ในประเทศ / ส่องเส้นทาง “คนนอก” ผ่านสูตรคำนวณ ส.ส. เลือกตั้ง ภาพลวงตา?

ในประเทศ

ส่องเส้นทาง “คนนอก” ผ่านสูตรคำนวณ ส.ส. เลือกตั้ง ภาพลวงตา?

หลักเกณฑ์คิดคำนวณผลเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

มีที่มาจากมาตรา 91 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เขียนกำหนดไว้ถึงการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์

(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

(3) นำจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

(4) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นพึงจะมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส. ตามจำนวนที่ได้รับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส. เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)

(5) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

ทั้งนี้ การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ถึงแม้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดเนื้อหาและผลักดันร่างรัฐธรรมนูญ อ้างว่า

ด้วยระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกทั้งคนและพรรค นำคะแนนที่ได้มารวมแล้วหารเพื่อคำนวณหาจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคจะพึงมีได้

ทำให้ทุกคะแนนของประชาชนมีความหมาย ไม่ถูกโยนทิ้งไปแม้คะแนนเดียว

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงการที่นักการเมืองแสดงความห่วงใยต่อระบบการคิดคำนวณ ส.ส. แบบใหม่ เป็นการแสดงออกที่ช้าเกินไป เนื่องจากระบบคิดคำนวณนี้ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว

ส่วนข้อกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีคำนวณ การคิดอัตราส่วน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยยึดกรอบมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ตามที่แถลงชี้แจงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ซึ่งภายหลังการแถลงของ กกต. สูตรคิดคำนวณ ส.ส. ก็ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอีกครั้ง

นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า วิธีคิดคำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม เป็นระบบที่ประเทศไทยนำมาใช้เป็นแห่งเดียวในโลก

คิดขึ้นมาเพื่อทำให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสได้เสียงเกินครึ่ง

ทำให้หลังเลือกตั้ง ส.ส. พรรคต่างๆ ที่ประชาชนเลือกมาจะไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจาก “คนใน” ที่เป็น ส.ส. ได้ นั่นหมายถึงการเปิดทางให้ “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เข้ามาเป็นนายกฯ ตามที่รัฐธรรมนูญ “เปิดช่อง” ไว้

แกนนำพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย กล่าวว่า สูตรคิดคำนวณดังกล่าวทำให้เห็นชัดเจนถึงเป้าหมายการออกแบบรัฐธรรมนูญว่าต้องการให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

ให้ผู้มีอำนาจ “สืบทอด” อำนาจต่อไปได้

แต่ผลร้ายก็คือทำให้รัฐบาลในอนาคตไร้เสถียรภาพ ไม่สามารถทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล มองว่าระบบนี้คิดค้นขึ้นมาโดยมีเป้าหมายทางการเมือง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ

แน่นอนว่าสูตรคำนวณที่ออกมามีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยยอมจำนน เพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้ว

“ไม่แน่เราอาจทะลุไปถึง 250 ที่นั่งก็ได้ แต่คงไม่บอกว่าทำอย่างไร” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุ

สอดรับกับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เชื่อว่ามีบางพรรคการเมืองคิดวิธีรับมือกับสูตรคำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมนี้ไว้แล้ว

ด้วยการแตกสาขาเป็นพรรคแม่-พรรคลูก ใช้ยุทธวิธีแยกกันเดินแยกกันตี แล้วไปรวมเสียงกันภายหลัง ซึ่งอาจจะได้เสียงเกิน 250 เสียง เช่น อาจจะได้ 270 เสียง

ถึงอย่างนั้นพรรคใหญ่เสียงเกินครึ่งก็ไม่หวังเป็นรัฐบาล เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐบาลต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 375 เสียงขึ้นไป

ในสภาพเช่นนั้นจะทำให้เกิดฝ่ายค้านที่มีเสียงมากกว่ารัฐบาล

“ไม่เกิน 3-4 เดือนหลังจากรัฐบาลใหม่ที่มีเสียงข้างน้อยเข้ามา แล้วเสนอกฎหมายงบประมาณเข้าสภา ก็จะถูกฝ่ายค้านเสียงข้างมากคว่ำกฎหมาย รัฐบาลก็ต้องยุบสภาหรือลาออก”

สุดท้ายอาจต้องมีการ “ยึดอำนาจ” อีก

ด้านความเห็นฝั่งนักวิชาการที่ไม่มีส่วนได้เสียกับพรรคการเมือง

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักกฎหมายมหาชน ระบุว่า รูปแบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่มีที่ไหนในโลกใช้กัน

ที่อ้างว่านำมาจากระบบของเยอรมนี ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเยอรมนีใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รัฐธรรมนูญของเยอรมนีก็ยังมีความยืดหยุ่นสูงกว่า คือ

ไม่กำหนดตายตัวจำนวน ส.ส. ไว้ที่ 500 คน แต่เปิดช่องให้เผื่อเหลือเผื่อขาด รองรับที่นั่งเกินจำนวน (Overhang)

การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ตลอดจนวิธีคำนวณ ส.ส. ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญของไทย จึงสะท้อนเจตนาต้องการควบคุมพรรคการเมือง ซึ่งพูดให้ถึงที่สุดแล้วก็คือพรรคเพื่อไทย

เพราะด้วยการเลือกตั้งระบบใหม่นี้ แทบเป็นไปไม่ได้ที่พรรคเพื่อไทยจะชนะได้เสียงเด็ดขาดหรือเกิน 250 เสียง

แต่ขณะเดียวกันการ “ตัดตอน” พรรคเพื่อไทย ก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับผลกระทบเพราะเป็นพรรคใหญ่เหมือนกัน

“แม้สองพรรคใหญ่จะไม่สามารถหาจุดลงตัวร่วมกันได้ แต่ด้วยระบบการเลือกตั้งใหม่นี้ ก็ไม่แน่ ที่พรรคใหญ่จะมาแตะมือกัน” นายชำนาญ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ นายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า การคำนวณสูตร ส.ส. ของ กกต. มาจากการที่รัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนด

แน่นอนว่าทำให้พรรคเพื่อไทยเสียประโยชน์ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก

หากเอาคะแนนตามวิธีคำนวณใหม่มาเป็นเกณฑ์ ก็แน่ใจได้ว่าจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ของพรรคเพื่อไทย เฉพาะส่วน ส.ส.แบ่งเขตก็น่าจะเต็มจำนวน โอกาสได้เพิ่มในส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจึงน้อยมาก

การเปลี่ยนจากการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ มาเป็นใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ยังเป็นการตัดทางเลือกของประชาชนให้เหลือทางเลือกเดียว

ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบมาเพื่อไม่ให้ระบบรัฐสภาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมี พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ และ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ขึ้นมาครอบอีกชั้น

สรุปแล้วก็คือ หากเอาจิ๊กซอว์กฎหมายที่ออกมาแต่ละตัวมาต่อกัน ก็จะพบว่าประเทศของเรานั้นเสียงประชาชนที่ลงคะแนนให้ ส.ส. เหมือนเป็นแค่ “ละคร”

หรือ “ภาพลวงตา” เท่านั้นเอง