ตัวเลข หรือชีวิต ความแตกต่างระหว่างนโยบายรัฐสวัสดิการ และนโยบายอภิสิทธิ์ชน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
(Photo by Romeo GACAD / AFP)

ตัวเลข หรือชีวิต
ความแตกต่างระหว่างนโยบายรัฐสวัสดิการ
และนโยบายอภิสิทธิ์ชน (4)

 

ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้เป็นอีกครั้งที่นโยบายสวัสดิการถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย

และแน่นอนที่สุดคำถามสำคัญคือสวัสดิการที่จะนำมาจัดให้แก่ประชาชนนี้นำเงินมาจากที่ไหน

จะจัดเก็บภาษีได้เพียงพอหรือไม่

หรือว่าถ้าจัดสวัสดิการตัวนี้ไปจะคุ้มค่าหรือไม่

ผู้คนที่ได้รับสวัสดิการคู่ควรที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือไม่ ถ้าเกิดว่าพวกเขาไม่ได้ขยันเพียงพอ หรือว่าเอาเงินไปใช้อย่างไม่ถูกต้องจะเกิดอะไรขึ้น เราควรจะมีข้อมูลในการพิสูจน์หรือเปล่าในแง่ของตัวเลขก่อนที่จะมีการจัดสวัสดิการต่างๆ ให้แก่คนในสังคม

ดังนั้น ในส่วนสุดท้ายที่ผมจะเปรียบเทียบระหว่างนโยบายสวัสดิการสำหรับประชาชนและนโยบายสวัสดิการสำหรับอภิสิทธิ์ชน

จะพูดถึงข้อแตกต่างที่สำคัญคือความสำคัญระหว่างตัวเลขและชีวิตมนุษย์สิ่งใดเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่ากัน

 

คําอธิบายว่าด้วยวินัยทางการคลังเป็นคำอธิบายที่ได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วเมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้เข้ามาจากระบบการบริหารนโยบายของรัฐไทย

วินัยทางการคลังจึงมีความหมายในลักษณะที่ว่าใช้จ่ายตามความจำเป็นใช้จ่ายตามความเหมาะสมหรือใช้จ่ายในสิ่งที่ก่อให้เกิดมูลค่า

แต่คำถามก็คือ

อะไรคือความจำเป็นอะไรคือความเหมาะสมซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งความจำเป็นและความเหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจในสังคมนั้นคนมีอำนาจก็สามารถบอกได้ว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่มีความจำเป็น

เช่น ถ้ากองทัพมีอำนาจก็คงบอกว่าเรือดำน้ำมีความจำเป็น

ถ้าผู้นำทางศาสนาจารีตมีอำนาจก็คงบอกว่างบประมาณด้านศาสนาเป็นความจำเป็น

พวกเขาก็คงมองว่างบประมาณสำหรับประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องผ่านการพิสูจน์เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการยืนยันว่ามีความจำเป็นจริงๆ

ในทางกลับกันถ้าเกิดประชาชนมีอำนาจเราคงไม่ต้องมานั่งอธิบายว่า เงินเลี้ยงดูเด็กมีความจำเป็นขนาดไหน

เงินบำนาญสำหรับพ่อแก่แม่เฒ่ามีความจำเป็นขนาดไหน

รวมถึงคงไม่ต้องบอกว่าทำไมการศึกษาถึงควรฟรีสำหรับทุกคน

ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่ควรที่ต้องกู้เงินเพื่อที่จะมีความฝัน

จากการพิสูจน์ยืนยันในหลายประเทศในหลายสิบปีที่ผ่านมา

เมื่อใดก็แล้วแต่ที่มีคาถาว่าด้วยวินัยทางการคลัง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมานั่นก็คือความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

งบประมาณสำหรับประชาชนกลายเป็นเรื่องยากแต่นโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนรวยและอภิสิทธิ์ชนในสังคมกับกลายเป็นเรื่องง่าย

ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือการกดค่าแรงการวางระบบค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมลดอำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานก็จะกลายเป็นนโยบายที่ทำได้ง่ายมากขึ้นภายใต้คำว่าการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น เมื่อใดก็แล้วแต่ที่เราปล่อยให้คำว่าวินัยทางการคลังมีค่ามากกว่าศักดิ์ศรีและชีวิตของความเป็นมนุษย์สิ่งที่เกิดตามขึ้นมาก็คือความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดอำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคม

 

ปัญหาข้อถกเถียงอีกประการหนึ่งก็คือเมื่อเราพูดถึงการจัดสวัสดิการก็มักมีการตั้งคำถามว่าสวัสดิการนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน สวัสดิการนั้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด

โดยที่เรามักจะเริ่มในการตั้งคำถามว่าถ้าเกิดว่าเราให้เด็กทุกคนสามารถเรียนมหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วประเทศนี้จะได้อะไร

หรือว่าถ้าเราให้เงินบำนาญแก่คนแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันถ้วนหน้าไม่ว่าพวกเขาจะประกอบอาชีพอะไร มีความยากจนมากน้อยแค่ไหน หรือมีลูกหลานดูแลหรือไม่ ประเทศนี้จะได้อะไร

เราจึงมักกลับไปอยู่ที่คำถามที่ว่าเราให้อะไรเกี่ยวกับประเทศนี้มากพอแล้วหรือ อย่างที่เราจะเรียกร้องจากประเทศนี้และวนกลับไปที่ว่า ถ้าเราไม่เสียภาษีมากพอ เราก็ไม่ควรจะเรียกร้องเอาสวัสดิการต่างๆ แม้ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่เราควรได้ตั้งแต่แรก?

มันเป็นการให้เหตุผลที่แปลกประหลาดราวกับว่ามนุษย์แยกขาดกันและไม่ได้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเลย

คนเข็นผักในตลาด แม่ค้าแผงปลาทู คนงานก่อสร้าง แรงงานรับจ้างในท้องนา ถูกบอกว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เสียภาษีมากพอ และพวกเขาไม่ควรที่จะได้รับสวัสดิการ

พร้อมกับชูตัวเลขสถิติจำนวนผู้เสียภาษีในประเทศนี้ว่ามีอยู่เพียงน้อยนิดแล้วคนส่วนมากจะเรียกร้องสวัสดิการได้อย่างไร

คนกลุ่มข้างต้นที่ผมได้เอ่ยมาพวกเขาก็มีส่วนในการสร้างประเทศนี้ขึ้นมา

สร้างมูลค่าในสังคมขึ้นมา

ทำให้พวกเราท้องอิ่ม

ทำให้พวกเรามีเสื้อผ้าใส่

ทำให้พวกเรามีข้าวกิน

และพวกเราก็ต่างสัมพันธ์กันอยู่ในสังคมนี้ไม่ว่าโดยตรงโดยอ้อม ขาดใครไปไม่ได้เลย

แต่เหตุใดเมื่อถามถึงเรื่องการจัดสวัสดิการ ชนชั้นนำกลับอ้างว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ทำอะไรให้แก่ประเทศนี้มากพอจึงไม่สมควรที่จะมีชีวิตที่ดี

 

นอกจากนี้ เราก็ยังลืมหลักการสำคัญที่ว่าชีวิตที่ดีนั้นมันเป็นสิ่งที่พวกเราควรได้ตั้งแต่เกิด ไม่มีใครอยากจะฝ่าฟัน

คนที่บอกว่าให้คนอื่นพยายาม ส่วนมากแล้วไม่ได้เป็นคนที่มีชีวิตลำบากตั้งแต่แรก พวกเขามีชีวิตที่เติบโตมาท่ามกลางแต้มต่อ

ถ้าไม่เป็นแต้มต่อที่ได้มาโดยกำเนิด ก็เป็นแต้มต่อที่พวกเขาได้มาด้วยความโชคดี เพราะทุกคนในประเทศนี้ล้วนทำงานหนักตามแนวทางของตนเองและก็สมควรที่จะมีชีวิตที่ดีด้วยกันทั้งนั้น

และสุดท้าย บ่อยครั้งที่ข้ออ้างของคำว่าความคู่ควรด้านตัวเลขมักจะปรากฏกับความคิดที่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่สมควรที่จะมีชีวิตที่ดี

ถ้าเป็นคนที่ไม่ดูแลสุขภาพ พวกเขาควรที่จะได้รับการดูแลสวัสดิการด้านสุขภาพเหรอ

ถ้าพวกเขาเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน พวกเขาก็ไม่ควรที่จะได้รับสิทธิ์ในการเรียนหนังสือฟรีจากรัฐบาลหรือ

ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ไม่ตั้งใจเลี้ยงลูกก็ไม่สมควรที่จะได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลหรือการดูแลเด็กที่ดีหรือ

คนแก่ที่ไม่ขยันอดออมยามหนุ่มสาวก็ไม่สมควรที่จะได้รับเงินบำนาญที่เพียงพอหรือ

การใช้ข้อมูลตัวเลขเพื่อบอกว่าใครสมควรได้หรือไม่ได้รับสวัสดิการในอีกด้านกลายเป็นเครื่องมือให้ความชอบธรรมแก่ความเหลื่อมล้ำที่คงอยู่ว่าไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง

โดยการอธิบายว่าสวัสดิการนั้นเป็นสิ่งไม่คู่ควร

เป็นวิธีการที่ใช้ลูกเชอรี่ลูกเดียวอธิบายต้นไม้ทั้งป่า

ทุกคนรู้ว่ามันไม่จริงและเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน

แต่ผู้มีอำนาจก็มักจะใช้ข้ออ้างข้างต้นนี้ในการปฏิเสธการจัดสวัสดิการของประชาชน

 

โดยสรุปแล้ว หลักการตัวเลขเหนือชีวิตคนท้ายสุดแล้วไม่ได้เป็นหลักวิชาที่มีความจริงสูงส่ง

ส่วนมากมักเป็นเพียงข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมเท่านั้น

ทั้งหมดที่ได้พิจารณามาเป็นภาพสะท้อนสำคัญสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ว่า แม้จะเป็นนโยบายสวัสดิการเหมือนกัน

แต่นโยบายสวัสดิการแบบอภิสิทธิ์ชนกับนโยบายรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชนย่อมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งผู้ลงคะแนนเสียงก็จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด