‘กิน’ สร้างชาติ : การส่งเสริมโภชนาการสมัยจอมพล ป. (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

‘กิน’ สร้างชาติ

: การส่งเสริมโภชนาการสมัยจอมพล ป. (2)

 

การกินถูกหลักโภชนาการจะทำให้เรือนร่างพลเมืองไทยสูงใหญ่ สมบูรณ์ แข็งแรงตามแบบอารยชน

 

รัฐบาลภายหลังการปฏิวัติ 2475 พยายามปลูกสำนึกต่อร่างกายสมัยใหม่ให้กับพลเมืองว่า “ร่างกายของมนุษย์จะสมบูรณ์แข็งแรงไม่อ่อนแอนั้น ก็เนื่องมาจากการรับประทานอาหารเป็นส่วนใหญ่

ถัดจากนั้นจึงถึงการบริหารร่างกาย แต่มนุษย์ในสมัยโบราณยังไม่ทราบถึงความจริงข้อนี้ เมื่อร่างกายอ่อนแอทรุดโทรมเจ็บป่วยก็มักจะโทษภูตผีปีศาจหรือสิ่งลึกลับต่างๆ ว่าเป็นผู้ทำ…”

(กองบริโภคสงเคราะห์, 2483, 13)

 

สงครามที่รัฐบาลต้องชนะ

คือ “เศรษฐสงครามและพยาธิสงคราม”

เมื่อความสุขสมบูรณ์ของพลเมืองคือเป้าหมายของรัฐบาลระบอบใหม่ หาใช่สงครามเพื่อประกาศความเกรียงไกรของชนชั้นปกครองตามแบบเดิม ดังนั้น รัฐบาลใหม่จึงมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพพลานามัยให้กับพลเมืองทุกคน ดังคำเปรียบเปรยของ นพ.ยง ชุติมา หัวหน้าองค์การส่งเสริมอาหาร กรมวิทยาศาสตร์ ว่า

“เมื่อพลเมืองของประชาชาติใดกอปร์ไปด้วยกำลังวังชากล้าแข็ง และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียฬ ก็เท่ากับว่าประชาชาตินั้นได้ชะนะสงครามครึ่งหนึ่งแล้ว สงครามที่ว่า มิได้หมายถึงยุทธสงคราม แต่หมายถึงเศรษฐสงครามและพยาธิสงคราม ระหว่างสงครามเศรษฐกิจ และสงครามโรคภัย เราจะต้องยกความสำคัญกว่าให้แก่สงครามโรคภัย เพราะศัตรูคู่ต่อสู้สำคัญของเราเป็นศัตรูที่เร้นลับ มองไม่เห็นตัว และการต่อสู้ก็ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง…” (ยง ชุติมา, 2482, 2)

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลตระหนักถึงความจริงดังกล่าวจึงส่งเสริมพลเมืองให้บริโภคอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชาการ รวมทั้งส่งเสริมให้พลเมืองนิยมออกกำลังกาย ดังเห็นจากการจัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้นที่กระทรวงศึกษาธิการ การตั้งองค์การส่งเสริมอาหารขึ้นที่กระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งหน่วยค้นคว้าเกี่ยวกับอาหารต่างๆ ขึ้นอีกในกรมวิทยาศาสตร์อีกด้วย (ยง, 8)

หลัก 6 ประการแห่งชีวิตอนามัยสมัยประชาธิปไตย

ไม่แต่เพียงหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นคำมั่นสัญญาในการบริหารประเทศแล้ว ยังมีหลัก 6 ประการสำหรับสุขภาพที่แข็งแรงอันสะท้อนถึงความเป็น “เจ้าชีวิต” ตนเองของเหล่าพลเมืองไม่ปล่อยไปตามยถากรรม

ในคู่มือสุขภาพอนามัยแนะนำหลัก 6 ประการแห่งชีวิตอนามัย ดังนี้ หลักที่ 1 กินอาหารดีถูกส่วนครบธาตุ หลักที่ 2 รู้จักพักผ่อนหย่อนใจเป็นกิจจะลักษณะ หลักที่ 3 ออกกำลังกายบริหารทุกวัน หลักที่ 4 รักษาความสะอาดประจำตัว หลักที่ 5 อยู่ในเคหะและรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด และหลักที่ 6 เปลี่ยนอากาศเป็นครั้งคราว

(กรมสาธารณสุขฯ, 27)

