โคโลญกิ้งกือของลีเมอร์

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

โคโลญกิ้งกือของลีเมอร์

 

เคยดูภาพยนตร์แอนิเมชั่นเบาสมองเรื่อง “มาดากัสการ์” กันไหมครับ

หนึ่งในตัวละครที่ดูเหมือนจะกระดี๋กระด๋า มีชีวิตชีวามากที่สุดในเรื่องนี้ เห็นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากราชาลีเมอร์หางแหวน คิงจูเลี่ยน (King Julian) ผู้มีเสียงเพลงในดวงใจ เปี่ยมล้นไปด้วยพลังงาน และพร้อมที่จะเฮฮาปาร์ตี้ได้ทั้งวัน ราวกับว่าจะ get high อยู่ตลอดเวลา

จากการศึกษาพฤติกรรมลีเมอร์ในธรรมชาติ นักวิจัยอาจจะพอเดาได้แล้วว่าลีเมอร์นั้น get high จากอะไรกันแน่

ในช่วงราวปี 1996 คริสโตเฟอร์ เบอร์คินซอว์ (Christopher R. Birkinshaw) นักวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์มิสซูรี (Missouri Botanical Garden) ได้ติดตามส่องพฤติกรรมฝูงลีเมอร์สีดำเพื่อศึกษาบทบาทของพวกมันในการกระจายพันธุ์พืช แต่สิ่งที่เขาได้ค้นพบกลับทำให้เขาแปลกใจ

เขาเห็นลีเมอร์สาวบางตัวคว้าเอากิ้งกือมากัดๆ แทะๆ เบาๆ พอให้กิ้งกือตกใจกลัวและหลั่งสารพิษกลิ่นแรงของมันออกมาเพื่อต่อต้าน ก่อนที่จะเอาไปทาถู ทาถู ไปจนทั่วทั้งตัว กัดไปน้ำลายก็ไหลยืดไป ผสมกันกลายเป็นโคโลญกลิ่นน้ำลายผสมสารพิษกิ้งกือ

สารพิษที่กิ้งกือหลั่งออกมานั้น รวมถึงสารในกลุ่มอัลดีไฮด์ (aldehyde) ควิโนน (quinone) ฟีนอล (phenol) คลอรีน (chlorine) ไอโอดีน (iodine) และไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide) แล้วแต่ชนิดของกิ้งกือ

ซึ่งนอกจากจะมีกลิ่นเหม็นอย่างร้ายกาจจนมดไม่อยากไต่ ไรไม่อยากตอม ยุงไม่อยากหอมแล้ว ยังมีฤทธิ์กล่อมประสาททำให้รู้สึกฟินนนนนอีกด้วย

คริสโตเฟอร์เชื่อว่า แม้ว่าอาการฟินๆ มึนๆ เมาๆ อาจจะไม่ได้ส่งผลดีอะไรนักกับลีเมอร์ แต่น่าจะทำให้พวกมันเสพติดกลิ่นที่ตุ่ยของกิ้งกือที่จะช่วยขับไล่แมลงและปรสิตต่างๆ ไปได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคร้ายหลายๆ อย่างได้ อาทิ เขื้อปรสิตที่ติดมากับยุงอย่างมาลาเรีย หรือไข้เหลือง

ทว่า ก็ยังมีข้อโต้แย้งอยู่อีกว่านั่นคือเหตุผลจริงมั้ย แล้วทำไมยุงจะต้องไปตามกัดตามก้นตามหาง แทนที่จะกัดหน้ากัดจมูกเน้นตรงไม่ค่อยมีขนจะดีกว่ามั้ย

ในปี 2016 ลูอิส เพกเคร (Louise Peckre) นักนิเวศวิทยาจากสถาบันวิจัยไพรเมทไลบ์นิซ (Leibniz Institute for Primate Research) ที่เข้าไปติดตามศึกษาพฤติกรรมลีเมอร์หน้าแดง ในป่าคิรินดี (Kirindy) ในตอนกลางของมาดากัสการ์ก็สังเกตเห็นพฤติกรรมเขมือบกิ้งกือของลีเมอร์แบบนี้เช่นกัน

