ใครเป็นชู้ ใช้ชบาทัดหู ประจานรอบเมือง

ญาดา อารัมภีร
พลายงามไปทัพ จากจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ.2548

ประจาน (6)

 

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่ 22 มีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล ขุนช้างเป็นโจทก์กล่าวโทษขุนแผนลักพานางวันทองภรรยาของตนที่แต่งงานกันถูกต้องตามประเพณี

“เฒ่าศรีประจันยกลูกให้ ทำขันหมากใหญ่ได้ร่วมห้อง

เป็นคู่ผัวตัวเมียครอบครอง ประมาณได้สักสองเดือนตรา

เที่ยงคืนขุนแผนแสนสะท้าน สะกดคนอาจหาญขึ้นเคหา

ทำชู้ร่วมรักแล้วลักพา วันทองภรรยาขุนช้างไป”

ผู้ถูกฟ้องปฏิเสธและชี้แจงความจริง

“ขุนแผนไม่รับในข้อหา ว่าหาใช่ภรรยาขุนช้างไม่

เดิมวันทองชื่อพิมพิลาไลย กับขุนแผนรักใคร่เป็นชู้กัน

จึงไปสู่ขอต่อมารดา ได้เลี้ยงเป็นภรรยาเกษมสันต์

นอนหอกับวันทองได้สองวัน มีราชการพลันต้องไปทัพ

ครั้นกลับลงมาแต่เชียงทอง เห็นขุนช้างร่วมห้องเข้านอนหลับ

ขุนแผนไม่ฟ้องปองสินทรัพย์ อาลัยเมียก็กลับรับเมียมา”

ขุนแผนไม่ฟ้องชายชู้เพราะยังรักเมียอยู่ จึงมารับนางวันทองกลับ คำให้การของขุนแผนสอดคล้องคำให้การของนางวันทองซึ่งเป็นคนกลาง ขุนช้างอ้างนางศรีประจันเป็นพยาน แต่ขุนแผนค้านว่าพยานนี้เป็นแม่ยายของตนต่างหาก

ลูกขุนปรึกษากันแล้วลงความเห็นว่า นางศรีประจันมักง่าย ยกลูกสาวให้ผู้ชายสองคน ให้ลงโทษประจานแทนนางวันทอง

“ลูกขุนปรึกษาให้ลงโทษ ว่าเพราะแม่ยายโฉดทำมักง่าย

ยกลูกให้ครองทั้งสองชาย ประจานเฒ่าแสนร้ายแทนวันทอง”

การที่ขุนช้างโกหกว่าขุนแผนตาย เพราะหมายครอบครองเมียเขา ถึงกับรื้อเรือนหอขุนแผน ขุนช้างจึงถูกปรับตามศักดินาของขุนแผนโทษฐานผิดเมียผู้อื่น ขุนช้างและผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนต้องรับโทษเฆี่ยนหลังอีกด้วย

“ศรีประจันขุนช้างเป็นคนพาล ให้เทียบไถ่ค่าประจานแทนวันทอง

แล้วให้ทวนขุนช้างศรีประจัน ยายกลอยยายสานั้นด้วยทั้งสอง”

 

จะเห็นได้ว่า ค่าประจานแทนนางวันทองสามารถเปรียบเทียบปรับเป็นเงินได้ การที่ให้ประจานแม่แทนลูก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่” ว่า

“คดีนี้ถ้าหากปรากฏว่านางวันทองผิดจริง คือ นอกใจสามี นางวันทองก็จะถูกประจาน กล่าวคือ อาจถูกมัดข้อมือ ให้ทัดดอกชบาแดงสองหู แล้วแห่ไปรอบเมือง ตีฆ้องร้องป่าว ประกาศให้แก่ชาวบ้านรู้ว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นผู้หญิงกาลีนอกใจสามี เมื่อนางวันทองไม่ผิด ลูกขุนให้เอานางศรีประจันไปประจานแทนก็คงจะต้องประจานว่า นางศรีประจันเป็นแม่ยายที่เลว ยกลูกสาวให้แก่คนอื่นทั้งๆ ที่สามีของเขายังมีชีวิตอยู่”

อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ชี้ให้เห็นความเป็นไปในสังคมไทยสมัยก่อนว่า

“การลงโทษของคนโบราณนั้น เป็นการลงโทษให้กลัว แต่เอาจริงเข้า ก็มีการผ่อนโทษนั้นได้โดยตลอด สามารถไถ่โทษนั้นได้ด้วยเงินทั้งสิ้น ยกเว้นโทษประหาร โทษประจานนั้นนางศรีประจันสามารถเสียค่าปรับแทนที่จะถูกประจานได้ เมื่อเสียค่าปรับตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่ต้องถูกประจาน โทษทวนหรือเฆี่ยนหลังก็เช่นกัน มีอัตรากำหนดไว้ว่า เฆี่ยนกี่ทีจะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินเท่าไรจึงจะพ้นโทษเฆี่ยน”

สำหรับขุนช้างผู้มีเงินถุงเงินถัง เสียเงินแทนถูกเฆี่ยนหลังเรื่องขี้ปะติ๋ว

“ขุนช้างเอาเงินออกนับให้ ไถ่โทษทวนได้ไม่ขัดสน”

ตรงข้ามกับสามเฒ่าที่ห่างไกลคำว่า ‘มั่งมี’ เสียดายเงินจับใจจนน้ำไหลออกตา

“ศรีประจันงันงกอยู่ลุกลน สามคนยายสากับยายกลอย

นับเงินออกให้ใจจะขาด น้ำตาหยาดไหลหลั่งลงผอยผอย

เขามั่งมีดังสำลีที่เลื่อนลอย เราคนจนมาพลอยไปเจียนตาย”

โดยเฉพาะนางศรีประจันเสียเงิน 2 ต่อ เสียค่าปรับแทนโทษประจานและโทษเฆี่ยนหลัง

 

สมเด็จพระพันวษาตรัสถามขุนแผนว่า โทษผิดเมียจะเอาสินไหมหรือฆ่าขุนช้าง ขุนแผนไม่อยากให้เป็นเวรกรรมกันต่อไป ขอปรับขุนช้างเป็นสินไหมพินัยหลวงอย่างไรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา

การเสียค่าปรับแทนรับโทษประจาน “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 1 ใช้ว่า ‘ไถ่โทษประจาน’ และ ‘ไถ่ประจาน’ การที่ชายทำชู้ด้วยเมียกลางเมือง เมียกลางนอก หรือเมียกลางทาษี นอกจากถูกปรับแล้ว ผู้หญิงนั้นก็รับโทษด้วย มีบันทึกใน ‘พระไอยการลักษณผัวเมีย’ ดังนี้

“ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกฉบาแดงสองหู ร้อยดอกฉะบาเปนมาไลยใส่ศีศะใส่คอ ให้นายฉะมองตีฆ้องนำหน้า ประจานสามวัน ถ้าจไถ่โทษประจาน ให้ไถ่ตามกระเสียรอายุศมหญิงเปนข้าหย้าช้างหลวง ถ้าชายผัวมันยังรักเมียมันมิให้ประจานไซ้ ให้เอาสีนไหมเข้าพระคลังหลวง”

ความผิดบางกรณีหนักหนาจนไม่อาจ ‘ไถ่ประจาน’ พระไอยการลักษณผัวเมีย มีข้อความว่า

“มาตราหนึ่ง หญิงทาษทำชู้ด้วยชายสองชาย นายเงินรู้ก็ดี มิรู้ก็ดี ชายทังสองตีฟันแทงกันตาย ท่านว่าให้ฆ่าชายผู้ตีฟันแทงนั้นตกไปตามกัน ถ้าทรงพระกรุณาฯ บให้ฆ่าตี ให้ไหมโดยพระราชกฤษฎีกา ถ้าผู้ตายเปนทาษ แลผู้ทำนั้นตำนา ๔๐๐ ให้เอาทวีคูน ท่านให้คิดเอาให้แก่นายเงินเท่าค่าตัว เหลือมากน้อยเท่าใด่เปนค่าญ่าช้างหลวง ส่วนตัวหญิงร้ายนั้น ให้ประจารดุจหญิงหาผัวมิได้ มีชู้สองชู้นั้นอย่าให้ไถ่ประจาน เปนอันขาดที่เดียว ให้ทวนด้วยลวดหนัง ๓๐ ที แล้วส่งตัวคืนแก่นายเงินมัน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

สมัยก่อนแค่สองชู้ยังสะเทือนทั้งสังคม สมัยนี้สิบชู้หรือกว่านั้นยังเฉย •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร