‘เอลนีโญ’ ปั่นทะเลเดือด

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Cape Range National Park and Ningaloo Reef off Western Australia./ Photo by Darkydoors, Shutter Stock Images

จากยอดเขาสูงถึงใต้ท้องทะเลลึกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจับต้องได้ในทุกทวีป จากความแห้งแล้ง น้ำท่วมเมือง ถึงปรากฏการณ์คลื่นความร้อนแผ่ซ่าน

เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ชาวโลก

ความเสียหายจากมหันตภัยมูลค่านับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นี่เป็นบทสรุปรายงานชิ้นล่าสุดขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก

รายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างน่ากังวลเพราะเปลี่ยนแปลงด้านลบๆ ในทุกมิติ ทั้งอุณหภูมิบนพื้นผิวโลก อุณหภูมิในมหาสมุทร ปริมาณก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศโลกล้วนสร้างสถิติใหม่ๆ เป็นสถิติที่อันตรายต่อชาวโลก

อุณหภูมิผิวโลก ตั้งแต่ปี 2558 จนถึง 2565 นับเป็นห้วง 8 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการจดบันทึกสถิติไว้

และที่น่ากังวลมากขึ้นเนื่องจากช่วง 3 ปีระหว่างปี 2563-2565 เกิดปรากฏการณ์ “ลานีญา” อุณหภูมิโลกควรจะลดเพราะมวลอากาศเย็นแผ่ปกคลุม แต่กลับตรงข้ามอากาศร้อนขึ้นจนทำลายสถิติเดิม

คลื่นความร้อนแผ่คลุมพื้นที่อินเดีย นอกจากคนอินเดียทนร้อนไม่ไหวจนช็อกตายแล้วคลื่นความร้อนทำลายเศรษฐกิจภาคเกษตร ชาวนาชาวไร่ลดจำนวนชั่วโมงทำงานเพราะสู้แดดสู้ร้อนไม่ไหว ผลผลิตตกต่ำ รายได้หดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไล่ตามมา

ตั้งแต่ปี 2535 คลื่นความร้อนคร่าชีวิตชาวอินเดียมากกว่า 24,000 คน อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดไฟป่า ควันไฟ อากาศเป็นพิษ ความร้อนแผดเผาธารน้ำแข็งทางตอนเหนือของอินเดียละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม

พื้นที่ราว 90% ของอินเดียเจอกับอากาศร้อนสุดโหด ปีที่แล้วระยะเวลาที่อากาศร้อนยาวมากตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม ร้อนแทบทุกวัน จนผู้คนไม่อยากอยู่กลางแดดเปรี้ยงๆ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงราว 15%

คุณภาพชีวิตชาวอินเดีย 480 ล้านคนถดถอยลง คาดการณ์กันว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียจะหดตัวลงไปราว 2.8%

 

หันมาดูอุณหภูมิพื้นผิวโลก สำนักบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (โนอา) เก็บรวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนอุณหภูมิของพื้นผิวโลกทั้งพื้นแผ่นดินและพื้นผิวน้ำทะเล เอามาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต

โนอาพบว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น 1.24 องศาเซลเซียส สูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 174 ปี แยกเฉพาะพื้นผิวโลกอย่างเดียว วัดได้ 2.26 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิพื้นผิวทะเล 0.78 องศาเซลเซียส

ถ้าเอาสถิติพื้นผิวโลกของเดือนมกราคม-มีนาคม มาเทียบกับอดีต ถือว่าเป็นช่วงร้อนที่สุดอันดับ 4 ในรอบ 174 ปี

สถิติของอุณหภูมิน้ำทะเลเปรียบเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนระหว่าง ปี 2536-2535 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่า

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์ “ลานีญา” มาสู่ “เอลนีโญ” จะทำให้อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงกว่าปกติอีก 0.2 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิพื้นผิวโลกถ้าเพิ่มอีกเพียง 0.5 องศาเซลเซียส ชาวโลกยิ่งจะเป็นทุกข์หนาสาหนักเพราะเอลนีโญทำให้คลื่นความร้อนแผ่กว้างปกคลุมพื้นที่โลกมากขึ้นรวมถึงพื้นผิวน้ำทะเล

 

