ปิยบุตร แสงกนกกุล : การฟื้นฟูรัฐธรรมนูญเดิม vs. การก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (25)

ย้อนอ่านตอน (24)  (23) 

ประเด็นปัญหาว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นการก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หรือเป็นการฟื้นฟูรัฐธรรมนูญที่มีมาแต่เดิมให้กลับมามีผลบังคับใช้ได้จริง ถูกนำมาถกเถียงอภิปรายกันในสภาแห่งชาติ

เริ่มต้นจาก Clermont-Tonnerre กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 1789 ว่า

“เราต่างต้องการการปฏิรูปฟื้นฟูรัฐเสียใหม่ แต่ฝ่ายหนึ่งต้องการเพียงปฏิรูปเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบและก่อตั้งรัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ให้กลับมาเสียใหม่ … ส่วนอีกฝ่ายนั้น มองว่าระบบสังคมที่ดำรงอยู่เป็นความเลวร้ายอย่างแท้จริง พวกเขาเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสงวนรักษาไว้ซึ่งระบบรัฐบาลและรูปแบบกษัตริย์ซึ่งในจิตใจของชาวฝรั่งเศสทั้งผองต่างรักและเคารพ … พวกเขาจึงมอบอำนาจทั้งหลายอันจำเป็นให้แก่เราเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญ”

จากคำอภิปรายของ Clermont-Tonnerre นี้ จะเห็นได้ว่า เขาพยายาม “ตัดบท” ตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการป้องกันมิให้มีใครเสนอรูปแบบรัฐเป็นอย่างอื่นนอกจากราชอาณาจักรซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข

โดยยอมให้เหลือการถกเถียงไว้เพียงแค่การฟื้นฟูรัฐธรรมนูญเดิมหรือการก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น

ในขณะที่ Mounier ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอวิธีการอันเป็นยุทธศาสตร์อันแยบยลว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องลดความขัดแย้งไม่ลงรอยกันให้มากที่สุด การถกเถียงในประเด็นเรื่องรูปแบบของรัฐอาจนำมาซึ่งการถกเถียงกันอย่างรุนแรงจนไม่อาจจัดทำรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ

เขาจึงเสนอให้ละเว้นประเด็นดังกล่าว และรักษารูปของรัฐแบบกษัตริย์ซึ่งเป็นมรดกตกทอดกันมาทางประวัติศาสตร์ยาวนานเอาไว้ แล้วออกแบบรัฐธรรมนูญสร้างให้ระบบกษัตริย์นั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

โดยกำหนดให้มีการจำกัดการใช้อำนาจของผู้ปกครอง และจัดวางการแบ่งแยกอำนาจระหว่างองค์กรต่างๆ ให้ได้ดุลยภาพ

เราอาจเห็นเจตจำนงของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการประนีประนอมกันระหว่าง “การฟื้นฟูรัฐธรรมนูญกลับมาใหม่” กับ “การก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่” ได้อีก จากข้อเสนอเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง

หากพิจารณาเนื้อหาของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองโดยสภาพแล้วเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในระบบเก่ามาก่อน หากยืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ การฟื้นฟูรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้วให้กลับมาใหม่ ก็อาจไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก ในขณะเดียวกัน การยืนยันให้เป็นการก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด

ก็ไม่เป็นที่พอใจของกรรมาธิการปีกอนุรักษนิยม

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องหาทางออกในเรื่องนี้

Clermont-Tonnerre ได้หยิบยก les cahier dol?ances มาแสดงว่า มีทั้งฝ่ายที่ยอมรับว่าประเทศฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญมานานแล้ว แต่ไม่ได้รับการเคารพอย่างเต็มที่ จึงต้องฟื้นฟูสภาพบังคับใช้กลับมาใหม่ มีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าประเทศฝรั่งเศสไม่เคยมีรัฐธรรมนูญมาก่อน จึงจำเป็นต้องก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่

เขาจึงเสนอให้นำคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองซึ่งเป็นสิ่งใหม่ ผนวกเข้ามาไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันว่าคำประกาศนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญแต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกฟื้นฟูขึ้นมา ไม่ใช่ก่อตั้งใหม่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของ Clermont-Tonnerre และ Mounier ถูกเพิกเฉยไปอย่างรวดเร็ว เมื่อสถานการณ์การเมืองภายนอกสภาแห่งชาติทั้งในเมืองปารีสและชนบท ได้รุกเร้าจนทำให้การปฏิวัติต้องเดินหน้าอย่างก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ “La Grande Peur” หรือ “ความกลัวรวมหมู่ขนานใหญ่” และการประกาศยกเลิกระบอบอภิสิทธิ์ในวันที่ 4 สิงหาคม 1789

กรณีดังกล่าวกดดันให้สภาแห่งชาติตัดสินใจให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเริ่มต้นจากการตราคำประกาศสิทธิเสียก่อน โดยนอกจากจะสนองตอบต่อความคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่ชี้นำการปฏิวัติแล้ว ยังมุ่งหมายให้คำประกาศสิทธิฯ นี้เป็นกรอบเบื้องต้นของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอีกด้วย

มติของสภาแห่งชาติดังกล่าว นอกจากส่งผลให้ข้อเสนอของ Clermont-Tonnerre และ Mounier ต้องตกไปแล้ว ยังทำให้ความคิดการก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ขึ้นมาอยู่เหนือความคิดการฟื้นฟูรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมกลับมาใหม่

เพราะในเมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องเริ่มต้นจากคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองที่เป็นกรอบเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญแล้ว นั่นก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่กำหนดขึ้นมาต่างก็เป็นสิ่งใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งสิ้น ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มีอยู่แต่เดิม

คําประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองได้วางหลักการพื้นฐานอันเป็นกรอบเบื้องต้นของการทำรัฐธรรมนูญไว้ในสามมาตรา ได้แก่ การแบ่งแยกอำนาจ ตามมาตรา 16 กฎหมายคือเจตจำนงร่วมกัน ตามมาตรา 6 และอำนาจอธิปไตยของชาติ ตามมาตรา 3 ซึ่งทั้งสามหลักการนี้ต่างก็เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบอบเก่า จึงช่วยยืนยันได้ว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังทำขึ้นนั้น คือ การก่อตั้งขึ้นใหม่

อย่างไรก็ตาม สามหลักการพื้นฐานนี้ต่างก็มีความขัดแย้งกันเองและอาจชวนให้คิดได้ว่ารัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสนั้นกำเนิดจากสภาแห่งชาติเป็นผู้ก่อตั้งหรือสภาแห่งชาติฟื้นฟูเอาของเก่ามาใช้กันแน่

ในมาตรา 16 รับรองหลักการแบ่งแยกอำนาจไว้ว่า

“สังคมใดมิได้มีหลักประกันแห่งสิทธิทั้งปวงและมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจโดยชัดเจน สังคมนั้นย่อมปราศจากรัฐธรรมนูญ”

บทบัญญัตินี้ย่อมหมายความว่า รัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับหลักการแบ่งแยกอำนาจเสมอ

อย่างไรก็ตาม หากใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจมาเป็นปัจจัยชี้ขาดว่ามีรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว เราก็อาจกล่าวได้ว่าในสมัยระบบเก่า ก็มีรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะ ตามกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักรซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีได้กำหนดการแบ่งแยกอำนาจระหว่างศาลปาร์เลอมองต์กับกษัตริย์เอาไว้

หากเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถยืนยันได้อย่างเต็มที่ว่ารัฐธรรมนูญที่สภาแห่งชาติกำลังทำกันอยู่นั้น เกิดจากการก่อตั้งขึ้นใหม่

นอกจากนี้ หลักการแบ่งแยกอำนาจที่รับรองไว้ในมาตรา 16 ก็ไม่ได้นิยามอย่างชัดเจนว่า อำนาจใดที่นำมาแบ่ง?

และแบ่งในลักษณะอย่างไร?

นำอำนาจอธิปไตยมาแบ่งเป็นส่วนๆ หรือแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจออกไปตามภารกิจ?

แบ่งแยกแบบเด็ดขาด หรือแบ่งแยกแบบยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่?

ในกรณีอธิบายให้เป็นการแบ่งแยกอำนาจระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติกับองค์กรผู้ใช้อำนาจบริหารออกจากกัน ก็อาจขัดกับทฤษฎีของ Rousseau ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการกำหนดให้กฎหมาย คือ การแสดงออกซึ่งเจตจำนงร่วมกัน ตามมาตรา 6 อีก

ในมาตรา 6 ส่วนแรก ได้ยืนยันว่า “กฎหมาย คือ การแสดงออกซึ่งเจตจำนงร่วมกัน” แต่บทบัญญัติส่วนต่อไปในมาตราเดียวกัน กลับกำหนดให้ “พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิเข้าร่วมในการร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยเข้าร่วมด้วยตนเองหรือโดยผ่านทางผู้แทนของพลเมือง” เมื่อกฎหมายคือการแสดงออกร่วมกัน

ตามทฤษฎีของ Rousseau แล้ว เราจะอธิบายต่อไปได้อย่างไรในกรณีการตรากฎหมายโดยผ่านทางผู้แทน ซึ่ง Rousseau ไม่ยอมรับเรื่องดังกล่าว?

ยิ่งไปกว่านั้น หากอ่านมาตรา 6 ประกอบมาตรา 3 ที่บัญญัติว่า “หลักการแห่งอำนาจอธิปไตยตั้งอยู่ในชาติ องค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือปัจเจกชนผู้หนึ่งผู้ใดจะใช้อำนาจที่มาจากชาติโดยตรงแต่ลำพังตนนั้นมิได้”

ก็จะเกิดปัญหาอีกว่า ตกลงแล้วชาติจะแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างไร?

พลเมืองทั้งหลายจะแสดงเจตจำนงร่วมกันของตนออกเป็นกฎหมายได้ด้วยวิธีการใด?

ประการสุดท้าย บทบัญญัติในมาตรา 3 จงใจใช้คำว่า “หลักการแห่งอำนาจอธิปไตย” ไม่ได้ใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตย” นั่นหมายความว่า อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของชาติ ชาติไม่ได้เป็นผู้ทรงอำนาจอธิปไตย แต่ชาติเป็นเพียงผู้ทรงหลักการแห่งอำนาจอธิปไตยเท่านั้น เช่นนี้แล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของใครกันแน่?

จากการพิจารณาหลักการพื้นฐาน 3 ประการอันเป็นกรอบเบื้องต้นของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ อันได้แก่ การแบ่งแยกอำนาจ กฎหมาย คือ การแสดงออกซึ่งเจตจำนงร่วมกัน และหลักการแห่งอำนาจอธิปไตยตั้งอยู่ในชาติ แล้ว พบว่ามีความพยายามในการนำความคิดสองกระแสที่แตกต่างกันเข้ามาไว้ด้วยกัน

ความคิดหนึ่ง คือ ความคิดแบบ radical ของสมาชิกสภาที่รับแรงบันดาลใจมาจาก Rousseau

อีกความคิดหนึ่ง คือ ความคิดแบบอนุรักษนิยมที่ต้องการหาจุดพอเหมาะพอประมาณในการประสานความคิดแบบเก่าเข้ามา

ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างสองกระแสนี้ ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาตลอดการปฏิวัติ