33 ปี ชีวิตสีกากี (14) | ข้อห้ามสำหรับนักเรียนใหม่ “ห้ามร้องไห้”

 

นักเรียนใหม่จะต้องหมุนเวียนกันเข้ายาม โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึงเวลา 06.00 น.เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย และความเรียบร้อย โดยกำหนดให้มีสถานที่ที่จะต้องไปยืนยาม จำนวน 6 แห่ง

1. ยามประจำโรงนอน ตึกหน้า ขันตีอุสาหะ

2. ยามประจำโรงนอน ตึกหลัง วิจัยกรณี

3. ยามประจำตึกเรียนใหม่

4. ยามประจำตึกวัฒนธรรม

5. ยามประจำคลังอาวุธ

ทุกแห่งหรือทุกจุด จะจัดยามแบ่งออกเป็น 6 ผลัด

ผลัดที่ 1 เริ่มเวลา 18.00 น. ถึง 20.00 น.

ผลัดที่ 2 เวลา 20.00 น. ถึง 22.00 น.

ผลัดที่ 3 เวลา 22.00 น. ถึง 24.00 น.

ผลัดที่ 4 เวลา 24.00 น. ถึง 02.00 น.

ผลัดที่ 5 เวลา 02.00 น. ถึง 04.00 น.

ผลัดที่ 6 เวลา 04.00 น. ถึง 06.00 น.

แต่ละจุดจะจัดนักเรียนใหม่เข้ายามจุดละ 1 นาย และนักเรียนใหม่จะหมุนเวียนกันเข้ายามตามลำดับเลขประจำตัวหรือตามเตียง เว้นแต่มีนักเรียนใหม่ถูกทำโทษให้เข้าเวรยามเพิ่มมากกว่าปกติ ก็จะถือเป็นกรณีพิเศษ

นอกจากนั้น ยามที่โรงนอนยังมีหน้าที่พิเศษ คือ ยามผลัดที่ 1 ต้องเปิดไฟฟ้า บริเวณระเบียงชั้นล่างของตึกหรือชานโรง ห้องน้ำ และปิดไฟฟ้าบนโรงนอน เมื่อนักเรียนใหม่ไปเข้าตอนเรียน

ยามผลัดที่ 2 ทำหน้าที่เรียกแถวที่หน้ากองร้อย เวลา 20.30 น. …นักเรียนใหม่ หน้ากระดาน 5 แถว ปิดระยะ ตามลำดับหมวด มาหาข้าพเจ้า…เมื่อถึงเวลา 21.00 น. ทำหน้าที่ตะโกนบนโรงนอนว่า นอน นอน นอน แล้วปิดไฟฟ้าทุกดวงบนโรงนอน ยกเว้นระเบียงชั้นล่างหรือชานโรง

ยามผลัดที่ 3, 4 และ 5 ต้องไปปลุกยามผลัดต่อไปก่อนครึ่งชั่วโมง

ยามผลัดที่ 6 เมื่อถึงเวลา 05.00 น. ต้องทำหน้าที่ปลุกผู้ช่วยผู้บังคับหมวด และเวลา 05.20 น. ต้องตะโกน 3 ครั้งว่า ตื่น ตื่น ตื่น บนโรงนอน ปลุกเพื่อนให้ตื่นเพื่อปฏิบัติภารกิจประจำวัน พร้อมกับเปิดไฟฟ้าทุกดวงบนโรงนอน เมื่อออกเวร เวลา 06.00 น. ต้องทำหน้าที่ปิดไฟฟ้าทุกดวงบนกองร้อย

ระหว่างเข้าเวร จะมีนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายยาม และมีนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 4 เป็นนายยาม จะมาตรวจยามทุกผลัด โดยมีชั้นปีที่ 4 เข้าเวร เป็นผู้ช่วยนายร้อยตำรวจเวรรักษาการณ์ มีหน้าที่ในการนำเชิญธงชาติขึ้นลง ณ ลานฝึกศรียานนท์ ควบคุมการรับประทานอาหารบนอาคารโภชนาการ และดูแลความเรียบร้อยกองร้อยต่างๆ

ระหว่างปฏิบัติหน้าที่จะแต่งเครื่องแบบชุดกากีติดสายแดงยัดท็อป คาดกระบี่ยาว มีรถจักรยาน 2 ล้อ ขี่ออกตรวจ

นักเรียนใหม่ต้องทำความสะอาดส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบ ทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนไปรับประทานอาหารเช้า

 

ข้อห้ามสำหรับนักเรียนใหม่

1. ห้ามสูบบุหรี่ ทุกสถานที่

2. ห้ามดื่มสุรา

3. ห้ามเล่นการพนัน (อาจสอบตกและออกจากราชการ)

4. ห้ามก่อการทะเลาะวิวาทและใช้กำลังตัดสินปัญหา

5. ห้ามมักง่ายหยิบของเพื่อนก่อนได้รับอนุญาต

6. ห้ามสบตานักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นสูง ผู้บังคับบัญชา นอกจากประชุมและขออนุญาตผ่าน

7. ห้ามนำเรื่องภายในไปพูดคุยข้างนอก หรือเขียนจดหมาย

8. ห้ามนำของมีค่าเก็บไว้ในกองร้อย

9. ห้ามนำขนม อาหารทุกชนิด เข้ามาในกองร้อย

10. เมื่อได้ออกไปข้างนอกแล้ว ห้ามนำชุดพลเรือนมากองร้อย

11. ห้ามบ่น ดื้อ กับนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นสูง

12. ห้ามแสดงกิริยาให้เห็นถึงความไม่พอใจ ท้อใจ ยโส หรือไม่เห็นด้วย กับคำสั่งผู้บังคับบัญชา

13. ห้ามพูดตามผู้บังคับบัญชา

14. ห้ามร้องไห้

 

ผู้บังคับหมวด ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับนักเรียนใหม่ว่า “ความเสมอภาคของนักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคน จะได้รับการปฏิบัติที่ทัดเทียมกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร มีฐานะเช่นไร ทุกคนต้องได้รับการฝึกที่หนัก และกิจกรรมที่แสนลำบาก ทั้งนี้ เพื่อจะได้ไปเป็นนายตำรวจที่ดีในภายหน้า ให้รู้จักความลำบาก เช่นเดียวกับประชาชนซึ่งยากจน เพื่อจะได้เห็นอกเห็นใจเขาเหล่านี้ อย่าได้ยกย่องคนสูงกว่า และเหยียบย่ำคนชั้นต่ำกว่า ถ้ามิฉะนั้นแล้วตัวเราและประเทศชาติจะลำบาก”

ต่อมาผู้ช่วยผู้บังคับหมวดได้แนะนำผู้บังคับบัญชาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ เวลานั้นให้ทราบดังนี้

ผู้บังคับบัญชาสูงสุด ตำแหน่ง ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้ดำรงตำแหน่งคือ พล.ต.ต.ปรีชา พรรคพิบูลย์

รองผู้บังคับการ มี 2 ท่าน คือ พ.ต.อเสนาะ โกศัยเสวี และ พ.ต.อ.ประเสริฐ เกสรมาลา

ระดับกองกำกับการแบ่งเป็น 2 กองกำกับการ คือ

ผู้กำกับการ 1 มี พ.ต.อ.เชิดศักดิ์ ศรีนุต

รองผู้กำกับการ 1 มี 2 ท่าน คือ พ.ต.ท.โกศล รัตนาวดี กับ พ.ต.ต.เหมราช ธารีไทย

กองกำกับการ 1 รับผิดชอบเรื่องการฝึกนักเรียนนายร้อยตำรวจและระเบียบวินัย

กองกำกับการ 2 มี พ.ต.อ.ไพโรจน์ ศิริโรจน์

รองผู้กำกับการ 2 มี 2 ท่าน คือ พ.ต.ต.ดำริห์ บุญกระพือ กับ พ.ต.ต.จิรัช ชูเวช

กองกำกับการ 2 รับผิดชอบทางวิชาการ เรื่องการเรียนการสอน

ทั้งผู้บังคับกองร้อย ร.ต.อ.มาโนช ไกรวงศ์ หรือผู้บังคับหมวด ร.ต.ท.สมนึก เขียวเจริญ กับ ร.ต.ท.อุดม จำปาจันทร์ ร่วมกับผู้ช่วยผู้บังคับหมวด แต่ละหมวด จะมีหัวข้อระเบียบการปฏิบัติมาชี้แจงสลับกันไปในแต่ละวันโดยไม่ซ้ำกันและให้ครบทุกกิจกรรมที่จะใช้ชีวิตในฐานะนักเรียนใหม่ บางครั้งก็นำไปชี้แจงในตอนเรียนหรือห้องเรียน

โดยทั่วไปนักเรียนหรือนักศึกษาจะเรียกกันว่า ห้องเรียน แต่ทหารหรือตำรวจ ใช้คำว่าตอนเรียน ไม่ให้เหมือนชาวบ้านเขา

 

รายละเอียดชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนใหม่ เมื่อเริ่มต้นเป็นอย่างไรบ้าง และต่อๆ มาเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีมากมาย ผมจะเล่าจากความทรงจำของผมที่จะนึกได้ และจะกล่าวถึงต่อไปตามลำดับ เพื่อให้เห็นว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจเขาฝึกสอนกันมาอย่างไรเมื่อครั้งในอดีต และปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้างอย่างไร ต่อไปในอนาคตควรที่จะยึดตามแนวทางแบบเดิม หรือแก้ไขให้เหมาะกับยุคสมัยอย่างไร เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ประชาชน และตัวนักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคน เป็นการอยู่ในกฎระเบียบที่เข้มงวด เคร่งครัด เข้มข้น ตลอดเวลา ทำผิด จะถูกทำโทษทันที

ความเคร่งครัดในเรื่องการทำความสะอาดส่วนตัวและส่วนรวม คือ ถ้าผู้ช่วยผู้บังคับหมวด หรือผู้ช่วยนายร้อยตำรวจเวรรักษาการณ์ไปตรวจ พบว่าไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย จะจดชื่อนักเรียนใหม่นั้นไว้

โดยมีโทษตามนี้

ถ้าโดน 1 ชื่อ วิ่งรอบสระ หน้ากองร้อยที่ 1

2 ชื่อ เข้ายาม 1 ผลัด

3 ชื่อ กักบริเวณ (อยู่โรงเรียน เสาร์ อาทิตย์)

4 ชื่อ กักบริเวณ และเข้ายาม 1 ผลัด

5 ชื่อ โดนกักบริเวณ และเข้ายาม 2 ผลัด

6 ชื่อ โดนกักบริเวณ 2 เสาร์ อาทิตย์

ทรงผม นรต.ชั้นปีที่ 1 ไว้ได้ยาวไม่เกิน 3 ซ.ม. ด้านข้างเกรียน หนวด เครา ให้โกนทุกเช้า

สิ่งของที่ห้ามนำมาใช้

1. เงินเกินกว่า 300 บาท ถ้าเกินกว่านี้ ให้นำมาฝากผู้ช่วยผู้บังคับหมวด อย่างช้าในวันรุ่งขึ้น

2. แหวน นาฬิกา หรือของมีค่า ให้นำมาฝากไว้

3. ของอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในรายการซื้อของ

4. อาวุธ หรือวัตถุระเบิดต่างๆ

5. ยานพาหนะต่างๆ

6. ห้ามนำอาหารเข้ามา ที่นอกจากภายในโรงเลี้ยงจัดเลี้ยง และห้ามนำอาหารออกนอกโรงเลี้ยง และนั่งตามที่กำหนดให้

7. ห้ามลุกจากที่นั่ง จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากผู้ช่วยนายร้อยตำรวจเวรรักษาการณ์ หรือ นรต.รุ่นพี่

8. ห้ามส่งเสียงดังในร้านโภชนาคาร

9. เขตกำหนดห้ามออกนอกเขตบริเวณดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ…แนวคูน้ำติดแนวถนนเดชานุสรณ์

ทิศใต้…แนวคูน้ำด้านบ้านพักและโรงพละ

ทิศตะวันออก…แนวถนนไปสนามยิงปืน ร้านค้า

ทิศตะวันตก…แนวคูน้ำ ด้านหน้าประตู ร.ร.นรต. (ประตูคิงส์)

สถานที่ราชการด้านหน้า ไม่จำเป็นห้ามเข้า เว้นแต่ได้รับอนุญาต

บ้านพักผู้บังคับบัญชา ด้านทิศใต้ ห้ามเข้า เว้นแต่ได้รับอนุญาต