คลื่นความร้อนแผ่กระจายในทะเลหรือที่เรียกว่า “มารีน ฮีตเวฟ” (marine heatwave) กินพื้นที่มากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด

นักวิทยาศาสตร์และนักสมุทรศาสตร์ พยายามทำความเข้าใจกับ “มารีน ฮีตเวฟ” แต่ความรู้ยังทะลุไปไม่ถึง ไม่รู้ว่าผิวน้ำทะเลร้อนขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ เพราะข้อมูลในอดีตผิวน้ำทะเลไม่ได้ร้อนเร็วอย่างนี้

เทียบกับ 40 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิผิวน้ำทะเลพุ่งสูงถึง 0.6 องศาเซลเซียส

โนอาบอกว่า ในชั้นบรรยากาศโลกขณะนี้ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และไนตรัสออกไซด์มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงมาก เฉพาะปี 2565 ชาวโลกผ่อนคลายความกังวลของโรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมของชาวโลกกลับมาสู่ปกติเหมือนเดิม ทั้งการเดินทางไปมาหาสู่ การผลิตสินค้าการใช้จ่ายการขนส่ง และการใช้พลังงานกิจกรรมทั้งหลายเป็นสาเหตุให้การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกสูงมาก

เมื่อย้อนกลับไปดูตั้งแต่ช่วง 4 ทศวรรษ ชาวโลกปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกจนสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยน ความร้อนแผ่ซ่านลงมาสู่พื้นผิวโลกและน้ำทะเล อุณหภูมิทั้งพื้นผิวดินและผิวน้ำทะเลเกิดความร้อนสะสม

ปกติผิวน้ำทะเลดูดซับความร้อนของแสงอาทิตย์เอาไว้บางส่วน ถ้าร้อนมากความร้อนทะลุทะลวงสู่ด้านล่างมากขึ้น ผลสำรวจล่าสุดในระดับความลึกของน้ำทะเล 300 เมตรมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้นนั่นหมายถึง สัตว์และพืชปะการังใต้ทะเลจะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง

มารีนฮีตเวฟทำลายแนวปะการังซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารของสัตว์ใต้ทะเล ปริมาณสัตว์น้ำลดลงหรืออาจสูญพันธุ์

 

ผลกระทบจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นมีให้เห็นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาบริเวณชายฝั่งของประเทศเปรูและเอกวาดอร์ ในทวีปอเมริกาใต้

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลแถบนั้นเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 3 องศาเซลเซียส เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง เกิดความชื้นในชั้นบรรยากาศในปริมาณสูง เกิดกระแสลมแรงจัด ปั่นให้พายุไซโคลนชื่อ “ยาคา” เพิ่มพลังแรงกลุ่มเมฆดำทะมึนก่อตัวสูงถึง 6 กิโลเมตร

ไซโคลน “ยาคา” สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน ทรัพย์สินของชาวเปรู เอกวาดอร์และพื้นที่บางส่วนของบราซิลฝั่งตะวันตก เนื่องจากฝนตกหนักและฝนฟ้าคะนอง ปริมาณน้ำฝนทำลายสถิติเก่าๆ

ถ้าใครนึกภาพไม่ออกว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลร้อนขึ้นมีผลอย่างไรกับสภาพภูมิอากาศ ลองเอากาต้มน้ำแล้วเร่งไฟให้แรง ยิ่งไฟแรงเท่าไหร่ น้ำก็เดือดจัดเร็วแรงไอร้อนพุ่งกระจายมากเท่านั้น

มาที่บ้านเรา กรมอุตุฯ ประเมินว่า “เอลนีโญ” ส่งผลกระทบกับคนไทยในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป แนวโน้มจะเกิดฝนทิ้งช่วง ฤดูฝนมีฝนตกไม่ชุกมากเหมือนปีที่แล้ว และปรากฏการณ์นี้จะยืดยาวไปถึงฤดูร้อนของปีหน้า อุณหภูมิจะสูงขึ้นร้อนขึ้นและแล้งมากขึ้น

ต้องจับตาดูว่า “เอลนีโญ” คราวนี้จะยกระดับถึงขั้นโลกร้อนระอุทะเลเดือดปั่นให้พายุแรงฤทธิ์ทำสถิติใหม่ๆ? •

 

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]