ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | Biology Beyond Nature |
ผู้เขียน | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร |
เผยแพร่ |
เพียงสิบวินาทีก่อนไฟแดงจะเปลี่ยนเป็นเขียว ผมยื่นแบงก์ยี่สิบผ่านหน้าต่างรถแลกถั่วลิสงต้มหนึ่งถุง ฝักถั่วสีน้ำตาลหม่นเปื้อนขี้ดินซ่อนเมล็ดสีม่วงชมพู ความสุขรสเค็มหวานเคี้ยวมันราคาถูกยังหาได้ง่ายๆ ตามสี่แยกถนน
จากถั่วต้ม ถึงส้มตำ ต้มยำ สะเต๊ะ และเมนูคาวหวานอีกหลายร้อยรายการ ถั่วลิสงอยู่ในอาหารไทยใกล้ตัวพวกเราทุกคนตั้งแต่จำความได้
แต่น้อยคนคงจะรู้ว่าถั่วที่แสนจะธรรมดานี้ผ่านประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปีบนเส้นทางหลายหมื่นกิโลเมตร
ผ่านเรื่องราวจากเผ่าดึกดำบรรพ์บนเทือกเขาแอนดีสในเปรู นักเดินเรือแสวงโชคชาวยุโรป การเดินทางสู่เอเชีย การปลดแอกทาสและเสรีชนชาวแอฟริกันอเมริกันจากไร่ฝ้าย เนยถั่วของสัมพันธมิตรในสงครามโลก สู่ตลาดมูลค่าแสนล้านดอลลาร์ และการไขปริศนาในรหัสพันธุกรรม
นี่คือเรื่องราวของ “ถั่วลิสง (peanut)”
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการเพาะปลูกถั่วลิสงพบที่หุบเขานันชอค (Nanchoc) บนเทือกเขาแอนดีส (Andes) ในเขตประเทศเปรู
เปลือกถั่วและเมล็ดถั่วประเมินอายุกว่า 7,500 ปีกระจายอยู่บนซากคูคลองชลประทาน สิ่งปลูกสร้าง และโกดังเก็บอาหาร
เป็นส่วนหนึ่งวิถีชีวิตชาวอเมริกาใต้ตลอดช่วงหลายพันปีต่อจากนั้น
ถั่วลิสงมีวงจรชีวิตที่ประหลาดกว่าพืชทั่วไป ดอกถั่วที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะแทงยอดลงสู่ดินและพัฒนาเป็นฝักถั่วฝังอยู่ใต้ดิน การเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลิสงจึงน่าจะเป็นเรื่องยุ่งยากในยุคโบราณที่ยังขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือการเกษตร
นักโบราณคดีคาดการณ์ว่าถั่วลิสงในสมัยนั้นน่าจะเป็นอาหารไฮโซที่เฉพาะชนชั้นสูงได้กินและใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม
ในอารยธรรมอินคามีหลักฐานภาชนะทรงคล้ายถั่วลิสง สร้อยคอถั่วลิสงทองคำ หรือแม้แต่การฝังไหบรรจุถั่วลิสงในหลุมศพให้ผู้ล่วงลับมีถั่วไว้เคี้ยวกินในปรโลก
นักสำรวจชาวสเปนมาถึงอเมริกาใต้ช่วงศตวรรษที่ 15-16 ฝักถั่วลิสงแห้งๆ เก็บไว้ได้นานแถมคุณค่าอาหารก็สูงเป็นเสบียงที่เหมาะกับการเดินเรือทางไกล
นักสำรวจนำถั่วลิสงกลับไปยังยุโรปและทวีปอื่นๆ รอบโลก
ประเทศแถบเอเชียได้รับพันธุ์ถั่วลิสงในช่วงเวลานี้รวมทั้งประเทศไทยเราในสมัยอยุธยา ส่วนอินเดียและจีนก็ค่อยๆ กลายมาเป็นผู้ผลิตรายถั่วลิสงรายใหญ่จนถึงปัจจุบัน
ในแอฟริกาโดยเฉพาะซีกตะวันตกถั่วลิสงเข้ามาแทนที่ถั่วพื้นถิ่น แทรกอยู่ในอาหารและวัฒนธรรม
ชาวแอฟริกันบางเผ่าถึงกับเชื่อว่าถั่วลิสงเป็นหนึ่งในพืชที่มีวิญญาณสิงสู่
การค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกช่วงศตวรรษที่ 16-19 ขนส่งชาวแอฟริกันนับล้านมาสู่ทวีปอเมริกา
ทาสชาวแอฟริกันนำถั่วลิสงติดตัวมาด้วย เริ่มมีการเพาะปลูกถั่วลิสงในเขตตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา
แต่ในช่วงแรกๆ ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการเก็บเกี่ยวยังยุ่งยาก อีกส่วนเพราะผู้บริโภคในสหรัฐติดภาพภาพว่าถั่วลิสงเป็นอาหารเกรดต่ำของทาส คนจน และปศุสัตว์
สงครามกลางเมือง (The Civil War) ในสหรัฐเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมถั่วลิสง
ทหารทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ใช้ถั่วลิสงเป็นอาหารทดแทนเนื้อที่ขาดแคลน
หลังสงคราม ถั่วลิสงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขนมกินเล่นในวัฒนธรรมอเมริกัน หาบเร่ขายถั่วเริ่มปรากฏขึ้นตามท้องถนน เต็นท์ละครสัตว์ และสนามกีฬา
ขณะเดียวกันการพัฒนาเครื่องจักรสำหรับการเก็บเกี่ยวก็ช่วยลดต้นทุน ร่นระยะเวลาและเพิ่มคุณภาพถั่วลิสงที่เข้าสู่ตลาด
จอร์จ วอชิงตัน คาร์เวอร์ (George Washington Carver) เกิดในครอบครัวทาสชาวแอฟริกันช่วงสงครามกลางเมือง เติบโตมาในครอบครัวอุปถัมภ์ของพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงชาวผิวขาว คาร์เวอร์เป็นชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรกๆ ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยด้านการเกษตร และต่อมาได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์รุ่นบุกเบิกของมหาวิทยาลัยทูสกีดี (Tuskegee University) แห่งมลรัฐแอละแบมา
ตอนใต้ของสหรัฐเป็นแหล่งปลูกฝ้ายขนาดใหญ่มาตั้งแต่ก่อนเลิกทาส หลังสงครามกลางเมืองชาวแอฟริกันอเมริกันจำนวนมากในโซนนี้ยังคงทำงานในไร่ฝ้ายแลกกับส่วนแบ่งเพียงน้อยนิด ซ้ำร้ายผลผลิตฝ้ายช่วงนั้นก็เริ่มตกต่ำจากดินเสื่อมและการระบาดของด้วงศัตรูพืช (Boll Weevil)
คาร์เวอร์ในฐานะอาจารย์นักวิจัยได้คิดค้นระบบปลูกพืชหมุนเวียนสลับการปลูกฝ้ายกับพืชบำรุงดินอย่างถั่วลิสง
เพื่อรองรับผลผลิตที่เกิดขึ้น คาร์เวอร์ยังได้คิดค้นวิธีการใช้ประโยชน์จากถั่วลิสงแปรรูปกว่า 300 รายการทั้งทางอาหาร ยา เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ วัสดุศาสตร์ ฯลฯ
บางรายการอาจจะเพี้ยนๆ หน่อยอย่างน้ำมันถั่วลิสงแก้โปลิโอ แต่รวมๆ แล้วคาร์เวอร์เป็นผู้บุกเบิกให้มีการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์จากถั่วลิสงอย่างกว้างขวางจนได้ขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งอุตสาหกรรมถั่วลิสง”
ผลงานถั่วลิสงของคาร์เวอร์ได้รับการยกย่องจากเหล่าคนดังร่วมยุคสมัยอย่างเฮนรี่ ฟอร์ด, ทอมัส แอลวา เอดิสัน และ แฟรงคลิน รูสเวลต์
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับงานของคาร์เวอร์ จอห์น ฮาร์วีย์ เคลล็อกส์ (John Harvey Kellogg) แพทย์นักธุรกิจชาวอเมริกัน (คนเดียวกับที่ก่อตั้งแบรนด์ซีเรียล ‘Kellogg’ ที่เราคุ้นเคย) คิดค้นวิธีการบดถั่วให้เป็นครีมอาหารย่อยง่ายสำหรับผู้ป่วย
เคลล็อกส์จดสิทธิบัตรงานนี้ในปี 1895 และพัฒนาเป็นเนยถั่วทาขนมปังในเวลาต่อมา เนยถั่วในยุคแรกๆ มีปัญหาการแยกชั้นระหว่างน้ำมันถั่วลิสงกับกากถั่วบดที่อุณหภูมิห้อง ปัญหานี้ถูกแก้ไขด้วยเทคนิคการเติมไฮโดรเจนเพื่อแปลงสภาพน้ำมันคิดค้นโดย
โจเซฟ โรซฟิลด์ (Joseph Rosefield) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน โรสฟิลด์จดสิทธิบัตรงานนี้ในปี 1921 และต่อมาได้ตั้งบริษัท ‘Skippy’ แบรนด์เนยถั่วที่โด่งดังไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
การบริโภคถั่วลิสงและเนยถั่วขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-1918), ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression, 1929-1939) และสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) ถั่วลิงสงที่ให้พลังงานสูงโปรตีนสูงแต่ราคาถูกเป็นสิ่งทดแทนเนื้อสัตว์ในช่วงวิกฤติเหล่านี้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการบริโภคของชาวอเมริกันนับแต่นั้นมา
