ปากท้อง | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

บทความนี้ไม่มีเจตนาจะวิพากษ์ “จุดขาย” ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะรู้ดีว่า เพื่อไทยก็เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ที่ถูกเผด็จการทหาร, เทคโนแครต และนักวิชาการ ร่วมมือกันหลอกลวงเรื่อง “ปากท้อง” สืบเนื่องมากว่าครึ่งศตวรรษ

เรามักเชื่อกันทั่วไปว่า เรื่อง “ปากท้อง” (เศรษฐกิจและการจัดการเศรษฐกิจมหภาค) เป็นเรื่องของผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาทางนี้โดยตรง และหนทางที่ถูกต้องมีอยู่ทางเดียวที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ขั้นสูงเท่านั้นจึงจะค้นหาจนพบได้

อันที่จริงยังมีเรื่องของทรัพยากรสมัยใหม่อีกหลายเรื่อง ที่คนไทยมักถูกสอน (ทั้งทางตรงและอ้อม) ให้ต้องยอมยกอำนาจให้แก่ “ผู้ชำนัญการ” อย่างเด็ดขาด คำว่าเด็ดขาดในที่นี้หมายความว่า ไม่ใช่แค่เรื่องบังคับควบคุมเครื่องมือสมัยใหม่ แต่รวมไปถึงว่าเมื่อกำเนิด (เช่น) ไฟฟ้าแล้ว ใครควรได้ใช้ก่อนคนอื่น ใช้เท่าไร และอย่างไร เป็นต้น

ความคิดว่าสังคมก็ตาม, รัฐก็ตาม, ชีวิตก็ตาม ฯลฯ อาจแบ่งออกได้เป็นห้องๆ โดยแต่ละห้องไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันนั้น เป็นความคิดที่เกิดขึ้นในยุคใหม่ (ซึ่งส่วนหนึ่งก็ทำให้ศีลธรรมแบบเก่า ไม่ว่าจะมาจากศาสนาหรือชุมชนโบราณ กลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติจริงไม่ได้)

แต่ว่าเฉพาะรัฐไทย ความคิดที่แยกการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม ออกเป็นห้องที่ไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันและกันนั้น เป็นสิ่งที่ยิ่งใหม่ขึ้นไปกว่านั้นอีก เพราะเพิ่งเกิดขึ้นกับการปล้นแผ่นดินของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการรัฐประหาร และสร้างความชอบธรรมทางการเมืองด้วยการชูให้ “ปากท้อง” เป็นอิสระจากและสำคัญกว่า เสรีภาพ, สิทธิเสมอภาค, ความยุติธรรม, ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง, การจัดองค์กรที่มีประสิทธิภาพในภาคประชาชน ฯลฯ เป็นความคิดใหม่ที่รัฐบาลไทยก่อนหน้าไม่เคยคิดมาก่อน ไม่ว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎร

 

ย้อนกลับไปดูหลัก 6 ประการของคณะราษฎรสิครับ ทุกด้านของ “ชาติ” ย่อมแยกออกจากกันไม่ได้ นับตั้งแต่อธิปไตยไปจนถึงสิทธิเสรีภาพ, การศึกษา และการมีงานทำ

แม้แต่หลังการรัฐประหารปล้นแผ่นดิน 2490 คนที่ขัดขวางการเปิดการลงทุนของเอกชนอย่างเสรี คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งไม่ใช่นักเศรษฐศก-เศรษฐศาสตร์ที่ไหน แต่เป็นอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่แพร่หลายมากในประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลกและก่อนสงครามเย็นจะขยายตัว

จะว่าอุดมการณ์นี้ผิดก็ไม่ได้ ถูกก็ไม่ได้ แล้วแต่จะใช้ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกตอนไหนและอย่างไร แต่ผมอยากจะย้ำว่ามันเป็น “ทางเลือก” หนึ่ง ขึ้นชื่อว่า “ทางเลือก” ก็ไม่จำกัดคนเลือก ต้องประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม แม้ในระบอบอำนาจนิยม ก็ยังต้องยอมให้ต่อรองในหมู่พรรคพวกที่ร่วมกันปล้นบ้านเมืองมาด้วยกัน ทำให้ผู้เลือกมีมากกว่าคนเดียว

