ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
เดินหน้าสู่การเมืองใหม่ยุคก้าวไกล | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/
ความเบื่อหน่ายต่อศึกแย่งตำแหน่งประธานสภาเป็นเรื่องที่คนไทยรับรู้ทั่วกัน
และถึงแม้จะมีคนอ้างว่าความขัดแย้งคือเรื่องธรรมดา การแก่งแย่งที่ลามเป็นสงครามโซเชียลระหว่างพรรคก็เป็นเรื่องเกินธรรมดาไปมาก เว้นแต่จะหลับหูหลับตาอวยจนนักการเมืองเป็นชนชั้นที่ทำอะไรก็ไม่ผิดเลย
คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทำถูกที่ให้ทุกฝ่ายกลับไปโต๊ะเจรจา และการแสดงความเป็นผู้นำที่ถูกเวลาของคุณพิธาทำให้ไม่มีใครพูดเรื่องนี้อีก เว้นคุณสุชาติ ตันเจริญ ที่อาจไม่ได้อยู่ในไลน์กลุ่มพรรคจนตกข่าว
แต่การเปิดศึกน้ำลายของ ส.ส.ระดับกรรมการพรรคก็สะท้อนปัญหาความไม่ไว้ใจกันของทั้งสองพรรคที่ผิดปกติอยู่ดี
คุณพิธาและคุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว พูดทุกครั้งเรื่องความมุ่งมั่นจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย และด้วยความมีวุฒิภาวะของหัวหน้าพรรคใหญ่ทั้งคู่ ในที่สุดการเจรจาของ 8 พรรคเพื่อตั้งรัฐบาลของประชาชนกว่า 26 ล้าน ก็ประสบความสำเร็จถึงขั้นที่ไม่เหลือช่องว่างให้ใครยุแยงตะแคงรั่วได้อีกเลย
โดยหลักการแล้วตำแหน่งประธานสภาต้องมาจากพรรคที่มี ส.ส.อันดับ 1 และเมื่อคำนึงว่าตำแหน่งนี้ไม่มีอำนาจและไม่มีเงิน การแย่งตำแหน่งจนเกิดความวุ่นวายไปหมดจึงยิ่งทำให้คนสงสัยว่าอะไรคือแรงจูงใจที่แท้จริง หากไม่เชื่อข้ออ้างเรื่องก้าวไกลได้นายกฯ แล้วต้องแบ่งตำแหน่งนี้ให้เพี่อไทย
สื่อและนักการเมืองไม่น้อยเชื่อว่าศึกชิงประธานสภามาจากแรงจูงใจทางการเมือง
คำอธิบายของคนที่คิดแบบนี้คือประธานสภาเป็นคนเสนอชื่อนายกฯ ไปโหวตในสภา ถ้าประธานไม่ได้มาจากก้าวไกล โอกาสที่ประธานจะเสนอชื่อผู้ชิงนายกฯ จากพรรคอื่นแทนพิธาก็มีมากขึ้น หาก ส.ว.ปฏิเสธพิธาจริงๆ
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้คือ “ความเชื่อ” ซึ่งไม่มีอะไรพิสูจน์จนกว่าจะมีพรรคอื่นแย่งตำแหน่งจากพิธาและพรรคก้าวไกลจริงๆ
แต่ด้วยความแน่วแน่ในการผลักดันรัฐบาลประชาธิปไตยของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ความระแวงของคนหลายกลุ่มหายวับจนไม่ต้องให้ทีมสื่อพรรคทวีตแดกดันใครเลย
ด้วยคำพูดคุณหมอชลน่านว่า “เปลี่ยนดีลลับเป็นดีลรัก” ถึงขั้นประกาศว่าสองพรรคจะอยู่ร่วมกันตลอดไป
การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม มาถึงจุดที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีความเป็นเอกภาพจนมีโอกาสเป็นฝ่ายกำหนดเกมเพื่อให้ประเทศไทยเป็นอย่างที่ควรเป็นจริงๆ
ต้องยอมรับความจริงว่าพรรคใหญ่ทุกพรรคหงุดหงิดก้าวไกล เพราะขณะพรรคอื่นทำพรรคเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล ก้าวไกลตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่กลับชัดเจนว่าทำพรรคเพื่อเปลี่ยนประเทศ
สี่ปีของก้าวไกลจึงกล้าพูดเรื่องที่พรรคอื่นไม่กล้าพูด ซ้ำยังพร้อมเป็นฝ่ายค้านจนการขู่ด้วยดีลทำอะไรไม่ได้เลย
ตรงข้ามกับพรรคอื่นๆ ที่หลังเลือกตั้งแทบไม่มีข่าวว่าทำอะไร นอกจากตอบโต้ประเด็นการเมืองรายวัน