ปกติ สภาพอากาศในป่าคิรินดีจะแล้งเกือบทั้งปี แต่ในช่วงฤดูร้อน จะมีฝนโปรยปรายลงมาอยู่สองสามเดือน หลังจากที่ฝนแรกของฤดูตกลงมา ชีวิตก็เริ่มสะพรั่งผลิบานออกมากันอีกครั้ง

กิ้งกือสีส้มสดมากมายเริ่มออกมาจากการจำศีล ลูอิสเล่าว่ามีลีเมอร์ 6 ตัวจากคนละฝูงตื่นเต้นกับกิ้งกือสีส้มและรีบคว้ามากัดๆ จนน้ำลายเหนียวเปลี่ยนเป็นสีส้มจากสารคัดหลั่งของกิ้งกือ ก่อนที่จะเอาไปทาที่ของลับ ก้นและหางของตัวเอง

พอโคโลญน้ำลายผสมสารคัดหลั่งกิ้งกือเริ่มแห้ง พวกมันก็จะเอากิ้งกือเข้าปากอีกรอบ กัดๆ เคี้ยวๆ ใหม่จนชุ่มโชก แล้วค่อยเอาไปทาถูอีกรอบ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไปเรื่อยๆ จนพอใจ

นี่อาจจะเป็นการบำบัดอาการอะไรซักอย่างที่ทำให้พวกมันไม่สบายเนื้อสบายตัว

ลีเมอร์หางแหวน ต้นแบบคิงจูเลี่ยน

ลูอิสเล่าว่าระหว่างที่สังเกตพวกมันกำลังโชลมขนด้วยสารสกัดกิ้งกือนั้น เขาแอบเห็นว่าบนตัวของลีเมอร์พวกนั้นมีหย่อมขนหาย (bald spot) หรือที่หลายคนจะเรียกว่าจุดนั่ง (sit spot) ซึ่งไม่มีขนขึ้นเพราะน่าจะถูกเสียดสีบ่อย ทั้งนั่ง ทั้งถู

หย่อมขนหายนี้ น่าจะเป็นจุดที่ง่ายต่อการติดเชื้อในกลุ่มออกซียูริดี้ (oxyuridae) เช่น พยาธิเข็มหมุด (pinworm) ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบและคันของผิวหนังในบริเวณนั้น

“ลีเมอร์หน้าแดงแห่งมาดากัสการ์นั้นไวต่อการติดเชื้อปรสิตในทางเดินอาหารจำพวกเดียวกับพยาธิเข็มหมุดในมนุษย์ซึ่งจะทำให้พวกมันทรมานจากผื่นคันทั้งบนผิวหนังและยังในรูทวารด้วย” ลูอิสกล่าว เธอเชื่อว่าสารเบนโซควิโนน (benzoquinone) ในพิษกิ้งกือน่าจะเป็นยาฆ่าพยาธิชั้นดี

“การป้องกันและกำจัดพยาธิเข็มหมุดคือเหตุผลหลักของการทาถูโคโลญกิ้งกือของลีเมอร์ เพราะติดต่อได้ง่ายทางก้นและหาง” ลูอิสกล่าว

จากที่เธอสังเกต ลีเมอร์บางตัวเอากิ้งกือมาทาถูเสร็จ ก็โยนเข้าปากเขมือบกิ้งกือที่เหลือ ลงท้องไปเลยก็มี เป็นไปได้ว่าจะใช้ถ่ายพยาธิไปด้วยเลยในคราวเดียว

กลายเป็นทฤษฎีใหม่ที่น่าสนใจ ว่า “ลีเมอร์โชลมสารสกัดกิ้งกือเพื่อฆ่าและป้องกันการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด”

หากแต่สารออกฤทธิ์จะใช่เบนโซควิโนนอย่างที่ลูอิสคาดไว้หรือเปล่า อันนี้ยังคงต้องรอติดตามกันต่อไป

หยิบนู่นนี่มาปรุงเป็นยา เห็นแล้วแอบนึกถึงละครในทีวีที่กำลังฉายอยู่ในตอนนี้…

แอบสงสัย ไม่รู้ว่ามี สูตรโคโลญกิ้งกือ…ด้วยมั้ย