นายทุนน้อยไทย รัฐบาลอเมริกัน และธนาคารโลก ร่วมกันกดดันให้รัฐบาลจอมพลป.ยอมเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่รัฐบาลจอมพล ป.ก็ยังยืนยันจะใช้นโยบายเดิมที่จะรักษาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เอาไว้ในมือรัฐ

 

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดบ้านเมืองอีกครั้ง เพื่อสถาปนาอำนาจของกลุ่มตนเองอย่างเด็ดขาดใน พ.ศ.2501 โดยฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วเถลิงอำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัดด้วยธรรมนูญการปกครอง ระบอบของสฤษดิ์จึงแสดงตนเป็นโจรปล้นแผ่นดินเต็มร้อย ปราศจากฐานความชอบธรรมใดๆ รองรับ โดยเฉพาะฐานทางกฎหมาย

สฤษดิ์สร้างฐานความชอบธรรมทางอำนาจของตนขึ้นใหม่ อิงกับฐานความชอบธรรมทางการเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคืออำนาจทางการเมืองย่อมมีกำเนิดจากพระบรมราชานุมัติ คำสัญญาและท่าทีปราบคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด สร้างความไว้วางใจให้แก่สถาบันกษัตริย์ และสหรัฐ สัญญาเรื่อง “ปากท้อง” หรือการเปิดและเตรียมประเทศให้เอื้อต่อการลงทุนของเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ กลายเป็นความชอบธรรมอีกอย่างหนึ่งของการยึดอำนาจ

เผด็จการทหารชุดนั้นเรียกนโยบาย “ปากท้อง” แบบใหม่ของตนว่า “การพัฒนา” ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่องค์การสหประชาชาติและมหาอำนาจตะวันตกสนับสนุน

 

“ปากท้อง” หรือการพัฒนาไม่เป็นแต่เพียงกลไกที่เข้ามาแทนที่ความชอบธรรมทางการเมืองเท่านั้น ยังถูกเสนอต่อสังคมไทยให้เป็นพื้นที่ผูกขาดของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งในประเทศและจากองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ พื้นที่ผูกขาดหมายความว่าเป็นพื้นที่ซึ่งปลอดการเมือง ไม่ใช่เรื่องที่กลุ่มต่างๆ จะมาต่อรองกัน สิ่งที่จะได้มาจากเขื่อนพลังงานขนาดใหญ่ย่อมคุ้มกับความสูญเสียทุกอย่างของทุกคน แม้แต่ที่ทำกินผืนสุดท้ายของครอบครัวก็ตาม

“ปากท้อง” จึงเป็นอำนาจเผด็จการในเมืองไทยมาแต่ต้น อย่างไรก็ตาม “ปากท้อง” เป็นอำนาจเผด็จการที่มีพลังในการขยายอำนาจครอบคลุมได้สองทาง

ทางที่หนึ่งคือ เปิดให้คนที่สามารถแปรตนเองเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” เข้ามาร่วมใช้อำนาจนั้นด้วย ในระยะแรก เราจะเห็น “เทคโนแครต” ในวงราชการเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาหลายด้าน (ซึ่งมักตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานเฉพาะ) ในระยะต่อมา อาจารย์มหาวิทยาลัยก็แปรตนเองเป็น “นักวิชาการ” (ผมเข้าใจว่าคงหมายถึงคนที่สั่งสมความรู้ “ใหม่ๆ” ในสาขาต่างๆ ในขณะที่ “อาจารย์” หมายถึงผู้ที่สั่งสมความรู้ตาม “ประเพณี”) บางคนก็สามารถผลักดันตนเองให้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ หรือแม้ที่ปรึกษาของหน่วยงานด้าน “พัฒนา” ต่างๆ ได้สำเร็จ

ทางที่สองคือ “การพัฒนา” มีเงาของมันหลายชั้น จึงเปิดให้ด้านอื่นๆ ของ “ปากท้อง” เข้ามาสร้างพื้นที่ผูกขาดของตนเอง เช่น พลังงาน, การคมนาคม, ทรัพยากรน้ำ, ชายฝั่งทะเล ฯลฯ

แม้ทั้งหมดเหล่านี้รุกล้ำเข้ามาในชีวิตของคนมากสักเพียงไร แต่ชาวบ้านไม่เกี่ยว เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งต้องอาศัยความรู้ชั้นสูงและความเชี่ยวชาญในการจัดการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (เช่น จากปีโตรเลียมที่ซื้อเข้าโรงกลั่น จนถึงทุกหยดปลายสายจ่ายที่ปล่อยลงถังน้ำมันของรถ ผู้จ่ายสตางค์ไม่มีส่วนในการกำหนดอะไรทั้งสิ้น นอกจากควักกระเป๋า)

 

คติที่กีดกันประชาชนออกไปจากนโยบายของรัฐ เพราะนโยบายพัฒนาไม่ใช่การเมือง และดังนั้นจึงต่อรองไม่ได้ ย่อมเป็นปราการปกป้องระบอบเผด็จการให้เป็นอิสระจากประชาชนอย่างเต็มที่ depoliticization หรือการทำให้การบริหารสาธารณะไม่เป็นการเมือง ถูกขยายกว้างออกไปครอบคลุมแทบจะทุกเรื่อง เปิดโอกาสให้กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อไรก็ได้ เพราะประชาชนเจ้าของชาติไม่เกี่ยว ตราบเท่าที่ชนชั้นนำซึ่งเป็นกลุ่มคนหยิบมือเดียวในสังคมสามารถต่อรองจนตกลงแบ่งผลประโยชน์กันลงตัว การบริหารสาธารณะ ไม่ว่าจะในรัฐบาลเผด็จการทหารหรือที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นอภิสิทธิ์เฉพาะของคณาธิปไตยชนชั้นนำเท่านั้น

เพราะที่เรียกว่า “ผู้ชำนัญการ” นั้น ล้วนร่วมอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ หรือเป็นคนในบังคับของชนชั้นนำทั้งสิ้น

ประชาชนตกอยู่ในวงล้อมทางอุดมการณ์ของชนชั้นนำ จนทำให้จำนวนมากเชื่อว่า อะไรที่อ้างรัศมีของ “วิชาการ” ได้ สิ่งนั้นย่อมปลอดพ้นจากการเมือง (ทั้งๆ ที่นักวิชาการโดยเฉพาะในกระแสหลังสมัยใหม่ได้ชี้ให้เห็นว่าอคติทางการเมืองและสังคม มีส่วนสำคัญในการก่อร่างข้อสรุปหรือทฤษฎีทางวิชาการทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ) นี่คือเหตุผลที่ชนชั้นนำไทยซึ่งควบคุมทรัพยากรทุกชนิดไว้เต็มมือ ยอมรับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ตราบเท่าที่ “ประชาธิปไตย” ยอมรับการยกเว้นการเมืองไว้ในเรื่องที่อาจกระทบถึงผลประโยชน์ของชนชั้นนำ

ความไม่เป็นการเมืองของทุกสิ่งที่สามารถอ้างรัศมีของ “วิชาการ” ได้กลายเป็นอุดมคติในการบริหารสาธารณะ การเมืองกับประสิทธิภาพในการบริหารผกผันกัน การเมืองน้อยประสิทธิภาพสูง การเมืองมากประสิทธิภาพต่ำ อย่างที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา (หัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญที่ผู้ยึดอำนาจเขียนขึ้นเอง) บ่นพรรคฝ่ายค้านเสมอว่า ทำทุกอย่างให้เป็นการเมืองไปหมด ฟังดูเหมือนทำเช่นนั้นย่อมเท่ากับขัดขวางความเจริญของประเทศ

 

ที่จริงแล้ว “ปากท้อง” แยกออกจากเรื่องอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะแนวปฏิรูปที่ต้องการปรับเปลี่ยนสถาบัน, องค์กร และกระบวนการที่ดำรงอยู่และทำกันอยู่ในประเทศไทย

ถามว่า ปฏิรูปศาลยุติธรรม ทั้งในด้านการจัดองค์กร, บุคลากร และกระบวนการ เพื่อทำให้ศาลยุติธรรมไทยเป็นที่ไว้วางใจของทั้งคนไทยและชาวโลก เกี่ยวกับ “ปากท้อง” หรือไม่ ผมคิดว่าเกี่ยวอย่างยิ่งเลย เราพูดถึงการลงทุนขนาดใหญ่ไม่ว่าของคนไทยหรือต่างชาติ จะมีใครในโลกนี้หรือ ที่จะเอาเงินเป็นพันๆ ล้าน (บาท, ดอลล์, หยวน) มาลงในประเทศที่ไม่อาจไว้วางใจศาลยุติธรรมได้เต็มร้อย ยกเว้นแต่มั่นใจว่าได้สร้างจุดเชื่อมต่อ (connection) กับอำนาจของประเทศนั้นๆ อย่างมั่นคงแล้ว เช่น เปิดให้อำนาจเข้ามาร่วมถือหุ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ… ทั้งหมดนี้คือการเพิ่มต้นทุนที่ไม่เพิ่มผลิตภาพนัก แล้วเมื่อไรจึงจะเกิดการแข่งขันด้านการผลิตจริงๆ ล่ะครับ

เรามักยกย่องว่านายทุนทั้งท้องถิ่นและทั่วโลก สมัครใจมาลงทุนในสิงคโปร์ยิ่งกว่าเพื่อนบ้านทุกประเทศในภูมิภาค ซ้ำยังแข่งขันกันจนผลิตภาพของสิงคโปร์พัฒนาถึงระดับเดียวกันหรือเหนือกว่าประเทศโลกที่หนึ่งเสียอีก ปัจจัยที่เป็นเช่นนั้นคงมีหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่สำคัญแต่ไม่ค่อยพูดถึงในประเทศไทยก็คือ ในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหมด กระบวนการยุติธรรมของสิงคโปร์มีความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมตามกฎหมายที่สุด แน่นอนแม้ว่าถูกครหาอยู่บ้างก็ตาม แต่ไม่ถึงกับถูกเหยียดว่าเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายบริหารหรืออำนาจตามประเพณีเหมือนประเทศอาเซียนอีกหลายประเทศ

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, การบริหารสาธารณะที่สุจริต, การเมืองที่มีวิถีอันแน่นอนตามรัฐธรรมนูญจนทำนายกระแสความเปลี่ยนแปลงได้พอสมควร, อำนาจรัฐที่ถูกควบคุมระดับหนึ่ง และอาจต่อรองได้ผ่านหลายช่องทาง นับตั้งแต่ศาลไปจนถึงแรงกดดันในสังคมผ่านสื่อที่อิสระและสุจริต ฯลฯ เป็นต้น ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการทำให้ “ปากท้อง” ของประชาชนได้รับการตอบสนองดีขึ้นทั้งนั้น

การปฏิรูปซึ่งจะเปลี่ยนระดับโครงสร้าง (ทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม ฯลฯ ของประเทศ) ย่อมกระทบและเกี่ยวพันกับนโยบาย “ปากท้อง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ถ้าสมมุติให้นโยบาย “พัฒนา” ของไทยเกิดขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย (กว่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น) การพัฒนาของไทยอาจเริ่มต้นที่การนำเอาวิทยาการแผนใหม่ด้านการเกษตรไปให้ถึงเกษตรกรไทย จนไทยสามารถส่งออกผลผลิตด้านการเกษตรที่มีราคาดีได้หลายชนิด เกิดหัตถอุตสาหกรรมในระยะแรกที่เชื่อมโยงกับเกษตรไทย เช่น อาหารกระป๋องเพื่อขยายตลาดพืชผล (อันเป็นนโยบาย “พัฒนา” ของไต้หวันภายใต้เผด็จการเจียงไคเช็ก โดยการสนับสนุน (และอาจจะกำกับด้วย) ของสหรัฐ)

“ปากท้อง” หรือนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกแยกออกไปต่างหากจาก “การเมือง” เป็นคติที่สืบทอดมาจากเผด็จการทหารสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถูกทำให้กลายเป็นคติที่แพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำ เพราะนอกจากทำให้อำนาจการจัดการของฝ่ายชนชั้นนำเป็นอิสระจากประชาชนแล้ว คตินี้ยังเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาสูงสามารถไต่เต้าขึ้นสู่สถานภาพที่สูงขึ้นได้ด้วย

ในขณะเดียวกัน การทำให้นโยบายสาธารณะใดๆ ปลอดพ้นจากการเมือง คือการกีดกันประชาชนออกไปจากอำนาจและสิทธิในการปกครองตนเอง พร้อมกันนั้นก็เท่ากับเชื้อเชิญให้สถาปนารัฐบาลเผด็จการทหาร หรือการนำแบบอำนาจนิยมของรัฐบาลพลเรือน