ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 เมษายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
ควรยอมรับความจริงว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และด้วยระบอบประยุทธ์ (Prayuth regime) ที่ปกครองประเทศไทยยาวนานกว่า 8 ปี สังคมไทยหาได้หยุดนิ่ง
ตรงกันข้าม มีความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา
รวมทั้งโครงสร้างการเมืองไทยด้วย ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคมนี้ พัฒนาการทางการเมืองและพลังทางการเมืองต่างๆ ยิ่งน่าสนใจ
ภายใต้สมมุติฐานดังนี้ ผมจึงเห็นว่า พัฒนาการการเมืองไทยขณะนี้ เราจะเพ่งดูจากคณิตศาสตร์การเมืองคือ จำนวน ส.ส.ที่ชนะการเลือกตั้ง พรรคใดมีคะแนเสียงมากกว่ากันไม่ได้เสียแล้ว
คะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับ การจับขั้วทางการเมืองทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งยังไม่แสดงสถานภาพของพรรคการเมืองนั้นๆ อย่างสำคัญ
ดัง เราควรกลับไปดูพัฒนาการของพรรคการเมืองและประวัติศาสตร์การเมืองช่วงทศวรรษที่ผ่านมาให้ละเอียด
ผมสนใจพรรคเพื่อไทย จึงใช้การวิเคราะห์ที่มาและรากเหง้าของพรรคไทยรักไทย อาจช่วยให้เราเห็นความเป็นจริงทางการเมืองด้านหนึ่งของพรรคไทยรักไทย
อุ๊งอิ๊ง และเศรษฐามาจากไหน
ผมไม่ได้หมายความว่า อุ๊งอิ๊ง หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นลูกใคร มาจากครอบครัวไหนเพียงเท่านี้
เช่นกัน ผมไม่ได้ตั้งคำถามว่า คุณเศรษฐา ทวีสิน คือมหาเศรษฐีและนักลงทุนที่มีชื่อเสียงด้านอสังหาริมทรัพย์
ภูมิหลังทั้งสองประการไม่สำคัญ คุณอุ๊งอิ๊งและคุณเศรษฐานับเป็นแกนหลักของที่มาและรากเหง้าของระบอบทักษิณอย่างแน่นอน
แต่ทั้งสองคนหาใช่แค่คนที่สนใจการเมือง อยากสมัครรับเลือกตั้ง แน่นอนทั้งสองคนนับเป็นคนชั้นนำทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย
แต่ทั้งสองคนเป็นภาพแสดงความเปลี่ยนแปลงของระบอบทักษิณและบริบทเศรษฐกิจการเมืองไทยอีกด้วย
หากมองในแง่นี้ เราจะเข้าใจพรรคเพื่อไทยมากขึ้น แล้วยังเห็นพัฒนาการอย่างสำคัญของพรรคเพื่อไทยกับการเมืองไทยอีกด้วย
ระบอบทักษิณ
ระบอบทักษิณกำเนิดขึ้นมาภายใต้บริบทเศรษฐกิจการเมืองไทยช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คุณทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจหนุ่มผู้มั่งคั่งจากเงินใหม่คือ ธุรกิจโทรคมนาคมทั้งโทรศัพท์มือถือ เพจจิ้งและดาวเทียม มีแหล่งเงินทุนจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีพันธมิตรธุรกิจคือ สิงคโปร์
ทักษิณเห็นโอกาสใหม่และสนใจก้าวเข้าสู่การเมืองไทยด้วยการตั้งพรรคไทยรักไทย โดยสาระสำคัญของพรรคไทยรักไทยคือ กอบกู้เศรษฐกิจไทย ด้วยออกจากโปรแกรมกอบกู้เศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ใช้การตลาด (marketing) วางเกมการเมือง
เป็นพรรคการเมืองที่เน้นทั้งนโยบายและความนิยมส่วนตัวของทักษิณเอง แล้ว ระบอบทักษิณและพรรคไทยรักไทยช่วงนั้นยังเป็นการรวบรวมกลุ่มทุนหลากหลายกลุ่มที่ประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจไทยช่วงนั้นมาเป็นแกนนำของพรรคไทยรักไทย
เมื่อมีรัฐประหาร 2549 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ ทักษิณลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงเป็นตัวแทนโดยตรงของทักษิณ ชินวัตร
ที่น่าสนใจ หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีมรดกทางการเมือง
แต่ในความเป็นจริง ทักษิณเองมีส่วนประกอบสร้างเครือข่ายทักษิณ ที่เป็นพลังการเมืองสำคัญในเศรษฐกิจการเมืองช่วง 2550-2560
เครือข่ายทักษิณช่วงนี้ไม่ใช่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง
กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในชนบทตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา (2520-2550)
อีกทั้งยังเป็นผลผลิตของนโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณและตัวทักษิณเองด้วย
แม้กลุ่มคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมชุมนุมจะใส่เสื้อยืดที่มีคำว่า “ไพร่” อยู่ตรงหน้าอก แต่คนเสื้อแดงพวกนี้ก็มีโทรศัพท์มือถือ และขับรถกระบะ
สิ่งนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชนบทไทยที่ปะทะกับเมืองและเศรษฐกิจนอกหมู่บ้านมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อกำลังก้าวเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง อุ๊งอิ๊งและแกนนำของพรรคเพื่อไทยจึงยังจำเป็นต้องระลึกถึงวีรกรรมหรือพลังของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายนอันเป็นวันที่กลุ่มคนเสื้อแดงถูกทางการสลายด้วยกำลังอาวุธ
อุ๊งอิ๊ง เศรษฐา
ทักษิณและเครือข่ายที่เปลี่ยนรูป
เมื่อถึงโหมดเลือกตั้ง อุ๊งอิ๊งจึงปรากฏตัวในทางการเมืองเพื่อร้อยรัดกับทักษิณและเครือข่ายที่เปลี่ยนรูป
กล่าวคือ อุ๊งอิ๊งก็ยังเป็นตัวแทนของพ่อของเธอ เพื่อย้ำความมั่นใจให้กลุ่มคนที่เหนียวแน่นกับทักษิณให้ความสนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่อไป
ในเวลาเดียวกัน กลุ่มคนเสื้อแดงหมดความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ในฐานะเครือข่ายทักษิณ ที่เป็นพลังมวลชนทำหน้าที่ต่อต้านทหารและรัฐบาลทหารช่วงนั้น แต่เป็นฐานเสียงสำคัญในต่างจังหวัดที่ใช้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยได้
อุ๊งอิ๊งคือ ความนุ่นนวล ความเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งเหมือนกับยิ่งลักษณ์อาของเธอ ในเวลาเดียวกันก็เป็น คนรุ่นใหม่ ที่เชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจการเมืองไทยที่หลุดพ้นจากพลังอนุรักษนิยม ระบอบอำนาจนิยมและกลุ่มทุนผูกขาด
ดังนั้น อุ๊งอิ๊งจึงถูกวางบทบาทให้เป็น หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ที่ให้ความอบอุ่นแก่สมาชิก เป็นเด็กจบเมืองนอก มีความสามารถ มีความทันสมัย
อุ๊งอิ๊งรีแบรนด์พรรคเพื่อไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เศรษฐา
เศรษฐา ทวีสิน อาจเป็นคนหน้าใหม่ทางการเมือง แต่ก็เคยแสดงสนใจมาก่อนหน้านั้น
เมื่อก้าวเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง นโยบายพรรคการเมืองแทบทุกพรรคที่ผลิตออกมาจึงต้องเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก จะมีก็เพียงพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้น ที่จะทำต่อ ไม่มองว่าเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ความสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งต่ำลง และมีภาระหนี้สินจำนวนมาก
ดังนั้น คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ที่ผลิตออกมาจึงมีนโยบายประชานิยมในแง่การใช้จ่ายภาครัฐอย่างมโหฬาร แน่นอนทุกพรรคการเมืองและแกนนำของพรรคต่างนำเสนอเพ็กเก็จแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งทุ่มใช้จ่ายเงิน เพียงแต่ชื่อเรียกขาน และวิธีการอาจใช้ไม่เหมือนกันเท่านั้น
เศรษฐาจึงเป็นเครือข่ายทักษิณที่เปลี่ยนรูป กล่าวคือ เขาเป็นแม่เหล็กของภาคธุรกิจ เป็นผู้นำของกลุ่มธุรกิจเอกชน เป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ผู้นำฝ่ายความมั่นคงที่บริหารประเทศมายาวนาน ความหนุ่ม กระตือรือร้น มีวาทศิลป์และการเปิดกว้างกับคนกลุ่มต่างๆ จึงเป็นความแตกต่างอย่างสำคัญ
ด้วยคะแนนเลือกตั้งครั้งที่แล้วของพรรคเพื่อไทย ด้วยเครือข่ายคนเสื้อแดงที่แปลงไปเป็นฐานเสียงสำคัญในต่างจังหวัด ด้วยนักการเมืองหน้าเก่าที่ชำนาญเกม ด้วยผู้นำใหม่ทั้งอุ๊งอิ๊งและเศรษฐา จึงทำให้คะแนนความนิยมที่ออกมาจากการสำรวจและโพลต่างๆ มีทิศทางใกล้เคียงกันในเชิงส่งเสริมบทบาทของพรรคเพื่อไทย
ด้วยเหตุนี้เอง การโจมตีเรื่องส่วนตัว เช่น อุ๊งอิ๊งลูกใคร จะนำพ่อของเธอกลับมาไทยหรือไม่
เศรษฐาคือคนใกล้ชิดครอบครัวชินวัตรอยู่แล้ว คำถามเรื่องเงิน 10,000 บาทที่พรรคเพื่อไทยจะนำมาแจกประชาชนหากเป็นรัฐบาล จึงถูกตั้งคำถามว่า จะเอาเงินมาจากไหน
บ้างก็ตั้งคำถามว่า การใช้จ่ายของประชาชนที่เน้นร้านค้าทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านสะดวกซื้อเสมอไป เป็นการต่อต้านกลุ่มทุนขนาดใหญ่ใช่หรือไม่
การโจมตีทางการเมืองดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวต่อพรรคเพื่อไทยที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงต่อเนื่อง
เศรษฐาจึงเป็นองค์ประกอบหลักของระบอบทักษิณที่กำลังเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจากกลุ่มธุรกิจที่หนีภัยวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แต่เป็นตัวเลือกใหม่ในการผลักดันเศรษฐกิจไทย เป็นความเชื่อมั่น
อุ๊งอิ๊งมีส่วนผสมระหว่าง ความนุ่มนวล ความเป็นผู้หญิง เป็นตัวแทนของระบอบทักษิณ
ไม่ควรประเมินระบอบทักษิณในช่วงระบอบประยุทธ์อ่อนตัวลงต่ำเกินไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022