‘เสียงเหมือน แต่ไม่ใช่’ อาจเป็นโจรใช้ AI มาหลอก | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ผ่านบทเรียนและบาดแผลอันบอบช้ำมามากมาย จนถึงวันนี้ฉันเชื่อว่าเราล้วนมีภูมิคุ้มกันต่อมิจฉาชีพกันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือโจรที่ปลอมตัวเองเป็นตัวแทนจากแบรนด์และบริษัทที่มีชื่อเสียงเข้ามาหลอกล่อล้วงข้อมูลส่วนตัวจากเราผ่านแอพพ์แชตอย่าง LINE

แต่ไม่ว่าภูมิคุ้มกันเราจะแข็งแรงขึ้นแค่ไหนก็ต้องไม่ลืมว่ามิจฉาชีพเองก็ไม่หยุดพัฒนาฝีมือด้วยเหมือนกัน

มุขไหนที่ใช้หลอกคนไม่ได้ผลแล้ว โจรเหล่านี้ก็คิดค้นมุขใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเทคโนโลยีอย่าง AI ก็เอื้อให้โจรมีเครื่องมือในการคิดค้นเล่ห์เพทุบายที่แสบสันต์กว่าเดิม

สักประมาณปลายปีที่แล้ว มีคนออกมาแชร์บนโซเชียลมีเดียว่าตัวเองประสบเหตุการณ์ถูกโจรใช้ AI มาปลอมเสียงเป็นเพื่อนเก่า บอกว่าเปลี่ยนเบอร์ใหม่แล้วและให้ลบเบอร์เก่าทิ้งได้เลย ด้วยความที่เสียงเหมือนเพื่อนคนนั้นมากแบบไม่มีอะไรให้ต้องสงสัย เขาจึงทำตาม เซฟเบอร์ใหม่ทับเบอร์เก่าทันที

วันถัดมาเพื่อนคนนั้นโทร.กลับมาพร้อมข้ออ้างขอยืมเงิน โชคดีที่เจ้าของเรื่องมีไหวพริบ สังเกตเห็นความผิดปกติหลายอย่าง

แต่ครั้นจะโทร.กลับไปสอบถามเพื่อน ตัวเองก็ลบเบอร์ทิ้งไปแล้ว

ยังดีที่สามารถหาช่องทางติดต่ออื่นได้ ทำให้เขาเข้าใจว่าเสียงที่เหมือนเพื่อนไม่มีผิดเพี้ยนนั้นน่าจะมาจากการใช้เทคโนโลยี AI มาปลอมเสียงได้อย่างแนบเนียน

เมื่อใดก็ตามที่เราพูดถึงภัยอันตรายที่มาพร้อมการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สิ่งแรกที่เรามักจะนึกถึงก็คือการที่ AI จะฉลาดเหนือมนุษย์จนสามารถยึดครองโลกและใช้งานมนุษย์อย่างเราเยี่ยงทาส เหมือนพล็อตเรื่องในหนังที่ฮอลลีวู้ดสร้างซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีวันจบ แต่นั่นคือเรื่องของอนาคตที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้

ภัยจาก AI ที่ใกล้ตัวเรามากกว่าและเราทุกคนล้วนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้แล้วตั้งแต่วันนี้ก็คือภัยจากการที่มิจฉาชีพใช้ AI มาหลอกเรานี่แหละ

ในต่างประเทศอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาก็เจอปัญหาแบบเดียวกันนี้เหมือนกัน จนหน่วยงานกำกับดูแลด้านการค้า หรือ FTC ต้องออกคำเตือนให้ระวังมิจฉาชีพใช้ AI มาหลอกสมาชิกในครอบครัว โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงวัย อย่างเช่นปู่ย่าตายาย

FTC ยกตัวอย่างสถานการณ์ว่า เหยื่ออาจได้รับโทรศัพท์จากหลานชายที่น้ำเสียงร้อนรนกระวนกระวาย หลานอาจเล่าเหตุการณ์ว่าเขาขับรถชนและตอนนี้ถูกตำรวจขังคุกอยู่ ขอให้โอนเงินมาช่วยด่วน ผู้สูงวัยเมื่อได้ยินว่าเป็นเสียงของหลานชายตัวเองจริงๆ ก็ไม่สงสัยอะไร รีบทำตามที่หลานขอทันที

การใช้ AI ปลอมเสียงเป็นเสียงของคนในครอบครัวเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและทำได้ง่าย มิจฉาชีพแค่ต้องมีตัวอย่างเสียงของคนที่ต้องการปลอมเสียง อาจจะเป็นคลิปสั้นๆ ที่คนคนนั้นเคยโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียมาแล้ว เมื่อนำไปเข้าโปรแกรมโคลนเสียง ก็จะทำให้ได้เสียงคนนั้นมาเพื่อนำไปหลอกเหยื่อที่เป็นเพื่อนหรือครอบครัวของเจ้าของเสียงได้

ไม่ใช่แค่คนธรรมดาที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อ แต่ร้านค้า บริษัท ธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ทั้งนั้น

 

