บัตรโหล สงคราม ‘เบอร์’ 29-31-55-37-7-26

ในวันนี้ที่โลกทั้งโลกเขากำลังเถียงกันเรื่องจะเอายังไงกับ ChatGPT แชตบ็อตปัญญาประดิษฐ์ต้นแบบที่พัฒนาโดยโอเพ่นเอไอ เชี่ยวชาญการสนทนา ก้าวล้ำไปไกลในระดับที่แทบจะสั่งให้เขียนบทความวิชาการให้ได้แล้ว

มีการคาดการณ์ว่า ChatGPT หากพัฒนาต่อจะทำให้คนหลักร้อยล้านคนทั่วโลกตกงานแบบอัตโนมัติชนิดไม่รู้ตัว จนสัปดาห์ที่ผ่านมา นักคิด นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมระดับโลก จำนวนมากร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกเตือนให้ระงับการพัฒนาไว้ก่อน และขอให้มีสานต่ออย่างระมัดระวัง

แต่สัปดาห์เดียวกันนี้เอง ประเทศไทยเรายังต้องมานั่งเถียงกันเรื่องปัญหาออกแบบบัตรเลือกตั้ง กกต.อยู่เลย

เพราะเลือกตั้งรอบนี้ ใครมีสิทธิเลือกตั้งเขตใด ชอบผู้สมัครคนไหน ก็ต้องไปจดจำกันเอาเองให้แม่นยำ แต่ละเขต แต่ละคน พรรคเดียวกัน แค่ข้ามเขตก็คนละเบอร์

ส่วนแบบบัญชีรายชื่อ ความยากของการเลือกตั้งครั้งนี้คือพรรคการเมืองที่ลงสมัครมีจำนวนพรรคลงชิงรวมกันมากกว่าครึ่งร้อย แทบไม่อยากจะจินตนาการบัตรเลือกตั้งว่าจะยาวขนาดไหน แถมถ้าวัดเอาจากพรรคการเมืองที่มีนัยยะสำคัญสูงในศึกเลือกตั้ง ยึดเอาจากโพลคะแนนความนิยม แต่ละพรรคก็มือบอดจริงๆ จับได้เลขไกลๆ ทั้งนั้น

อาจจะมีข้อยกเว้นหน่อยคือ ภูมิใจไทย ที่จับได้เลขเดียวคือเบอร์ 7 เลขหลักเดียว ที่เหลือสองหลักหมด เริ่มจาก พรรคชาติพัฒนากล้า ที่จับได้เบอร์ 14 ตามด้วย พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้หมายเลข 22 ขณะพรรคพลังประชารัฐ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้หมายเลข 37

พรรคชาติไทยพัฒนา ได้เบอร์ 18 พรรคไทยภักดี เบอร์ 21 พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 26 พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 32

ฝากอดีตฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ที่จับได้หมายเลข 29 นักข่าวถามว่าจะชูนิ้วยังไงดี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, นายเศรษฐา ทวีสิน รวมถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ก็ชูนิ้วขึ้นมาให้ดูอย่างทุลักทุเล เพราะต่างก็ชูกันไปคนละทิศคนละทาง

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จับได้เบอร์ 31 พิธาถึงกับท้อ บอกว่าไม่ต้องจำเบอร์ จำพรรคก็พอ กันประชาชนสับสน

พรรคใหญ่ๆ ปวดหัวจริง คิดท่าชูมือตามเบอร์ที่จับได้ไม่ออก

 

วันเดียวกัน มีข่าวอีกว่าเบอร์ดังกล่าวกลับเป็นเพียงหมายเลขเบื้องต้น หากพบว่าพรรคการเมืองใดมีปัญหาเอกสารการสมัคร จะต้องคืนใบสมัคร และส่งผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงอันดับเลขที่ต้องขยับจากเดิม จนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องออกมากระทุ้ง กกต.เรื่องนี้ ว่าทีหน้าทีหลังควรตรวจเอกสารให้เรียบร้อยก่อนจับเบอร์

กลายเป็นคนที่ได้เบอร์ตอนสายๆ ก็ต้องรอดูพรรคอื่นว่ามีปัญหาเอกสารหรือไม่ ถึงจะเอาไปหาเสียงได้ นับว่าเป็นการเลือกตั้งที่ประหลาดจริงๆ

ภายหลังถูกกดดัน กกต.จึงออกมาแถลงว่าให้ใช้หาเสียงได้เลย เล่นเอาเกิดภาวะฝุ่นตลบงงงวยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกันตลอดวัน

ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาการถกเถียงบัตรเลือกตั้ง ที่รอบนี้กลับมาใช้ระบบบัตร 2 ใบ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต 1 ใบ บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อหรือบัตรเลือกพรรคอีก 1 ใบ ที่มีปัญหาคือเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เป็นระบบคนละเบอร์ ถ้าต้องการเลือก ส.ส.จากพรรคใด ก็ต้องจำ ส.ส. 1 เบอร์ จำพรรคการเมืองอีก 1 เบอร์

