ผลลัพธ์เลือกตั้งไทย ความพ่ายแพ้ของ ‘ทักษิณ’!

ระหว่างที่รอรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ผมไล่อ่านทัศนะต่อผลการเลือกตั้งทั้งที่เป็นรายงานและบทวิเคราะห์จากสื่อต่างประเทศหลายสำนัก

มาสะดุดใจเป็นพิเศษกับบทวิเคราะห์ของ โทรุ ทากาฮาชิ ที่ปรากฏในนิตยสาร นิกเกอิ เอเชีย เมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ที่เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า ชัยชนะชนิด “ช็อก” ใครต่อใครหลายคนของพรรคก้าวไกล “อาจเป็นหมุดหมายแสดงถึงจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของการเมืองไทย ยุคที่ไม่ถูกครอบงำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อีกต่อไป”

แน่นอน เริ่มต้นมาอย่างนั้นเพราะข้อเขียนทั้งชิ้นโฟกัสไปที่พรรคเพื่อไทยและอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ เป็นการเฉพาะ

โทรุ ทากาฮาชิ บอกว่า หลังปรากฏผลการเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) 2 วัน อดีตนายกฯ โพสต์คลิปวิดีโอไว้บนยูทูบ พูดถึงพรรคก้าวไกลโดยนัยผสมผสาน “ทั้งยกย่องและด้วยความขมขื่น”

ทากาฮาชิบอกว่าอดีตผู้นำไทยที่ลี้ภัยตัวเองไปต่างแดน พูดถึงการใช้เครือข่ายเพื่อ “ปฏิบัติการไอโอ” เพื่อกระจายข่าวลือที่ว่า เพื่อไทยตั้งเป้าจะจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ไม่รวมก้าวไกลอยู่ด้วย ส่งผลให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงบางส่วน “ไม่ไว้วางใจในพรรคเพื่อไทย”

ทักษิณยังตีตราพรรคก้าวไกลไว้ด้วยว่าคือ “ดิสรัปเตอร์” ที่ใช้โซเชียลมีเดียและเนื้อหาที่ยูสเซอร์เป็นผู้สร้างอย่างมี “ทักษะ”

 

ในทัศนะของทากาฮาชิ ชัยชนะของก้าวไกล ยังไม่ “เซอร์ไพรส์” เท่ากับการเสื่อมถอยความนิยมของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งเป็นครั้งแรกหลังจาก ชนะรวดมาในการเลือกตั้ง 5 ครั้งหลัง นับตั้งแต่ทักษิณก่อตั้งไทยรักไทย ขึ้นในปี 1998

ไทยรักไทยได้ชัยชนะครั้งแรกในปี 2001 หลังจากนั้นทำสร้างประวัติการณ์ “แลนด์สไลด์” กวาดที่นั่ง ส.ส.ได้ถึง 3 ใน 4 ของที่นั่งในสภาล่างทั้งหมด สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวขึ้นปกครองประเทศได้เป็นครั้งแรกและยังคงเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ปี 2007 ไทยรักไทยถูกยุบ อดีตนายกฯ ทักษิณยังขุดเอาสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกหลายคนเรียกขานว่าเป็น “ร่างทรงของทักษิณ” มานำพรรคพลังประชาชน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งก่อนถูกยุบพรรคท่ามกลางกระแสการประท้วงต่อต้านทักษิณที่ระเบิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2008

การเลือกตั้งในปี 2011 พรรคการเมืองของอดีตนายกฯ ทักษิณกลับมาอีกครั้งในชื่อพรรคเพื่อไทย โดยอดีตผู้นำไทยเลือกที่จะดึงเอายิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาวขึ้นมาเป็นแกนนำพรรค ซึ่งเป็นจุดที่ทากาฮาชิระบุว่า “เมื่อมองย้อนกลับไป นี่คือจุดที่มนต์ขลังในการเลือกตั้งของทักษิณขึ้นสู่จุดสูงสุด นับแต่นั้นมาเดิมพันของเขามักได้รับการพิสูจน์ว่าไร้ประโยชน์อยู่บ่อยครั้ง”

รัฐบาลเพื่อไทยในเวลานั้นเผชิญกับการก่อหวอดประท้วงยืดเยื้อบนท้องถนนในตอนปลายปี 2013 หลังพยายามผลักดันพรบ.นิรโทษกรรมแบบ “สุดซอย” ที่มีเป้าหมายเพื่อ “นำทักษิณกลับบ้าน” ลงเอยด้วยการรัฐประหารในเวลาต่อมา

เลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 2019 มีขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยากที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะกวาดชัยชนะท่วมท้นได้ เพื่อไทยเอาชนะได้หวุดหวิดอีกครั้ง

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป อดีตนายกฯ ทวีตข้อความเมื่อ 9 พฤษภาคม 5 วันก่อนกำหนดวันเลือกตั้งว่า จะกลับไทยในวันที่ 26 กรกฎาคม เพื่อ “เลี้ยงหลาน” ซึ่งทากาฮาชิระบุเอาไว้ว่า

“นี่น่าจะเป็นความพยายามเพื่อปลุกขวัญกำลังใจของพรรคเพื่อไทยและผู้สนับสนุน แต่ดูเหมือนว่าจะก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม”

 

ทากาฮาชิเล่าเอาไว้ว่า ย้อนหลังกลับไปในปี 2013 เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ปูทางให้ทักษิณกลับไทยนั้น ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่

ในช่วงเวลานั้น อดีตนายกฯ ทักษิณแวะเวียนไปยังโตเกียว นั่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหารเที่ยงกับชินโสะ อาเบะ อดีตนายกฯ ญี่ปุ่นผู้ล่วงลับที่โรงแรมโอคุระ โตเกียว

ทากาฮาชิอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ตอนหนึ่งของการสนทนา อาเบะถามทักษิณว่า การประท้วงจะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นหรือไม่

ทักษิณไม่ให้ค่ากับผู้ประท้วงในเวลานั้น บอกกับอาเบะว่า ผู้ชุมนุมมีคนเข้าร่วมแค่ 20,000 คนเป็นอย่างมาก

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มีผู้ประท้วงบนท้องถนนถึงกว่า 200,000 คน ชุมประท้วงรัฐบาลต่อเนื่องยืดเยื้อที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย กินเวลา 204 วัน และลงเอยด้วยการรัฐประหาร

ทากาฮาชิสรุปเอาไว้ว่า นั่นคือตัวอย่างของการ “อ่านเกมผิด” ของทักษิณ ชินวัตร เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในระยะหลัง รวมทั้งการทวีตข้อความในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสมในหนนี้

เขาตั้งคำถามเอาไว้ว่า กรณีเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เพราะสัญชาตญาณการเมืองขึ้นสนิม หรือเป็นกรณีที่จะเกิดขึ้นกับนักการเมืองที่เคยเป็นประธาน ถูกตัดขาดออกจากระดับล่างของบริษัท รับฟังได้แต่ข่าวดี สิ่งดีๆ ที่มีผู้ประจบสอพลอรายงานกันแน่?

“ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า เพื่อไทยถูกผลักออกไปไว้ด้านข้าง เป็นของเก่า ล้าสมัยทางการเมือง เหมือนกับกลุ่มนิยมทหารและกลุ่มต่อต้านทักษิณก่อนหน้านี้”

และ “เรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาว่าเป็นนักการเมืองมากบารมีที่ไม่เคยแพ้การเลือกตั้งมาก่อน ก็มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว”

ส่วนที่ว่าการสิ้นสุดนี้จะก่อให้เกิดยุคใหม่ของการเมืองไทยได้หรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป ทากาฮาชิสรุปเอาไว้เช่นนั้นครับ