เสียของ-สัญญาณจากประชาชน! | ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

เราคงจำกันได้ดีถึงวาทกรรมฝ่ายขวาจัด ที่กล่าวถึงผลของการรัฐประหาร 2549 ว่า “เสียของ” เพราะว่าในที่สุดแล้ว พรรคการเมืองที่ถูกโค่นล้มด้วยการยึดอำนาจในครั้งนั้น ชนะการเลือกตั้ง และกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งอย่างที่พวกเขาคาดไม่ถึง

อาการ “เสียของ” ในทางการเมือง เป็นจุดสำคัญที่ทำให้บรรดาฝ่ายขวาจัด ซึ่งไม่ตอบรับในเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตย และการเมืองในระบบรัฐสภา ตัดสินใจกลับไปสู่การทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า รัฐประหารครั้งนี้มีการเตรียมการมาล่วงหน้าทั้งในทางการเมืองและการทหาร มีการเชื่อมต่อระหว่างแกนนำในการประท้วงกับผู้นำทหารอย่างใกล้ชิด พร้อมกับมีการสร้างเครือข่ายมวลชนสาย “รัฐประหารนิยม” ให้เกิดในวงกว้างของสังคมไทย

เราคงต้องยอมรับว่า รัฐประหาร 2557 มีกระบวนการคิด และการเตรียมการมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ก่อนที่การตัดสินใจสุดท้ายจะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 22 พฤษภาคม กล่าวคือ ผู้นำทหารที่เข้าร่วมก่อการ และกลุ่มผู้นำสายขวาจัดที่เปิดการเคลื่อนไหวบนถนน ภายใต้สัญลักษณ์ “ธงชาติและนกหวีด” นั้น มั่นใจในชัยชนะของพวกเขาอย่างไม่มีข้อสงสัย … การเตรียมการทุกอย่างพร้อมหมด เนื่องจากม๊อบบนถนนเปิดการเคลื่อนไหวสร้างกระแสจน “สุกงอม” รอเพียงการประกาศยึดอำนาจอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ในทางกลับ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะอ่อนแอ ขาดการเตรียมรับรัฐประหารอย่างจริงจัง และอาจจะไม่ได้คิดรับมือในเรื่องพวกนี้มากนัก ฉะนั้น ความสำเร็จของการยึดอำนาจในปี 2557 จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายแต่อย่างใด

การสร้างกระแสต่อต้านประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเข้มข้นตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหาร อีกทั้งมีการเตรียมการสำหรับการเมืองหลังการยึดอำนาจเป็นอย่างดี จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า รัฐประหาร 2557 จะไม่หวนกลับไปสู่ภาวะ “เสียของ” เช่นหลังรัฐประหาร 2549

ผู้นำรัฐประหารที่ผนึกกำลังเข้าร่วมกับกลุ่มขวาจัดในการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำ ผู้นำพลเรือนปีกขวาในสายต่างๆ โดยมีความสนับสนุนจากกลุ่มทุนใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล ซึ่งในยุคปัจจุบันอาจต้องเรียกว่า “โอลิการ์กไทย” ทั้งยังมีองค์กรอิสระทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องมือสำคัญอีกด้วย การกำเนิดของรัฐบาลทหาร 2557 จึงเป็นความพร้อมอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ “เสียของ” ในทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

การเตรียมการเช่นนี้ช่วยทำให้การเป็นผู้นำรัฐบาลทหารในระบอบรัฐประหารเป็นไปอย่างดี โดยไม่มีอำนาจใดที่จะท้าทายได้ และปูทางในเวลาต่อมาไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งมีนาคม 2562 อันเป็นการตอกย้ำว่า รัฐประหาร 2557 ไม่ “เสียของ” เพราะเมื่อเลือกตั้งแล้ว ผู้นำรัฐประหารคนเดิมจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการจัดตั้ง “พรรคทหาร” เช่นอดีตผู้นำรัฐประหารในอดีต

