เลือกตั้ง’66 ยังมองไม่เห็นอนาคต | เหยี่ยวถลาลม

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

“ฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษ 1960 (พ.ศ.2503) กับโปรตุเกสในทศวรรษ 1970 (พ.ศ.2513) ยังเผชิญกับเรื่องรัฐประหาร”

“…กองทัพไทยถูกดูแคลนจากนักทฤษฎีรัฐศาสตร์ในโลกตะวันตกว่า ไม่มีทางเป็นทหารอาชีพ เพราะทหารไทยเป็นทหารการเมือง”

นั่นเป็นข้อมูลจากหนังสือชื่อ “เสนาธิปไตย-รัฐประหารกับการเมืองไทย” ของ อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข สำนักพิมพ์มติชนได้จัดพิมพ์เมื่อมกราคม 2558 หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ถึงปี

“เสนาธิปไตย-รัฐประหารกับการเมืองไทย” สรุปบาดแผลจากรัฐประหารเอาไว้ 15 ประการ น่าสนใจดังนี้

1.รัฐประหารไม่ได้ช่วยสร้างเสถียรภาพในการเมืองไทย 2.รัฐประหารไม่ได้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย 3.รัฐประหารทำลายเกียรติภูมิของประเทศ

4.รัฐประหารทำลายความเป็นทหารอาชีพของกองทัพ 5.รัฐประหารสร้างความแตกแยกในสังคมไทย (อ้างความปรองดอง แต่แบ่งแยกแล้วปกครอง) 6.เป็นการสิ้นสุดการเมืองยุคอุดมการณ์

7.รัฐประหารทำให้กระแสอนุรักษนิยม-จารีตพุ่งสูงขึ้น 8.รัฐประหารนำพาการเมืองไทยไปสู่การเมืองโลก (ประชาคมโลกมีปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่คบค้า) 9.รัฐประหารควบคุมการเมืองปัจจุบันไม่ได้ 10.รัฐประหารเป็นสัญญาณของความป่วยทางการเมือง

11.รัฐประหารทำลายระบบตรวจสอบและถ่วงดุลทางการเมือง 12.รัฐประหารทำลายระบบธรรมาภิบาลด้านความมั่นคง (กิจกรรมของทหารไม่สามารถตรวจสอบได้ กองทัพกลายเป็น “องค์รัฏฐาธิปัตย์”

13.รัฐประหารทำลายแนวคิดการควบคุมโดยพลเรือน (แม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์ พรรคก็ต้องคุมปืน) 14.รัฐประหารทำลายการปฏิรูปกองทัพ และ 15.รัฐประหารอาจนำไปสู่การเลือกข้างในเวทีโลก

น่าหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน (อีกสักครั้ง) !

อ่านเพื่อจะได้ไม่เผลอใจคิดว่า “เลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้การเมืองไทยเปลี่ยน”

การเมืองไทยไม่เปลี่ยน!

 

“เลือกตั้ง” เป็นเพียงการเปิดรูระบายให้ความอึดอัดได้พวยพุ่งออกมา

ไล่มาตั้งแต่ยุคผิน – เผ่า – ป. – สฤษดิ์ – ถนอม – หอยธานินทร์ – สุจินดา – บัง – ประยุทธ์ นักรัฐประหารทุกคนต่างก็เชื่อว่าด้วยกติกาที่กำหนดขึ้น พรรคทหารหรือนอมินีทหารที่ทำอยู่ จะได้ทำต่อ และอยู่นานอยู่ยาว กระทั่งเมื่อบ้านเมืองทำท่าจะศิวิไลซ์ ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน พลเมืองตื่นตัวเรียกร้องขอส่วนแบ่งจากการจัดสรรที่เหลื่อมล้ำ ผู้คนกล้าสงสัย ทวงถาม และต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า ถึงตอนนั้นจะมีคน “ดับสวิตช์” ประชาธิปไตย

ในยุคอัศวินเผ่า ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองถูกอุ้มฆ่า ยิงทิ้งซึ่งหน้าแล้วยัดข้อหา กระทั่งลงมือสังหารอย่างอุกอาจกลางถนนทีละหลายศพก็ยังทำได้

ถัดมายุคสฤษดิ์ใช้ข้อหา “คอมมิวนิสต์” เป็นเครื่องมือ ไล่ล่ากวาดล้างปราบปรามนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และฝ่ายตรงข้าม