แม้ไทยจะเคยมีการเลือกตั้งด้วยบัตรสองใบมาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ครั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความราบรื่น ชาวบ้านไม่สับสน เพราะทั้งคนและพรรคได้หมายเลขเดียวกัน ต่างกับครั้งนี้อย่างพลิกกลับ

กกต.ชี้แจงว่า รอบนี้ใช้บัตร 2 ใบ คือบัตรเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต จะมีเฉพาะหมายเลขของผู้สมัคร แต่ไม่มีโลโก้พรรค และชื่อพรรค ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า “บัตรโหล” ส่วนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีหมายเลข สัญลักษณ์ของพรรค และชื่อพรรคด้วย

มีเสียงห่วง เตือนมายัง กกต.ดังๆ ว่า บัตรที่ไม่มีโลโก้พรรคและชื่อพรรค ซ้ำยังใช้หลักพรรคเดียวกัน แต่คนละเบอร์ ทำให้ชาวบ้านสับสน

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงว่าการพิมพ์บัตรเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แบบเดียวกันแต่ใช้ได้ถึง 400 เขตทั่วประเทศ อาจทำให้เกิดการทุจริตเลือกตั้งได้ ถ้าพิมพ์บัตรเกิน จะสามารถนำบัตรไปใช้ได้ในทุกเขต เกิดบัตรเขย่งเหมือนปี 2562

 

ขณะที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงกรณีบัตรเลือกตั้ง ว่า การออกแบบบัตรเลือกตั้งเป็นไปตามกฎหมาย การเลือกตั้งโดยใช้บัตรโหล ไทยก็ใช้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีเฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือมีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ หลังปี 2540 ก็ตาม

เลขาฯ กกต.ยังให้ข้อดีของบัตรโหลเพิ่มว่า ช่วยประหยัดงบประมาณ บัตรโหลพิมพ์พร้อมกันในครั้งเดียว แต่บัตรแบบเฉพาะเขต ต้องสั่งพิมพ์ 400 ครั้ง ตามจำนวนเขต และสะดวกในการบริหารจัดการ นำเวลาที่ต้องมาทำงานธุรการดีกว่า

เมื่อผู้จัดการเลือกตั้งอ้างแบบนี้ ภาระก็ตกไปอยู่ที่พรรคการเมืองที่จะต้องทำอย่างไรให้คนจดจำเบอร์ผู้สมัครให้ได้ เพราะบัตรเลือกตั้งไม่ยอมพิมพ์ชื่อและพรรค พิมพ์แต่เบอร์เท่านั้น ขณะที่บัตรเลือกพรรค ก็ต้องจำเบอร์ของพรรคให้ได้ ซึ่งบัตรเลือกตั้งก็มีรายชื่อพรรคมากกว่า 50 พรรค

บางทีเราก็ต้องกลับไปที่หลักรัฐศาสตร์พื้นฐานคือการระลึกให้ได้ว่า การเลือกตั้งคือสิทธิ ผู้ที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งในฐานะที่กินเงินภาษีประชาชน จะต้องยึดหลักทำอย่างไรก็ได้ให้ช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนให้มากที่สุด เมื่อใดก็ตามที่ทำอะไรซับซ้อนเกินไป มันก็เป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้สิทธิ

บัตรเลือกตั้งก็ให้มา 2 ใบ ต้องแยกประเภทให้ชัด จำมาถูกแต่กาผิดใบ ก็กลายเป็นบัตรเสีย

แค่การพิมพ์ชื่อหรือเพิ่มรายละเอียดอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่รู้มันติดขั้นตอนอะไร หรือถนัดแต่โยนภาระให้ประชาชนต้องจำให้ได้กันเอง ยิ่งพรรคการเมืองใหญ่เป็นเลข 2 หลักกันแทบหมดก็ยิ่งไม่ง่าย ไม่นับว่าเข้าคูเลือกตั้ง บางคนตื่นเต้น ก็มีโอกาสลืมได้อีก

จริงๆ หลัก ‘บัตร 2 ใบ-เบอร์เดียว เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน เกิดบัตรเสียน้อยที่สุด และตรงกับหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกือบจะได้นำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว แต่สุดท้ายที่ประชุมรัฐสภาปัดตกเมื่อกลางปี 2565 แพ้เสียงโหวตจากพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้นั่นแหละ ที่ว่ากันว่าเกิดจากกลัวผีวาทกรรมแลนด์สไลด์

การเลือกตั้งแทนที่จะทำให้ง่ายๆ กลายเป็นเสี่ยงที่จะเกิดบัตรเสียได้สูงซะอย่างนั้น

 

ถ้าคิดไม่ออก แบบอย่างที่ดีมีอยู่ให้เห็นทั่วโลก ลองไปดูแบบบัตรเลือกตั้งของประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งคล้ายๆ ไทยก็ได้ เช่น ที่เยอรมนี หรือนิวซีแลนด์ ที่ต้องเลือกทั้งคนและพรรค ว่าเขาออกแบบบัตรเลือกตั้งอย่างไร

อย่างน้อยที่สุด เขาสามารถใส่ชื่อผู้สมัคร ออกแบบเอามารวมเป็นบัตรใบเดียว วางให้เห็นเป็นคู่กันเลย บัตรเลือกตั้งก็พิมพ์เป็นสี มีชื่อผู้สมัคร โลโก้พรรคชัดเจน ทำไมเขาทำได้

ถ้าจะอ้างว่าประเทศเขารวย ขอยกตัวอย่างอัฟกานิสถาน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 บัตรเลือกตั้งของอัฟกานิสถานยึดหลักทำให้บัตรเลือกตั้งอำนวยความสะดวกประชาชนมากที่สุด พิมพ์สีไม่พอ เอารูปผู้ลงสมัครใส่ไปเลย อัฟกานิสถานประเทศยากจนสุดในโลกยังทำได้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว (เลียนแบบบัตรเลือกตั้งได้ แต่อย่าเลียนแบบระบบการเมืองนะ)

ที่ผ่านมา กกต.ของไทยเราก็สร้างปัญหาหลายเรื่อง นอกจากเรื่องบัตร ที่เป็นวิวาทะต่อเนื่องช่วงเดียวกันมา ก็เป็นเรื่องการที่ยกเลิกระบบการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ และยังจัดให้มีการเลือกตั้งที่สถานทูตในวันทำการ เรื่องนี้ชัดเลยว่าทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเลือกตั้ง

คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งและต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ครั้งนี้คาดว่ามีมากกว่าล้านคน อย่าลืมว่าที่ผ่านมา คนไทยในต่างประเทศเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์มากที่สุด น้อยที่สุดคือการมาเลือกที่สถานทูต เพราะลำบากเรื่องการเดินทาง แต่ กกต.กลับไปยกเลิกทั้งหมด เหลือแค่เลือกตั้งที่สถานทูต คิดได้อย่างไร

หรือกลัวผวาซ้ำรอยกรณีบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ฉาว?

 

จะว่าก็ว่าเถอะ…จำเบอร์ผู้สมัครใครว่ายากแล้ว จำ กกต.ชุดปัจจุบันยากกว่า กกต.ชุดนี้ ทุกคนต่างเก็บตัวเงียบ จำแทบไม่ได้แม้แต่ชื่อประธาน กกต. คนที่ออกมารับเผือกร้อนรายวันที่คนชินตาคือเลขาฯ กกต.อยู่คนเดียว นี่คือลักษณะของการบริหารแบบอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่ลงมาคุยกับชาวบ้าน เลยไม่รู้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ก่อนหน้านี้ยังมีการเรียกร้องให้ กกต.สร้างระบบดิจิทัล รายงานผลแบบเรียลไทม์ เพื่อประชาชนทั่วประเทศจะได้ติดตามตรวจสอบผลการเลือกตั้ง แต่ กกต.ก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ผลการเลือกตั้งจะต้องผ่านการตรวจสอบก่อน จะไม่รายงานแบบเรียลไทม์ ทั้งที่ความเป็นจริง กกต.อาจจะเจียดงบฯ มาสร้างระบบรายงานผลแยกกัน ระหว่างการรายงานผลอย่างเป็นทางการกับไม่เป็นทางการก็ได้ หากระบบมีช่องโหว่ตรงไหน ก็ไปพัฒนาปรับปรุง แต่ไม่ใช่ว่าไม่ทำเลย ไม่คิดทำเลย

สุดท้ายกลายเป็นองค์กรสื่อต้องออกเงินช่วยกันระดมทุน จ้างคนไปรายงานผลเรียลไทม์แทน

น่าเสียดายที่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ วงเงิน 5,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่างบฯ จัดการเลือกตั้งปี 2562 เกือบ 2 พันล้านบาท

กกต.มีหน้าที่ส่งเสริมการเลือกตั้ง ต้องคิดได้เองว่าจะลดทอนอุปสรรคการใช้สิทธิของประชาชนอย่างไร ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกอย่างเดียว ที่ผ่านมาอ้างแต่กฎหมายมาทำเป็นกติกาที่เป็นอุปสรรคไปหมด

แค่ใส่หน้าหรือชื่อผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกยังทำไม่ได้เลย โยนภาระใส่ประชาชนไปจำกันเอง ประชาชนจึงมีสิทธิถามกลับว่าท่านทำงานคุ้มไหมกับงบฯ เกือบ 6,000 ล้าน?