ก้าวไกลทำเรื่องส่วยทางหลวงจนประธานสหพันธ์ขนส่งบอกไม่เคยมีพรรคไหนทำแบบนี้มาก่อน, ยืนยันค่าแรงขั้นต่ำ 450 ต่อคนงานสมุทรปราการ, พบนักธุรกิจและบุคลาการแพทย์ ฯลฯ
ตรงข้ามกับคำโจมตีว่า ส.ส.ไม่ควรทำเรื่องส่วยอย่างที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ทำ สังคมขานรับการตีแผ่ปัญหาส่วย 5 เครือข่ายเดือนละกว่าพันล้านที่รถบรรทุกเกี่ยวข้องกว่า 2 แสน จนผู้การทางหลวงถูกเด้งในที่สุด แต่สังคมก็ยังตั้งคำถามต่อว่าอะไรทำให้พรรคไร้ทุนที่เพิ่งชนะเลือกตั้ง 20 วันทำเรื่องที่พรรคอื่นไม่ทำ
“ศิริกัญญา ตันสกุล” จากพรรคก้าวไกลถูกคนบางกลุ่มโจมตีว่าไม่รู้เรื่องคลัง แต่ข้ออ้างที่บางคนโจมตีคือ “ศิริกัญญา” ว่าจะทำให้ตลาดหุ้นพังทั้งที่ตลาดหุ้นยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เคยเกิน 1,700 จุด 9 ปีแล้ว ยิ่งกว่านั้นคือตลาดหุ้นไม่เท่ากับเศรษฐกิจมหภาค และคนเล่นหุ้นไม่เท่ากับคนทั้งหมดของประเทศแต่อย่างใด
นโยบายเศรษฐกิจก้าวไกลคือลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม และในเศรษฐกิจไทยที่มีเจ้าสัวรายใหญ่ผูกขาดธุรกิจหลักอย่างพลังงาน-โทรคมนาคม-ค้าปลีก ซึ่งมูลค่ารวมในตลาดหุ้น (Market Cap) มหาศาล ประเทศไทยก็เหมือนตลาดหุ้นที่คนรวยขึ้นที่แท้จริงคือคนกลุ่มน้อยไม่กี่คน
ถ้าก้าวไกลลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจในมือเจ้าสัวพลังงาน-ค้าปลีก-โทรคมนาคมลงได้ โอกาสที่จะเกิดการแข่งขันธุรกิจเหล่านี้ก็จะสูงขึ้น ประชาชนทุกกลุ่มจะได้ประโยชน์มากขึ้น เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่จะผูกขาดน้อยลงและมีเสถียรภาพขึ้นเพราะมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่แข็งแกร่งขึ้นหลายราย
ตลาดหุ้นเป็นกลไกหนึ่งของตลาดการเงินในระบบเศรษฐกิจไทย หน้าที่พื้นฐานของตลาดได้แก่การเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว้างขวาง แต่จำนวนนักลงทุนในตลาดหุ้นที่มีอยู่ 3 ล้านกว่าๆ เท่ากับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องคิดถึงคนอีก 60 ล้านพร้อมกันเช่นเดียวกัน
ด้วยนโยบายก้าวไกลด้านสวัสดิการประชาชน รัฐบาลก้าวไกลถูกตั้งคำถามว่าเอาเงินจากไหนแบบถามไทยรักไทยสมัยทำบัตรทอง นัยยะของคำถามคือการบอกว่าเรื่องนี้ทำไม่ได้ ทั้งที่การปราบโกง, ลดงบฯ ที่ไม่จำเป็น, ดึงคนนอกระบบภาษีมาอยู่ในระบบภาษี ฯลฯ จะทำให้รัฐได้งบฯ เพิ่มมากเหลือเกิน
สังคมไทยเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำจนคนหลงลืมว่าเป็นเรื่องผิดปกติในสังคม ภาพคนรวยบินไปดูบอลแล้วสังสันทน์กันเป็นเรื่องที่ห่างไกลชีวิตคนทั่วไปจนเหลือเชื่อ
การเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวยสูงสุด 1% ของประเทศเป็นเรื่องที่รัฐบาลของประชาชนจริงๆ สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ กกต.ยังไม่รับรอง ส.ส. แต่พิจารณาคำร้อง “พิธา” กรณีถือหุ้นสื่อ สิ่งที่พิธาและพรรคก้าวไกลทำคือเดินหน้าทำงานแบบ Empower หรือยอมรับอำนาจประชาชนโดยเดินสายฟังทั้งคนรวยและคนจน
วิธีคิดแบบก้าวไกลจึงทำให้ก้าวไกลเชื่อว่า “ผู้แทนฯ” ทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอใครรับรองเลย
ทุกพรรคการเมืองหาเสียงว่าประเทศเป็นของประชาชน แต่ก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่จงใจใช้คำว่าอำนาจสูงสุดในประเทศเป็นของประชาชน โลกทัศน์นี้เห็นว่าประชาชนคือศูนย์กลางของการเมือง, เศรษฐกิจ และนโยบายสาธารณะอื่นๆ จนคนจำนวนมากเห็นว่าก้าวไกลไม่ยั้งที่จะทำเพื่อประชาชน
ก้าวไกลเห็นและทำเพื่อประชาชนจริงหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องดูกันไป แต่ต่อให้คนที่ไม่ชอบก้าวไกลก็มักโจมตีว่าก้าวไกลพูดเรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะจงใจหลอกหรือเบี้ยว นั่นแปลว่าถ้าก้าวไกลทำอย่างที่พูดไม่ได้ก็ต้องมีบางอย่างทำให้ก้าวไกลล้มเหลว หรือพูดง่ายๆ คือ “โครงสร้าง” ของสังคม
ในแง่นี้ การเมืองแบบก้าวไกลคือการเมืองที่เพิ่มอำนาจประชาชนจนทำให้ประชาชนมองเห็นว่า “โครงสร้าง” ของประเทศคืออะไร ใครคือเหตุแห่งความไม่เป็นธรรม อะไรคือนโยบายที่ควรเป็น พรรคการเมืองควรทำอย่างไร และใครทำให้ประเทศผิดหลักการที่ควรเป็นจนต้องหาทางแก้ไขกัน
พรรคการเมืองอื่นมักโวยวายว่าถูกคนเลือกก้าวไกลกดดัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นคนเลือกก้าวไกลจริงๆ หรือเป็นคนที่เห็นว่าพรรคการเมืองนั้นๆ คิดและพูดผิดจากหลักการที่ควรจะเป็นจนเป็นเห็นว่าที่ประชาชนมีสิทธิด่า, ถาม, วิจารณ์ หรือแม้แต่กระแหนะกระแหนพรรคและนักการเมือง
ยังไม่รู้ว่าตำแหน่งประธานสภาในรัฐบาลก้าวไกลจะจบอย่างไร แต่ทั้งสองพรรคทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่ “ปัญหา” การเมืองนอกโต๊ะเจรจาอีกต่อไป ซึ่งก็ทำให้โอกาสของฝ่ายที่ต้องการทำลายการตั้งรัฐบาลชุดนี้หายไปด้วย เหลือไว้ก็เพียงการใช้ ส.ว.และคำร้องผ่านองค์กรอิสระและศาลเป็นเครื่องมือ
ก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่พูดว่าตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนเกม ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาล และผลเลือกตั้งที่ออกมาก็พิสูจน์ว่ามีประชาชนมหาศาลเชื่อในสิ่งที่ก้าวไกลพูดด้วย พลังของก้าวไกลคือการสะท้อนสำนึกใหม่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และพรรคการเมืองควรทำงานบนหลักการนี้จริงๆ
พรรคการเมืองเก่าแทบทุกพรรคหมั่นไส้และเหม็นขี้หน้าก้าวไกล คำดูถูก ส.ส.ก้าวไกล มีมาตั้งแต่สมัยเป็นอนาคตใหม่ว่าคนพวกนี้ซื้อได้ ทำงานไม่เป็น ได้เป็น ส.ส.เพราะไทยรักษาชาติ ฯลฯ แต่ชัยชนะของก้าวไกล 14 ล้านเสียงแปลว่าฐานสนับสนุนก้าวไกลมีจริงในสังคมไทย
พรรคการเมืองทุกพรรคใฝ่ฝันว่าจะได้รับการโอบอุ้มจากประชาชน และนโยบายก้าวไกลที่ “เห็นหัว” หรือ Empower ประชาชนทำให้ประชาชนโอบอุ้มก้าวไกลตั้งแต่การบริจาค, ช่วยหาเสียง หรือแม้แต่ปกป้องหลักการประธานสภาจากพรรคที่ได้เสียงข้างมากเป็นอันดับ 1
กระบวนการสกัดไม่ให้พิธาเป็นนายกฯ และก้าวไกลตั้งรัฐบาลนั้นมีแน่ แต่ใครที่เป็นนายกฯ แทนพิธาก็เตรียมตัวไว้เลยกับการถูกประณามว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนสมรู้ร่วมคิดปล้นอำนาจประชาชน
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ที่ฉากจบของการเมืองสกปรกหลายเรื่องจะไม่เหมือนเดิม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022