อดีตเสรีไทยผู้มีคุณูปการอย่าง “ครอง จันดาวงศ์” ทองพันธ์ สุทธิมาศ, รวม วงศ์พันธ์, ศุภชัย ศรีสติ ถูก “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” สั่งประหารชีวิตโดยไม่ต้องมีการสอบสวนทวนความ ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา

ยุคนั้น “พรรคคอมมิวนิสต์” ที่เคยอยู่แต่ในป่าจึงได้ที “เปิดพื้นที่” รับผู้คนที่หนีไปพึ่งพา

คอมมิวนิสต์พัฒนาจากเล็กสู่ใหญ่ จากมือเปล่าไปสู่การจับปืนสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้ก็ด้วยเหตุปัจจัยจากความป่าเถื่อนหลุดโลกของผู้นำไทย

หลงทิศผิดทางกันไปใหญ่เมื่อฝ่ายขวาจัดประสานพลังกันก่อเหตุ “สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519” !

หลัง 6 ตุลาคม 2519 “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” เติบใหญ่ก้าวกระโดดจน “กองทัพไทย” เกือบจะเพลี่ยงพล้ำ

นายทหารจำนวนหนึ่งพลันตาสว่าง พลิกเปลี่ยนมุมมอง

พี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ ไทยฆ่าไทย รบกันไปก็เท่านั้น ปืนไม่ใช่คำตอบ การต่อสู้ทางอุดมการณ์ต้องใช้ “ปัญญา” !

ก่อเกิด “นโยบาย 66/2523” เปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่าง “มีที่ยืน”

ที่เคยโหมประโคมใส่สีตีไข่ให้ร้ายป้ายสีทุกคนที่เห็นต่าง ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกภูตผีปีศาจ ฆ่าพระ เผาวัด ทำลายศาสนาและล้มล้างสถาบันนั้น “กลับหลังหัน”

นโยบาย 66/23 ให้อภัย ให้โอกาส ให้วางปืนแล้วออกจากป่า มาใช้เวทีรัฐสภาต่อสู้ด้วยมือเปล่า ด้วยปากและด้วยสติปัญญา

ประเทศเริ่มมีความหวัง ประชาธิปไตยเริ่มมีโอกาสได้พัฒนา

 

แต่แล้วชั่วเวลาไม่นาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หรือ “คณะ รสช.” ก็สั่งเคลื่อนพลรบของกองทัพไทยเข้าจี้บังคับ “ยึดอำนาจรัฐ” ด้วยอาวุธ

“รัฐประหาร” เป็นพฤติการณ์ทางการเมืองที่ชั่วร้าย ผิดอาญาร้ายแรง ถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตหรือ “ประหารชีวิต” เช่นเดียวกับที่คอมมิวนิสต์ใช้อาวุธเพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐ

การเมืองไทยย้อนกลับไปเหมือนปี พ.ศ.2500

เมื่อ “รสช.” วางแผนสืบทอดอำนาจ จึงเกิดการชุมนุมประท้วง กองทัพถูกใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ ’35”

บทเรียนซ้ำๆ ที่ได้ก็คือ “การเลือกตั้ง” ในประเทศไทยยังเป็นแค่ “พิธีกรรม” ที่นักรัฐประหารจัดให้

การเลือกตั้งไม่ใช่ “การเปลี่ยนผ่าน”ไปสู่ประชาธิปไตย

แค่ “กระบวนการ” ประหน้าทาแป้งแปลงโฉมของ “คนหน้าเดิม” ที่ไม่ยอมลงจากอำนาจ

เลือกตั้ง ’66 เครือข่าย 3 ป.ตั้งเป้าว่า ไม่ ป.ใดก็ ป.หนึ่ง -จะต้องได้ “ไปต่อ”

แต่การเลือกตั้งเป็นแค่ “พิธีกรรม” เพื่อการเข้าสู่อำนาจ

ภายใต้ระบอบปัจจุบัน ไม่มีหลักประกันอะไรสำหรับพลเมืองไทยและประเทศไทยว่าจะได้รับการปลดปล่อยให้ได้สัมผัสกับ “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริง

ตราบใดที่ยังดำเนินคดีกับนักรัฐประหารไม่ได้ ประชาธิปไตยไทยก็ยังคงเป็นประชาธิปไตยที่ด้อยพัฒนา!?!!