The Guardian รายงานเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้จัดการธนาคารในฮ่องกงที่ได้รับโทรศัพท์จากคนที่เสียงเหมือนผู้อำนวยการธนาคารจนเขายอมโอนเงิน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้ และแน่นอนเงินก้อนนั้นก็หายวับไปตลอดกาล

อีกเหตุการณ์เกิดขึ้นกับบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งในอังกฤษ พนักงานในบริษัทโอนเงินราว 250,000 ดอลลาร์ให้อาชญากรที่ปลอมเสียงเหมือนกับหัวหน้าของเขาที่ประจำอยู่ที่บริษัทแม่ในเยอรมนี โดยเสียงนั้นเรียกร้องให้โอนเงินอย่างเร่งด่วนภายในหนึ่งชั่วโมง

คนที่มีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อถูกนำเสียงไปปลอมแปลงที่สุดก็คือคนที่มีคลิปเสียงของตัวเองปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์ที่เปิดให้ใครเข้าถึงได้ ซึ่งในยุคโซเชียลมีเดียเฟื่องฟูแบบนี้ก็แปลว่าแทบจะทุกคนล้วนมีโอกาสถูกขโมยเสียงได้ ตั้งแต่ดารา นักแสดง ยูทูบเบอร์ อาจารย์ วิทยากร ไปจนถึงผู้ใช้งานโลกออนไลน์ทั่วไป

เหยื่อที่ถูกเสียงปลอมโทร.มาหลอก หากเป็นคนที่มีอำนาจ มีสิทธิที่จะเข้าถึงบัญชีธนาคารของบริษัทได้ ความเสียหายก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

 

วิธีการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการปลอมเสียงวิธีแรกสุดก็คือจะต้องรับรู้ก่อนว่ามีเทคโนโลยีที่ปลอมเสียงได้แล้วจริงๆ และสามารถปลอมเป็นใครก็ได้ เมื่อรู้ดังนี้เราก็จะไม่เชื่อใจใครเพียงเพราะเราได้ยินเสียงที่คุ้นหู

บริษัททุกแห่งควรมีมาตรการป้องกันการถูกมิจฉาชีพหลอกด้วยการออกนโยบายให้เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าไม่ควรมีใครในตำแหน่งใดก็ตามได้รับอนุญาตให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้จากการคุยโทรศัพท์เพียงสายเดียว ทุกคนจะต้องตรวจสอบด้วยการโทรกลับไปยังหมายเลขติดต่อที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าเสียงที่โทร.มาจะเป็นเสียงของเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ซีอีโอ หรือเจ้าของบริษัทก็ตาม

ยิ่งจำนวนเงินสูงๆ ยิ่งต้องออกมาตรการว่าจะต้องผ่านการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเท่านั้นจึงจะสามารถโอนได้

อีกอย่างที่สำคัญก็คือผู้รับสายจะต้องฝึกความแข็งแกร่งของจิตใจไว้ให้ดี เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้เชี่ยวชาญพอจะรู้ว่าต้องเพิ่มความ ‘ฉุกเฉิน’ และ ‘ร้อนรน’ เข้าไปในเรื่องที่สร้างขึ้น อย่างเช่น เมื่อปลอมเป็นหัวหน้าก็อาจจะทำเสียงเกรี้ยวกราดใส่ลูกน้องที่เป็นเหยื่อเพื่อทำให้สติกระเจิดกระเจิงจนไม่ทันได้ไตร่ตรอง

 

FTC แนะนำคนทั่วไปว่า เมื่อรับสายอย่าเพิ่งรีบเชื่อว่าเป็นเจ้าของเสียงจริงๆ โดยเฉพาะถ้าถูกร้องขอให้โอนเงิน ให้ขอวางสายและติดต่อกลับไปที่คนคนนั้นตามหมายเลขติดต่อที่ตัวเองมีอยู่ หากติดต่อคนนั้นไม่ได้ ให้หาทางติดต่อสมาชิกคนอื่นในครอบครัวหรือเพื่อนของคนคนนั้นแทน

อีกหนึ่งสัญญาณว่าคนที่โทร.มาอาจจะเป็นมิจฉาชีพคือการเรียกร้องให้ส่งเงินให้ด้วยวิธีที่จะไม่สามารถตรวจสอบเจอได้ในภายหลัง อย่างเช่น ให้จ่ายเป็นบัตรของขวัญ หรือจ่ายเป็นเงินคริปโต เป็นต้น

ส่วนตัวฉันเองก็ได้ตกลงกับคนที่บ้านเอาไว้แล้วว่าในกรณีที่ไม่ชัวร์จริงๆ ให้ลองถามคำถามเฉพาะเรื่องที่เรารู้กันเองภายในครอบครัวเท่านั้น จะกี่คำถามก็ได้ เอาจนกว่าจะแน่ใจ ใช้วิธีนี้บวกกับวิธีตรวจสอบอื่นๆ แล้วเราจะปลอดภัยขึ้น

จนกว่าโจรจะหาเครื่องมือใหม่ที่ไฮเทคกว่าเดิมมาใช้