หลัก 6 ประการ คณะราษฎร และหลัก 6 ประการแห่งชีวิตอนามัย

“กิน” เพื่อสร้างชาติ

ในหนังสือวิชาอาหาร การสร้างพลเมืองให้มีสุขภาพดีนั้นไม่แต่เพียงเริ่มจากคุณภาพและปริมาณอาหารที่มีผลต่อขนาดรูปร่าง ลักษณะ และความแข็งแรงของร่างกายเท่านั้น แต่ยังทำให้พลเมืองมีอายุขัยยืนยาวอีกด้วย แม้ชาวตะวันออกจะตัวเล็ก แต่หากกินอาหารที่ดีแล้ว ร่างกายย่อมจะสูงใหญ่เท่าชาวตะวันตกได้เช่นกัน (ปุ๋ย, 17-19)

ในอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนนั้น น้ำนมเป็นอาหารที่ดีที่สุดดกับทุกวัย ชาวตะวันตกดื่มนมทุกวัน โดยเฉพาะเด็กในวัยเติบโตถูกบังคับดื่มนมทุกวัน แต่น้ำนมขณะนั้นยังเป็นอาหารมีราคาแพงเป็นอาหารที่ต้องนำเข้า ไทยมีปริมาณการผลิตที่ไม่เพียงพอ

ดังนั้น การกินโปรตีนผ่านน้ำนมจึงยังไม่เหมาะกับคนไทย รัฐบาลจึงส่งเสริมให้คนไทยทุกคนกินไข่ทุกวัน วันละ 2 ฟอง ด้วยหาซื้อง่าย ราคาถูก เหมาะในการทำอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ (กรมสาธารณสุขฯ, 57-58)

ในหนังสือคู่มือสุขภาพอนามัย ยังแนะนำเมนูอาหารที่ทำจากไข่ให้พลเมือง เช่น ไข่ดาวทรงเครื่อง ไข่ออมเล็ต ไข่กับมะเขือเทศ สลัดไข่ ไข่ตุ๋น ไข่เต้น ซุปไข่ ไข่หลอด แกงจืดลูกรอก เป็นต้น

นอกจากการบริโภคอาหารแล้ว คู่มือสุขภาพอนามัยยังแนะนำการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายสวยสมทรง การออกกำลังกายเป็นการเผาพลาญอาหาร ตลอดจนไขมันที่มีอยู่มากเกินไปในร่างกายนั้นให้เผาไหม้เพื่อใช้เป็นกำลังงาน

การ์ตูนส่งเสริมการกินโปรตีน

แต่สำหรับคนอ้วนมักเป็นคนเหนื่อยง่ายและไม่ชอบออกแรง แต่ก็ควรจำไว้ว่า เหตุที่อ้วนเพราะอาหารที่กินเข้าไปนั้นใช้ไม่หมดกลายเป็นไขมันพอกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ช่องท้อง ถ้าได้ออกกำลังสม่ำเสมอ อาหารก็จะถูกเผาไหม้ช่วยให้ไขมันหมดไปเร็วยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ความอ้วนก็จะลดลงได้ตามความปรารถนา

การออกกำลังกายนั้น ควรเริ่มทำทีละน้อยและค่อยเพิ่มขึ้นทุกๆ วันจึงจะได้ผลดี (กรมสาธารณสุขฯ, 100)

อย่างไรก็ตาม หากออกแต่กำลังกายอย่างเดียว แต่พลเมืองยังกินอาหารไม่ถูกหลักจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารหรือรับอาหารไม่เพียงพอนั้นมีผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและปวดเมื่อยได้ ดังนั้น ทุกคนต้องบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามกลุ่มอาหาร

อาหารกลุ่มที่ให้พลังงานและความร้อน เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล และอาหารไขมัน กลุ่มอาหารที่ซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เนื้อปลา เนื้อสัตว์ ไข่ วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ ผักผลไม้และน้ำ (กรมสาธารณสุขฯ, 2483, 48)

ดังนั้น ไม่แต่การกินดีอาหารที่ดี กินถูกหลัก ออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังต้องพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ ทำจิตใจสงบและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แสงแดด อากาศด้วยจึงจะมีสุขภาพที่แข็งแรง

ร้านขายเนื้อตามหลักอนามัยสมัยประชาธิปไตย (2484)

ล้างความรู้เรื่อง “กิน” แบบเก่า

สร้างพฤติกรรมการ “กิน” แบบใหม่

นพ.ยงเล่าว่า เมื่อครั้งไปตรวจราชการในต่างจังหวัดพบว่า การกินอยู่ของชาวชนบทยังถือคติ “กินขาวมากๆ กินกับน้อยๆ” คตินี้ยังถูกใช้กับเด็กและสตรีทำให้สุขภาพอนามัยคนไทยไม่ดี (ปุ๋ย, 2482, 350-351)

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องขจัดคติการกินอาหารที่ผิดที่ถ่วงความเจริญของชาติ เช่น การกินที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ความเชื่อในการกินของแสลงที่สร้างปัญหาให้สุขภาพ ดังเช่นกรณีแม่ป่วยต้องกินแต่ข้าวกับปลาแห้งเท่านั้น ด้วยกลัวว่าของแสลงอื่นจะผ่านไปทางน้ำนมให้บุตร คตินี้ทำให้สุขภาพแม่และบุตรทรุดโทรมาก

คติผิดๆ นี้ ยังพบในการให้อาหารคนป่วยที่ให้กินแต่ข้าวต้มกับปลาแห้งนั้นจะทำให้คนป่วยฟื้นตัวช้าอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังพบคติบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างร่างกายให้แข็งแรง เช่น คติกินเผ็ดที่คนไทยคุ้นชินมานาน เช่น การกินน้ำพริกเผ็ดๆ เพื่อให้กินข้าวได้มากๆ แต่ทางโภชนศาสตร์นั้น อาหารเผ็ดเป็นโทษต่อลำไส้และทางเดินอาหาร (ปุ๋ย, 353-354)

หรือคติ “อย่ากินกับมากจะเป็นตานขโมย” หรือ “กินข้าวมากๆ จะได้โตเร็วๆ” คติเช่นนี้ทำให้คนไทยที่ผ่านมาจึงเป็นคนตัวเตี้ย ตัวเล็ก เรือนร่างไม่สมสัดส่วน แข้งขาคด ขาโก่ง ฟันไม่แข็งแรง ส่งผลต่อภาพรวมของร่างกายที่ขาดความแข็งแรงทั้งปวง (ปุ๋ย, 2482, 338-371)

รวมทั้งคติความงามที่ผ่านมาอันนิยมกันว่า สตรีที่งาม คือ สตรีที่มีเรือนกายอรชรอ้อนแอ้นดังตัวละครในวรรณคดีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

หรือบางประเทศ สตรีที่งามต้องมีร่างอ้วนใหญ่ แต่สมัยใหม่นั้น นิยมร่างกายเพรียว พอดี ไม่อ้วนและไม่ผอม ดังนั้น สตรีปัจจุบันจึงมักลดความอ้วนหรือลดความผอมกัน แต่การลดความอ้วนหากทำไม่ถูกวิธีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น การอดอาหาร การใช้ยาถ่าย กินยาลดความอ้วน (ปุ๋ย, 356-362)

ภาวะทุพโภชนาการในระบอบเก่า และ “กิน” สร้างชาติ

สิ่งที่รัฐบาลต้องการ คือ ปรารถนาให้คนหนุ่มสาวมีความรู้ในเรื่องอาหารการกิน เพราะอาหารทำให้ชาติเข้มแข็ง ทำให้มีพลเมือง พลเมืองมีรูปร่างสูงใหญ่ มีกำลัง มีสมรรถนะในการทำงานสูง (ปุ๋ย, 370)

พลเมืองที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงจึงถือเป็นการสร้างชาติ ด้วย “ชาติอันเป็นที่รักยิ่งของเราจะดำรงคงความเป็นเอกราชอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเราเตรียมความพร้อม…ย่อมขึ้นอยู่กับอาหาร…ขอให้เราช่วยกันปฏิรูปอาหารการบริโภคของพลเมืองทั่วไปให้ถูกต้องสมกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งขจัดเสียซึ่งความอ่อนแอออดแอดอันเป็นศัตรูต่อความเจริญของชาติทั้งมวล” (ปุ๋ย, 371)

ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพพลานามัยทั้งการกิน การออกกำลังกายและการพักผ่อนให้พลเมือง คือ การคืนความเป็น “เจ้าชีวิต” กลับคืนสู่ทุกคนให้ร่วมกันสร้างตนและสร้างชาติต่อไป