ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
อย่างดีๆ ก็แก้วละ 1,000 บาท สำหรับ “กาแฟขี้ชะมด” โดยส่วนตัวผมเคยชิม “กาแฟขี้ชะมด” ต้นตำรับ ตอนที่มีโอกาสเดินทางไปประเทศ “อินโดนีเซีย”
ขนาดเป็นคอกาแฟ นอกจากได้ชิมรสชาติ ที่ต้องบอกว่า “ก็งั้นๆ” แล้ว ยังได้เดินดู “ฟาร์มกาแฟชะมด” ซึ่งมีทั้ง “ไร่กาแฟ” และ “ฟาร์มชะมด” ซึ่งน่าสงสารมาก
เป็นสิ่งที่ “องค์กรพิทักษ์สัตว์” People for the Ethical Treatment of Animals หรือ PETA ได้รณรงค์ให้เลิกอุดหนุน “กาแฟขี้ชะมด” ที่เป็นการทารุณสัตว์
ทั้งที่ตอนค้นพบสูตรลับของ “กาแฟขี้ชะมด” เป็นความ “โรแมนติก”
ทว่า เมื่อมีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ กลับกลายเป็นความ “ซาดิสต์” ที่หลายท่านยังไม่ทราบ
กําเนิดของ “กาแฟขี้ชะมด” นั้น เรียกว่าเป็นความบังเอิญก็ว่าได้ เพราะช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 “อินโดนีเซีย” เป็นอาณานิคมของ “ฮอลันดา” หรือ “ดัตช์” ที่มาทำไร่กาแฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจส่งกลับไปเนเธอร์แลนด์ (ฮอลแลนด์)
ความเขี้ยวของ “ดัตช์” ที่ห้ามทั้งคนงานในไร่กาแฟที่เป็นคนพื้นเมืองเก็บผลกาแฟเพื่อบริโภคเอง ซึ่งมีการระวางโทษที่เข้มงวด ทำให้ “คนอินโด” ไม่มีโอกาสดื่มกาแฟเลย
อย่างไรก็ดี โดยบังเอิญ “คนอินโด” พบเมล็ดกาแฟที่ปะปนอยู่กับ “ขี้ชะมด” จึงทดลองเก็บ “ขี้ชะมด” มาแยกเมล็ดกาแฟออก แล้วทำความสะอาด นำไปคั่ว แล้วบดเพื่อมาชงเป็นกาแฟดื่ม
เนื่องจากไม่ใช่ข้อห้ามของ “ดัตช์” ที่ห้ามเก็บเมล็ดกาแฟจากต้น หรือที่ตกพื้น
แต่เป็นการเก็บเมล็ดกาแฟ “ขี้ชะมด” ทำให้คนอินโดได้ดื่ม “กาแฟพรีเมียม” ที่ต่อมา “ดัตช์” ก็มาขอดื่มด้วย
จึงเป็นที่มาของ “สูตรกาแฟขี้ชะมด” ที่เป็นสินค้าราคาแพงในเวลาต่อมา เพราะผลิตได้น้อย เนื่องจากกระบวนการผลิตมีความซับซ้อน
ผ่านมาถึงยุคปัจจุบัน กระบวนการผลิต “กาแฟขี้ชะมด” ไม่ใช่การเก็บเมล็ดกาแฟจาก “ขี้ชะมด” ตามธรรมชาติ
แต่เป็นการทำฟาร์มกาแฟขี้ชะมด ที่ “องค์กรพิทักษ์สัตว์” People for the Ethical Treatment of Animals หรือ PETA ได้ลงพื้นที่ทำวิจัย และออกเป็นรายงานว่าเข้าข่ายการทรมานสัตว์
โดย PETA ได้เข้าไปตรวจสอบในทางลับกับอุตสาหกรรม “กาแฟขี้ชะมด” ใน “อินโดนีเซีย” ทั้งในแง่ของการเป็นอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายการทรมานสัตว์ และอาจเชื่อมโยงกับโรคระบาด
PETA บอกว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้าชม “ฟาร์มกาแฟขี้ชะมด” จะถูกจัดฉากให้เห็นฟาร์มแค่บางส่วน และปิดท้ายด้วยการชิม “กาแฟขี้ชะมด” และบางคนก็ซื้อกลับไป