ปัจจุบันคนอเมริกันกว่า 90% บริโภคถั่วลิสงเป็นส่วนหนึ่งของอาหารประจำ ทุกวันนี้ทั่วโลกบริโภคถั่วลิสงปีละกว่า 40 ล้านตัน
งานวิจัยพันธุกรรมถั่วลิสงเริ่มตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 1934 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐเวอร์จิเนียรายงานการค้นพบโครโมโซมสี่ชุดในเซลล์ถั่วลิสง รายงานนี้บ่งบอกว่าถั่วลิสง (สปีชีส์ Arachis hypogaea ที่ปลูกกันแพร่หลายทั่วโลก) น่าจะเป็นลูกผสมที่พืชบรรพบุรุษสองสายพันธุ์
หกสิบกว่าปีหลังจากนั้นอีกทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐจอร์เจียเปรียบเทียบพันธุกรรมของ A. hypogaea กับพันธุกรรมของถั่วลิสงป่าและได้หลักฐานที่บ่งชี้ว่าถั่วลิสงนี้เป็นลูกผสมระหว่าง A. duranensis และ A. ipaensis
ถั่วลิสงป่าแทบทั้งหมดในอเมริกาใต้รวมทั้ง A. duranensis และ A. ipaensis มีโครโมโซมสองชุด (diploid) รวมยี่สิบแท่ง ถั่วลิสงพวกนี้หลายสายพันธุ์ถูกนำมาเพาะปลูกเป็นพืชเกษตรโดยชาวพื้นเมืองในอเมริกาใต้ตั้งแต่หลายพันปีก่อน
ด้วยความที่ถั่วลิสงออกฝักอยู่ใต้ดินทำให้มันกระจายพันธุ์ไปได้ไม่ไกลตามธรรมชาติ
ประเมินกันว่าการกระจายไประยะรัศมีหนึ่งกิโลเมตรอาจจะใช้เวลาถึงพันปี
ดังนั้น การผสมข้ามพันธุ์ระหว่างถั่วลิสงที่อยู่ต่างพื้นที่กันน่าจะต้องเกิดจากฝีมือมนุษย์ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือบังเอิญก็ตาม
A. hypogaea มีโครโมโซมสี่ชุด (tetraploid) รวมสี่สิบแท่ง หลักฐานทางพันธุกรรมบ่งชี้ว่าถั่วลูกผสมสายพันธุ์นี้กำเนิดขึ้นเมื่อราวๆ 4,000-6,000 ปีที่แล้วแถบตอนเหนือของเขตประเทศอาเจนตินาในปัจจุบัน A. hypogaea กลายเป็นถั่วลิสงยอดนิยมของชาวพื้นเมืองอเมริกาใต้แซงหน้าถั่วลิสงสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีโครโมโซมสองชุดก่อนจะถูกนักสำรวจชาวยุโรปนำไปเผยแพร่ทั่วโลกจนแตกออกเป็นสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ อีกมากมาย
งานวิจัยเปรียบเทียบคุณสมบัติของถั่วลิสงต่างสายพันธุ์บ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนชุดโครโมโซมนี้มีผลต่อการเพิ่มขนาดต้นถั่ว ขนาดใบ และประสิทธิภาพการสังเคราะห์ด้วยแสง
ด้วยเหตุนี้ A. hypogaea จึงกลายเป็นถั่วลิสงสปีชีส์หลักหนึ่งเดียวของมนุษย์ในปัจจุบัน แต่ด้วยจำนวนชุดโครโมโซมที่แตกต่างทำให้ถั่วลิสงสปีชีส์นี้มีเส้นทางวิวัฒนาการที่ตัดขาดจากถั่วลิสงป่าสปีชีส์อื่นๆ ผสมข้ามพันธุ์กันไปไม่ได้ และสูญเสียความหลากหลายของยีนหลายๆ ตัวไป ยีนพวกนี้อาจจะมีบทบาทสำคัญต่อความต้านทานโรคพืช ความแล้ง อุณหภูมิ และความกดดันจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
สมาพันธ์จีโนมถั่วลิสงนานาชาติ (International Peanut Genome Consortium) รายงานการถอดรหัสจีโนมของ A. duranensis และ A. ipaensis ในปี 2016 ตามด้วยจีโนมของ A. hypogaea และถั่วลิสงป่ากับถั่วลูกผสมใหม่ๆ อีกหลายสายพันธุ์ในปี 2019
คลังข้อมูลนี้นำมาสู่การค้นพบยีนตกหล่นหายไประหว่างหลายพันปีของการพัฒนาสายพันธุ์ถั่ว และแนวทางในการอัพเกรดถั่วลิสงเวอร์ชั่นใหม่ที่ทนแล้ง ทนโรค ผลผลิตสูง ป้อนตลาดถั่วที่ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตอบรับกระแสความนิยมโปรตีนทางเลือก
คราวหน้าเวลาเคี้ยวถั่วต้มอย่าลืมบุญคุณเหล่าบรรพชนคนรุ่นก่อนตลอดการเดินทางของถั่วนะครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022