‘ตะแลงแกง’ ในกฎหมายตราสามดวง และโทษสุดโหดของ “หญิงมีชู้”

ญาดา อารัมภีร
จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต นางพิมพิลาไลย(นางวันทอง) กับนางสายทอง (ภาพจากวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย)

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘ตะแลงแกง’ คนมักนึกถึงสถานที่ประหารชีวิต เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” วันประหารนางวันทอง กรมเมืองคุมนางไปยัง ‘ตะแลงแกง’ แน่นขนัดด้วยผู้คนมารอดูการประหาร

“ครั้นถึงที่หัวตะแลงแกง คนผู้ดูแดงทั้งหญิงชาย

วันทองสิ้นกำลังลงนั่งพิง พระไวยวิ่งเข้าประคองวันทองไว้

ขุนแผนสุดแสนสงสารน้อง นั่งลงข้างวันทองน้ำตาไหล

อัดอั้นนิ่งอึ้งตะลึงตะไล สะอื้นไห้ไม่ออกซึ่งวาจา

นางแก้วกิริยาเจ้าลาวทอง ทั้งสองโศกเศร้าเป็นหนักหนา

ทั้งนางสร้อยฟ้าศรีมาลา ต่างคนจะขมาหาดอกไม้

คนดูพร้อมพรั่งดังกำแพง ตะแลงแกงจนหามีที่ยืนไม่”

มีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับคำนี้

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า

“ตะแลงแกง น่าจะเป็นชื่อเรียกเฉพาะแห่ง ที่ตรงนั้นอาจจะอยู่ตรงทางสี่แพร่งก็เป็นได้ เพราะเรียกแต่แห่งเดียว (ในหนังสือว่าด้วยกรุงศรีอยุธยา) ทางสี่แพร่งที่อื่นในพระนครศรีอยุธยา หาเรียกว่าตะแลงแกงไม่ มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า ‘ตะแลงแกง’ กลายเป็นเรียกที่ประหารชีวิตนักโทษ แต่จะว่าตะแลงแกงหมายว่าที่ประหารชีวิตนักโทษมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาก็น่าสงสัย ด้วยตะแลงแกงกรุงศรีอยุธยาก็อยู่ในพระนครและใกล้พระราชวัง การประหารชีวิตนักโทษย่อมประหารนอกพระนคร” (ชุมนุมพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ดังนี้

“คำว่า ตะแลงแกง ผมเคยได้ยินว่าแปลว่า ทางสี่แพร่งหรือสี่แยกในภาษาปัจจุบัน ในสมัยก่อนถือว่าสี่แยกนั้นเหมาะสำหรับเป็นที่ประหารชีวิตคนด้วย เพราะเหตุว่าตามสี่แยกนั้น เป็นที่ที่มักจะมีคนเดินผ่านหรือชุมนุมกันแออัด หากประหารชีวิตคนโทษ ณ ที่นั้นแล้ว ก็จะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้คนทั่วไปมิให้กระทำผิดกฎหมาย”

คำว่า ‘ตะแลงแกง’ ที่หมายถึงสี่แยกน่าจะมาจากคำว่า ‘ตรฺแลงแกง’ หรือ ‘ตรฺแฬงแกง’ ในภาษาเขมรตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบันทึกว่า 2 คำนี้ แปลว่า สี่แยก, อาคารที่มีผังเป็นรูปกากบาท ทั้งยังอธิบายความหมายดั้งเดิมของ ‘ตะแลงแกง’ คือ เครื่องหมายกากบาท, ทางสี่แยก ต่อมาความหมายเลือนไปหมายถึงที่สำหรับฆ่านักโทษในสมัยโบราณ

ฆ่านางวันทอง ภาพวาดโดย อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ประกอบหนังสือเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน สำนวนกาญจนาคพันธุ์ และ นายตำรา ณ เมืองใต้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504

อาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ บันทึกไว้ในหนังสือ “กวีโวหาร โบราณคดี” ว่า

“สมัยอยุธยาถ้าเป็นขุนนางข้าราชการหรือประชาราษฎรทำผิดฐานอุกฤตยโทษแล้ว ส่วนใหญ่ต้องถูกนำไปประหารที่ตะแลงแกง อันเป็นย่านชุมนุมชนกลางพระนครศรีอยุธยาทั้งสิ้น

“การนำคนไปประหารที่ตะแลงแกงเป็นเพราะตะแลงแกงตั้งอยู่กลางพระนคร อยู่ในย่านชุมนุมชน เท่ากับเป็นการฆ่าประจานกลางเมือง เพื่อมิให้คนทั้งหลายเอาเยี่ยงอย่าง

