Learn to Earn แนวคิดใหม่ การศึกษาในศตวรรษที่ 21

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Learn to Earn

แนวคิดใหม่ การศึกษาในศตวรรษที่ 21

 

วันก่อนได้มีโอกาสฟัง “หมอมิ้ง” หรือ “นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายการศึกษาของพรรคเพื่อไทย

มีมุมมองที่น่าสนใจนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันสักตอนครับ

“หมอมิ้ง” เกริ่นนำว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการวางแผนในอนาคต

“นโยบายด้านการศึกษาของพรรคเพื่อไทย เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเรียนเพื่อหารายได้ นี่คือพื้นฐานสำคัญ” หมอมิ้งกล่าว และว่า

พรรคเพื่อไทยจะนำแพลตฟอร์มระบบดิจิทัลมาประยุกต์ โดยจะแบ่งเป็น 4 เฟส กล่าวคือ

1. วัดความรู้ความสามารถของประชาชน

2. โปรแกรมบทเรียน หรือ Course Ware ที่จะมีการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

2.1 การเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะแบ่งเป็นอีก 2 ส่วน คือ

2.1.1 เรียนออนไลน์ในประเทศ

2.1.2 ต่อยอดสู่การเรียนออนไลน์ต่างประเทศ

2.2 การเรียนแบบออฟไลน์ หรือออนไซต์

3. เสริมสร้างการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ด้วยฐานข้อมูลช่วยเพิ่มทักษะ เพื่อรีสกิล และอัพสกิล

4. เรียนเพิ่มเพื่อการหารายได้

“ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Learn to Earn ที่จะเป็นการสนับสนุนทั้งทุนระยะยาวรูปแบบเดิม และทุนระยะสั้น หรือกิจกรรมเสริมสร้างทักษะให้ผู้เรียนสามารถนำไปสร้างรายได้ให้กับตัวเอง” หมอมิ้งกล่าว และว่า

ระบบนี้ไม่ใช่รูปแบบใหม่ เพราะประเทศสิงคโปร์ได้ทำสำเร็จมาแล้ว คือสกิลฟิวเจอร์ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยพรรคเพื่อไทยจะผลักดัน Learn to Earn ให้เกิดขึ้น

“วิธีการก็คือ เราจะเน้นสร้างคนตั้งแต่เด็ก และไม่จำกัดอายุ เพราะการเรียนรู้สามารถเรียนได้ตั้งแต่เด็ก โดยเนื้อหาต้องครอบคลุมถึงผู้ใหญ่ ที่สามารถเรียนเพื่อรีสกิล และอัพสกิลได้”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้ หรือ Learn to Earn “หมอมิ้ง” สรุป

แนวคิด Learn to Earn ที่ “หมอมิ้ง” กล่าวถึงข้างต้น หมายถึง “การเรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ด้วยการสร้างอนาคตให้เด็ก เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชน

โดยการเสริมทักษะทางด้านความรู้และประสบการณ์ทำงาน หรือ Hard Skill และทักษะทางด้านสังคม และการควบคุมอารมณ์ หรือ Soft Skill รวมเรียกว่าทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หรือ Power Skill ซึ่งเป็นทักษะที่มีความจำเป็นทั้งในการใช้ชีวิต และการทำงานในยุคปัจจุบัน และในอนาคต

เป้าหมายหลักของ Learn to Earn คือการกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงในยุคปัจจุบัน

เพราะโลกทุกวันนี้ เด็กๆ ต้องอาศัยทักษะความรู้ ควบคู่กับทักษะชีวิต โดยต้องตระหนักถึงช่องทางการเรียนรู้ ว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น

เพราะการเรียนในห้องเรียนรูปแบบเดิมนั้น ไม่อาจตอบโจทย์อีกแล้ว เพราะการเรียนรู้ในรูปแบบเดิมไม่เหมาะกับเด็กทุกคน เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนไป รูปแบบการเรียนรู้ก็ต้องเปลี่ยนตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกไร้พรมแดน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น เด็กและเยาวชนต้องรู้จักตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้น ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร อยากจะมีชีวิตแบบไหนในอนาคต

เด็กต้องพร้อมเผชิญโจทย์ของโลกยุคใหม่ มุ่งไปที่การเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ แสวงหา และสร้างโอกาสในชีวิต รูปแบบการศึกษาในยุคปัจจุบันจึงไม่เพียงพออีกต่อไป

 

การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning จึงแก้ปัญหาได้ตรงโจทย์ ในฐานะกุญแจสำคัญ ที่ผลักดันให้เด็กและเยาวชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในศตวรรษที่ 21

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์ใหญ่ที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญท่ามกลางสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ ภัยธรรมชาติ และความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ภายใต้แนวคิด “ความเท่าเทียมทางการศึกษา” เด็กและเยาวชนต้องมีโอกาสได้รับการพัฒนาอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความรู้ เพราะความรู้เป็นต้นทุนที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ที่ไม่ว่าจะยากดีมีจน สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ดังนั้น เด็กและเยาวชนทุกคนจำเป็นต้องได้รับโอกาสทางการเรียนรู้อย่างถ้วนหน้านั่นเอง

เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 คือโจทย์ใหญ่ที่คนรุ่นใหม่ต้องพัฒนาตนเอง และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และรุนแรงอยู่เสมอ

และเพราะโลกยุคใหม่ ความรู้มีอยู่กว้างขวาง และกว้างใหญ่ ลึกซึ้ง เกินกว่าห้องเรียนในรูปแบบเดิมจะบรรจุไว้ได้ ดังนั้น การเรียนรู้นอกห้องเรียนจึงมีความสำคัญ

จึงเป็นที่มาของนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งตอบโจทย์พลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

 

ในยุคที่ทุกความรู้และทักษะสามารถค้นหาได้ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมาย และหลากหลายกว่าสมัยก่อน

ทุกวันนี้เราจึงพบเด็กและเยาวชนจำนวนมากประสบความสำเร็จ เป็นเถ้าแก่น้อยจากการ “ขายของออนไลน์” มีรายรับรายได้มากกว่าครูบาอาจารย์ที่คอยมองหาพวกเขาในห้องเรียนว่าเขาและเธอหายไปไหน ทำไมไม่มาเข้าชั้นเรียน

เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากในวันนี้ แทบไม่ให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาอีกต่อไป ไม่ต้องพูดถึงใบปริญญาที่เกือบจะไร้ความหมายสำหรับพวกเขาอีกเช่นกัน

เพราะพวกเขาสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ได้เอง มีรายรับหลักแสนต่อเดือน ซึ่งมากกว่าเงินเดือนของผู้สอนในระบบการศึกษาที่เขาและเธอเคยอยู่ในสถานะผู้เรียน มีหรือที่เขาและเธอจะมัวไปนั่งเรียน มุ่งหน้าทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ แล้วคิดกันว่าจะหันกลับไปเรียนเมื่อใดก็ได้

ดังนั้น ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องตระหนักกับปรากฏการณ์ข้างต้น ด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบาย เช่น การสร้างระบบ Credit Bank ให้เด็กและเยาวชนสามารถสะสมหน่วยกิตได้ตามความสะดวก และตามความสนใจ ในสาขาวิชาที่เขาต้องการเรียน

โดยเปิดช่องทางให้เด็กและเยาวชนสามารถโอนย้ายข้ามระดับ ข้ามคณะ หรือข้ามสถาบันการศึกษาได้อย่างเสรี

อีกทั้งควรสนับสนุนการศึกษานอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ยกระดับให้มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าการศึกษาในระบบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมหลักสูตร หรือประกาศนียบัตรต่างๆ ที่มีมาตรฐาน ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือ ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับทางวิชาชีพ และธุรกิจของคนรุ่นใหม่

และหากเขาอยากกลับมาเรียนเพื่อเอาใบปริญญา หรือประกาศนียบัตรเมื่อใดก็ย่อมได้

 

นี่คือแนวคิดของ Learn to Earn ที่จะเป็นค่านิยมใหม่ ซึ่งหน่วยงานผู้รับผิดชอบกับการบริหารจัดการระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการ ควรหันกลับมาทบทวนทิศทางการดำเนินนโยบายทางด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกความเป็นจริงในปัจจุบัน

ดังนั้น การพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน ภายใต้แนวคิด Learn to Earn จึงตอบโจทย์ และตรงกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นให้ทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุน และส่งเสริม เสริมสร้าง การพัฒนาทักษะให้กับคนรุ่นใหม่ หรือคน Generation Z ด้วยทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่มีบทบาทสำคัญในการนำไปใช้ประกอบอาชีพใหม่ หรืออาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการ เช่น งานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ YouTuber นักกีฬา eSport เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริม และสนับสนุน เสริมสร้างทักษะเข้าสังคมและอารมณ์ หรือ Social Skills และ Emotional Skill ประกอบด้วย ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความฉลาดทางอารมณ์ และทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะให้เด็กและเยาวชน เพื่อให้พร้อมออกไปเผชิญชีวิต และอยู่รอดได้ในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกในยุคอนาคตอย่างดีที่สุดนั่นเอง