ซึ่ง “ร้านกาแฟขี้ชะมด” และ “ฟาร์มกาแฟขี้ชะมด” มีมากใน “อินโดนีเซีย” เนื่องจากสร้างรายได้มหาศาล
โดยนอกจาก “อินโดนีเซีย” แล้ว “ฟิลิปปินส์” ก็มี “สวนกาแฟขี้ชะมด” และ “กาแฟขี้ชะมด” ก็ได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี จากการที่ PETA ได้ลงพื้นที่เพื่อสืบหาเบาะแสต่างๆ เกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ซึ่งได้พบกับสภาพของ “ชะมด” ที่น่าสลดหดหู่ใจในทุกๆ แห่ง
ทั้งใน “ฟาร์มกาแฟชะมด” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ตลาดค้าสัตว์ป่า” ที่ขาย “ชะมด” พบส่วนใหญ่หมดสภาพ หรือป่วยหนัก เสี่ยงต่อการเสียชีวิต และเป็นพาหะเชื้อโรคจากสัตว์สู่สัตว์ และจากสัตว์สู่มนุษย์
เพราะนอกจาก PETA จะห่วงใยในประเด็นการทรมานสัตว์แล้ว PETA ยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้าขาย “ชะมด” ใน “ตลาดค้าสัตว์ป่า”
เป็นความกังวล เช่นเดียวกับเมื่อครั้ง COVID-19 ที่แหล่งข่าวบางแห่งชี้ว่าไวรัสแพร่กระจายจากค้างคาว
ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการแพร่ระบาดครั้งอื่นๆ อาจเกิดจาก “ชะมด” ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน
เพราะส่วนใหญ่ “ชะมด” ที่ป่วย หรือชรา มักถูกขายออกไปยัง “ตลาดค้าสัตว์ป่า” ที่ไม่มีระบบตรวจสอบสุขภาพ และการควบคุมโรคติดต่อที่มีมาตรฐาน
ทำให้ “ชะมด” มีโอกาสสัมผัสโดยตรงกับมนุษย์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก
โดยนอกจากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจเกิด “ฟาร์มชะมด” แล้ว PETA ได้พบกับความโหดร้ายที่แพร่หลายในทุกฟาร์มที่ PETA ได้มีโอกาสเข้าไป
ซึ่งสภาพโดยทั่วไปของ “ฟาร์มชะมด” PETA พบ “ชะมด” ถูกแยกขังเดี่ยวในกรงเหล็กขึ้นสนิมแคบๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สกปรก
สภาพกรง “ชะมด” เต็มไปด้วย “ขี้ชะมด” ทั้งเก่าและใหม่ บนพื้นดินที่แห้ง และเกรอะกรังไปด้วยซากเมล็ดกาแฟเน่าเปื่อย โดยทั้งหมดถูกปกคลุมด้วยใยแมงมุม
โดยปกติแล้ว “ชะมด” เป็นสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืน แต่กลับถูกขังไว้ในกรงกลางแจ้งตลอดเวลา ไม่มีที่มืด และเงียบสงบให้นอนกลางวัน
ทำให้พวกมันเผชิญความทุกข์ยาก และสุขภาพย่ำแย่ “ชะมด” ส่วนใหญ่หอบหายใจ และแลบลิ้นตลอดเวลา เนื่องจากหายใจลำบาก จากความร้อนที่ได้รับมากเกินกว่าสภาวะธรรมชาติที่ “ชะมด” จะทนได้
อีกทั้ง “ชะมด” จำนวนมากมีบาดแผลจากการวิ่งชนกรง หรือใช้จมูกดัน และมุดซี่กรง เพื่อหาทางออก ตลอดหลายเดือนที่ถูกจองจำ “ชะมด” แสดงอาการเจ็บปวดที่ดูเหมือนว่าไม่เคยได้รับการดูแลทางการแพทย์ใดๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PETA พบการแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติของ “ชะมด” หลายตัว เช่น กัดหางตัวเอง หรือเดินวนไปมาซ้ำๆ ซากๆ ซึ่งบ่งบอกถึงความทุกข์ทางจิตใจอย่างรุนแรง
ที่หนักที่สุดก็คือ PETA พบ “ชะมด” จำนวนหนึ่งซึ่งมีสภาพคล้ายตาใกล้จะบอด แต่ยังคงถูกขัง และเป็นหนึ่งในสายพานการผลิตในอุตสาหกรรม “กาแฟขี้ชะมด” บันลือโลก
PETA ชี้ว่า ปัญหาหลักที่ผ่านมา คือการไม่บอกความจริงกับผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดฉลากที่ไม่ตรงไปตรงมา ว่าส่วนใหญ่ “กาแฟขี้ชะมด” เป็นกระบวนการที่ “มาจากป่า”
ซึ่งเกษตรกรอินโดนีเซียจำนวนมากบอกกับ PETA ว่า ในความเป็นจริงแล้ว มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ “กาแฟขี้ชะมด” จะผลิตจากขึ้นในป่า หรือพูดอีกแบบก็คือ เป็นกระบวนการเก็บ “เมล็ดกาแฟจากขี้ชะมด” ในป่า เหมือนในยุคโบราณ
PETA ชี้ว่า อุตสาหกรรม “กาแฟขี้ชะมด” จงใจติดฉลากให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด
จากข้อมูลวิจัย PETA ระบุว่า มีผู้ผลิตในอุตสาหกรรม “กาแฟขี้ชะมด” บางส่วน ยอมรับว่า บางโรงงานหรือบางฟาร์ม อาจมีการเก็บ “กาแฟขี้ชะมด” จากป่า แต่ก็เป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยมาก
หากเทียบกับปริมาณ “กาแฟขี้ชะมด” ที่บรรจุเป็นสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่คือ “กาแฟขี้ชะมด” ใน “สวนกาแฟชี้ชะมด” หรือ “ฟาร์มกาแฟขี้ชะมด” ที่ “ชะมด” ทั้งหมดถูกขังไว้ในกรง
เพื่อที่บรรดาผู้ผลิตจะได้อ้างได้ว่า “กาแฟขี้ชะมด” ของพวกเขาก็มาจากป่าด้วยเช่นกัน
มาถึงตอนนี้ PETA ได้ออกมารณรงค์ให้ร่วมกันลดการบริโภค “กาแฟขี้ชะมด” จากเหตุผลหลักคือการทรมานสัตว์
จากการที่ “ชะมด” เกิดความเครียดมากจากการถูกคุมขังในที่แคบ สกปรก ห้ามผสมพันธุ์ เมื่อ “ชะมด” ป่วย ก็ปล่อยให้ตาย แล้วไปซื้อมาใหม่จาก “ตลาดค้าสัตว์ป่า”
ไม่มีการตรวจสุขภาพ และรักษาโรค “ชะมด” จึงไม่แข็งแรง เพราะได้ทานแต่เมล็ดกาแฟเป็นอาหาร เพื่อหวังผลให้ “ชะมด” ขี้ออกมาเป็นเมล็ดกาแฟล้วนๆ
“ชะมด” บางตัวถึงกับถ่ายเป็นเลือดปะปนออกมา เนื่องจากร่างกายได้รับแค่เมล็ดกาแฟ ไม่ได้รับสารอาหาร หรือกากใยอาหารตามธรรมชาติของ “ชะมด”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชะมด” ได้รับกาเฟอีนเกินขนาด!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022