“ข้าพเจ้าได้พบที่ตั้งของตะแลงแกง ใน ‘หนังสือว่าด้วยกรุงศรีอยุธยา’ ระบุไว้ว่า ตะแลงแกงตั้งอยู่ที่ทาง 4 แพร่งข้างวัดพระรามาวาส (วัดพระราม) อยู่ทางใต้ของพระราชวัง ด้านเหนือตะแลงแกง ข้างตะวันตกมีหอกลอง ด้านหลังมีวัด 1 วัด เรียกวัดเกตุ ส่วนด้านใต้ตะแลงแกงเป็นศาลพระกาฬ ปรากฏตามกฎมณเฑียรบาลว่า ตรงที่ตั้งตะแลงแกงนั้น เป็นย่านกลางพระนครศรีอยุธยา เพราะมีถนนตัดผ่านกัน 2 สาย ทำให้เกิดเป็นทาง 4 แพร่ง ใน ‘หนังสือว่าด้วยกรุงศรีอยุธยา’ เขียนถึงถนนที่ตัดกัน ทำให้เกิดตะแลงแกง ตะแลงแกงที่พระนครศรีอยุธยานั้นอยู่ตรงที่ทาง 4 แพร่ง ไม่ห่างวัดพระรามนักและติดกับศาลเทวาลัยพระกาฬตามที่กล่าวมาข้างต้น”

โดยเฉพาะคำว่า ‘หัวตะแลงแกง’ ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ที่บรรยายว่า

“ครั้นถึงซึ่งหัวตะแลงแกง คนผู้ดูแดงทั้งชายหญิง”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระดำริว่าน่าจะเป็นชื่อถนน เนื่องจาก

“ในหนังสืออธิบาย ‘ภูมิแผนที่พระนครศรีอยุธยา’ ที่พิมพ์แจกในงานศพพระยาโบราณฯ ว่า ‘ตั้งค่ายผนบ (พวกเดียวกับจำหล่อ) ที่หัวตะแลงแกงแห่งหนึ่ง ท้ายถนนตะแลงแกงแห่งหนึ่ง ความส่อว่าตะแลงแกงเปนชื่อถนน ซึ่งเอาสิ่งสำคัญอยู่ในถนนนั้นมาเรียกเปนชื่อ'” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

‘พระไอยการลักขณโจร’ ใน “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 1 บันทึกว่า ตะแลงแกงเป็นทั้งสถานที่ประหารสำหรับความผิดสถานหนักและสถานที่ประจานสำหรับความผิดสถานเบา

กรณีโจรพาพวกปล้นฆ่าเจ้าของบ้านและชิงทรัพย์ โทษที่ได้รับคือ

“แล้วให้ฆ่าโจรแลพวกโจรซึ่งลงมือ ตัดศีศะเศียบไว้นะตะแลงแกง”

ส่วนกรณีมีพฤติกรรมเยี่ยงโจรยามวิกาล การกระทำไม่ร้ายแรง จึงแค่ถูกลงโทษและประจานที่ตะแลงแกงเท่านั้น

๐ มาตราหนึ่ง ถือมีดพร้าเครื่องสาสตราวุทธ์ไปด้อมมอง ลักมากลักพลูลักกล้วยลักอ้อยเครื่องอัยมะณีในไร่ในสวนท่านเพลากลางคืน ท่านว่าคือโจรให้มัดผจารไปถึงตะแลงแกงให้ตีด้วยไม้หวาย ๖๐ ทีให้ใช้ของท่าน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

โดยเฉพาะ ‘ตะแลงแกง’ ที่หมายถึง กากบาท ‘พระไอยการลักขณผัวเมีย’ ระบุว่าหญิงมีชู้สองชาย เป็นต้นเหตุให้ชู้ฆ่ากันตาย ต้องถูกโกนหัวเป็นรูปกากบาท ทัดดอกชบาขึ้นขาหย่างประจาน

“ท่านว่า ‘เปนหญิงร้ายให้ทวนมัน ๓๐ ที แล้วให้โกนศรีสะหญิงนั้นเปนตะแลงแกง ทัดดอกฉะบาสองหู ขึ้นขาหย่างประจาน ๓ วัน แล้วให้ฆ่าชายชู้ ฟันแทงนั้นให้ตกไปตามกัน”

‘ตะแลงแกง’ จึงมิใช่ที่ประหารเท่านั้น แต่เป็นสี่แยกหรือสี่แพร่ง ซึ่งเป็นสถานที่ประจาน ทั้ง 2 ความหมายล้วนเลือนมาจากความหมายดั้งเดิม คือ เครื่องหมายกากบาท

‘กากบาท’ กับ ‘สี่แยก’ แค่เปลี่ยนตำแหน่งนิดเดียวเอง กากบาท = สี่แยก และสี่แยก = กากบาท •

 

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร