อิเหนาชู ‘การทูตเงียบ’ แก้วิกฤตเมียนมา

ปัญหาวิกฤตขัดแย้งนองเลือดในประเทศเมียนมา ที่ปะทุขึ้นนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมื่อกว่าสองปีก่อน จะกลับมาถูกโฟกัสบนเวทีหารืออีกครั้ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นในกลางสัปดาห์นี้

เป็นเวทีที่ถูกคาดหวังว่าผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน ที่แน่นอนว่าจะยังคงไร้เงา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารหรือผู้แทนทางการเมืองของคณะผู้ปกครองทหารของเมียนมาเข้าร่วมด้วยเนื่องจากยังคงถูกกลุ่มอาเซียนบอยคอตอยู่นั้น จะสามารถหาแนวทางโน้มน้าวให้คู่ขัดแย้งที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในวิกฤตความขัดแย้งนี้ โดยเฉพาะผู้นำทหารเมียนมา ยุติการกระทำอันใดที่จะเป็นการขยายวงความขัดแย้งหรือความรุนแรงให้บานปลายหรือก่อการนองเลือดให้ถลำลึกไปมากกว่านี้

และให้คู่ขัดแย้งยอมหันหน้ามาเจรจากัน เพื่อนำความสงบสันติและวิถีประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชนเมียนมาโดยเร็ว

 

อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียที่รับไม้ต่อมาจากกัมพูชา ในฐานะประธานกลุ่มของอาเซียนในปีนี้ ย่อมถูกคาดหวังว่าจะสามารถทำให้แผนสันติภาพ ตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เองด้วย ที่ได้บรรลุความเห็นพ้องกันไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนปี 2564 มีพัฒนาการที่คืบหน้าขึ้น หลังจากที่กัมพูชาซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนในปีที่แล้ว แม้จะใช้ไม้อ่อนในการเกลี้ยกล่อมให้ผู้ปกครองทหารเมียนมา ปฏิบัติตามโรดแม็ปที่ได้ร่วมกันวางเอาไว้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ประสบผลอันใด

บนความคาดหวังนี้ อินโดนีเซียได้ออกมาเปิดเผยในสัปดาห์ก่อนว่า ที่เห็นเงียบๆ ดูเหมือนจะไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรในเบื้องหน้าที่สปอตไลต์ส่องสว่าง

แต่แท้จริงแล้วอินโดนีเซียได้เคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ ในการปฏิสัมพันธ์มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวิกฤตความขัดแย้งเมียนมาทุกฝักฝ่าย ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านที่อิทธิพลบทบาทสำคัญอย่างจีน อินเดียและไทยมาโดยตลอดนับตั้งแต่อินโดนีเซียรับไม้ต่อประธานอาเซียน ในความมุ่งหวังที่จะเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพที่มีการริเริ่มไว้ขึ้นให้ได้ ในขณะที่เหตุปะทะรุนแรงระหว่างคู่ขัดแย้งในเมียนมายังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เรียกขานกลยุทธ์ในการดำเนินความพยายามเพื่อยุติความขัดแย้งและความรุนแรงในเมียนมาของอินโดนีเซียว่าเป็น “การทูตเงียบ” เพื่อทำให้เกิดความก้าวหน้าในวิกฤต

 

หนึ่งในความเคลื่อนไหวอยู่หลังฉากนั้นคือการที่นักการทูตของอินโดนีเซียได้จัด “การมีส่วนร่วม” กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นแล้วกว่า 60 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการพูดคุยกับรัฐบาลทหาร กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา และกลุ่มที่เรียกว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือรัฐบาลเงาเมียนมา ที่เป็นการรวมตัวกันของอดีต ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา

นางเรตโนให้คำอธิบายถึงกลยุทธ์นี้ว่า อินโดนีเซียเลือกใช้การทูตเงียบ เพื่อมุ่งสร้างความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้เปิดใจคุย

และแน่นอนว่าความพยายามสำคัญอันดับแรก คือการนำผู้เล่นสำคัญที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในวิกฤตความขัดแย้งเมียนมากลับสู่โต๊ะเจรจา และผลักดันให้ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ได้บรรลุความเห็นพ้องไว้เมื่อสองปีก่อน

นอกจากการเคลื่อนไหวด้วยการทูตเงียบของอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันยังมีความเคลื่อนไหวของผู้แทนรัฐบาลและนักวิชาการจากเมียนมาและชาติเพื่อนบ้านรวมถึงจากอินเดียและจีน ที่จัดการประชุมหารือกันอย่างเงียบๆ ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา

เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินความพยายามอย่างลับๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตเมียนมา

 

อย่างไรก็ดี มีความเห็นต่างออกไปจากการใช้กลยุทธ์การทูตเงียบ เช่น ในความเห็นของมาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ที่กล่าวว่า วิกฤตที่กำลังเลวร้ายลงในเมียนมา เป็นภัยคุกคามที่มีอยู่ต่ออาเซียน เรากำลังถูกโน้มน้าวให้เชื่อว่ามีการทูตแบบเงียบเกิดขึ้น แต่ตนเห็นว่ามันจะต้องไม่เงียบเกินไป จนกลายเป็น “การถกเถียงด้วยความเงียบ”

เขายังเสนอให้อาเซียน ควรเชิญรัฐบาลเงาเมียนมาอย่างเปิดเผยเพื่อมาร่วมพูดคุยกัน เพื่อให้รัฐบาลทหารได้รู้สึกถึงผลที่ตามมาจากความดื้อดึงไม่ยอมอ่อนข้อของพวกเขา

แต่ในทรรศนะของวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ มองว่าการดำเนินความพยายามใดๆ ต้องมีความระมัดระวังและอดทน เพื่อให้แน่ใจว่าการกระทำโดยรวมและรายบุคคลจะไม่ทำให้สถานการณ์ในเมียนมาเลวร้ายลง

และไม่ปล่อยให้กองทัพเมียนมาทำให้เกิดการหลั่งเลือดไปมากขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง

คงต้องรอดูว่าเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จะปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมใดขึ้นได้หรือไม่ ที่พอจะทำให้เห็นวี่แววของเสียงปืนต่อสู้สงบลงได้ในเมียนมา