แต่การอยู่ในอำนาจภายใต้เงื่อนไขของระบบรัฐสภา ที่แม้อำนาจหลายส่วนยังอยู่ในมือของผู้นำรัฐประหารเดิมก็ตาม แต่เงื่อนไขและกระบวนการของระบบรัฐสภาไม่ใช่การเมืองแบบ “เบ็ดเสร็จ” ที่ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร

การเมืองในระบบรัฐสภาหลังเลือกตั้ง 2562 มีพลวัตรในตัวเอง แม้ “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” จะสร้างความเป็น “ระบอบไฮบริด” ให้เกิดในการเมืองไทย แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะควบคุมทุกอย่างได้ตามที่ต้องการ โดยเฉพาะผลของปัจจัย 3 ประการหลัก คือ บทบาทของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บทบาทของมวลชนหลายภาคส่วนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล บทบาทของคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองทางการเมืองต่างจากฝ่ายรัฐและกลุ่มชนชั้นนำ

บทบาททั้ง 3 ส่วนเช่นนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยการมาของโลกโซเชี่ยลและสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งยังถูกท้าทายอย่างมากจาก “ปัญหาความมั่นคงด้านสาธารณสุข” ชุดที่ใหญ่ที่สุดของโลกปัจจุบันคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังถูกท้าทายซ้ำจาก “ปัญหาความมั่นคงทางทหาร” ชุดที่รุนแรงที่สุดของโลกยุคปัจจุบันคือ วิกฤตการณ์สงครามยูเครน และการกำเนิดของ “สงครามเย็นใหม่” ซึ่งทำให้เกิดวิกฤติสืบเนื่องตามมาไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ พลังงาน อาหาร ค่าครองชีพ และการขยายตัวของความยากจน

แต่ดูเหมือนว่าในสายตาของคนส่วนใหญ่ในสังคมแล้ว รัฐบาลเลือกตั้งของผู้นำรัฐประหารดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก โดยเฉพาะการจัดการทางเศรษฐกิจมหภาค ที่แม้จะมีการผลักดันโครงการประชานิยมขนาดใหญ่หลายโครงการในช่วงการระบาดใหญ่ แต่ก็ดูจะไม่สามารถผูกใจคนได้มากอย่างที่หวัง ข้อวิจารณ์ถึง “9 ปีแห่งความยากจน” และ “การเอื้ออาทรต่อทุนใหญ่” เช่น ปัญหาพลังงานเป็นประเด็นที่คนมีความเห็นร่วมกันอย่างมาก จนอาจต้องกล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจกลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของผู้นำรัฐบาลในปัจจุบันสำหรับการหาเสียง

ฉะนั้น หากพิจารณาตัวเลขจากผลโพล จะเห็นได้ว่า สัดส่วนเสียงที่พรรคฝ่ายค้านได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกครั้งที่มีการวัด และยิ่งสำรวจ ยิ่งเห็นถึงสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในทางตรงข้าม การเพิ่มเช่นนี้มีนัยถึง การลดลงของพรรคในซีกฝ่ายรัฐบาล และส่งสัญญาณถึงความพ่ายแพ้ของฝ่ายขวาจัดในโพล

การพ่ายแพ้ที่แม้จะเป็นผลโพลก็ตาม ชี้ชัดว่า 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐประหารพฤษภาคม 2557 จนถึงเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 นั้น เป็นอาการ “เสียของ” อย่างแน่นอน เนื่องจาก รัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถควบคุมการเมืองได้ตามที่ฝ่ายขวาจัดต้องการ ขณะเดียวกันก็เผชิญกับกระแสประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมากขึ้น

ดังนั้น หากผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามโพลจริงแล้ว จะเป็นคำตอบในตัวเองว่า รัฐประหารไม่อาจเหนี่ยวรั้งความเติบโตของกระแสประชาธิปไตยได้เลย … ถ้าจะไม่ “เสียของ” ก็อาจต้องตั้งคณะกรรมการโกงการเลือกตั้ง (ไม่มีนัยกับชื่อขององค์กรอื่นใด เผอิญตัวย่อเหมือนกันคือ “กกต.”) เพื่อจะได้ชนะเลือกตั้ง 2566 !