เข็นอีอีซียุคสุญญากาศ ภารกิจร้อน บนบ่า ‘จุฬา สุขมานพ’

บทความเศรษฐกิจ

 

เข็นอีอีซียุคสุญญากาศ

ภารกิจร้อน

บนบ่า ‘จุฬา สุขมานพ’

 

หลายคนกำลังจับตาผลงาน “จุฬา สุขมานพ” ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือเลขาฯ อีอีซี คนใหม่ ที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

เลขาฯ จุฬาให้สัมภาษณ์กับ “มติชนสุดสปดาห์” ว่า แม้เวลานี้รัฐบาลจะเป็นรักษาการ แต่การทำงานของอีอีซียังเดินหน้าตามปกติ

พร้อมย้ำภารกิจสำคัญคือดึงการลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ ภาพรวมช่วงปี 2566-2570 อีอีซีกำหนดเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 5% ต่อปี

“สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายเดิมที่วางไว้ตั้งแต่ปลายปี 2565 จะไม่รื้อตัวเลขเป้าหมายแม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องท้าทายต้องทำให้ได้”

นอกจากนี้ จะประเมินปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบันว่า 12 อุตสาหกรรมจำเป็นทั้งหมดหรือไม่ หลังจากเกิดโควิด-19 ไลฟ์สไตล์ของคนทั้งโลกเปลี่ยนไป และปัญหาใหม่ อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์มีการต่อสู้และแบ่งค่ายชัดเจน สังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจโลกถดถอย

“จาก 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายจะเน้นกี่อุตสาหกรรม ต้องดูว่าต้องเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมไหนก่อน ไม่ทิ้งทั้งหมด อาจมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตก่อน อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือหุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพมากขึ้น”

 

ขณะเดียวกัน สร้างทีมขาย ฝึกคนอีอีซีเป็นเซลส์ขายพื้นที่ดึงอุตสาหกรรมที่เราเน้น ใช้คนขายที่ชำนาญ หน้าเดิมๆ เน้นขายโปรดักต์ คาดว่าจะขายได้ดีกว่า เปรียบกับเซลส์ขายโทรทัศน์คงไปขายรถยนต์ไม่ได้

เลขาฯ จุฬาย้ำว่า เวลานี้ต้องเร่งดึงลงทุนรายอุตสาหกรรมจากนักลงทุนเป้าหมายทั่วโลก หลังจากที่ผ่านมาเป็นช่วงเริ่มต้นอีอีซีได้เน้นลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ 4 โครงการ ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 2 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3

ดังนั้น ภารกิจอันดับแรกๆ ที่อีอีซีคิกออฟ คือ การร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปโรดโชว์ที่ประเทศอิตาลี เพื่อดึงลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง

คณะโดยได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอิตาลีกว่า 50 ราย และพบกับประธานสภาหอการค้าอิตาลี พบผู้บริหารของบริษัทในอิตาลี 30 ราย นักลงทุนสนใจโครงสร้างพื้นฐาน เมืองใหม่อัจฉริยะ ดิจิทัล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขนส่งและโลจิสติกส์ พลังงานสะอาด

รวมทั้งพบผู้บริหารระดับสูง บริษัทเลโอนาร์โด อุตสาหกรรมด้านอวกาศ และเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยชั้นสูง และพบผู้บริหารของบริษัท ABB SACE S.p.A. ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในด้านการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีขั้นสูงสู่อุตสาหกรรม 4.0 เยี่ยมชมโรงงานของบริษัท Biomedica Foscana S.p.A. ที่มีการผลิตยาและบรรจุวัคซีน

จบทริปต้องติดตามว่านักลงทุนอิตาลีจะหอบกระเป๋าบินลงทุนไทยกี่ราย

 

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อีกภารกิจที่เลขาฯ จุฬาเร่งทำคือ การสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนใน 4 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ

ล่าสุด นำสื่อมวลชนติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักอีอีซี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 พร้อมอัพเดตโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

โดยโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ปัจจุบันเริ่มก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างงานทางวิ่งที่ 2 (รันเวย์ 2) คาดดำเนินการเดือนพฤษภาคม และอยู่ระหว่างส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับบริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด หรือยูทีเอ ช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 คาดก่อสร้างปี 2567 และเปิดบริการช่วงปี 2570

ด้านการร่วมลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เมืองการบิน คลังสินค้า ลานจอดอากาศยาน ถนนและสาธารณูปโภคภายในโครงการ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ธุรกิจการบิน เบื้องต้นผู้โดยสารสนามบินช่วงแรกจะปรับเหลือ 12 ล้านคน จาก 15 ล้านคน จากผลกระทบโควิด-19 ส่วนปลายแผนยังเป็น 60 ล้านคนเท่าเดิม โดยวงเงินลงทุนตลอดโครงการ 2.04 แสนล้านบาท

ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 500 ไร่ อีกกลไกสำคัญของเมืองการบิน ปัจจุบันการบินไทยได้สิทธิดำเนินการ แต่หากไม่พร้อมลงทุน อีอีซีจะเชิญชวนนักลงทุนรายอื่นทั้งไทยและต่างชาติ

“จะดูรายละเอียดข้อตกลงร่วมทุนก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระหว่างการบินไทยกับแอร์บัสเมื่อปี 2561 อีกครั้ง หลังจากนั้นจะทำหนังสือสอบถามการบินไทย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีเวลาให้การบินไทยตัดสินใจเพราะต้องรอรันเวย์ 2 เสร็จช่วงปี 2569-2570 จึงจะเดินหน้าเอ็มอาร์โอต่อได้”

ด้านความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เลขาฯ อีอีซีให้ข้อมูลว่า พัฒนาเร็วกว่าแผน อยู่ที่ 43.72% คาดว่าจะเปิดดำเนินการท่าเรือก๊าซ (ส่วนที่ 1) ภายในปี 2570

โดยท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 รองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเขตนิคมฯ มาบตาพุด เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ รองรับการลงทุนในอีอีซี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19 ล้านตันต่อปี

 

ส่วนปมร้อนที่หลายคนจับตา คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างแก้ไขสัญญา ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด

ตั้งเป้าหมายออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (เอ็นทีพี) เดือนมิถุนายน แม้แก้ไขสัญญาโครงการไม่เสร็จ แต่ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานได้หลังเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน อยู่ภายใต้สัญญาเดิมก่อน

เมื่อแก้ไขสัญญาเสร็จต้องเสนอคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.รับทราบและส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบ

โครงการนี้เปิดบริการไม่ทันปี 2570 แน่นอน

 

สุดท้าย ส่วนโครงการแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างขุดลอกถมทะเล โครงการล่าช้าเนื่องจากโควิด อีกทั้งถมทะเลพื้นที่ต่ำเกินไป ต้องปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อไม่กระทบสัญญาร่วมทุนของโครงการ คาดว่าจะดำเนินการเสร็จปลายปี 2567

หลังจากนั้น กทท.จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานในส่วนของสัญญาร่วมทุนของโครงการแก่เอกชนได้กลางปี 2568 เอกชนใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570

ทุกภารกิจล้วนท้าทายเลขาฯ จุฬา อีกไม่นานจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาขับเคลื่อนอีอีซี น่าจับตาก้าวย่างนับจากนี้!!