที่จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายแรกใน ค.ศ.1949)

อันเป็นปฐมบทของสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีอายุยืนยาวมาจนปัจจุบัน

 

ภายหลังการปฏิวัติ ได้มีการกวาดล้างผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกปฏิกิริยาหรือพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติจำนวนมาก ในจำนวนนี้ปรากฏว่ามีชนชั้นเจ้าที่ดินหรือ “ผู้ดี” ทั่วประเทศสูงถึงห้าล้านคน จากประชากรที่มีอยู่ประมาณ 450 ล้านคน

ที่ดินของชนชั้นเหล่านี้ถูกยึดและมีไม่น้อยที่ถูกลงโทษ มาตรการเหล่านี้จึงกับเป็นการส่งสัญญาณว่า นับแต่นี้ไปสถานะของลัทธิขงจื่อจะถูกสั่นคลอน หรือไม่ก็ไม่เป็นมิตรในสายตาของฝ่ายคอมมิวนิสต์

แล้วความจริงก็เป็นเช่นนั้น นั่นคือ ตั้งแต่ ค.ศ.1949 เรื่อยไปจนถึง ค.ศ.1979 ลัทธิขงจื่อก็ถูกวิพากษ์มาโดยตลอด